เพียง ผู้ ผ่ า น ท า ง
  จำนวนคนเข้าชม  94

... เพียง ผู้ ผ่ า น ท า ง ...

 

อ.ฮะซัน เจริญจิต

 

الحمد لله رب العالمين، ولي الصالحين، وأشهد أن لا إله إلا اللهُ الملكُ الحقُ المبين، وأشهد أن محمدًا عبده ورسوله الصادقُ الوعدُ الأمين، صلواتُ اللهِ وسلامُهُ عليه، وعلى آله وصحبه، ومَنْ دَعَا بِدَعْوَتِهِ، وَسَارَ على نَهْجِهِ إلى يوم الدين؛ أما بعد:

فاتقوا الله عباد الله: ﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ ﴾ [آل عمران: 102].

وقد قال الله تعالى في كتابه الكريم :

وَهُمْ يَصْطَرِخُونَ فِيهَا رَبَّنَا أَخْرِجْنَا نَعْمَلْ صَالِحًا غَيْرَ الَّذِي كُنَّا نَعْمَلُ أَوَلَمْ نُعَمِّرْكُم مَّا يَتَذَكَّرُ فِيهِ مَن تَذَكَّرَ وَجَاءَكُمُ النَّذِيرُ فَذُوقُوا فَمَا لِلظَّالِمِينَ مِن نَّصِيرٍ

 

‏.     “และพวกเขาจะตะโกนอยู่ในนรกนั้นว่า "ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดนำเราออกไป (จากนรก) เพื่อเราจะได้ปฏิบัติการงานที่ดี อื่นจากที่เราได้ปฏิบัติไปแล้ว"

     และเรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนนานพอดอกหรือ เพื่อผู้ที่ใคร่ครวญจะได้รำลึกถึงข้อตักเตือนและ (ยิ่งกว่านั้น) ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว

     ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส(การลงโทษ) เถิด เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่มีผู้ช่วยเหลือ”

(ฟาฏิร/37)

 

‏.          เวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี ทำให้เรารู้ว่า พวกเราได้มาอยู่กันในดุนยานี้ไม่น้อยแล้วเหมือนกัน มันนานพอควร ที่เราจะนั่งรำลึกนึกถึงคืนวันต่างๆของชีวิตได้บ้างแล้ว

          ผู้คนจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้ เฉลิมฉลองดีอกดีใจมีความสุขกับอายุของตัวเองที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี ทั้งที่เพิ่มขึ้นแบบครบขวบบริบูรณ์ในวันครบรอบวันเกิด หรือเพิ่มขึ้นนับขวบปีตามรอบปฏิทินก็ตาม

          ‏ แต่เมื่อเราลองเทียบอายุของพวกเรากับอายุของดวงดาวแต่ละดวง หรือเทียบระยะทางความห่างไกลของดวงดาวแต่ละดวงกับโลกที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งดาวบางดวงอยู่ห่างจากพวกเราไปถึง 5 ล้านปีแสง ซึ่งหมายความว่าถ้าเราเดินทางด้วยความเร็วเท่ากับการเดินทางของแสง-ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มี-ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 5 ล้านปีเลยทีเดียว กับอายุของพวกเรา 50 -60 ปี หรืออายุยืนสุดๆในปัจจุบันนี้ก็ไม่เกิน 100 ปี (100 ปีเทียบกับ 5 ล้านปี) ด้วยระยะเวลาที่แสนสั้นของชีวิตมนุษย์และมีอยู่อย่างจำกัด จึงนับว่าชีวิตเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญและมีค่ามากที่สุดของมนุษย์

          เราได้เวลาของชีวิตมาอย่างจำกัด และเราอยู่ในโลกใบนี้ โดยใช้เวลาของชีวิตแลกมา ไม่มีสิ่งใดมีค่าเท่าโมงยามของชีวิต สิ่งอื่นใด ไม่ว่า ทรัพย์สิน ลูกหลาน วงศ์วานว่านเครือ ล้วนไร้ค่าไร้ราคา เมื่อเวลาของชีวิตหมดลง ทั้งหมดกลายเป็นเพียงฝุ่นละอองที่ปลิวว่อนไม่มีราคา (هَبَاءً مَنثُورًا  )

 

          ‏ มนุษย์จงควรใคร่ครวญ พิจารณาอย่างจริงจังต่อเนียะมะฮฺนี้ที่อัลลอฮฺให้เขามาให้มาก เวลาปัจจุบันที่เป็นจริงของพวกเราทุกคน ว่าได้ใช้มันคุ้มกับคุณค่าของมันหรือไม่ เวลาที่ล่วงผ่านไปไม่อาจหวนกลับมา เวลาอนาคตที่บรรจุความหวังของทุกคนไว้ ซึ่งอาจจะเป็นจริงสำหรับบางคนและอาจสูญหายไปสำหรับบางคนได้เช่นกัน

 

          ‏ ดังนั้นผู้มีปัญญาควรต้องยึดเอาโอกาสที่เวลาของชีวิตยังมีอยู่ รีบเร่งในการ กลับตัว ไม่หลงไหลและยึดติดกับดุนยามากเกินไป ชีวิตที่มีค่าของเราต้องสิ้นสุด ดุนยาโลกชั่วคราวนี้ ถึงวัน เวลาที่ถูกกำหนดก็ต้องแตกดับ สูญสลาย และจบลงแม้ท่านจะมีอายุยืนยาวเท่าไหร่ก็ตาม

 

عن ابن عمر رضي الله عنهما، قال: ((أخَذ رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّم بمَنكِبِي - أو قال بمَنكِبَيَّ - فقال : ( كُنْ في الدُّنيا كأنَّك غريبٌ أو عابرُ سبيلٍ ) قال : فكان ابنُ عُمَرَ يقولُ : إذا أصبَحْتَ فلا تنتظِرِ المساءَ وإذا أمسَيْتَ فلا تنتظِرِ الصَّباحَ وخُذْ مِن صحَّتِكَ لِمرضِكَ ومِن حياتِكَ لِموتِكَ

الراوي : عبدالله بن عمر | المحدث : ابن حبان | المصدر : صحيح ابن حبان | الصفحة أو الرقم : 698

 حكم المحدث : أخرجه في صحيحه | التخريج : أخرجه البخاري (6416

 

          ‏ รายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนิอุมัร รอฎิยัลลอฮุ อันฮุมา เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-ได้จับใหล่ทั้งสองของฉันแล้วกล่าวว่า 

“จงอยู่ในดุนยาเสมือนท่านเป็นคนแปลกหน้า หรือคนเดินทาง”

 

          อิบนุอุมัร ได้กล่าวว่า เมื่อเวลาเช้ามาถึงท่านอย่าได้รอให้ถึงเย็น เมื่อท่านอยู่เวลาเย็นก็อย่ารอจนกระทั่งเช้า จงฉกฉวยขณะที่ท่านสุขภาพดีก่อนที่ท่านจะป่วยไข้ จงฉกฉวยขณะที่ท่านยังมีชีวิต ก่อนความตายของท่าน

 

          ‏ อิสลามจึงส่งเสริมให้ใช้ชีวิตขณะที่ยังมีโอกาสให้ดีที่สุด อย่าประมาท อย่าเผลอเรอ ปล่อยปละละเลยโอกาสของชีวิตไป ท่านรอซูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-กล่าวว่า

نِعْمَتانِ مَغْبُونٌ فِيهِما كَثِيرٌ مِنَ النَّاسِ: الصِّحَّةُ والفَراغُ. 

الراوي : عبدالله بن عباس | المحدث : البخاري | المصدر : صحيح البخاري

الصفحة أو الرقم: 6412 | خلاصة حكم المحدث : [صحيح]

التخريج : من أفراد البخاري على مسلم

 

‏      ความโปรดปราน 2 อย่างที่มนุษย์ละเลย หลงลืมไม่เห็นคุณค่า คือการมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลา 

     ( الغبن ) คือการลดลงและขาดทุน ผู้คนจำนวนมากที่พวกเขาขาดทุน เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากการมีสุขภาพดีและการมีเวลา

 

‏           ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พวกเขาปล่อยให้เวลาช่วงที่มีสุขภาพดีของพวกเขาและการมีเวลาของพวกเขาหมดไปโดยที่เขาไม่ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับอาคิเราะห์ของเขาเลย และบางคนไม่ได้รับประโยชน์แม้กระทั่งกับชีวิตดุนยาของเขา ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังใช้เวลาให้เกิดโทษแก่ตัวเองทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ด้วย

 

          ‏ มนุษย์ต้องผ่านช่วงเวลาต่างๆของชีวิต การมีสุขภาพดีและการเจ็บป่วย ช่วงของการมีเวลาและมีความยุ่งเหยิง ช่วงวัยเด็ก วัยหนุ่มสาวและช่วงวัยชรา เขาจึงต้องรักษาทุกช่วงเวลาของชีวิตไม่ให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านศาสนาที่ต้องให้ความสำคัญก่อนผลประโยชน์ในดุนยาของเขา เพราะศาสนาคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตในดุนยาได้อย่างสงบและมีความสุขอย่างถาวรในอาคิเราะห์

 

          ‏ คนที่ฉลาดจะใช้เวลาเพื่อการสั่งสมเสบียงสำหรับโลกหน้าอาคิเราะห์ หากไม่ทำเช่นนั้นเขาจะพบกับความเสียใจและผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง และความหวังลมๆแล้งๆที่จะกลับมาก็ไม่เกิดประโชชน์ใดๆ

 

حَتَّى إِذَا جَاءَ أَحَدَهُمُ الْمَوْتُ قَالَ رَبِّ ارْجِعُونِ.  [المؤمنون: 99

،

“จนกระทั่งเมื่อความตายได้มาหาคนใดในพวกเขา เขาก็จะกล่าวขึ้นว่า

ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กลับไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด”

(อัลมุมินูน/99)

 

لَعَلِّي أَعْمَلُ صَالِحًا فِيمَا تَرَكْتُ كَلَّا إِنَّهَا كَلِمَةٌ هُوَ قَائِلُهَا وَمِن وَرَائِهِم بَرْزَخٌ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ    [المؤمنون: 100

.

 

“เพื่อข้าพระองค์จะได้กระทำความดีในสิ่งที่ข้าพระองค์ปล่อยทิ้งไว้ เปล่าเลย มันเป็นเพียงถ้อยคำที่เขากล่าวมันไว้เท่านั้น

และเบื้องหน้าของพวกเขานั้นมีโลกบัรซัค จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาจะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมา”

( อัลมุมินูน/100)

 

         ‏ อายุที่ยืนยาวที่อัลลอฮฺ ทรงมอบเป็นของขวัญให้กับมนุษย์นั้นคือความสุข ความโปรดปราน ที่มนุษย์จักต้องขอบคุณ และหนึ่งในรูปแบบของการขอบคุณนั่นคือการไม่ปล่อยให้เวลาที่ได้รับมาหมดไปกับสิ่งไร้สาระไม่เกิดประโยชน์ และเราจะถูกสอบถามถึงเนียะมะฮฺ -ความโปรดปราน-นี้

 

كما أخبر النبي صلى الله عليه وسلم    عَنْ أَبِي بَرْزَةَ الأَسْلَمِيِّ، قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: لَا تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ القِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيمَ فَعَلَ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ أَنْفَقَهُ، وَعَنْ جِسْمِهِ فِيمَ أَبْلَاهُ رواه الترمذي (2417)، وقال: " هَذَا حَدِيثٌ حَسَنٌ صَحِيحٌ".

 

     ‏ รายงานจาก อบีย์ บัรซะฮฺ อัลอัสละมีย์ ว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-ได้กล่าวว่า 

“เท้าทั้งสองของบ่าว(มนุษย์) จะไม่เขยื้อนไปไหนในวันกิยามะฮฺ จนกว่าจะ…

ถูกถามถึงอายุขัยของเขาว่าหมดไปอย่างไร 

(ถูกถาม)จากความรู้ของเขาว่าเขาได้ทำสิ่งใด 

(ถูกถาม)จากทรัพย์ของเขาว่าเขาได้มันมาอย่างไรและใช้จ่ายไปอย่างไร และ

(ถูกถาม)จากร่างกายของเขาว่าเขาใช้มันในสิ่งใด “

(บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)

 

‏           เวลา เป็นสิ่งแรกที่ถูกถาม เนื่องจากมันเป็นพื้นฐานรองรับอิบาดะฮฺต่างๆ จะถูกถามว่ามันได้ถูกใช้ให้หมดไปตามวัตถุประสงค์ที่อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมันหรือไม่ คือเพื่ออีหม่านและอิบาดะฮฺ(เพื่อศรัทธาและสักการะต่อพระองค์) หรือหมดไปกับการสนองตอบต่อความต้องการทางอารมณ์ของเขาเพียงอย่างเดียว

         อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลย จนสายเกินไป การกู่ตะโกนร้องขอ ในวันที่สายไปนั้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆและ มันจะไม่ถูกรับฟังและไม่ได้รับการตอบสนอง

 

وَهُمْ يَصْطَرِخُونَ فِيهَا    رَبَّنَا أَخْرِجْنَا نَعْمَلْ صَالِحًا غَيْرَ الَّذِي كُنَّا نَعْمَلُ أَوَلَمْ نُعَمِّرْكُم مَّا يَتَذَكَّرُ فِيهِ مَن تَذَكَّرَ وَجَاءَكُمُ النَّذِيرُ فَذُوقُوا فَمَا لِلظَّالِمِينَ مِن نَّصِيرٍ

 

     ‏ “และพวกเขาจะตะโกนอยู่ในนรกนั้นว่า 

     ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดนำเราออกไป (จากนรก) เพื่อเราจะได้ปฏิบัติการงานที่ดี อื่นจากที่เราได้ปฏิบัติไปแล้ว

      และเรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนนานพอดอกหรือ เพื่อผู้ที่ใคร่ครวญจะได้รำลึกถึงข้อตักเตือนและ 

     (ยิ่งกว่านั้น) ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส (การลงโทษ) เถิด 

     เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่มีผู้ช่วยเหลือ”

(ฟาฏิร/37)

 

‏           ตราบใดที่นาทีของความตายยังมาไม่ถึง เรายังมีเวลามากพอที่เตาบะฮฺ สำนึกผิดและกลับตัว กลับมาสู่พระเจ้าของเรา รีบเร่งมาสู่การอภัยและความเมตตาของพระองค์ ก่อนที่เวลาจะหมดลง…