การช่วยเหลือผู้อื่น
  จำนวนคนเข้าชม  222

บทบาทและหน้าที่ของมุสลิมกับการช่วยเหลือสังคม 2

การช่วยเหลือผู้อื่น

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา... เรียบเรียง

วิธีการช่วยเหลือผู้อื่น

 

     ท่านนบีมูซา (อะลัยฮิสลาม) ช่วยเหลือผู้หญิงสองคนด้วยการตักน้ำให้

     อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า

 

وَلَمَّا وَرَدَ مَاء مَدْيَنَ وَجَدَ عَلَيْهِ أُمَّةً مِّنَ النَّاسِ يَسْقُونَ وَوَجَدَ مِن دُونِهِمُ امْرَأتَيْنِ تَذُودَانِ قَالَ مَا خَطْبُكُمَا قَالَتَا لا نَسْقِي حَتَّى يُصْدِرَ الرِّعَاء وَأَبُونَا شَيْخٌ كَبِيرٌ )[القصص: 23].

 

     "และเมื่อเขามาพบบ่อน้ำแห่ง (เมือง) มัดยัน เขาได้พบฝูงชนกลุ่มหนึ่งกำลังตักน้ำ และนอกจากพวกเขาเหล่านั้น เขายังได้พบหญิงสองคนคอยห้าม (ฝูงแกะ)

     เขา (มูซา) กล่าวถามว่า “เรื่องราวของเธอทั้งสองเป็นมาอย่างไร ?” 

     นางทั้งสองกล่าวว่า “เราไม่สามารถตักน้ำได้ จนกว่าคนเลี้ยงแกะเล่านั้นจะถอยออกไป และบิดาของเราก็เป็นคนแก่มากแล้ว”

 

     ขณะที่ท่านกำลังเดินทางไปที่เมืองมัดยัน ท่านพบบ่อน้ำแห่งหนึ่งที่บุคคลจำนวนมากจะเอาน้ำในบ่อให้สัตว์เลี้ยงกิน และเห็นผู้หญิงสองคนจะเข้าไปเอาน้ำ แต่ต้องคอยเป็นเวลานาน เนื่องจากผู้คนจำนวนมาก ท่านจึงได้ยกหินที่หนักต้องใช้คนยก 10 คน เปิดปากบ่อใหม่ขึ้นอีกบ่อหนึ่ง ทำให้ผู้หญิงทั้งสองคนนั้นได้น้ำไปให้สัตว์กิน

     อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

فَسَقَىٰ لَهُمَا ثُمَّ تَوَلَّىٰ إِلَى الظِّلِّ فَقَالَ رَبِّ إِنِّي لِمَا أَنزَلْتَ إِلَيَّ مِنْ خَيْرٍ فَقِيرٌ (القصص) 24

 

     "ดังนั้น เขาจึงตักน้ำให้แก่นางทั้งสองแล้วก็กลับไปพักใต้ร่ม และกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์อยากได้ในความดีที่พระองค์ประทานลงมาให้แก่ข้าพระองค์”

 

     ท่านอิบนุ อับบาส กล่าวว่า เมื่อท่านนบีมูซาช่วยเหลือหญิงสาวทั้งสองในการตักน้ำให้ฝูงแกะของนาง ท่านนบีมูซาไปนั่งหลบร่มอยู่ใต้ต้นไม้ ในสภาพหิว ไม่มีรองเท้าใส่ เมื่อทั้งสองกลับไปถึงบ้านก็เล่าให้บิดาฟัง ว่ามีชายคนหนึ่งเปิดบ่อน้ำให้ บิดาของหญิงสาวทั้งสองนี้ จึงสั่งให้บุตรีไปตามชายคนนั้นมาที่บ้าน และบุตรีบอกแก่บิดาว่า ให้จ้างชายคนนั้นไว้เลี้ยงสัตว์ของเรา เพราะเขาแข็งแรงและไว้ใจได้ ในที่สุดบิดาของหญิงสาวทั้งสอง ได้ทำการแต่งงานกับบุตรีของท่านในเวลาต่อมา

 

     ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

كلُّ سُلامى مِن النَّاسِ عليه صدقةٌ: كلَّ يومٍ تطلُعُ عليه الشَّمسُ يعدِلُ بينَ اثنينِ ويُعينُ الرَّجلَ في دابَّتِه ويحمِلُه عليها ويرفَعُ له عليها متاعَه ويُميطُ الأذى عن الطَّريقِ صدقةٌ

 

“ทุกข้อกระดูกจากผู้คนทั้งหลายนั้น(มีหน้าที่)จะต้องทำเศาะดะเกาะฮฺทุกวัน, 

ทุกวันที่ตะวันขึ้นท่านไกล่เกลี่ยระหว่างคนสองคน (ที่ขัดแย้งกัน) ก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และท่านช่วยเหลือผู้คนให้ขึ้นพาหนะของเขา หรือช่วยยกสิ่งของขึ้นบนพาหนะของเขาก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และคำพูดที่ดีก็เป็นการเศาะดะเกาะฮฺ, และทุกก้าวที่เดินไปสู่การละหมาดก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และการขจัดสิ่งอันตราย(หรือสิ่งสกปรก)จากทางเดินก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ” 

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

 

สิ่งที่ได้รับจากตัวบทนี้

♠· การไกล่เกลี่ยระหว่างคนสองคน (ที่ขัดแย้งกัน)

♠· การช่วยเหลือผู้คนให้ขึ้นพาหนะ

♠· การช่วยยกสิ่งของ

♠· การใช้คำพูดที่ดี

♠· การขจัดสิ่งอันตราย(หรือสิ่งสกปรก)จากทางเดิน

 

 

การช่วยเหลือคนที่ถูกอธรรม

 

     ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«انْصُرْ أَخَاكَ ظَالِمًا أَوْ مَظْلُوْمًا، قَالُوْا يَا رَسُوْلَ اللهِ، هَذا نَنْصُرُهُ مَظْلُوْمًا فَكَيْفَ نَنْصُرُهُ ظَالِماً؟ قَالَ: تَأْخُذُ فَوْقَ يَدَيْه»

 

     “จงช่วยเหลือพี่น้องของท่านทั้งคนอธรรม และคนโดนอธรรม” 

     พวกเขาได้กล่าวว่า “คนนี้ เราช่วยเขาขณะถูกอธรรม แต่เราจะช่วยเขาขณะที่เขาเป็นคนอธรรมเสียเองได้อย่างไร?”

     ท่านได้กล่าวตอบว่า “ให้ท่านจับบนมือของเขา(ยับยั้งเขาจากการอธรรม-ผู้แปล)”

( บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ)

 

 

การให้ผู้อื่นยืมเงิน

 

      รายงานจากอิบนุมัสอูด รอฎิยัลลอฮุอันฮุ : แท้จริงท่านนบีﷺกล่าวว่า

 

" مَا مِنْ مُسْلِمٍ يُقْرِضُ مُسْلِمًا قَرْضًا مَرَّتَيْنِ إِلَّا كَانَ كَصَدَقَتِهَا مَرَّةً ".

 

“ไม่มีมุสลิมคนใดที่ให้มุสลิมยืมหนี้สองครั้ง เว้นเเต่เขาจะได้รับผลบุญเสมือนการศ่อดาเกาะฮฺด้วยทรัพย์สินนั้นหนึ่งครั้ง”

(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ เชคอัลบานียฺให้สถานะหะซัน ในศ่อฮีหฺ อิบนุมาญะฮฺ)

 

 

การยกหนี้สินให้แก่เขา

 

     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

وَإِن كَانَ ذُو عُسْرَةٍ فَنَظِرَةٌ إِلَىٰ مَيْسَرَةٍ ۚ وَأَن تَصَدَّقُوا خَيْرٌ لَّكُمْ ۖ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ

 

“ถ้าหากลูกหนี้ของสูเจ้าอยู่ในภาวะคับแค้น ก็จงผ่อนปรนให้แก่เขาจนกว่าสถานการณ์ของเขาจะดีขึ้น

หากว่าท่านจะบริจาคถือว่าเป็นที่ดีแก่พวกเจ้า หากว่าพวกท่านทั้งหลายรู้ “

(อัลบะเกาะเราะฮฺ: 280)

 

     อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

كان رجلٌ يُدَايِنُ الناسَ، فكان يقول لفتاه: إذا أتيتَ مُعسِرًا فتجاوز عنه، لعل اللهَ يَتجاوزُ عنا، فلقي اللهَ فتجاوز عنه

 

“มีพ่อค้าคนหนึ่งให้ผู้อื่นยืมเงิน เมื่อเขาเห็นว่าลูกหนี้ของเขามีความยากลำบาก 

เขาก็จะกล่าวแก่เด็กรับใช้ของเขาว่า ‘จงยกหนี้ให้แก่เขาเถิด เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงผ่อนปรนแก่เรา’ 

ท่านนบีจึงกล่าวว่า เขาจะไปพบกับอัลลฮฮฺในสภาพที่ถูกยกโทษให้แก่เขาจริง” 

(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

 

การดูแลผู้ทุกข์ยาก

 

     การไปเยี่ยมคนป่วย การพูดปลอบใจให้กำลังใจผู้ป่วย ด้วยคำพูดที่อ่อนโยนห้ขอดุอาต่ออัลลอฮ์ ให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย

     มีรายงานจากเษาบานซึ่งเป็นคนรับใช้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า :

 

« مَنْ عَادَ مَرِيضًا لَمْ يَزَلْ فِى خُرْفَةِ الْجَنَّةِ حَتَّى يَرْجِعَ ».

 

“ผู้ใดเดินทางไปเยี่ยมคนไข้เขาจะคงอยู่ในสภาพของผู้ที่เก็บเกี่ยวผลพวงแห่งสรวงสวรรค์จนกว่าเขาจะเดินทางกลับ”

 (บันทึกโดยมุสลิม)

 

     มีรายงานจากอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า:

 

« مَنْ عَادَ مَرِيضًا أَوْ زَارَ أَخًا لَهُ فِى اللَّهِ نَادَاهُ مُنَادٍ أَنْ طِبْتَ وَطَابَ مَمْشَاكَ وَتَبَوَّأْتَ مِنَ الْجَنَّةِ مَنْزِلاً ».

 

     “ ผู้ใดไปเยี่ยมคนไข้หรือเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งในแนวทางของอัลลอฮฺ จะมีคนกู่เรียกเขาว่า ท่านเป็นคนดีแล้ว การเดินทางของท่านดีแล้ว และท่านได้เตรียมบ้านในสวรรค์แล้ว" 

(หะสัน บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ตามสำนวนนี้ เศาะฮีหฺสุนันอัตติรมิซีย์ และบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺเศาะฮีหฺสุนันอิบนิมาญะฮฺ)

 

     จากอิบนุอับบาสเล่าว่า :... وَكَانَ النَّبِىُّ - صلى الله عليه وسلم - إِذَا دَخَلَ عَلَى مَرِيضٍ يَعُودُهُ قَالَ « لاَ بَأْسَ طَهُورٌ إِنْ شَاءَ اللَّهُ »

     ท่านนะบี นั้น เมื่อท่านเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ท่านจะกล่าวว่า “لاَ بَأْسَ طَهُورٌ إِنْ شَاءَ اللَّهُ” (แปลว่า ไม่เป็นไรแล้ว (ไม่มีบาปแล้ว) หายแล้ว (มันได้ชำระล้างบาปแล้ว) อินชาอัลลอฮฺ)

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์)

 

 

การปลอบโยนและปกป้องผู้ที่เต็มไปด้วยความกลัว

 

     ท่านหญิงคอดีญะฮฺปลอบใจท่านนบี ในขณะที่พักอยู่ในถ้ำแห่งนั้น อัลลอฮ์ ได้ส่งญิบรีล อะลัยฮิสลามไปหาท่าน แล้วกล่าวแก่ท่านนะบีมุฮัมมัด ว่า “”จงอ่าน”

     ท่านจึงตอบไปว่า “”ฉันอ่านไม่เป็น”” เพราะท่านนั้นอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 

     แล้วญิบรีลได้สวมกอดท่าน อย่างแรง แล้วคลายออกและกล่าวว่า “”จงอ่าน”

     ท่านก็ตอบว่า “”ฉันอ่านไม่เป็น”” แล้วญิบรีลได้สวมกอดท่านอีกครั้งซึ่งหนักหน่วงกว่าเดิม แล้วคลายออก พร้อมกับกล่าวว่า :

اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ

"จงอ่านด้วยพระนามแห่ง พระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงสร้าง””

 (อัลอะลัก อายะห์ ที่ 1 )

     เมื่อญิบรีลจากไป ท่านนะบี จึงได้กลับไปหาคอดีญะฮ์ ด้วยความหวาดกลัว ร่างกายได้สั่นสะท้านจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

     ท่านนะบี ได้กล่าวขึ้นว่า : “เอาผ้าห่มให้ฉันที เอาผ้าห่มให้ฉันที”

     คอดีญะฮ์จึงเอาผ้าห่มให้จนท่านได้สงบลง เมื่อคลายความหวาดกลัว จึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

     พร้อมกับพูดว่า : “ฉันรู้สึกหวาดกลัวกับตัวของฉันเอง” 

     แต่ภรรยาที่แสนดีได้สร้างความมั่นใจให้ว่า

كَلَّا، أبْشِرْ، فَوَاللَّهِ لا يُخْزِيكَ اللَّهُ أبَدًا؛ إنَّكَ لَتَصِلُ الرَّحِمَ، وتَصْدُقُ الحَدِيثَ، وتَحْمِلُ الكَلَّ، وتَقْرِي الضَّيْفَ، وتُعِينُ علَى نَوَائِبِ الحَقِّ

     “ท่านไม่ต้องกลัว จงยินดีได้แล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ว่า พระองค์จะไม่ทรงทำให้ท่านต้องอัปยศอย่างแน่นอน เพราะท่านเป็นคนดี มีความสัมพันธ์อันดีงามกับเครือญาติ เป็นคนพูดความจริง สงเคราะห์คนยากไร้ จุนเจือคนยากจน เลี้ยงดูแขกมิตร และช่วยเหลือผู้ประสพทุกข์"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์)

 

     จากอบีมูซา ได้รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า:

 

على كُلِّ مُسلمٍ صَدَقةٌ، فقالوا: يا نبيَّ اللَّهِ، فمَن لم يَجِدْ؟ قال: يعمَلُ بيَدِه، فيَنفَعُ نَفسَه ويتصَدَّقُ، قالوا: فإن لم يجِدْ؟ قال: يُعينُ ذا الحاجةِ الملهوفَ، قالوا: فإن لم يجِدْ؟ قال: فلْيَعمَلْ بالمعروفِ، ولْيُمسِكْ عن الشَّرِّ؛ فإنَّها له صَدَقةٌ)

 

“สำหรับมุสลิมทุกคนต้องทำ ศอดาเกาะฮ์ (การบริจาค)”

พวกเขากล่าวว่า: “โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮ์ แล้วถ้าผู้ใดไม่มีสิ่งที่จะบริจาคเล่า?”

ท่านตอบว่า: “ให้เขาทำงานด้วยมือของเขา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและนำสิ่งนั้นไปบริจาค”

พวกเขากล่าวอีกว่า: “หากเขาไม่มีอะไรจะบริจาคเลยล่ะ?”

ท่านตอบว่า: “ให้เขาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ”

พวกเขากล่าวว่า: “ถ้าหากเขายังไม่มีโอกาสเช่นนั้นอีกล่ะ?”

ท่านตอบว่า: “ให้เขาทำความดี และงดเว้นจากความชั่ว นั่นถือว่าเป็น ศอดาเกาะฮ์ สำหรับเขาเช่นกัน” 

(บันทึกโดย บุคครีย์และมุสลิม)

 

     อัลกอรีย์อธิบายคำว่า “ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ” ว่า: “หมายถึงผู้ที่กำลังสับสนในเรื่องราวของตน ผู้ที่เศร้าเสียใจ ผู้ที่อ่อนแอ หรือผู้ที่ถูกกดขี่และร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลืออาจกระทำได้ทั้งด้วยการกระทำ ทรัพย์สิน อำนาจ การแนะนำคำปรึกษา หรือแม้กระทั่งการขอพรให้เขา”

 

 

     วันหนึ่งอุมัร บิน อัลค็อตฏอบ เดินไปตามถนน และพบชายคนหนึ่งที่กำลังขอทาน ท่านจึงถามว่า: “ท่านเป็นอะไรหรือ คุณลุง?” 

     ชายคนนั้นตอบว่า: “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิว อายุของข้าพเจ้าแก่ชรา ผมเปลี่ยนเป็นสีขาว และร่างกายอ่อนแอ ข้าพเจ้าจำต้องขอทานเพื่อจ่าย ญิซยะฮ์ (ภาษีสำหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม)

     เมื่ออุมัรได้ยินดังนั้น ท่านกล่าวว่า: “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราไม่ได้ปฏิบัติอย่างยุติธรรมกับท่านเลย เราเคยเก็บภาษีจากท่านในขณะที่ท่านยังหนุ่มแน่น แต่กลับทอดทิ้งท่านเมื่อท่านแก่ชรา ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราจะมอบส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของชาวมุสลิมให้แก่ท่าน” 

     และท่านอุมัรก็ได้มอบทรัพย์สินจากคลังของชาวมุสลิมให้แก่ชายคนนั้นด้วยความเมตตา 

(โดยอัสซุยูฏีย์ในหนังสือ ญามิอ์ อัลอะหาดีษ และโดยอิบนุ อัลก็อยยิมในหนังสือ อะห์กาม อะฮ์ลิซซิมมะฮ์)

 

     ก็อยสฺ บิน สะอ์ด์ บิน อุบาดะฮ์ มักให้อภัยแก่ลูกหนี้ที่มีความยากลำบาก จนกระทั่งวันหนึ่งเขาป่วยและมีเพียงคนจำนวนน้อยที่มาเยี่ยมเขา เขารู้สึกแปลกใจ 

     จึงมีคนบอกเขาว่า: "ท่านมีหนี้สินอยู่กับพวกเขา และพวกเขารู้สึกเกรงใจที่จะมาเยี่ยมท่านในขณะที่ยังมีหนี้อยู่"

     ก็อยสฺ จึงส่งคนรับใช้ของเขาไปประกาศตามเมืองต่าง ๆ ว่า: "ใครก็ตามที่มีหนี้สินต่อ ก็อยสฺ บิน สะอ์ด์ บิน อุบาดะฮ์ เราได้ยกหนี้ให้แก่เขาแล้ว และเขาได้รับการอภัยจากเรา" 

     หลังจากนั้น ผู้คนต่างพากันมาเยี่ยมเขาในวันถัดมา จนกระทั่งธรณีประตูบ้านของเขาพังเพราะจำนวนคนที่มาเยี่ยมมีมากมายเหลือเกิน !

 

 

     ท่าน อิบนุ ก็อยยิม กล่าวว่า การช่วยเหลือพี่น้องผู้ศรัทธามีหลายประเภทด้วยกัน เช่น

♦· การช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ด้วยกับ ทรัพย์สินเงินทอง

♦· การช่วยเหลือ ด้วยแรง การบริการ รับใช้

♦· การช่วยเหลือด้วยการ ชี้แนะ ตักเตือน บอกล่าว

♦· การช่วยเหลือ ด้วยการขอดุอา ขออภัยโทษ

♦· การช่วยเหลือในเรื่องของการเจ็บป่วย

หนังสือ อัลฟาวาอิด

 

 

โทษของคนที่ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น

 

     รายงานจากท่าน อิบนุอุมัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า:

 

(إنَّ للهِ أقوامًا اختصَّهم بالنِّعَمِ لمنافِعِ العبادِ، يُقِرُّهم فيها ما يَبذُلونها، فإذا منعوها نزَعَها منهم فحَوَّلها إلى غيرِهم )

 

“แท้จริง อัลลอฮ์ทรงเลือกกลุ่มคนบางกลุ่มให้มีความโปรดปราน (หรือทรัพย์สมบัติ)

เพื่อเป็นประโยชน์แก่ปวงบ่าวของพระองค์ 

พระองค์จะทรงคงไว้ซึ่งความโปรดปรานนั้นตราบใดที่พวกเขายังคงแบ่งปัน 

แต่เมื่อพวกเขาหวงแหนหรือปฏิเสธที่จะให้ พระองค์จะทรงริบสิ่งนั้นคืนและมอบให้ผู้อื่นแทน" 

 

(รายงานโดยอัฏฏ็อบรอนีในหนังสือ อัล-มุอฺญัม อัล-กะ และอัลบัยฮะกี เชคอัลอัลบานีย์ได้ปรับสถานะเป็น "หะสัน" ในหนังสือ ซอเฮียะฮ์ อัลญามิอ์ หนังสือ ซิลสิละฮ์ อัลอะหาดีษ อัซซอเฮียะฮ์)