การอบรมบุตรหลานให้ละหมาด
อ.อิสหาก พงษ์มณี ....แปลเรียบเรียง
เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง ซึ่งมีหลักฐานจากทั้งอัลกุรอานและซุนนะฮ์ที่ส่งเสริมให้สอนและปลูกฝังนิสัยละหมาดตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเปี่ยมด้วยความเมตตา ดังนี้:
จากอัลกุรอาน
1. การสั่งใช้ให้ครอบครัวละหมาด
พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ว่า:
“และจงสั่งใช้ครอบครัวของเจ้าให้ละหมาด และจงอดทนต่อสิ่งนั้น เรามิได้ขอปัจจัยยังชีพจากเจ้า
เราต่างหากที่เป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพ และบั้นปลายที่ดีนั้นสำหรับผู้ยำเกรง”
(ซูเราะฮ์ ฏอฮา 20:132)
โองการนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองมีหน้าที่สั่งสอนบุตรหลานให้ละหมาดและอดทนต่อการอบรมนี้
2. ส่วนหนึ่งจากเป้าหมายของการละหมาด
พระองค์ตรัสว่า:
“แท้จริง การละหมาดนั้นจะยับยั้งจากการทำสิ่งลามก และสิ่งที่น่ารังเกียจ”
(ซูเราะฮ์ อัลอังกะบูต 29:45)
การฝึกให้บุตรหลานละหมาดตั้งแต่วัยเด็กช่วยปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม
จากซุนนะฮ์
1. การสั่งสอนให้บุตรหลานละหมาด ท่านนบี ﷺ กล่าวว่า:
“จงสั่งใช้บุตรหลานของพวกท่านให้ละหมาดเมื่อพวกเขามีอายุครบเจ็ดปี
และจงตีพวกเขา (หากละเลย) เมื่อละเลยละหมาด เมื่อพวกเขามีอายุครบสิบปี และจงแยกที่นอนของพวกเขา”
(บันทึกโดยอบูดาวูด และอัล-อัลบานีย์รับรองว่าเศาะเฮี๊ยหฺ)
ฮะดีษนี้ได้แสดงถึง 3 ขั้นตอนในการสอนบุตรหลานให้ละหมาด:
♦ ขั้นตอนการสั่งใช้ด้วยถ้อยคำที่นุ่มนวล: เมื่อบุตรหลานมีอายุครบ 7 ปี
♦ ขั้นตอนการลงโทษเพื่ออบรม: หากละเลยละหมาดเมื่ออายุครบ 10 ปี
♦ ขั้นตอนการสร้างความเป็นส่วนตัว: โดยแยกที่นอนของพวกเขา
2. การปลูกฝังนิสัยรักการละหมาดตั้งแต่วัยเด็ก
ท่านนบี ﷺ กล่าวว่า:
“ทารกทุกคนเกิดมาบนฟิฏเราะฮ์ (ธรรมชาติที่ดีงาม) และบิดามารดาจะทำให้เขา เป็นยิว หรือคริสเตียน หรือบูชาไฟ”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีและมุสลิม)
ฮะดีษนี้เน้นถึงบทบาทของผู้ปกครองในการปลูกฝังให้บุตรหลานยึดมั่นในศาสนาและรักการละหมาด
วิธีการอบรมตามหลักการอิสลาม
1. การสอนด้วยความเมตตาและคำแนะนำที่ดี
♥ ใช้วิธีที่นุ่มนวล เช่น การพูดจาให้กำลังใจ และการเป็นแบบอย่างที่ดี
♥ สร้างบรรยากาศที่ทำให้บุตรหลานรักการละหมาด
2. การลงโทษในกรณีจำเป็น
♥ การลงโทษควรใช้เพื่อการอบรม ไม่ใช่การระบายอารมณ์
♥ ต้องระวังไม่ให้ลงโทษรุนแรงจนเกิดผลกระทบทางร่างกายหรือจิตใจ
การสอนบุตรหลานให้ละหมาดเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง ซึ่งเริ่มจากการสั่งใช้ด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน ต่อด้วยการอบรมและลงโทษเมื่อจำเป็นตามลำดับ ทั้งนี้ต้องมีความสมดุลระหว่างความเมตตาและความเข้มงวด เพื่อให้บุตรหลานเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาและมีคุณธรรม
นบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลฮุอัน ว่า
وصية النبي ﷺ لعبد الله بن عباس رضي الله عنه
"يا غلام، إني أعلمك كلمات: احفظ الله يحفظك، احفظ الله تجده تجاهك، إذا سألت فاسأل الله، وإذا استعنت فاستعن بالله. واعلم أن الأمة لو اجتمعت على أن ينفعوك بشيء لم ينفعوك إلا بشيء قد كتبه الله لك، وإن اجتمعوا على أن يضروك بشيء لم يضروك إلا بشيء قد كتبه الله عليك. رفعت الأقلام وجفت الصحف"
وصححه العلامة الألباني في صحيح الترمذي
"โอ้เด็กน้อยเอ๋ย (อับดุลลอฮฺ)! ฉันจะสอนเจ้า ในบางคำพูด:
จงรักษา (ความสัมพันธ์กับ) อัลลอฮฺ แล้วพระองค์จะทรงรักษาเจ้า
จงรักษา (ความสัมพันธ์กับ) อัลลอฮฺ แล้วเจ้าจะพบพระองค์อยู่เบื้องหน้าเจ้า
หากเจ้าจะขอ จงขอต่ออัลลอฮฺ และหากเจ้าจะขอความช่วยเหลือ จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ
และจงรู้เถิดว่า หากประชาชาติทั้งหมดรวมตัวกันเพื่อจะให้คุณประโยชน์แก่เจ้า พวกเขาจะไม่สามารถให้คุณประโยชน์แก่เจ้าได้ เว้นแต่สิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงบันทึกไว้แล้วให้เจ้า
และหากพวกเขารวมตัวกันเพื่อจะทำอันตรายแก่เจ้า พวกเขาจะไม่สามารถทำอันตรายแก่เจ้าได้ เว้นแต่สิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงบันทึกไว้แล้วให้เจ้า
ปากกา (ที่ใช้บันทึกกฎกำหนดของอัลลอฮฺ) ได้ถูกยกขึ้นแล้ว และกระดาษ(บันทึก)ก็แห้งสนิทแล้ว"
(เชคอัลอัลบานีย์ได้ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของหะดีษนี้ในหนังสือ ซอเฮียะห์ อัตติรมิซีย์)