บันทึกแห่ง ’สัจธรรม’ 14
  จำนวนคนเข้าชม  95

บันทึกแห่ง ’สัจธรรม’ 14

 

แปลเรียบเรียง...เพจบันทึกฮัก

 

ชัยคฺ ศอและฮฺ อัลอุศอยมีย์ -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

     “มนุษย์ที่มีความสุขที่สุด คือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ความดีงามยังคงหลงเหลืออยู่เบื้องหลัง และยังมีดุอาติดตามเขาไป (ดุอาจากลูกที่ซอและฮฺ)

     และมนุษย์ที่ทุกข์ใจที่สุด คือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ความชั่วต่างๆของเขายังคงหลงเหลืออยู่ และยังมีคำสาปแช่งตามเขาไป”

 

 

 

อิบนิ อุษัยมีน -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-

 

“มนุษย์ในดุนยา ไม่มีใครที่จะมีความสุขตลอดเวลา วันนึงอาจมีความสุข แต่อีกวันนึงอาจมีเรื่องทุกข์ใจ”

شرح رياض الصالحين

 

 

 

ชัยคฺ ศอและฮฺ อัลเฟาซาน -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

     "การโอ้อวด คือ การที่มนุษย์กระทำความดีเพื่อให้ผู้คนมองเห็นและชื่นชม การกระทำเช่นนี้จะทำให้การงานไร้ค่า และเป็นเหตุแห่งการลงโทษ ซึ่งการโอ้อวดเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจ

     ท่านนบี ﷺ ได้เรียกสิ่งนี้ว่า [ชิริกที่ซ่อนเร้น]

     ลักษณะของการโอ้อวด ... บุคคลที่โอ้อวดจะกระตือรือร้นในการทำความดีเมื่อมีคนเห็น แต่เมื่อไม่มีใครมอง เขาจะละทิ้งการงานนั้น

     ผู้ที่ประสบกับการโอ้อวด ... ควรได้รับคำแนะนำให้มีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ และควรได้รับการตักเตือนว่าอัลลอฮฺทรงล่วงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา

     เตือนถึงความรุนแรงของการลงโทษสำหรับผู้ที่โอ้อวด ควรตระหนักอยู่เสมอว่าการกระทำของเขาจะกลายเป็นความเหน็ดเหนื่อยที่ไร้ประโยชน์

     และผู้ที่เขาโอ้อวดเพื่อให้ได้รับการสรรเสริญเยินยอ คนเหล่านั้นในที่สุดก็จะตำหนิและเกลียดชังเขา และไม่สามารถให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เขาได้เลย"

 [ المنتقى من فتاوى الفوزان " (12 /4)/ قناة غيض من فيض ]

 

 

 

ชัยคฺ อับดุรร็อซซ๊าก อัล-บัดรฺ -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

     "ผู้ที่อัลลอฮฺ ประทานทางนำในการทำหน้าที่ดะวะฮฺ (เผยแผ่อิสลาม) ไม่ว่าจะเป็นการคุตบะฮฺหรือการสอนให้ความรู้แก่ผู้อื่น 

     จงตั้งเจตนาให้มีความบริสุทธิ์ใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องของเขา ให้ได้รับการชี้นำ และขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺเพื่อเป้าหมายนี้

     ฉันขอยกตัวอย่างชายคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน : เขามีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่อิสลามแก่ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับอิสลาม โดยมีผู้เข้ารับอิสลามผ่านเขาเป็นจำนวน 2-3 คนต่อวัน หรือขึ้นอยู่กับความพยายามของเขา

     ชายคนนั้นเล่าให้ฉันฟังว่า : ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ฉันมักตื่นขึ้นในช่วงหนึ่งในสามของกลางคืน เพื่อละหมาดตามที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้  และยกมือทั้งสองขอดุอาต่อพระองค์ โดยหนึ่งในดุอาของฉันคือ

     ‘โอ้อัลลอฮฺ โปรดช่วยให้มีผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากไฟนรกผ่านข้าพระองค์ด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดช่วยเหลือผู้คนผ่านข้าพระองค์ด้วยเถิด’

     ฉันขอด้วยคำว่า 'โอ้พระเจ้า โอ้พระเจ้า' ซ้ำ ๆ และพระองค์ไม่เคยทำให้ฉันผิดหวังเลย เมื่อรุ่งเช้ามา พระองค์ประทานให้มีผู้เข้ารับอิสลาม 2-3 หรือ 4 คนตามความสามารถ

     นี่คือความจริงใจของบ่าวในการเผยแผ่ศาสนา ... ความตั้งใจจริงในจิตใจส่วนลึกและความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นได้รับความดีงาม คือสิ่งที่ทำให้คำพูดของเขามีพลังและเข้าถึงจิตใจผู้คน

     ด้วยเหตุนี้ แม้การงานเพียงเล็กน้อยที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจกับอัลลอฮฺพร้อมทั้งความตั้งใจที่จะนำประโยชน์มาสู่ผู้อื่น 

     อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง จะประทานบะรอกะฮฺในงานนั้น และมันจะเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวง"

 แหล่งที่มา : شرح روضة العقلاء ونزهة الفضلاء

 

 

 

ชัยคฺ ศอและฮฺ อัล-เฟาซาน -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

"ดังนั้นอย่าได้กล่าวยกย่องตนเอง แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งว่าใครคือผู้ยำเกรง" 

(อัน-นัจมฺ: 32)

"มนุษย์ไม่ควรวางใจว่าตนเองปลอดภัยจากฟิตนะฮฺและความชั่วร้ายต่างๆนานา

อย่าได้พูดว่า 'ฉันเข้าใจดี' 'ฉันมีความรู้' 'ฉันเป็นผู้ศรัทธา' หรือ 'ฉันเป็นคนดีและชอบทำอิบาดะฮฺ'

เพราะแม้แต่นักวิชาการ ผู้ที่ขยันทำอิบาดะฮฺ และคนดีๆ ก็ยังไม่ปลอดภัยจากฟิตนะฮฺ

ดังนั้น มุสลิมจึงควรขอต่ออัลลอฮฺอยู่เสมอให้ยึดมั่นอยู่บนความสัจจริง

และให้มีความอดทนต่อทางนำดังกล่าว และอย่าได้ยกย่องตนเองว่าเป็นคนดี"

 شرح رسالة: وجوب الأمر بالمعروف (صـ34)

 

 

 

ท่าน ฮาฟิซ อิบนุ กะษีร -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-

 

      สาเหตุแห่งริสกี "ความอดทนในการดำรงการละหมาด และการสั่งใช้ครอบครัวให้ละหมาด"

     อัลลอฮฺตรัสว่า:

"وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا لا نَسْأَلُكَ رِزْقًا نَحْنُ نَرْزُقُكَ وَالْعَاقِبَةُ لِلتَّقْوَى"

"และจงสั่งใช้ครอบครัวของเจ้าด้วยการละหมาด และจงอดทนต่อการละหมาด

เรามิได้ขอปัจจัยยังชีพจากเจ้า แต่เราคือผู้ประทานปัจจัยยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลายที่ดีจะเป็นของผู้ที่ยำเกรง" 

[132 ซูเราะห์ฏอฮา]

"เมื่อท่านดำรงละหมาด ริสกีจะมาหาท่านโดยที่ท่านไม่คาดคิด"

تفسير ابن كثير5-327 

 

 

 

ชัยคฺ อับดุรร็อซซ๊าก อัลบัดรฺ -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

(رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ)

     ความหมายของคำว่า (الحسنة) ในคำดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา ที่ว่า: 

(رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً...)

     ชัยคฺ อับดุรร็อซซ๊าก อัลบัดรฺ -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ- กล่าวว่า ดุอาที่ว่า: 

(رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ)

     "โอ้พระเจ้าของเรา ได้โปรดประทานความดีแก่เราทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ และขอพระองค์ทรงปกป้องเราจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด"

     เมื่อเราอ่านคำอธิบายของอายะฮฺในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ ท่านทราบหรือไม่ว่า (الحسنة) "ความดี" ในดุนยานี้คืออะไร?

     คำว่า "ความดี" มีความหมายมากมายที่ได้รวบรวมไว้ในคำๆนี้ ดั่งที่ปรากฏในหนังสือตัฟซีรว่า:

     ความดีนั้น คือ ภรรยาที่ดี,ลูกหลานที่ดี,ทรัพย์สินที่ดี,บ้านที่ดี,ยานพาหนะที่ดี, ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่า "โปรดประทานความดีงามแก่เราในดุนยา"

(وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً)

"ได้โปรดประทานความดีแก่เราในอาคิเราะฮฺ"

     หมายถึง การตอบแทนอันดีงามทุกประการในอาคิเราะฮฺ รวมถึงสิ่งที่ดีทั้งหลายทั้งความสุข ความจำเริญ ต่างรวมอยู่ในดุอานี้เช่นกัน

     และศาสดาของเราท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้รับดุอาที่กระชับแต่ครบถ้วนสมบูรณ์และครอบคลุมที่สุด และดุอานี้ยังเป็นดุอาที่ท่านขอบ่อยครั้ง"

شرح رسالة ابن القيم إلى أحد اخوانه (-1-)

 

 

 

•┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈•