ระวังบิดอะฮฺในเดือนเราะญับ
  จำนวนคนเข้าชม  40

..ระวังบิดอะฮฺในเดือนเราะญับ..

 

อ.อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ .. แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมดและต้องทำด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ

 

          ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในเดือนเราะญับ ..ซึ่งเป็นเดือนที่เจ็ดของปีปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มาเตือนเราว่า ใกล้จะถึงเดือนเราะมะฎอนแล้ว เพราะหลังจากเดือนเราะญับแล้ว ก็คือเดือนชะอ์บาน แล้วก็เดือนเราะมะฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี ..เดือนเราะญับจึงเป็นเดือนที่ให้เราได้มีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมในการเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน ..ส่วนใครที่ยังมีภารกิจติดค้างกับเดือนเราะมะฎอนปีที่แล้ว เช่น ยังถือศีลอดชดใช้ไม่ครบ ก็จะได้รีบจัดการให้แล้วเสร็จ..

 

          เมื่อเราพูดถึงเดือนต่าง ๆนั้น แท้จริงก็มีความสำคัญทุกเดือน แต่มันจะมีความสำคัญอย่างไรก็ต้องอยู่ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนด ... สำหรับเดือนเราะญับก็เป็นเดือนหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงให้ความสำคัญ โดยทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 36 พระองค์ตรัสว่า

 

 إِنَّ عِدَّةَ ٱلشُّهُورِ عِندَ ٱللَّهِ ٱثۡنَا عَشَرَ شَهۡرٗا فِي كِتَٰبِ ٱللَّهِ يَوۡمَ خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ مِنۡهَآ أَرۡبَعَةٌ حُرُمٞۚ ذَٰلِكَ ٱلدِّينُ ٱلۡقَيِّمُۚ فَلَا تَظۡلِمُواْ فِيهِنَّ أَنفُسَكُمۡۚ

 

     “แท้จริง จำนวนเดือน ณ ที่ อัลลอฮฺนั้นมีสิบสองเดือน (ตามที่ถูกบันทึกไว้)ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ

     ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน (ตรงนี้ก็หมายถึงว่า เมื่อพระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน หรือทรงสร้างโลก สร้างจักรวาล ณ ตอนนั้น พระองค์ก็ทรงกำหนดมาแล้วว่า ในหนึ่งปีมีสิบสองเดือนเท่านั้น ไม่ใช่สิบสามเดือนหรือสิบสี่เดือนตามที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มในสมัยญาฮิลียะฮฺกำหนดขึ้น)

     โดยจากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม أَرۡبَعَةٌ حُرُمٞۚ ..ดังกล่าวนี้คือบัญญัติอันเที่ยงตรง ..

     ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าอธรรมต่อตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น.....”

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ได้ทรงขยายความว่า เดือนทั้งสี่ที่เป็นเดือนต้องห้ามนั้นมีเดือนอะไรบ้าง ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้อธิบายไว้ว่า เดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือนนั้น ได้แก่เดือนอะไรบ้าง

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานท่านอบีบักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ( أبو بكرة نفيع بن الحارث ) เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

 الزَّمانُ قَدِ اسْتَدارَ كَهَيْئَةِ يَومَ خَلَقَ السَّمَواتِ والأرْضَ؛ السَّنَةُ اثْنا عَشَرَ شَهْرًا، مِنْها أرْبَعَةٌ إنحُرُمٌ، ثَلاثَةٌ مُتَوالِياتٌ: ذُو القَعْدَةِ، وذُو الحِجَّةِ، والمُحَرَّمُ، ورَجَبُ مُضَرَ الذي بيْنَ جُمادَى وشَعْبانَ،

 

     “แท้จริง กาลเวลาก็หมุนเวียนตามสภาพของมัน ในวันที่(อัลลอฮฺ)ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ..ซึ่งปีหนึ่งนั้นมีสิบสองเดือน

     จากจำนวนนั้น มีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้าม โดยสามเดือนนั้นเป็นเดือนที่ติดต่อกัน อันได้แก่ เดือนซุลเกาะอ์ดะฮ เดือนซุลหิจญะฮฺ เดือนอัลมุหัรรอม

     ส่วนอีกเดือน(ที่ไม่ได้ติดต่อกับเดือนทั้งสาม) ได้แก่ เดือนเราะญับ ที่เผ่ามุฎ็อรได้ยืนยันไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนญุมาดากับเดือนชะอ์บาน”

 

          จากตัวบทอัลหะดีษข้างต้น คำว่า ورَجَبُ مُضَرَ นั้นหมายถึงว่า ท่านนบีได้กล่าวถึงเดือนเราะญับตามที่เผ่ามุฎ็อรได้ยืนยันว่า เป็นเดือนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเดือนญุมาดา หรือที่เรียกว่า มุญาดัษษานียะฮฺ กับเดือนชะอ์บาน ไม่ใช่เดือนที่อยู่ระหว่างเดือนชะอ์บานกับเดือนเชาวาล ก็คือไม่ได้หมายถึงเดือนเราะมะฎอน ตามที่เผ่ารอบีอะฮฺในสมัยก่อนนั้นเข้าใจผิดกัน .. ท่านนบีจึงใช้คำว่า ورَجَبُ مُضَرَ เพื่อยืนยันความถูกต้องว่า เดือนเราะญับเป็นหนึ่งในเดือนที่ต้องห้าม ไม่ใช่เดือนเราะมะฎอน ..ซึ่งเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุดในจำนวนสิบสองเดือน แต่ไม่ใช่เดือนต้องห้าม

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวถึงเดือนต้องห้ามในอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้นว่า ในเดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือนนี้ ห้ามเรา أَنفُسَكُمۡۚ فِيهِنَّ تَظۡلِمُواْ فَلَا ห้ามเราอธรรมต่อตัวเอง ก็คือ เราอย่าทำให้ตัวเราต้องได้รับการถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันเนื่องมาจากการที่เราไปฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือไปทำมะอ์ศิยะฮฺต่าง ๆ ในเดือนเราะญับ ซึ่งเป็นเดือนที่ห้ามรบราฆ่าฟันกัน ห้ามหลั่งเลือดกัน เป็นเดือนที่เราต้องละทิ้ง ต้องห่างไกลจากข้อห้ามต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งการทำบาปต่าง ๆ ในเดือนต้องห้ามนี้ จะได้รับการลงโทษที่หนักหนายิ่งขึ้นกว่าปกติ...

 

          ส่วนสำหรับการทำอิบาดะฮฺ การทำอามาล การงานที่ศ่อลิหฺต่าง ๆนั้น ก็จะได้รับผลบุญมากขึ้นกว่าปกติเช่นกัน แต่อิบาดะฮ อามาล การงานที่ศ่อลิหฺต่าง ๆนั้น ต้องเป็นสิ่งที่มีแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะถ้าไม่อย่างนั้น มันก็จะกลายเป็นบิดอะฮฺ ซึ่งเรื่องของบิดอะฮฺนั้นก็คือ เรื่องที่นำไปสู่ความหลงผิด และทุก ๆการหลงผิด นำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก

 

          อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในสุนันของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«وَشَرُّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ، وَكُلُّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ»

 

     "สิ่งชั่วช้าที่สุดคือ สิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนา

     และทุกๆสิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนานั้น ถือเป็น بِدْعَةٍ บิดอะฮฺทั้งสิ้น

     และทุกๆบิดอะฮฺถือเป็นความหลงผิด ...และแน่นอน ทุกๆความหลงผิดย่อมนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก”

และยิ่งมาทำในเดือนต้องห้าม การลงโทษก็จะหนักหน่วงมากขึ้นอีกด้วย

 

     ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ (เศาะหะบะฮฺคนสำคัญท่านหนึ่งของอัลอิสลาม)ได้กล่าวความว่า

      อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ทรงกำหนดให้เดือนทั้งสี่ที่เป็นเดือนต้องห้าม(จากการก่ออธรรมต่าง ๆ ตลอดจนการรบราฆ่าฟันนั้น) และได้ทรงให้การห้ามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง 

     พระองค์จึงทรงกำหนดให้การทำบาป การทำความผิดในเดือนต้องห้ามเหล่านี้ เป็นความผิดที่หนักหนายิ่ง (หนักหนายิ่งกว่าที่ทำในเดือนปกติในความผิดชนิดเดียวกัน) 

     ในขณะเดียวกัน การทำอิบาดะฮฺ ทำการงาน ทำความดีในเดือนต้องห้ามทั้งสี่นี้ ก็นับว่าได้รับผลบุญยิ่งใหญ่ (มากกว่าในเดือนปกติสำหรับความดีหรืออิบาดะฮฺชนิดเดียวกัน)เช่นเดียวกัน

     เมื่อเราตั้งใจไม่ทำบาป ไม่ทำความผิดในเดือนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกลงโทษที่เพิ่มมากขึ้น แต่พอในเรื่องของอิบาดะฮฺ เราก็อยากจะทำให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้รับผลบุญมากขึ้นเช่นกัน ..คนบางคนบางกลุ่มเขาก็เลยไปทำอิบาดะฮฺมากมาย ที่ไม่ได้มีหลักฐานที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือใด ๆ เลย นำมาปฏิบัติกัน เป็นอิบาดะฮฺที่คิดกันขึ้นมาเอง ซึ่งนี่ก็คือ การทำบิดอะฮฺนั่นเอง .. 

 

          ดังนั้น การทำบิดอะฮฺในเดือนต้องห้ามนี้ จึงนับว่าเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษที่หนักหน่วงมากยิ่งกว่าในเดือนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เดือนต้องห้าม ..เรามาเรียนรู้ มาฟังกันว่า มีอะไรบ้างที่เข้าข่ายในเรื่องของบิดอะฮฺ ที่มีผู้คนบางคน บางกลุ่มทั้งในประเทศและนอกประเทศที่เขาปฏิบัติกัน เราจะได้รู้เท่าทันว่า มันเป็นบิดอะฮฺ และหลีกห่างออกจากมัน

 

          สำหรับในเดือนเราะญับนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือใด ๆเลย ที่มีการสั่งใช้ให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺอะไรที่เป็นพิเศษ ๆ นั่นก็หมายความว่า ให้เราทำอิบาดะฮฺที่เราเคยทำอยู่แล้ว เช่น การละหมาดสุนัตต่าง ๆ ก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎู ละหมาดดุฮา ละหมาดยามค่ำคืน (ตะฮัจญุด วิเตร) หรือการทำความดีต่าง ๆ เช่น การบริจาค การทำความดีต่อพ่อแม่ ต่อคนในครอบครัว หรือต่อเพื่อนบ้าน หรือต่อผู้คนในสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งที่เราถูกใช้ให้ปฏิบัติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราจะได้รับผลบุญอยู่แล้ว แต่พอเราไปทำในเดือนต้องห้ามเช่นเดือนเราะญับนี้ ผลบุญที่เราได้รับก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนอื่น ๆที่ไม่ใช่เดือนต้องห้าม ...เราจึงไม่ต้องไปทำสิ่งที่มันเป็นบิดอะฮฺ เพราะโทษของมันก็จะหนักหน่วงมากกว่า

 

เรามาดูว่าอะไรบ้างที่เป็นบิดอะฮฺในเดือนเราะญับ

 

     ประการแรกก็คือ ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องใด ๆที่บอกว่า การขอดุอาอ์ในห้าค่ำคืน ที่ดุอาอ์จะไม่ถูกปฏิเสธได้แก่ (1)ในคืนวันศุกร์ (2)คืนแรกของเดือนเราะญับ (3) คืนกลางเดือนชะอ์บาน (4) สองคืนของวันอีด” ที่ถูกต้องก็คือ ให้เราก็ขอดุอาอ์ไปตามปกติ ไม่ต้องไปเนียต หรือไปนึกคิดว่าดุอาอ์ในค่ำคืนนี้จะได้รับการตอบรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่มีรายงานที่ถูกต้องยืนยันในเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

 

     ประการที่สอง ไม่มีการละหมาดที่พวกเขาเรียกว่า ละหมาดเราะฆ่ออิบ ในค่ำคืนของวันศุกร์แรกของเดือนเราะญับ ..ซึ่งพวกเขาจะกระทำกันในช่วงระหว่างมัฆริบกับละหมาดอิชาอ์

 

 

     ประการที่สาม ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนนี้ในรูปแบบเฉพาะเจาะจง ไม่มีการเจาะจงถือศีลอดในวันที่ 27 เดือนเราะญับ และไม่มีการเจาะจงละหมาดในยามค่ำคืนของวันนั้น ไม่มีการเอียะติกาฟในเดือนเราะญับ.. ส่วนผู้ที่ถือศีลอดซุนนะฮฺเป็นประจำอยู่เเล้ว เช่น ถือศีลอดวันจันทร์ กับวันพฤหัสบดีในทุก ๆสัปดาห์ หรือถือศีลอดในอัยยามุลบัยฎฺ( คือวันที่ 13,14,15 ของทุกเดือนจันทรคติ) อย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถ้าเขาจะถือศีลอดในเดือนต้องห้ามนี้

 

 

     ประการที่สี่ ไม่มีการเฉลิมฉลองในค่ำคืนที่ 27 ของเดือนเราะญับ โดยพวกเขาบอกว่า ค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนของการอิสรออ์มิอ์รอจญ์ .. ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่มีรายงานเลยว่า ค่ำคืนอัลอิสรออ์ วัลมิอ์รอจญ์นี้เกิดในค่ำคืนนี้ หรือเกิดในค่ำคืนไหน ..แต่ถึงแม้จะทราบ ก็ไม่สามารถเฉลิมฉลองได้อยู่ดี เพราะท่านนบีและบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านก็ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

 

 

     ประการที่ห้า ไม่มีการเจาะจงว่าจะต้องออกซะกาตทรัพย์สินของเขาเฉพาะในเดือนเราะญับเดือนเดียว แต่วาญิบให้ออกซะกาตเมื่อครบรอบปี ครบนิศอบด้วยเงื่อนไขของมัน ไม่ว่ามันจะตรงกับกับเดือนเราะญับหรือไม่ก็ตาม

 

 

     ประการที่หก ไม่มีการเจาะจงเป็นพิเศษในการทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับนี้

 

 

          นั่นก็คือบางส่วนของบิดอะฮฺที่เกิดขึ้นในเดือนเราะญับ ที่นับว่ายังแพร่หลายอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องออกห่าง ไม่ไปกระทำมัน เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานที่มีความถูกต้องหรือมีความน่าเชื่อถือใด ๆมาสนับสนุนเลย เว้นแต่ว่า มันจะเป็นหะดีษเฎาะอีฟ ก็คือมีหลักฐานอ่อน หรือสายรายงานขาดตอน ไม่ต่อเนื่อง ..หรือไม่ก็เป็นหะดีษเมาฎัวอ์ ก็คือ หะดีษปลอม กุขึ้นมาเอง ..ดังนั้น เราพึงทำอิบาดะฮฺที่มีหลักฐานที่ถูกต้องยืนยันไว้ ซึ่งสิ่งนี้ก็นับว่าปลอดภัยที่สุดสำหรับเราแล้ว และให้เราขออิสติฆฟารให้มาก ๆ เตาบะฮตัวให้มาก ๆในเดือนนี้และในทุก ๆ เดือน

 

สำหรับในส่วนของดุอาอ์ที่กล่าวกันว่าท่านนบีขอในเดือนเราะญับที่ว่า

 

اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِي رَجَب وَشَعْبَانَ وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ 

 

“โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานความจำเริญแก่เราในเดือนเราะญับและเดือนชะอ์บาน และโปรดนำเราเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน”

 

     แท้จริงแล้ว ดุอาอ์บทนี้มีสายรายงานที่เฎาะอีฟ คือหลักฐานอ่อน แต่อุละมาอ์กล่าวว่า มันเป็นดุอาอ์ที่เราสามารถนำไปขอได้ ..ซึ่งเหตุผลน่าจะเป็นเพราะ มันเป็นการขอทั่ว ๆ ไป เป็นการขอความจำเริญจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยที่มันไม่ได้เจาะจงในความประเสริฐเป็นพิเศษแต่อย่างใด ..วัลลอฮุอะลัม

 

 

     สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราห่างไกลจากการอธรรมต่าง ๆ ห่างไกลจากการถูกลงโทษของพระองค์ .. และโปรดให้เราได้ทำอิบาดะฮฺที่ถูกต้อง ที่นำเราไปสู่ผลบุญ รางวัลตอบแทนที่ดีงามยิ่ง

 

( นะศิหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )