พระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง คือ “อัลลอฮ์”
  จำนวนคนเข้าชม  11365

พระผู้เป็นเจ้า คือ “อัลลอฮ์”


          อัลลอฮ์ ทรงเป็นพระเจ้าแต่เพียงลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีใครอีกที่มีส่วนร่วมในความเป็นพระเจ้า เป็นผู้อภิบาลของพระองค์ ไม่ว่าจะในบรรดาสิ่งของพระองค์ หรือคุณลักษณะของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ผู้ทรงสิทธิ์ผู้เดียวที่จะได้รับการอิบาดะฮ์(เคารพสักการะ)


          การเคารพสักการะใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการขอพร การขอความช่วยเหลือ การยึดถือที่พึ่งต่อสิ่งใด การบนบาน การเชือดสัตว์สังเวย การมอบหมาย(ตะวักกัล) ความยำเกรงต่ออำนาจลึกลับ การตั้งความหวัง ความรักเทิดทูนใดๆที่มีต่อผู้อื่นนอกเหนือไปจากอัลลอฮ์ ถือเป็นการตั้งภาคี(ชิริก) ยกสิ่งอื่นขึ้นเทียบเคียงเสมอ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้นำ เป็นศาสดา เป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม


          การทำความเคารพ(อิบาดะฮ์)ต่ออัลลอฮ์ ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความยำเกรง การตั้งความหวังต่อพระองค์นั้นถือเป็นแกนหลักของการทำความเคารพสักการะ 

          แต่ถ้าการทำความเคารพต่อพระองค์เพียงแค่บางส่วนแล้วละเลยในอีกบางส่วนถือเป็นความหลงผิด อุลามะฮ์ได้ให้ทัศนะว่า

“ผู้ใดทำความเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์ด้วยความรักเพียงอย่างเดียวถือว่าผู้นั้นเป็นซินดีก(รักอัลลอฮ์แต่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติ)ที่ตามืดบอดต่อแสงสว่าง

และผู้ที่ทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เพียงเพราะความเกรงกลัวอย่างเดียวถือเป็นฮะรูรี()

และถ้าทำอิบาดะฮ์เพียงเพราะความหวังถือเป็นมุรญิอ์(มุรญิอ์ คือ พวกที่เชื่อว่าเพียงกล่าวชะฮาดะฮ์ก็เป็นมุสลิมโดยไม่ต้องปฏิบัติสิ่งอื่น) ซึ่งล้วนแล้วแต่หลงผิดทั้งสิ้น”


          การต้องยอมรับ ต้องพึงพอใจ และน้อมเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ ต่อเราะซูล และศรัทธาว่าอัลลอฮ์ ทรงเป็นผู้ชี้ขาด ผู้ทรงตัดสินบัญชา ผู้เป็นองค์อภิบาล และเป็นพระเจ้าต้องไม่มีผู้ใดมีส่วน ร่วมกับอัลลอฮ์ ในการบัญชาใช้ ในการวางบทบัญญัติ(ชะรีอะฮ์) เว้นแต่ที่พระองค์ทรงอนุมัติ เช่นบรรดานบีทั้งหลาย


          ต้องไม่สักการะต่อ ตอฆูต(รูปปั้น สิ่งถูกสร้างต่างๆ) เช่น ฟิรอูน หรือ นัมรูด เพื่อให้ใช้อำนาจตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างมุสลิมด้วยกันไม่ว่าจะเป็น คดีแพ่ง หรือคดีอาญา


          ต้องไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ และกฏเกณฑ์อื่นใดนอกเหนือไปจาก บทบัญญัติที่พระองค์ทรงประทานให้กับท่านนะบี เท่านั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติใดๆถือเป็นกุฟร์ (ผู้ปฏิเสธ) ส่วนการเชื่อว่าผู้ใดมีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ อิสลาม ถือว่าผู้นั้นได้ปฏิเสธต่ออัลลอฮ์ แล้ว

         การตัดสินชี้ขาดด้วยกฎหมายที่อัลลอฮ์มิได้ประทานลงมาให้กับท่านนะบี ถือเป็นการปฏิเสธ ที่ยิ่งใหญ่ที่ปฏิเสธต่อพระองค์ ในการปฏิบัตินี้มีความเลวแตกต่างกันดังนี้คือ

1. การประกาศใช้กฎหมายอื่นนอกเหนือไปจากบทบัญญัติอิสลาม

2. การหลีกเลี่ยงการใช้บทบัญญัติ อิสลาม


          การแบ่งแยกศาสนาออกจากรัฐ หรือถือว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว อยู่ในจิตใจเท่านั้น ถือเป็นความหลงผิด การใช้ชีวิตขัดแย้งต่อบทบัญญัติ และข้อตัดสินของอัลลอฮ์ จะส่งผลให้เป็นผู้ปฏิเสธต่อพระองค์ หรือเป็นผู้หลงผิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของการฝ่าฝืน


          ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้นอกจากอัลลอฮ์ เท่านั้น การเชื่อว่าบุคคลที่เป็นมนุษย์สามารถล่วงรู้เรื่องเร้นลับได้ ถือเป็นการปฏิเสธต่ออัลลอฮ์ ส่วนการที่อัลลอฮ์ ทรงบอกความเร้นลับบางประการของจักรวาลแก่อัมบิยาอ์(บรรดานะบี) ของพระองค์นั้น เป็นข้อยกเว้นที่เราต้องศรัทธา


          การเชื่อหมอดู โหร พ่อมด หมอผี กล่าวสิ่งที่เขาคาดเดานั้น ถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ และการไปหาบุคคลเหล่านั้นถือเป็นบาปใหญ่


          การพึ่งสื่อกลาง(วะซีละฮ์) ในการวิงวอนขอพร(ดุอาร์) ต่ออัลลอฮ์นั้น มีหลักฐานบ่งบอกไว้ในอัลกุรอานว่าทำให้เข้าใกล้พระองค์ได้ สามารถแบ่งสื่ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

1. ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติ เช่นการตะวัชซุล (วิงวอนขอ) ต่ออัลลอฮ์ ด้วยพระนามของพระองค์ ด้วยคุณลักษณะ(ศิฟาต)ของพระองค์ หรือด้วยการงานที่ดี(ศอลิห์)ของเรา หรือด้วยการวิงวอนของคนดี(ศอลิห์) ที่ยังมีชีวิตอยู่

2. ที่เป็นบิดะอ์(การเพิ่มเติมที่ผิดหลักการ) คือ การตะวัชซุล(วิงวอนขอ) ต่ออัลลอฮ์ โดยไม่มีรูปแบบจากบทบัญญัติ เช่น ตะวัชซุล(วิงวอนขอ) ด้วยอัมบิยาอ์(บรรดานะบี) คนศอลิห์(คนดี) หรือด้วยชื่อเสียงสิทธิ ของท่านเหล่านั้น

3.  ที่เป็นชิริก(ตั้งภาคี) คือการพึ่งผู้ที่ตายไปแล้วให้เป็นสื่อระหว่างเรากับอัลลอฮ์ และในการประกอบอิบาดะฮ์ต่างๆ  การวิงวอนขอต่อพวกเขา ขอความช่วยเหลือในความทุกข์ร้อนต่างๆต่อผู้ตายในหลุมศพ ให้ช่วยเป็นสื่อไปขอผ่อนปรนจากอัลลอฮ์ เป็นต้น


          ความจำเริญ(บะรอกะฮ์) มาจากอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์จะประทานความจำเริญนี้ให้แก่บ่าวบางคนเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์

          บะรอกัต หมายถึง คุณงามความดี ความจำเริญมากมายที่เพิ่มพูนขึ้นในช่วงเวลา เช่น ในคืนลัยละตุลก๊อดร์ ในสถานที่เช่น มัสยิดฮะรอม มัสยิดนะบะวี มัสยิดอัลอักซอ ความจำเริญในสิ่งต่างๆ เช่น น้ำซัมซัม ในการงานที่ดี ในตัวบุคคล เช่นบรรดานะบี และเราะซูล แต่ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้แสวงหาความจำเริญจากตัวบุคคล หรือข้าวของ หรือร่องรอยของท่านเหล่านั้น  การแสวงหาความจำเริญจากโองการ(อายาต)และความหมายของอัลกุรอาน


     การงานที่สามารถปฏิบัติเป็นอิบาดะฮ์ ที่สุสาน(กุโบร์)นั้นสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

          1. ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติ เช่น การไปซิยาเราะฮ์(เยี่ยมเยียน)หลุมฝังศพ เพื่อรำลึกถึงอาคิเราะฮ์ การไปให้สลามแก่ผู้ตาย และดุอาร์ให้แก่ชาวกุโบร์(สุสาน) เฉพาะมุสลิมมีนเท่านั้น

          2. ที่เป็นบิดาอะฮ์ และอาจส่งผลให้เป็นการชิริก(ตั้งภาคี) เช่น การตั้งเจตนาไปทำการเคารพเพื่ออัลลอฮ์ในสุสาน หรือการถือว่าสุสานเป็นสถานที่มีบะรอกัต การไปส่งผลบุญ การสร้างอาคารคร่อมหลุมฝังศพ การตกแต่งประดับโคมไฟ หรือสร้างมัสยิด ณ ที่สุสาน และกำหนดการเดินทางไปที่นั้นเพื่อการเฉลิมฉลอง รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบของอิบาดะฮ์ที่ไม่มีหลักฐานในบทบัญญัติศาสนา

          3. ที่เป็นการตั้งภาคี เช่นการแสดงการภักดี การเคารพใดๆแก่ชาวสุสาน เช่น วิงวอนต่อผู้ที่อยู่ในสุสานให้ช่วยเหลือ ให้ผ่อนปรนหนี้สิน หรือปัดเป่าทุกข์ภัย การเวียนรอบสุสาน การเชือดสัตว์พลี การบนบาน ฯลฯ


          สื่อกลางต่างๆ ในการประกอบการเคารพสักการะนั้นล้วนมีข้อตัดสินที่ระบุไว้โดยเฉพาะ ส่วนการทำความเคารพผ่านสื่อใดๆที่จะนำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ หรือการเพิ่มเติมขั้นตอนใดๆ เข้าไปในการเคารพสักการะที่มีรูปแบบอยู่แล้ว ในศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องขจัดออกไปให้หมดสิ้น ทั้งนี้เพราะทุกๆสิ่ง ที่เป็นการอุตริในศาสนานั้นเป็นบิดะอะฮ์ และทุกๆสิ่งที่เป็นบิดะอะฮ์นั้นเป็นความหลงผิด


แนวทางแห่งอะห์ลุส ซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์

รร.ศาสนูปถัมภ์ ประเวศ กทม.