การอ้างอิงบทความวิชาการ 
  จำนวนคนเข้าชม  64

การอ้างอิงบทความวิชาการ 

 

อ.อิสหาก พงษ์มณี ....แปลเรียบเรียง

 

         แม้จะมีเจตนาดีก็ถือว่าไม่อนุญาตตามหลักศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามห้ามการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ทางทรัพย์สินหรือทางปัญญา

 

หลักศาสนา:

 

1. ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ:

 

     อิสลามสั่งใช้ให้มีความซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะในการพูด การกระทำ หรือการนำเสนอข้อมูล พระเจ้าตรัสไว้ว่า:

"إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا" (سورة النساء: 58)

 "แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้พวกเจ้าส่งมอบความไว้วางใจคืนแก่เจ้าของของมัน"

(อันนิซาอฺ: 58)

     บทความวิชาการเป็นสิทธิ์ของผู้เขียน และการนำมาโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการทรยศต่อความไว้วางใจ

 

 

2. สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา:

 

     บทความวิชาการในปัจจุบันจัดอยู่ในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ได้รับการยอมรับตามหลักศาสนา การนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นการละเมิด

 

 

3. การหลอกลวงและโกหก:

 

     การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของบทความที่ไม่ได้เขียนเอง ถือว่าเป็นการหลอกลวงและไม่ซื่อสัตย์ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า:

 "مَن غَشَّنَا فَلَيْسَ مِنَّا" (رواه مسلم)   "ผู้ใดโกงเรา เขาไม่ใช่พวกของเรา" 

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

 

4. ต้องการคำชื่นชมจากผลงานของผู้อื่นส่วนตนมิได้ทำอะไร

 

     "อย่าคิดว่าผู้ที่ดีใจในสิ่งที่พวกเขาได้รับและชอบที่จะได้รับการสรรเสริญในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำจะปลอดภัยจากการลงโทษ แท้จริงพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด" 

(ซูเราะห์ อาล อิมรอน 188)

 

 

หากมีเจตนาดี:

 

          เจตนาดีไม่สามารถเป็นข้ออ้างเพื่ออนุญาตให้ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นได้ หากต้องการนำข้อมูลหรือเนื้อหาเพื่อศึกษาและเรียนรู้ สามารถทำได้แต่ต้องระบุแหล่งที่มา หรือขออนุญาตเจ้าของบทความหากบทความนั้นกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตก่อน การก๊อปไปโดยไม่ให้เครดิตถือว่าโขมย

 

 

สรุป:

 

          การขโมยบทความวิชาการ ไม่อนุญาตในหลักศาสนาอิสลาม แม้จะมีเจตนาดี การนำเนื้อหามาใช้ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของบทความ และต้องปฏิบัติตามหลักการความซื่อสัตย์ทางวิชาการเสมอ

 

 

ลอกบทความโดยไม่อ้างอิงที่มา  คือ ตัดลีสประเภทหนึ่ง แล้วตัดลีสคืออะไร ?

 

ตัดลีสคือ"การปกปิดความจริง" (تدليس):

คำว่า "تدليس" ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า "การปกปิดหรือพรางสิ่งที่เป็นความจริง"

 

     ในทางศาสนาคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันไปตามบริบทที่ใช้ ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทหลัก ๆ ดังนี้:

 

     1. การปกปิดความจริงในหะดีษ (تدليس الحديث): 

 

          หมายถึง การที่ผู้รายงานหะดีษไม่บอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของหะดีษ เช่น การละชื่อผู้รายงานคนที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือทำให้ดูเหมือนว่าตนเองได้ยินหะดีษนั้นจากแหล่งข้อมูลโดยตรง ทั้งที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

          ตัวอย่าง: ผู้รายงานกล่าวว่า "จากท่านคนนั้น" หรือ "ท่านคนนั้นกล่าวว่า" โดยไม่ได้ยืนยันว่าตนเองได้ฟังโดยตรง

 

 

     2. การปกปิดความจริงในการซื้อขาย (تدليس البيع): 

 

     หมายถึง การปกปิดข้อบกพร่องของสินค้า หรือบรรยายสินค้าให้ดูดีกว่าความเป็นจริงเพื่อหลอกลวงผู้ซื้อ

 

 

     3. การปกปิดความจริงในชีวิตประจำวัน: 

 

     หมายถึง การโกหก หลอกลวง หรือบิดเบือนความจริงในเรื่องทั่วไป เช่น การปิดบังข้อมูลสำคัญ หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพื่อหลอกผู้อื่น

 

 

บทบัญญัติทางศาสนาเกี่ยวกับการปกปิดความจริง:

 

1. ในเรื่องหะดีษ:

 

     การปกปิดความจริงในหะดีษถือเป็นที่น่ารังเกียจ (مكروه) ในมุมมองของนักวิชาการศาสนา และเป็นลักษณะของผู้รายงานที่ไม่ซื่อตรง

     ท่านอิมามชุอบะฮ์ (رحمه الله) กล่าวไว้ว่า: "การปกปิดความจริงเหมือนกับการโกหก"

     หะดีษจากผู้รายงานที่ปกปิดความจริงจะไม่ถูกยอมรับ ยกเว้นในกรณีที่เขายืนยันว่าได้ยินโดยตรง เช่น การกล่าวว่า "ฉันได้ยิน" หรือ "เขาเล่าให้ฉันฟัง"

 

 

2. ในเรื่องการซื้อขาย:

 

     การปกปิดความจริงในเรื่องการค้าขายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นการหลอกลวง ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า:

"ผู้ใดหลอกลวง ถือว่าเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากเรา"

(บันทึกโดยมุสลิม)

     พ่อค้าแม่ค้าต้องบอกข้อบกพร่องของสินค้าแก่ผู้ซื้อ มิฉะนั้นจะถือว่าผิดบาป

 

 

3. ในชีวิตประจำวัน:

 

     การปกปิดความจริงเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม เพราะถือว่าเป็นการโกหกและหลอกลวง อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า:

"และอย่าลดสิทธิของผู้คน และอย่าก่อความเสียหายในแผ่นดิน" 

(ฮูด: 85)

     ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า:

"ความจริงใจจะนำไปสู่ความดี และความดีจะนำไปสู่สวรรค์ ส่วนความเท็จจะนำไปสู่ความชั่ว และความชั่วจะนำไปสู่นรก..." 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีและมุสลิม)

 

          การปกปิดความจริงในทุกกรณีถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะขัดต่อหลักความซื่อสัตย์และความจริงใจ ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญในศาสนาอิสลาม มุสลิมถูกสั่งใช้ให้พูดความจริงและมีความชัดเจนในคำพูดและการกระทำของตน และต้องหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่นำไปสู่การหลอกลวงหรือการโกหก

 

 

ท่านเชคมุฮัมมัด ญะมาลุดดีน อัลกอสิมีย์ (เราะหิมะฮุลลอฮ์) กล่าวว่า:

 

     "เป็นที่ชัดเจนว่าหนึ่งในหลักการสำคัญในด้านการแต่งตำราคือการอ้างอิงประโยชน์ได้ ความรู้ที่รับ และแนวคิดต่าง ๆ ไปยังเจ้าของเดิมของมัน เพื่อหลีกเลี่ยงการอ้างเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตน(มาเป็นของตน) เพื่อยกระดับตนเองไม่ให้เป็นเหมือนผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าปลอมสองชุด (มีปรากฏในหะดีษเกี่ยวกับสิ่งนี้)

     ด้วยเหตุนี้ ท่านจะเห็นว่าปัญหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ได้อ้างอิงไปยังเจ้าของเดิมของมันอย่างชัดเจนตามตัวอักษร นี่คือหลักการของเราในทุกสิ่งที่เราได้รวบรวมและจะรวบรวมต่อไป"

(หนังสือ กอวาอิด อัตตะฮ์ดีษ ในวิชาศาสตร์มุศเฏาะละฮ์หะดีษ หน้า 40)

 

ท่านอิหม่ามอัสสุยูฏีย์ (เราะหิมะฮุลลอฮ์) กล่าวว่า:

 

     "หนึ่งในสิ่งที่นำมาซึ่งความจำเริญและเป็นการขอบคุณต่อความรู้ คือการอ้างอิงความรู้กลับไปยังผู้กล่าว"

     "ด้วยเหตุนี้ ท่านจะไม่เห็นว่าฉันกล่าวถึงสิ่งใดในงานเขียนของฉัน เว้นแต่จะอ้างอิงไปยังผู้กล่าวไว้ในหมู่บรรดานักวิชาการ พร้อมกับระบุหนังสือที่เขาได้กล่าวไว้ด้วย"

(หนังสือ อัลมุซฮัร ฟี อุลูม อัลลุฆะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 273)

 

บทเรียน:

 

     1. การอ้างอิงคำพูดหรือความรู้กลับไปยังเจ้าของเดิมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ทางวิชาการ

 

     2. การอ้างอิงที่ถูกต้องแสดงถึงความขอบคุณต่อความรู้และผู้ที่ถ่ายทอดมัน

 

     3. การไม่อ้างอิงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และอาจตกอยู่ในบาปของการอวดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่ของตน

 

เนียต”ดี” วิธีต้อง "ถูก" ด้วย