ความโลภในโลกดุนยา
เรื่องราวของซูเราะฮฺอัตตะกาษุร
อ.อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ .. แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมดและต้องทำด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....
ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ
ครั้งนี้ เราจะพูดถึงเรื่องราวของซูเราะฮฺอัตตะกาษุร ..เป็นการพูดเรื่องราวตามที่บรรดาอุละมาอ์อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ได้อธิบายไว้ ตามความเข้าใจของบรรดาสะละฟุศศ่อลิหฺ บรรดาคนดี ๆมีคุณธรรมในยุคสามร้อยปีแรกของอัลอิสลามเข้าใจกัน ..อินชาอัลลอฮฺ
“อัตตะกาษุร ٱلتَّكَاثُرُ ” เป็นชื่อซูเราะฮฺที่ 102 ของอัลกุรอาน เป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ คือเป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะอพยพจากมหานครมักกะฮฺไปยังมหานครมะดีนะฮฺ ซูเราะฮฺอัตตะกาษุรนี้ถูกประทานหลังจากซูเราะฮฺอัลเกาษัร มีทั้งหมด 8 อายะฮฺ
คำว่า “อัตตะกาษุร ٱلتَّكَاثُرُ ” หมายถึง การแข่งขันในการสะสมสิ่งต่าง ๆให้มีมากยิ่งขึ้น ๆ เพื่อการโอ้อวดซึ่งกันและกัน คำนี้มาจากคำว่า كثر ที่แปลว่า “ มาก “ อันเนื่องจากว่า ในสมัยก่อนนั้นทั้งยะฮูดีย์ ทั้งมุชริกีนต่างอวดอ้างซึ่งกันและกัน
พวกเขาต่างพูดกันว่า ตระกูลของฉันมีทรัพย์สมบัติมากกว่า ฉันมีลูกหลานมากกว่า มีลูกน้อง มีสมุนมากกว่า ...
อีกตระกูลก็เลยบอกว่า ตระกูลของฉันร่ำรวยกว่า มั่งคั่งมากกว่า มีลูกหลานมากกว่า ลูกสมุนก็มากกว่า แต่ละฝ่ายต่างพูดจาทับถมกัน โอ้อวดซึ่งกันและกัน แข่งขันกันเพื่อให้มีมากยิ่งขึ้นกว่าอีกฝ่าย
และมุสลิมบางกลุ่มก็เริ่มมีความคิดและการกระทำเช่นนี้ ..อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ประทานซูเราะฮฺนี้ลงมาเพื่อเตือนสติมุสลิม เตือนสติพวกเราว่า อย่าได้คิดและทำเช่นเดียวกับพวกเขา
ซูเราะฮฺนี้เป็นซูเราะฮฺหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เรานั้นมีความโลภ และใช้ชีวิตอยู่ในความขาดทุน..เป็นซูเราะฮฺที่เราอ่านได้ หลายคนท่องได้ แต่บางที เราอ่านแล้ว ท่องแล้ว เราก็อ่านผ่านไป อุละมาอ์กล่าวว่า เหมือนกับเราไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการอ่านซูเราะฮฺนี้เลย ทั้ง ๆที่เป็นซูเราะฮฺที่ยิ่งใหญ่ กินใจ เต็มไปด้วยข้อคิด ข้อตักเตือนในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยบนโลกดุนยานี้ ซึ่งเป็นโลกชั่วคราว ไม่ได้จีรังยั่งยืนอะไร แต่ซูเราะฮฺนี้ย้ำเตือนให้เรานึกถึงโลกอาคิเราะฮฺให้มาก ๆ จะได้ทำอิบาดะฮฺให้มาก ๆ
بِسۡمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเริ่มซูเราะฮฺนี้ด้วยอายะฮฺที่ 1 และ 2 ว่า
أَلۡهَىٰكُمُ ٱلتَّكَاثُرُ 1
“ การแข่งขันในการสะสม(สิ่งต่างๆ)เพื่อโอ้อวดซึ่งกันและกัน ได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน”
حَتَّىٰ زُرۡتُمُ ٱلۡمَقَابِرَ 2
“ จนกระทั่งพวกเจ้าได้เข้าไปเยือนหลุมฝังศพ”
คำว่า أَلۡهَىٰكُمُ ก็หมายถึง พวกเจ้าเพลิดเพลิน ..คำว่า ٱلتَّكَاثُرُ ก็หมายถึง สะสมเพื่อให้มีมากยิ่งขึ้น ๆ
อายะฮฺทั้งสองนี้หมายความว่า การแข่งขันในการสะสมสิ่งต่าง ๆ เพื่อเอามาโอ้อวดซึ่งกันและกันนั้น ได้ทำให้พวกเราเกิดความเพลิดเพลิน
ซึ่งตรงนี้ อุละมาอ์บอกว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ได้ทรงเจาะจงว่า สะสมสิ่งใด ..
ดังนั้น การสะสมนี้จึงหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราเพลิดเพลินอยู่กับมัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของทรัพย์สมบัติ เรื่องของที่อยู่อาศัย เรื่องของพาหนะ เรื่องของลูกหลาน เรื่องของลูกสมุนพรรคพวก เรื่องของลูกน้อง ตำแหน่งหน้าที่การงาน เกียรติยศชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือถ้าอย่างเป็นรัฐบาล เป็นเจ้าของประเทศก็แข่งขันกันสะสมกองทัพ ซึ่งนี่ก็คือสภาพโดยทั่วไปของมนุษย์ จะอยู่ในการแสวงหา..
ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ ถ้าเรามัวแต่ไปแข่งขันกัน เพื่อทำให้มีมากยิ่งขึ้น ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะเอามาโอ้อวดซึ่งกันและกัน พอเห็นคนอื่นมี ก็อยากมีบ้าง แล้วก็ยังอยากจะมีให้มากกว่าคน ๆนั้นอีก.. นี่คือความหมายของอายะฮฺนี้
เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับมัน ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับมัน จนกระทั่งทำให้เราลืมสิ่งที่สำคัญในชีวิตไป นั่นก็คือ มันเป็นสาเหตุที่ทำให้เราขาดการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำให้เราไม่ได้ปฏิบัติในเรื่องของบทบัญญัติศาสนา เช่น ลืมละหมาด ..
เราเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องของการแข่งขันสะสมสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ ก็คือ ยุ่งอยู่กับโลกดุนยามาก แล้วทำให้เราหลงลืมเรื่องของโลกอาคิเราะฮฺ ..
จนกระทั่ง زُرۡتُمُ เราได้ไปเยือน ٱلۡمَقَابِرَ ก็คือกุบูรหรือหลุมฝังศพ นั่นก็คือ ตายจากโลกนี้ไป แล้วไปพำนักอยู่ในกุบูร ...
ซึ่งตรงนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงใช้คำว่า زُرۡ ที่มีความหมายว่า เยือน เยี่ยมเยือน ไม่ได้ใช้คำว่า ตาย ก็เพราะเป็นการเตือนให้เรารู้ว่า เมื่อเราตายไปแล้ว เราต้องไปอยู่ในกุบูรหรืออยู่ในโลกอาลัมบัรซัค ซึ่งเป็นการอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เสมือนกับเป็นการเยือนกุบูร อันเนื่องจากเราจะไม่ได้อยู่ในกุบูรตลอดไป เพราะเมื่อวันกิยามะฮฺมาถึง เราก็จะต้องจากกุบูรเพื่อไปสู่วันแห่งการฟื้นคืนชีพอย่างแน่นอน
ตรงนี้ ตัฟซีรมีการยกอัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม อิมามอัตติรฺมีซีย์ อิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านมุฏ็อรริฟ ซึ่งได้ฟังมาจากบิดาของท่าน ( คือท่านอับดุลลอฮฺ عبد الله بن الشخير ) ว่า
وَيَقُول اِبْن آدَم مَالِي اِنْتَهَيْت إِلَى رَسُول اللَّه صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهُوَ يَقُول " أَلْهَاكُمْ التَّكَاثُر " مَالِي وَهَلْ لَك مِنْ مَالِك إِلَّا مَا أَكَلْت فَأَفْنَيْت أَوْ لَبِسْت فَأَبْلَيْت أَوْ تَصَدَّقْت فَأَمْضَيْت ؟
“ฉันได้ไปพบท่านนบี โดยที่ท่านนบีกำลังอ่าน التَّكَاثُر أَلْهَاكُمْ (อ่านซูเราะฮฺอัตตะกาษุร)
แล้วท่านนบีได้กล่าวว่า
“ลูกหลานของอาดัม (ก็หมายถึงมนุษยชาติ หมายถึงพวกเรา) ต่างพูดกันว่า “ทรัพย์สินของฉัน ทรัพย์สินของฉัน” ..
(แต่แท้จริง)ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นของท่านหรอก นอกจาก สิ่งที่ท่านได้กินเข้าไป แล้วมันได้ย่อยสลายไปแล้ว
หรือสิ่งที่ท่านได้สวมใส่ (ก็คือเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม) ซึ่งเมื่อท่านใช้ไปแล้ว มันก็เปื่อยยุ่ยไป ..
หรือสิ่งที่ท่านได้บริจาคทาน แล้วท่านทำให้เสร็จสิ้นไปแล้วไม่ใช่หรือ ?
อัลหะดีษอีกบทหนึ่ง ในบันทึกของอิมามมุสลิม เพิ่มเติมว่า...ท่านนบีได้กล่าวว่า...
وقال مسلم في صحيحه: حدثنا سويد بن سعيد، حدثنا حفص بن ميسرة عن العلاء قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم رضي الله عنه أبيه عن أبي هريرةعن : "يقول العبد: مالي مالي، وإنما له من ماله ثلاث: ما أكل فأفنى، أو لبس فأبلى، أو تصدق فأمضى، وما سوى ذلك فذاهب، وتاركه للناس"
“โอ้ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย..ทรัพย์สินของท่านนั้น ไม่ได้เป็นของท่านหรอก.. แต่ที่จะเป็นของท่านนั้นก็ได้แก่
(1) สิ่งที่พวกท่านรับประทานเข้าไปแล้ว แล้วมันก็ย่อยสลายไปแล้ว ..
( 2 ) หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มที่ท่านใช้ไปจนมันเก่าขาดยุ่ยไป..
( 3) หรือสิ่งที่ท่านได้บริจาคไปแล้ว ท่านก็ให้มันผ่านไป ไม่ได้เอามาทวงบุญคุณอะไร (นี่คือส่วนที่เป็นของลูกหลานของอาดัมอย่างแท้จริง) ..
นอกเหนือจากนี้แล้ว เขาก็จะจากไป ตายไป แล้วก็ทิ้งส่วนที่เหลือทั้งหมดเอาไว้ให้เป็นของคนอื่น”
ก็คือ นอกเหนือจากสามประการนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเอาอะไรที่เหลือทิ้งอยู่ในโลกดุนยานี้ เอาติดตัวไปในโลกอาคิเราะฮฺได้เลย
อัลอะดีษอีกบทหนึ่ง ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิบนิ อับบาส และท่านอนัส บินมาลิก เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมได้เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
لَوْ أَنَّ لِابْنِ آدَمَ وَادِيًا مِنْ ذَهَبٍ أَحَبَّ أَنْ يَكُونَ لَهُ ثَانِيًا , وَلَنْ يَمْلأَ فَاهُ إِلا التُّرَابُ ، وَيَتُوبُ اللَّهُ عَلَى مَنْ تَابَ
“ถ้าหากมนุษย์มีหุบเขาทองคำหนึ่งแห่ง เขาก็อยากจะให้มีอีกสองแห่ง แต่จะไม่มีอะไรเต็มปากของเขานอกจากดินเท่านั้น
(ก็หมายความว่าไม่มีอะไรที่จะมาระงับความอยากของมนุษย์ได้ นอกจากความตายเท่านั้น)
และอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ที่ขออภัยโทษ ผู้ที่สำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์เท่านั้น”
ดังนั้น เพื่อที่จะให้เราไม่หลงอยู่กับโลกดุนยา ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงทรงส่งเสริมให้มีการเยี่ยมกุบูร เพื่อให้เราได้ระลึกถึงสิ่งที่เราต้องเผชิญในโลกบัรซัค และโลกอาคิเราะฮ ไม่พะวงอยู่กับโลกดุนยา จนทำให้เราลืมหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมว่าเรามีอะไรติดตัวไปในโลกอาคิเราะฮฺบ้าง และการเป็นเยี่ยมกุบูรนั้นต้องไปอย่างเงียบสงบ ไปขอดุอาอ์ให้แก่ญาติพี่น้อง ขอให้แก่ชาวกุบูร ต่างคนต่างขอ
ต่อไป อายะฮฺที่ 3 - 4 – 5 ซึ่งทั้งสามอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงใช้คำว่า كـَلَّا มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ..มันไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่เขาคิด เขาทำกันในการที่พวกเขาแข่งขันกันในการสะสมสิ่งต่าง ๆเพื่อเอาไว้อวดอ้างกัน ใช้คำ كـَلَّا นี้ เพื่อฉุดให้เราหลุดออกจากสภาพข้างต้น คือออกจากสภาพของการแข่งขันกัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
كـَلَّا سَوۡفَ تَعۡلَمُونَ 3
“มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก พวกเจ้าจะได้รู้”
อายะฮฺนี้ ท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เศาะฮาบะฮฺท่านสำคัญท่านหนึ่งได้อธิบายว่า
“พวกเจ้าจะได้รู้” นั้น หมายถึงว่า เมื่อความตายมาถึงเรา เราก็รู้ว่าเราต้องไปอยู่ในกุบูร เราก็จะรู้ว่า เราต้องไปพบกับการสอบสวนในกุบูร ถูกถามคำถามสามประการ ประสบกับอะซาบหรือการลงโทษในกุบูร หรืออาจจะเป็นความสุขในกุบูร เราก็จะรู้ถึงบั้นปลายชีวิตของเราในโลกอาคิเราะฮฺว่าจะเป็นอย่างไร”
ثُمَّ كـَلَّا سَوۡفَ تَعۡلَمُونَ 4
“ แล้วมันก็ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก พวกเจ้าจะได้รู้”
จะได้รู้ว่า ในวันกิยามะฮฺ ในโลกอาคิเราะฮฺ เราจะต้องพบเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง เช่น ถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพื่อถูกสอบสวน ได้พบกับสถานการณ์ต่าง ๆ จนท้ายที่สุดเราจะได้ไปพำนักที่ไหน สวรรค์หรือนรก
كـَلَّا لَوۡ تَعۡلَمُونَ عِلۡمَ ٱلۡيَقِينِ 5
“มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ถ้าพวกเจ้าได้รู้อย่างแท้จริง อย่างมั่นใจแล้ว”
นั่นก็หมายความว่า หากเรารู้อย่าง ٱلۡيَقِينِ อัลยะกีน คือความมั่นใจอย่างเต็มร้อย มั่นใจโดยไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ในความรู้นั้นเลยว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราหลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว เราต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
เราก็จะไม่ตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันกันสะสมสิ่งต่าง ๆ เพื่ออวดอ้างกัน จนกระทั่งเราลืมหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา .เราคงไม่เพลิดเพลินกับเรื่องของโลกดุนยา แต่เรากลับจะขวนขวายทำการงานอะมัล การงานที่ดีที่ศ่อลิหฺให้มากยิ่งขึ้น ๆ..
ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ยืนยันว่า หากเรารู้ว่าเราจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างในโลกอาคิเราะฮฺ เราจะหัวเราะน้อยลง และร้องไห้มากขึ้น
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ ท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
(تَعْلَمُونَ مَا أَعْلَمُ لَضَحِكْتُمْ قَلِيلًا وَلبَكَيْتُمْ كَثِيرًا).
"หากพวกท่านได้รู้ในสิ่งที่ฉันรู้ พวกท่านก็จะหัวเราะน้อยลง และร้องไห้อย่างมาก”
ต่อไป อายะฮฺที่ 6 – 7 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
لَتَرَوُنَّ ٱلۡجَحِيمَ 6
“ แน่นอน พวกเจ้าจะเห็นไฟนรกของอัลญะฮีมที่ลุกโชน”
ثُمَّ لَتَرَوُنَّهَا عَيۡنَ ٱلۡيَقِينِ 7
“ แล้วแน่นอนพวกเจ้าจะได้เห็นมัน ด้วยสายตาที่แน่ชัด”
คำว่า لَتَرَوُنَّ เป็นคำที่มาตอกย้ำว่า พวกเจ้าจะได้เห็นอย่างแน่นอน ..เห็น ٱلۡجَحِيمَ อัลญะฮีมซึ่งก็คือชื่อหนึ่งของนรก เป็นนรกที่มีเปลวไฟที่ลุกโชน เป็นการเห็นด้วยสายตาของเราเองอย่างชัดเจน ..
อายะฮฺทั้งสองนี้เน้นย้ำว่า บ่าวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธา หรือผู้ปฏิเสธศรัทธาก็ตามจะต้องได้เห็นไฟนรกด้วยสายตาของพวกเขาเอง แล้วพวกเขาก็ได้เห็นไฟนรกจริง ๆ..
ซึ่งคนที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา คนที่เป็นมุชริก เป็นมุนาฟิก เมื่อเขาเห็นไฟนรกนั้นแล้ว พวกเขาก็จะถูกลงโทษ ..
แต่สำหรับมุอ์มิน สำหรับผู้ศรัทธานั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้พวกเขาเห็นไฟนรก ก็เพื่อพวกเขาจะได้สำนึกในความเมตตาของพระองค์ และเมื่อผู้ศรัทธาเห็นไฟนรก อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะทรงปกป้องพวกเขาให้รอดพ้นจากไฟนรกนั้น
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงจบซูเราะฮฺนี้ด้วยอายะฮฺที่ว่า
ثُمَّ لَتُسۡـَٔلُنَّ يَوۡمَئِذٍ عَنِ ٱلنَّعِيمِ 8
“ แล้วในวันนั้นพวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่ได้รับ(ในโลกดุนยา)”
นั่นก็หมายความว่า ในวันกิยามะฮฺ ในโลกอาคิเราะฮฺเราจะถูกสอบถาม ถูกสอบสวนถึงความโปรดปราน.. ٱلنَّعِيمِ อันนะอีมคือความโปรดปราน ...
ความโปรดปรานที่เราได้รับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องที่ทำให้เราสุขใจ เช่น เรื่องของอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ การที่เราได้ยิน การที่เรามองเห็น เรามีสุขภาพที่ดี ได้รับความปลอดภัยต่าง ๆ ได้รับความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ แม้กระทั่งน้ำเย็นสักแก้วหนึ่งที่เราดื่มมัน
เราก็จะถูกถามว่า เมื่อเราได้รับความโปรดปรานเหล่านั้นแล้ว ได้มีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย ได้ดื่มน้ำเย็นแก้วนั้นแล้ว เราได้สำนึกถึงบุญคุณของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้วใช่ไหม .. ได้ขอบคุณพระองค์แล้วใช่ไหม.. ได้ทำอิบาดะฮฺเพื่อพระองค์แล้วใช่ไหม .. ได้ดำเนินชีวิตให้อยู่ในขอบเขตบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้วใช่ไหม..
หรือว่า เราลืมไปแล้ว ได้รับความโปรดปรานเหล่านั้นแล้ว ก็แล้วกันไป ..ได้ดื่มน้ำเย็นสักแก้วหนึ่ง แล้วเราก็บอกว่า เฮ้อ เย็นชื่นใจดี ..แล้วเราก็ลืมไปเลย ไม่ได้นึกถึงความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีต่อเราเลย....เราเป็นแบบไหนกัน !?
