การพัฒนาโรงเรียนตามวิถีอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  162

การพัฒนาโรงเรียนตามวิถีอิสลาม

 

โดย..อะบูชากิร อัลมะดานีย์ 

 

คุณลักษณะของครู (ผู้เป็นแบบอย่าง) 

 

          คำว่า "ครู" เป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมายกว้างขวาง เป็นอาชีพที่มีเกียรติสูงส่งในอิสลาม เป็นหน้าที่ ภาระอันใหญ่หลวง แม้ในสังคมปัจจุบัน กลับมองอาชีพครู จากค่าตอบแทนเล็กน้อย ไม่เหมือนอาชีพอื่นๆ แต่จงอย่าลืมว่า ทุก ๆ อาชีพนั้นล้วนต้องผ่านการสอน การเรียน มาจากอาชีพครูทั้งสิ้น ถ้าไม่มีครู ผู้สั่งสอนก็จะไม่มีอาชีพอื่น ๆ ในสังคม

 

     ความจริงในสังคม คนที่ร่ำรวยคือคนที่มีทรัพย์สินมากมาย ซึ่งทรัพย์เหล่านั้นอาจจะได้มาจากการทำงาน การแสวงหา ค้าขาย หรือธุรกิจต่างๆ หรือไม่ก็ร่ำรวยมาแต่เดิม ครอบครัวร่ำรวย ได้รับมรดกมาจาก พ่อแม่ปู่ย่าตายาย 

 

         แต่ความเป็นจริงในทัศนะอิสลาม แท้จริงผู้ที่ได้รับมรดกอย่างมหาศาล และมั่งคั่งที่สุด คือบรรดาผู้รู้ที่รับความรู้มา และนำมาเผยแพร่ ความรู้นั้น ๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชาติ หรือเรียกว่า "ครู" นั่นเอง

 

          ท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวถึงความประเสริฐของครูไว้ว่า

إِنَّ الْعُلَمَاءَ وَرَثَةُ الْأَنْبِيَاءِ إِنَّ الْأَنْبِيَاءَ لَمْ يُوَرِّثُوا دِينَارًا وَلَا دِرْهَمًا، إِنَّمَا وَرَّثُوا الْعِلْمَ، فَمَنْ أَخَذَ بِهِ أَخَذَ بِحظٍّ وَافِرٍ

     “บรรดาอุละมาอ์คือผู้รับมรดกจากบรรดานบี แท้จริง นบี จะไม่ทิ้งมรดกแห่งดินารและดิรฮัม(ทรัพย์สิน) แท้จริง พวกเขาจะทิ้งมรดกแห่งความรู้ไว้ ผู้ใดรับมันไว้ เขาก็รับเอาสิ่ง(กำไร)ที่มากมาย”

(บันทึกโดย อะหฺมัด , อัต-ติรมีซีย์ และอบูดาวูด อัช-ชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ สายรายงานหะสัน)

 

 

คุณลักษณะของครู ตามทัศนะของอิสลาม 

 

     1. ครูต้องมีความศรัทธาที่ถูกต้องและเกรงกลัวต่ออัลลอฮพร้อมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการศาสนา

 

     ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด กล่าวว่า  มันไม่ใช่ความรู้ (คนท่องจำหะดีษ มาก หรือ สายรายงานเยอะ) แท้จริงความรู้นั้นคือ การเกรงกลัวอัลลอฮฺ (ทำให้เข้าใจ และกลัวพระองค์)

 

 

     2. บริสุทธิ์ใจในการทำงานและ ยำเกรงต่ออัลลอฮ

 

     อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

إِنَّمَا يَخْشَى اللَّهَ مِنْ عِبَادِهِ الْعُلَمَاء

“บรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮ์”

(สูเราะฮฺฟาฏิร 28)

 

 

     3. มีความห่วงใยต่อนักเรียน ต่อบรรดาลูกศิษย์เปรียบเป็นเสมือนลูก เพราะท่านนะบี คือครูที่ห่วงใยประชาชาติของท่านมากที่สุด 

 

    พระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า :

(لَقَدْ جَاءكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَؤُوفٌ رَّحِيمٌ)

     “แท้จริงเราะสูลท่านหนึ่งจากหมู่พวกเจ้าได้มาถึงพวกเจ้าแล้ว ซึ่งเป็นผู้กังวลในสิ่งที่พวกเจ้าได้รับทุกข์ เป็นผู้ห่วงใยในพวกเจ้า เป็นผู้มีเมตตา ผู้กรุณาสงสารต่อบรรดาผู้ศรัทธา” 

(อัต-เตาบะฮฺ : 128)

 

 

     4. อ่อนโยน อดทน และให้อภัยแก่บรรดานักเรียนที่ทำผิด หรือพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ ที่ประสบกับเขา

 

     อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

«فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاصْفَحْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ»

“ดังนั้น เจ้าจงยกโทษให้พวกเขา และจงอย่าถือสา แท้จริงแล้วอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้ที่ทำความดี”

(อัล-มาอิดะฮฺ : 13)

 

 

     5.  แบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน 

 

     ท่านนะบี คือแบบอย่างที่ดีที่สุด บนหน้าแผ่นดินไร้ข้อกังขาใดๆ ใครยึดแบบอย่างของท่านนะบีในการปฏิบัติ  เขาก็จะประสบความสำเร็จ 

     อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا  

     “โดยแน่นอน ในร่อซูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว สำหรับผู้ที่หวัง (จะพบ) อัลลอฮฺ และวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮฺ อย่างมาก”

(อัล-อะห์ซาบ : 21)

 

 

     6. สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน (พูดให้กำลัง เช่น เธอจะดีมากหากว่าทำแบบนั้น  แบบนี้...)

 

     ครั้งหนึ่งท่านนะบี เคยพูดเชิงสร้างแรงกระตุ้นแก่ศอฮาบะ จนทำให้เขาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี รายงานจาก ซาลิม บิน อับดุลลอฮ บินอุมัร บิน ค็อตต๊อบ จากพ่อของเขา ว่า 

وعَن سالمِ بنِ عبدِاللَّهِ بنِ عُمَرَ بنِ الخَطَّابِ ، عَن أَبِيِه: أَنَّ رسولَ اللَّهِ ﷺ قَالَ: نِعْمَ الرَّجلُ عبدُ اللَّهِ لَو كانَ يُصَلِّي مِنَ اللَّيْلِ قالَ سالِمٌ: فَكَانَ عَبْدُاللَّهِ بعْدَ ذلكَ لاَ يَنَامُ مِنَ اللَّيْلِ إِلاَّ قَلِيلًا. متفقٌ عَلَيْهِ.

 

      ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า "อับดุลลอฮ จะเป็นผู้ชายที่ดีที่สุด หากเขาละหมาดยามค่ำคืน" 

     ซาลิมได้กล่าวว่า หลังจากนั้นอับดุลลอฮ ก็ไม่เคยขาดละหมาดในยามค่ำคืน(ตะฮัจยุต)เลย เขานอนในช่วงกลางคืนเพียงเวลาเล็กน้อยเท่านั้น "

(บันทึกโดย บุคคอรีและมุสลิม)

 

      

     7. ชื่นชมและเห็นค่าในตัวนักเรียน (เช่นการชื่นชมของนบีต่อบรรดาศอฮาบะหลายๆท่าน)

 

 

     8. ขอดุอาให้นักเรียนอยู่เสมอ  (ดุอาท่านนบีที่เคยขอให้ อับดุลลอฮ์ บิน อับบาสให้เขาเข้าใจอิสลาม และการอธิบายความหมายของอัลกุรอ่าน )

 

 

     9. ครูต้องพัฒนาตัวเองเสมอ 

 

     

     หน้าที่ของครูคือ การเผยแพร่ความรู้แก่ผู้อื่น ให้การ(ตัรบิยะ)อบรม บ่มนิสัย ขจัดความไม่รู้ออกไป เปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการนำความรู้ วิชาการ มาบอก มาสอน และปฏิบัติ

 

     ตัรบิยะ หมายถึง การปลูกฝังอิสลามแก่เยาวชนมุสลิม โดยมีกระบวนการต่างๆ เพื่อให้มีบุคลิกภาพตามแบบอย่างอิสลาม 

 

 

องค์ประกอบที่จะต้องมีในโรงเรียน

 

1. ครูเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียน 

 

2. สภาพแวดล้อมในอิสลาม 

-การแยกระหว่างหญิง-ชาย ปลูกฝังให้นักเรียนมีความละอาย 

-การรักษาซุนนะของท่านนะบี เช่น การกล่าวสลาม

-อาหารฮะล้าล

-คำพูดคำชมเชย เช่น เมื่อเห็นความดีของผู้อื่นให้กล่าวว่า มาชาอัลลอฮ.

-การแต่งกายตามหลักอิสลาม

-อุปกรณ์ ,ป้าย,สื่อการสอนไม่ขัดกับหลักการอิสลาม 

- รักษาความสะอาด

- ในโรงเรียนต้องไม่มีเสียงเพลงเสียงดนตรี 

 

3. ทำงานเป็นทีม

     ดำเนินงานไปในรูปแบบเดียวกัน ด้วยความร่วมมือ มีการปรับปรุง การปรึกษา ในกิจการต่างๆ จะทำให้ภารกิจต่างๆลุล่วงไปด้วยดี และมีความจำเริญ(บารอกัต)

 

4. ความร่วมมือผู้ปกครอง

     ผู้ปกครองมีส่วนอย่างมากในการอบรม สั่งสอนลูกๆ กับผู้ปกครองมากกว่าอยู่ที่โรงเรียน พ่อแม่ต้องอบรม สั่งสอน ดูแลเอาใจใส่ลูก เรื่องละหมาด การเรียน ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับลูก

 

5. หลักสูตรไม่ขัดแย้งหลักการอิสลาม

-ไม่สอนสิ่งที่นำไปสู่การตั้งภาคี 

- กล่าว มาชาอัลลอฮ แทนการปรบมือ 

- ไม่ปะปนหญิง ชาย 

 

6. โครงการต่างๆ ที่สมควรให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

- สอนให้รู้จักอัลลอฮ์ และสอนหลักอากีดะที่ถูกต้อง

- ฟื้นฟูสุนนะ แบบอย่างของท่านนะบีเช่น  การให้สลาม ,ละหมาดสุนนะ 

- จัดบรรยาย เกี่ยวกับมารยาทอิสลามอยู่เสมอ 

  

        ไม่ว่าโรงเรียนแห่งไหนล้วนสอนให้เด็กๆ ต่างเป็นคนดี ให้มีมารยาทที่ดี แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการและวิธีการต่างๆ ที่จะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และแนวทางวิธีการที่ดีที่สุดนั้นก็คือ แนวทางที่ปฏิบัติตามและสอดคล้องกับคัมภีร์อัลกุรอาน และแบบอย่างของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม