การอ่านรุกยะฮฺเพื่อการรักษา
อาบีดีณ โยธาสมุทร
การเปิดกว้างเรื่องการอ่านรุกยะฮฺเพื่อการรักษา คือ การเปิดกว้างให้ทำบิ้ดอะฮฺได้อย่างนั้นหรือ?!
ตอบโดยสรุปได้ดังนี้
1. การอ่านรุกยะฮฺเพื่อการรักษา ไม่ได้จัดอยู่ในเรื่องที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่เป็นอิบาดะฮฺล้วนๆ อย่างการละหมาดตามเวลาหรือการทำฮัจญ์ ที่จะรู้ได้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ก็ต่อเมื่อมีคำสอนจากท่านนบี ﷺ แจ้งไว้ให้ทราบก่อนเท่านั้น
หากแต่ รุกยะฮฺ เป็นเรื่องของการพยามหาทางรักษาอาการป่วย ซึ่งวางอยู่บนการทดสอบเหตุเพื่อจะได้รับทราบว่าจะให้ผลลัพธ์อย่างไร (ซึ่งพวกอะชาฯ มีความเชื่อประหลาดในประเด็นนี้คือ ปฏิเสธเรื่องการที่สิ่งหนึ่งเป็นเหตุให้มีผลลัพธ์ใดๆ เกิดขึ้น โดยจะอธิบายเรื่องเหตุและผลลัพธ์ว่า มันเป็นสองเรื่องที่เกิดไล่เลี่ยกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกันแต่อย่างใด)
ซึ่งเป็นอะไรที่ท่านนบี ﷺ เปิดกว้างไว้ให้ โดยมีเงื่อนไขเพียงแค่อย่าให้มีเรื่องชิริกและเรื่องฮะรอมมาเกี่ยวข้อง ซึ่งหลักฐานก็ได้แก่ฮะดีษที่บันทึกอยู่ใน มุสลิม(เลขที่2200) ที่ว่า
“พวกคุณจงนำคำกล่าวรุกยะฮฺของพวกคุณมาเสนอต่อฉันเถิด
การอ่านรุกยะฮฺนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรตราบใดที่ไม่ได้มีเรื่องที่เป็นชิริกอยู่ในนั้น”
อินบุ อาบีดีน กล่าวถึงการอนุญาตให้รับค่าตอบแทนจากการอ่านรุกยะฮฺ แม้ว่าข้อความที่ใช้อ่านจะเป็นข้อความจากอั้ลกุ้รอ่าน โดยให้เหตุผลของการอนุญาตไว้ว่า
"เพราะกิจกรรมนี้ไม่ใช่อิบาดะฮฺล้วนๆ หากแต่เป็นเรื่องของการพยามหาทางเยียวยาต่างหาก"
(حاشية ابن عابدين/٦/ ص٥٧)
2. บรรดานักวิชาการต่างเล่าถึงฮะดี้ษที่ท่านอบูซะอี้ดร่อดิยั้ลลอฮุอันฮฺไปอ่านรุกยะฮฺให้หัวหน้าเผ่าอาหรับเผ่าหนึ่ง ที่โดนสัตว์มีพิษต่อยจนหายจากอาการ ตลอดจนฮะดี้ษบทอื่นจากนี้ที่เล่าถึงการอ่านรุกยะฮฺของศ่อฮาบะฮฺท่านอื่นด้วย
และพวกท่านได้ทำการอธิบายถึงฮุก่มต่างๆที่มีอยู่ในฮะดี้ษนั้นๆ กันไว้อย่างละเอียด แต่ไม่มีนักวิชาแม้แต่ท่านเดียวที่อ้างว่า ฮะดี้ษเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า เรื่องอิบาดะฮฺหรือวิธีการและรูปแบบในการสักการะอัลลอฮฺนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรอคำสอนจากท่านนบี ﷺ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเสียก่อน หรืออ้างว่าเรื่องๆนี้เป็นหลักฐานให้เปิดช่องแก่เรื่องบิ้ดอะฮฺได้แต่อย่างใด
คำถามก็คือ พวกท่านเหล่านั้นไม่รู้จริงๆหรือว่า เรื่องที่เกี่ยวกับรุกยะฮฺสามารถใช้เป็นข้ออ้างให้เปิดกว้างเรื่องบิ้ดอะฮฺได้? หรือเป็นเพราะพวกท่านรู้ดีว่าความเข้าใจในทิศทางดังกล่าวมันเป็นความเข้าใจที่เหลวไหลไม่ควรแก่การให้ค่าและการกล่าวถึงกันแน่ ?
3. หลักฐานจากอั้ลกุ้รอ่าน ซุนนะฮฺ ข้อมูลจากซะลัฟ และอิ้จมาอฺ ได้ยืนยันไว้ชัดเจนว่า เรื่องในหมวดอิบาดะฮฺนั้น ต้องรอข้อมูลจากท่านนบี ﷺ ก่อน (ซึ่งจะละไว้กล่าวขยายในโอกาสต่อๆไป อินชาอัลลอฮฺ)
ซึ่งจุดยืนที่ถูกต้องคือ การยืนตามข้อสรุปที่วางอยู่บนหลักฐานที่ชัดเจน และไม่ละทิ้งจุดยืนที่ว่านี้ไปเพียงเพราะข้อมูลที่ไม่ได้ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่งอย่างสมบูรณ์
ส่วนพวกที่ใจเฉนั้น พวกเขาจะมีจุดยืนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพวกเขาไม่ใช่พวกของเรา!
وبالله التوفيق والسداد