เรามาดูอัลหะดีษเกี่ยวกับเรื่องของการถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่ได้รับในโลกดุนยาที่ถูกกล่าวถึงในอายะฮฺนี้
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวความว่า
“ในวันหนึ่งหรือในคืนหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เดินออกมาจากบ้านของท่าน แล้วได้พบท่านอบูบักร กับท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งเป็นสหายของท่าน จึงได้ถามทั้งสองท่านว่า เพราะเหตุใดที่ทำให้ท่านต้องเดินออกมาจากบ้านในเวลาเช่นนี้
ทั้งสองท่านตอบว่า โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ เพราะความหิวครับ
ท่านนบีจึงได้กล่าวว่า ฉันขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แท้จริง เหตุที่ฉันต้องเดินออกจากบ้านในเวลาเช่นนี้ ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับท่านทั้งสอง (ก็คือความหิว)เช่นกัน (ก็คือไม่มีอะไรจะกินกัน )...
แล้วท่านนบีก็ชวนสหายทั้งสองของท่าน ไปยังบ้านของชายชาวอันศ็อรคนหนึ่ง แต่ชายคนนี้ไม่อยู่บ้าน เมื่อภรรยาของเจ้าของบ้านเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมและสหายทั้งสองของท่าน
นางได้กล่าวว่า ยินดีต้อนรับ...
ท่านนบีถามว่า สามีของเธอไปไหน ...
นางตอบว่า เขาไปตักน้ำค่ะ..
แล้วชายเจ้าของบ้านก็กลับมา เมื่อชายเจ้าของบ้านเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมและสหายทั้งสองของท่าน ..เขาได้กล่าวว่า อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ไม่มีวันใดที่จะเทียบเท่าวันนี้ได้อีกแล้ว ที่เราได้มีโอกาสต้อนรับแขกอันทรงเกียรติที่มาเยือนเราเช่นนี้ (ชายเจ้าของบ้านดีใจอย่างที่สุดที่ได้ต้อนรับท่านนบี และสหหายทั้งสองของท่าน )..
ชายเจ้าของบ้านจึงเดินไปเก็บอินทผลัมชนิดต่าง ๆเพื่อนำมาเลี้ยงท่านนบีกับสหายทั้งสองของท่าน ..
ชายเจ้าของบ้านกล่าวว่า พวกท่านจงรับประทานเถิด ..
หลังจากนั้น ชายเจ้าของบ้านก็ไปหยิบมีดเพื่อจะไปเชือดแพะมาทำอาหารเลี้ยง .
ท่านนบี ได้กล่าวว่า ท่านอย่าได้เชือดแพะตัวที่มันมีน้ำนมมาก ..
แล้วชายเจ้าของบ้านก็ได้เชือดแพะ และทำอาหารมาเลี้ยง และแขกทั้งสามได้รับประทานกันจนอิ่มแล้ว ...
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวแก่ท่านอบูบักรและท่านอุมัรว่า ..
ฉันขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ในวันกิยามะฮฺ พวกท่านจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่พวกท่านได้รับในโลกดุนยานี้ อันเนื่องจากพวกท่านออกจากบ้านด้วยความหิว และพวกท่านยังไม่ได้กลับไปยังบ้านของพวกท่าน จนพวกท่านได้รับความโปรดปรานเหล่านี้ (ก็คือได้รับประทานอาหารจนอิ่ม ...เมื่ออิ่มแล้ว ได้สำนึก ได้ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไหม) “
ท่านอิมามอันนะวะวีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้อธิบายอัลหะดีษบทนี้ว่า
“การสอบถามของอัลลอฮฺ ณ ที่นี้ ที่มีต่อบ่าวผู้ศรัทธานั้น ก็เพื่อให้เกิดความสำนึกต่อความเมตตากรุณาของพระองค์ที่ได้ประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ ไม่ใช่คำถามเพื่อตำหนิ หรือเพื่อชำระบัญชีแต่อย่างใด ...
แต่ส่วนการสอบถามสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว ถือเป็นการสอบถามเชิงตำหนิ และเพื่อชำระบัญชีความผิดของพวกเขา
อัลหะดีษอีกบทหนึ่งในเรื่องของการสอบถามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺนั้น ในสุนันอิมามอัตติรฺมีซีย์ (หะซัน เศาะหิหฺ) รายงานจากท่านอบีบัรซะฮฺ อัลอัซซะละมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ..
แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
: لَا تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ القِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيمَ فَعَلَ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ
“ในวันกิยามะฮฺ บ่าวคนหนึ่งคนใดจะไม่ก้าวเท้าของเขา จนกว่าเขาจะถูกสอบถามถึงคำถามต่อไปนี้คือ
1. ถูกสอบถามถึงช่วงอายุของเขาว่าหมดไปกับสิ่งใด ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย ใช้ชีวิตอย่างไร ..สำมะเลเทเมาหรือเปล่า หรือหมดไปกับการช่วยเหลือสังคมมุสลิมและสังคมส่วนรวม ช่วยเหลืองานศาสนา
2. ถูกสอบถามถึงความรู้ที่เขาได้รับมาว่า เขาเอาไปใช้ทำอะไร เอาไปทำมาหากิน หรือเอาไปอวดอ้าง ให้ผู้คนกล่าวขวัญถึง ว่าเรียนจบอย่างนั้นอย่างนี้
3. ถูกสอบถามถึงทรัพย์สินว่าได้มาอย่างไร ด้วยวิธีหะลาลไหม หรือว่าได้มาอย่างหะรอม แล้วก็ใช้จ่ายทรัพย์สินนั้นไปอย่างไร ในหนทางของอัลลอฮฺ หรือเปล่า หรือใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ให้หมดไปวัน ๆ
4. ถูกสอบถามถึงร่างกายของเขา วัยหนุ่มวัยสาวของเขาว่า เขาได้ทุ่มเทให้มันหมดไปกับเรื่องใด ..ดูหนังฟังเพลง หรืออ่านอัลกุรอาน ท่องจำอัลกุรอาน หรือเรียนรู้ในบทบัญญัติศาสนา
ดังกล่าวข้างต้นก็คือ เรื่องของการที่เราถูกสอบถามในวันกิยามะฮฺที่ถูกกล่าวถึงในอายะฮฺสุดท้ายของซูเราะฮฺนี้
แท้จริงแล้ว ความโปรดปราน ความเมตตาต่าง ๆที่อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานให้แก่เรานั้น เราต้องนำไปสู่การขอบคุณต่อพระองค์ นำไปสู่การปฏิบัติตนให้อยู่ในขอบเขตบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ ไม่ใช่นำมาใช้ในการแข่งขันกันสะสมให้มีมากขึ้น ๆเพื่อนำมาโอ้อวดกัน ...
ทั้งนี้ อิสลามไม่ได้ห้ามมุสลิมร่ำรวย เราสามารถทำมาหากินให้มีฐานะที่ดีได้ ร่ำรวยได้ มั่งคั่งได้ แต่ต้องอยู่ในวิธีการที่หะลาล ถูกต้อง อยู่ในขอบเขตบทบัญญัติศาสนา ไม่ไปแข่งขันกับใคร ไม่ทำอะไรเกินตัวจนต้องไปก่อหนี้จนมากมาย ..เมื่อคิดจะก่อหนี้ก็ต้องพิจารณาตัวเองด้วยว่า ในอนาคตจะมีรายได้จากทางไหนบ้างเพื่อนำมาใช้หนี้ ถ้าไม่มีหนทางที่จะหารายได้มาชำระหนี้ ก็ไม่ต้องไปก่อหนี้..
เมื่อมีรายได้แล้วก็ต้องนำมาออกซะกาต ทำเศาะดะเกาะฮฺ ปฏิบัติตัวให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา รักษาสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์..
รักษาสิทธิของฮักกุลอาดัม ก็คือรักษาสิทฺธิของเพื่อนมนุษย์ ทำความดีต่อเพื่อนมนุษย์
ชีวิตของเราต้องไม่ไปผูกพันกับโลกดุนยาจนมากมาย แต่กลับต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเดินทางไปยังโลกอาคิเราะฮฺ โดยการขวนขวายทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ทำการงานที่ดี ๆ ทำด้วยความอิคลาศต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น
และอิบาดะฮฺนั้นต้องตรงตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย เพื่อให้สิ่งที่เราลงทุนลงแรงทำลงไป ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตามที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ ..
( นะศิหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )