..อย่าหลงทะนงตน..
อ.อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ ..
แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมดและต้องทำด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....
ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ
เรื่อง ๆ หนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกดุนยานี้ ที่เราต้องพยายามหลีกเลี่ยง และพยายามขจัดปัดเป่ามันให้ออกไปจากความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรา เพราะมันเป็นโรคของหัวใจชนิดหนึ่งที่เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ก็รังแต่จะทำให้เขาผู้นั้นได้รับความขาดทุนทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ เรื่อง ๆ นั้นก็คือ การหลงทะนงตน
تَكَبَّرَ...การหลงทะนงตน ก็คือการที่คน ๆ หนึ่งถือตนและคิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้ที่ดีกว่าคนอื่น คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความรู้มากกว่า..คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากกว่า มีฐานะร่ำรวยกว่า ..คิดว่าตนเองมียศถาบรรดาศักดิ์ที่ดีกว่า มีตำแหน่งหน้าที่การงานดีกว่า มีเกียรติกว่า...คิดว่าตนเองสวยกว่า หล่อกว่า ดังกล่าวนี้เป็นต้น ..
เพราะการหลงทะนงตนเหล่านี้ทำให้ผู้นั้นเกิดความลำพองตน เกิดความหยิ่งยโสโอหัง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาลืมความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเขา อันเป็นสาเหตุนำเขาไปสู่การขาดทุนทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ ..แท้จริงแล้ว การหลงทะนงตนที่คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น ๆ มันคือกับดักของชัยฏอน เพราะการหลงทะนงตนมีจุดกำเนิดมาจากมัน
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 34 เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งให้อิบลีสก้มสุญูดต่อท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม แต่มันกลับปฏิเสธ ..อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเล่าว่า
وَإِذۡ قُلۡنَا لِلۡمَلَٰٓئِكَةِ ٱسۡجُدُواْ لِأٓدَمَ فَسَجَدُوٓاْ إِلَّآ إِبۡلِيسَ أَبَىٰ وَٱسۡتَكۡبَرَ وَكَانَ مِنَ ٱلۡكَٰفِرِينَ
“และจงรำลึกถึงขณะที่เราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮฺว่า พวกเจ้าจงสุญูดต่ออาดัมเถิด
แล้วพวกเขา(มะลาอิกะฮฺ)ต่างก็สุญูดกัน ..นอกจากอิบลีสที่มันไม่ยอมสุญูด
และ(มันได้)แสดงอาการหลงทะนงตน ยโสโอหัง..
ดังนั้น มันจึงได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา (อันเนื่องมาจากการขัดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั่นเอง)”
ในซูเราะฮฺอัลอะหฺรอฟ อายะฮฺ 12 – 13 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถามอิบลีสถึงเหตุผลที่มันไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ที่ให้มันสุญูดต่อท่านนบีอาดัม พระองค์ตรัสเล่าว่า
قَالَ مَا مَنَعَكَ أَلَّا تَسۡجُدَ إِذۡ أَمَرۡتُكَۖ قَالَ أَنَا۠ خَيۡرٞ مِّنۡهُ خَلَقۡتَنِي مِن نَّارٖ وَخَلَقۡتَهُۥ مِن طِينٖ 12
“พระองค์ตรัสว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เจ้า(อิบลีส)ไม่ยอมสุญูด ในเมื่อข้าได้สั่งใช้เจ้า ...
มัน(อิบลีส)กล่าวว่า ข้าพระองค์ดีกว่าเขา(อาดัม) โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์จากไฟ และได้บังเกิดเขาจากดิน”
قَالَ فَٱهۡبِطۡ مِنۡهَا فَمَا يَكُونُ لَكَ أَن تَتَكَبَّرَ فِيهَا فَٱخۡرُجۡ إِنَّكَ مِنَ ٱلصَّٰغِرِينَ 13
“พระองค์ตรัสว่า ดังนั้น เจ้าจงลงจากสวนสวรรค์ไปเสีย
ไม่สมควรแก่เจ้าที่จะมาหลงทะนงตน มาหยิ่งยโสโอหังในสวนสวรรค์นี้ จงออกไปให้พ้น ..
แท้จริงเจ้านั้นอยู่ในหมู่ ٱلصَّٰغِرِينَ ผู้ต่ำต้อย”
นั่นก็หมายความว่า ในความคิดของอิบลีสแล้ว มันคิดว่า มันมีดีกว่าท่านนบีอาดัม ..มันถูกสร้างจากไฟ ในขณะที่ท่านนบีอาดัมถูกสร้างจากดิน ..มันคิดเอาเองว่าไฟย่อมดีกว่าดิน มันจึงเกิดอาการหลงทะนงตน หยิ่งยโสโอหังว่า มันต้องดีกว่าท่านนบีอาดัม ดังนี้แล้ว จะให้มันไปสุญูดต่อ ท่านนบีอาดัมได้อย่างไร ..
การหลงทะนงตน หยิ่งยโสโอหังของอิบลีสเช่นนี้แหละ ทำให้มันปฏิเสธคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ให้มันสุญูดต่อท่านนบีอาดัม จนเป็นสาเหตุทำให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาทรงโกรธกริ้วมัน และทำให้มันเป็นผู้ต่ำต้อย เพราะมันถูกขับไล่ให้พ้นจากความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำให้มันไม่มีโอกาสได้เข้าสวนสวรรค์ของพระองค์อีกเลย
..ดังนั้น เราอย่าปล่อยให้การหลงทะนงตน การหยิ่งยโสโอหังเข้ามามีอำนาจเหนือเรา เพราะมันคือสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้รับความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะหากเราไม่ได้รับความเมตตาจากพระองค์ เราก็ไม่สามารถจะเข้าสวนสวรรค์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺได้ อีกทั้งการหลงทะนงตน การหยิ่งยโสโอหังยังผลักดันเราให้เข้าใกล้การทำบาป อาจทำให้เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของชาวนรก
ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 206 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَإِذَا قِيلَ لَهُ ٱتَّقِ ٱللَّهَ أَخَذَتۡهُ ٱلۡعِزَّةُ بِٱلۡإِثۡمِۚ فَحَسۡبُهُۥ جَهَنَّمُۖ وَلَبِئۡسَ ٱلۡمِهَادُ
“และเมื่อถูกกล่าวแก่เขาว่า.. จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด ..
แต่แล้วความหลงทะนงตน การหยิ่งยโสโอหังก็เกาะกุมเขาให้กระทำบาปต่อไป..
ดังนั้นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเขาก็คือ นรกญะฮันนัม และแน่นอน มันเป็นที่พำนักอันเลวร้ายยิ่งนัก”
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ตักเตือนเราให้ระวังการทำให้ชีวิตของเราต้องพินาศ โดยที่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องได้รับความพินาศ ก็คือ การหลงทะนงตน
อัลหะดีษ (หะซัน) บันทึกโดยอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
وثلاثٌ دَرَجاتٌ. فأمّا المهلِكاتُ : فشُحٌّ مُطاعٌ، وهَوًى مُتَّبَعٌ، وإِعجابُ المرْءِ بنفْسِهِ.
“สามประการที่นำไปสู่ความพินาศคือ (1)ความตระหนี่ถี่เหนียว (2)การทำตามอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำ และ(3)การหลงทะนงตน”
แม้แต่ผู้ที่พยายามระมัดระวังตัวไม่ทำความผิด ไม่ทำบาป ท่านนบีก็ยังกล่าวเตือนพวกเขาให้ระวังการหลงทะนงตน
อัลหะดีษ (หะซัน) บันทึกโดย อัลบัซซาร รายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
- لو لم تكونوا تُذْنِبونَ ، لخِفْتُ عليكم ما هو أكبرُ من ذلِكَ ؛ العُجْبُ العُجْبُ
“หากว่าพวกท่านไม่เคยก่อความผิดบาป ฉันก็ยังเกรงว่าพวกท่านจะทำสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือ การหลงทะนงตน”
แท้จริงแล้ว การหลงทะนงตน การหยิ่งยโสโอหังถือเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ซึ่งมันจะทำลายการงานของเราให้ไร้ผลทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ อายะฮฺที่ 78 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเล่าถึงกอรูน พระองค์ตรัสว่า
قَالَ إِنَّمَآ أُوتِيتُهُۥ عَلَىٰ عِلۡمٍ عِندِيٓۚ أَوَلَمۡ يَعۡلَمۡ أَنَّ ٱللَّهَ قَدۡ أَهۡلَكَ مِن قَبۡلِهِۦ مِنَ ٱلۡقُرُونِ مَنۡ هُوَ أَشَدُّ مِنۡهُ قُوَّةٗ وَأَكۡثَرُ جَمۡعٗاۚ وَلَا يُسۡـَٔلُ عَن ذُنُوبِهِمُ ٱلۡمُجۡرِمُونَ
“เขา (กอรูน) กล่าวว่า ฉันได้รับมัน(ได้รับทรัพย์สมบัติมากมาย)เพราะความรู้ของฉัน ..
แต่ทว่าเขา (กอรูน) ไม่รู้หรอกหรือว่า แน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงทำลายผู้ที่มีพลังยิ่งกว่าและมีพรรคพวกมากกว่า ก่อนหน้าเขาในศตวรรษก่อน ๆ
และ(เขาคิดว่า)บรรดาผู้กระทำความผิดจะไม่ถูกสอบสวนเกี่ยวกับความผิดต่าง ๆ ของพวกเขาอย่างนั้นหรือ ?”
นั่นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงเล่าถึงกอรูน ..กอรูนเป็นชื่อของชายคนหนึ่งที่เป็นเครือญาติ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม เป็นลูกของลุง เป็นคนที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนา รู้เรื่องราวเกี่ยวกับคัมภีร์เตารอต เพราะเรียนรู้มาจากท่านนบีมูซา และยังเป็นคนที่ทำอิบาดะฮฺอยู่เสมอ แต่เนียตในการทำอิบาดะฮฺของกอรูนนั้น ไม่ได้เนียตทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว แต่เนียตทำเพื่อให้ชีวิตของเขามีความมั่งคั่งร่ำรวย ..
ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ประทานความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่เขาอย่างมากมาย มากมายขนาดที่ว่า กุญแจที่ใช้เปิดคลังสมบัติของกอรูน เฉพาะกุญแจอย่างเดียวยังต้องใช้ชายที่มีพละกำลังหลายคนมาแบกหามกุญแจนั้นจึงจะแบกได้ ..นี่เฉพาะกุญแจอย่างเดียว แล้วทรัพย์สมบัติของกอรูนจะต้องมากมายขนาดไหน ..?!
นี่คือความโปรดปรานที่กอรูนได้รับ แต่แทนที่กอรูนจะสำนึกตัวและขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขากลับหยิ่งผยองจองขน ลำพองตนว่าเป็นคนร่ำรวย อวดมั่งอวดมี อวดทรัพย์สมบัติ อวดเบ่งอวดโต แล้วก็ข่มเหงผู้คนไปทั่ว ไม่ว่าใครจะเตือนอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง เขาหลงทะนงตน หยิ่งยโสโอหังว่า การที่เขาได้รับทรัพย์สิน ได้รับทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลเหล่านี้ เพราะความรู้และความสามารถในการทำมาหากินของเขาเองต่างหาก ..
ด้วยเหตุนี้เอง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ทรงส่งการลงโทษลงมายังกอรูนและพวกพ้อง โดยการให้แผ่นดินสูบกอรูนและพวกพ้องของกอรูนที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน ตลอดจนทรัพย์สมบัติพัสถานต่าง ๆ ของกอรูนจนหมดสิ้น...
นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งจากอัลกุรอานที่แสดงให้เห็นถึงจุดจบอันเลวร้ายของคนที่หลงทะนงตน หยิ่งยโสโอหัง ที่อัลลอฮฺ ซุบอานะฮูวะตะอาลาทรงยกตัวอย่างให้เราได้ตระหนัก เพื่อให้เป็นข้อเตือนใจแก่เรา
อีกทั้งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังได้เตือนเราว่า แม้แต่เรื่องของการแต่งเนื้อแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผมก็สามารถนำเราไปสู่การหลงทะนงตน นำเราไปสู่การหยิ่งยโสทำให้เราได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยไม่ทันรู้ตัวได้เช่นกัน
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
- بيْنما رجلٌ يمشِي في حُلَّةٍ تُعجِبُهُ نفسُهُ ، مُرَجِّلٌ جُمَّتَهُ ، إذْ خسَفَ اللهُ بهِ الأرْضَ ، فهو يتجلْجَلُ فيها إلى يومِ القيامَةِ
“ขณะที่ชายคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าอาภรณ์สวยงามกำลังเดินอย่างโอ้อวดและทะนงตน ปล่อยผมสยายประบ่า
ทันใดนั้น อัลลอฮฺก็ทรงให้ธรณีสูบเขา และเขาจะถูกทรมานจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮฺ”
นั่นก็คือผลตอบแทนของผู้ที่หลงทะนงตน หยิ่งยโสโอหัง ดังเช่นที่กอรูนและพวกพ้องของกอรูนได้รับ ...แท้จริงแล้ว ผู้ที่หลงทะนงตนจะไม่มองหาข้อบกพร่องของตนเอง เพราะคิดว่าตนเองดีที่สุด เก่งที่สุด มีความสมบูรณ์พร้อม...
คน ๆหนึ่งได้กล่าวถามท่านหะซัน อัลบัศรีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ที่เป็นตาบิอีนที่มีคุณธรรม ความว่า ใครคือคนที่ชั่วร้ายที่สุด ?
ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ตอบความว่า (คนที่ชั่วร้ายที่สุด) คือคนที่เห็นตนเองเป็นคนที่ดีเลิศที่สุด
บางรายงานว่า...มีบางคนกล่าวว่า คนโกหก เป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากความประเสริฐ ความดีงาม ..
แต่คนที่ชอบโอ้อวดมีสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะคนชอบโอ้อวดนั้นโกหกทั้งคำพูดและการกระทำของเขา ..
แต่ทว่าคนที่หลงทะนงตนนั้นมีสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าคนทั้งสองประเภทดังกล่าว เพราะคนทั้งสองประเภท(คือคนโกหกกับคนโอ้อวด)นั้น มองเห็นข้อบกพร่องของตนเองและต้องการปกปิดมันไว้
แต่คนที่หลงทะนงตน จะมองไม่เห็นความผิดหรือข้อบกพร่องของตนเอง มองเห็นแต่ข้อดีและหลงภาคภูมิใจไปกับมัน เขาหลงลืมไปว่า แท้ที่จริงแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาคือผู้ประทานความโปรดปราน ความเมตตากรุณาเหล่านั้นให้แก่เขา ..
ดังนั้น อุละมาอ์จึงได้กล่าวว่า การหลงทะนงตน ถือเป็นความโง่เขลาโดยแท้...
ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาทรงปกป้องเราให้พ้นจากความโง่เขลานี้ด้วยเถิด ขอพระองค์โปรดให้เราเป็นผู้ที่ตระหนักรู้ สำนึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งต่าง ๆที่เรามีความพึงพอใจ ภาคภูมิใจไปกับมันนั้นเป็นความโปรดปราน เป็นเนี๊ยะอ์มะฮฺ เป็นความเมตตากรุณาที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น เราไม่สามารถจะสรรหามาได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถที่จะประสบกับความสำเร็จใด ๆได้ หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงประสงค์ เมื่อเราตระหนักรู้เช่นนี้ก็จะช่วยเราไม่ให้เป็นคนที่หลงทะนงตน หรือหยิ่งยโสโอหัง อินชาอัลลอฮฺ
เมื่อใดก็ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานความโปรดปรานให้แก่เรา ครอบครัวของเรา ทรัพย์สมบัติเงินทองของเรา หรือลูกหลานของเรา อุละมาอ์ให้เรากล่าว มาชาอัลลอฮฺ ลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮฺ นี่คือความประสงค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่มีพลังอำนาจใด ๆ นอกจากพลังอำนาจของพระองค์เท่านั้น ...
ขอให้เราตระหนักรู้ สำนึกรู้ถึงความอ่อนแอของตัวเราที่มักจะลุ่มหลง ทะนงตนไปกับความสวยงาม การมีพลังวังชา ทะนงตนอันเนื่องมาจากการมีทรัพย์สิน มีเงินทอง มีลูกหลาน มีข้าทาสบริวาร มีญาติสนิท มีมิตรสหายมากมาย เมื่อเราตระหนักรู้ สำนึกรู้ว่าสิ่งต่าง ๆเหล่านี้คือบททดสอบแก่เรา เราก็จะมีความรู้สึกยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และไม่หลงไปกับสิ่งต่าง ๆที่จะนำเราไปสู่ความขาดทุนทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ อินชาอัลลอฮฺ
( นะศิหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )