“อิลลียีน” บันทึกของบรรดาคนดี
  จำนวนคนเข้าชม  177

เรื่องราวของซูเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีน 3

“อิลลียีน” บันทึกของบรรดาคนดี

 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

 

          อายะฮฺที่ 18 - 28 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสถึงบรรดาผู้ศรัทธา ..พระองค์ทรงบอกว่า บันทึกการงานของบรรดาผู้ศรัทธานั้น มันไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในสิจญีน แต่จะถูกบันทึกอยู่ในอิลลียีน

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสว่า

كـَلَّآ إِنَّ كِتَٰبَ ٱلۡأَبۡرَارِ لَفِي عِلِّيِّينَ 18

 

“ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ..แท้จริง บันทึกของบรรดาคนดี ผู้มีศรัทธานั้นจะอยู่ในอิลลียีนอย่างแน่นอน”

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสถึงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อวันตอบแทน หรือปฏิเสธวันกิยามะฮฺ พวกเขาบอกว่า เรื่องของวันกิยามะฮฺเป็นนิยายปรัมปราที่พ่อแม่ปู่ยาตายายเล่าต่อกันมา แต่ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องจริงตามที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกไว้ มันก็ไม่ได้สำคัญอะไรหรอก เพราะว่าถึงอย่างไร อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะต้องโปรดปรานพวกเขาอย่างแน่นอน เหมือนกับที่พระองค์ทรงโปรดปรานพวกเขาในโลกดุนยานี้ เพราะทรงให้พวกเขาร่ำรวย มีฐานะมั่นคง มีลูกหลานมากมาย เมื่อพวกเขาได้รับในโลกดุนยาอย่างมากมายเช่นนี้ ในวันแห่งการตอบแทน พวกเขาก็จะได้รับอย่างมากมายเช่นเดิม ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิดของพวกเขาเอง เป็นเรื่องที่พวกเขาคิดเอาเอง... 

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า كـَلَّآ ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ไม่ใช่อย่างที่พวกเขาคิด ไม่ใช่อย่างแน่นอน ดังนั้น ความคิด พฤติกรรมของพวกเขาเช่นนี้เป็นพฤติกรรมของคนชั่ว และมันจะถูกบันทึกอยู่ในสิจญีน ..

 

          ส่วนสำหรับบรรดาคนดี คนที่เชื่อมั่นในวันแห่งการตอบแทน คนที่ศรัทธาต่อโลกอาคิเราะฮฺ ...แท้จริงแล้ว บันทึกของบรรดาคนดี ٱلۡأَبۡرَارِ คำว่า อัลอับรอร์ มาจากคำว่า บิรรุน بر ที่แปลว่า ความดี ..แท้จริง บันทึกของบรรดาคนดีที่เป็นผู้ศรัทธาจะอยู่ใน “อิลลียีน” อย่างแน่นอน

     แล้วอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ทรงตั้งคำถามว่า

 

وَمَآ أَدۡرَىٰكَ مَا عِلِّيُّونَ 19

 

“และอันใดเล่าที่จะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าอิลลียูนคืออะไร ?”

 

     คำว่า  อิลลียูน عِلِّيُّونَ ในอายะฮฺนี้ก็คือคำเดียวกันกับคำว่า  อิลลียีน عِلِّيِّينَ ในอายะฮฺที่ 18 ข้างต้นนี้ เป็นศัพท์คำเดียวกัน แต่เขียนและอ่านต่างกัน เพราะตกอยู่ในตำแหน่งต่างกันตามหลักของไวยากรณ์อาหรับ

     (อิลลียูน เป็นมัรฟัวอ์ คือคำนามที่สระของพยัญชนะตัวสุดท้ายเปลี่ยนเป็นสระดอมมะฮฺ อ่านด้วยสระดอมมะฮฺ และมีสภาพเป็นรอฟอุน ส่วนอิลลียีนเป็นอิซมุนมัจรูรฺ คือคำนามตามหลังบุพบท ที่สระของพยัญชนะตัวสุดท้ายเปลี่ยนเป็นสระกัสเราะฮฺ อ่านด้วยสระกัสเราะฮฺ)

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตั้งคำถามที่พระองค์ไม่ได้ทรงต้องการคำตอบ เพราะพระองค์ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่างอย่างละเอียดรอบคอบ อย่างถี่ถ้วนอยู่แล้ว แต่เป็นคำถามเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เราสนใจ เป็นการเน้นย้ำว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่า อะไรที่จะทำให้เราได้รู้ว่า  อิลลียูนคืออะไร ? ซึ่งพระองค์ก็ทรงให้คำตอบว่า

 

كِتَٰبٞ مَّرۡقُومٞ 20

 

“(อิลลียูนนั้น)คือบันทึกที่ถูกจารึกไว้อย่างมั่นคง”

 

          บันทึกของคนดีก็จะถูกจารึกหรือถูกบันทึกไว้อย่างมั่นคงอยู่ในอิลลียูน เป็นบันทึกที่บันทึกแต่ความดี ถูกเก็บรักษาอยู่ที่ชั้นสูงสุดของสวนสวรรค์ ..ซึ่งเรื่องของการบันทึกนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งที่อยู่ในเรื่องราวของหลักการศรัทธาต่อเกาะฎออ์ เกาะดัร ..

 

          สำหรับในเรื่องของการบันทึกนี้ ท่านชัยค์มุฮัมมัด อิบนิ อุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์ของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ในยุคของเราได้อธิบายในเรื่องของการบันทึกไว้ว่า 

 

การบันทึกของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะมีอยู่ 2 ลักษณะ

 

          1. ลักษณะแรกคือ บันทึกเรื่องราวทั้งหมด เรื่องของชาวสวรรค์ ชาวนรก ใครจะได้เป็นชาวสวรรค์ ใครจะเป็นชาวนรก เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้แล้ว .. การเกิดการตาย ใครจะเกิดวันไหน จะตายเมื่อไร จะตายที่ไหน ก็ถูกบันทึกไว้แล้ว.. เรื่องของริสกี...เรื่องราวของสิ่งเร้นลับต่าง ๆ .. เรื่องราวของการเกิดวันกิยามะฮฺ จะเกิดขึ้นเมื่อใด เรื่องราวเหล่านี้เป็นต้น เป็นเรื่องราวที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆทั้งสิ้น เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้จะถูกบันทึกอยู่ใน อัลเลาหิลมะห์ฟูซ  اللوح المحفوظ ที่เราเรียกว่า แผ่นจารึก

 

 

          2. ส่วนบันทึกอีกประเภทหนึ่งตามที่ท่านชัยค์อุษัยมีนอธิบาย จะเป็นการบันทึกของมะลาอิกะฮฺที่ไหล่ขวาและไหล่ซ้ายของเรา .. บันทึกความดีที่ไหล่ขวา บันทึกความชั่วที่ไหล่ซ้าย ..บันทึกนี้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการกระทำของเรา .. 

          ถ้าไปทำความชั่ว ไปทำความผิดก็ถูกบันทึกที่ไหล่ซ้าย แต่พอไปทำความดี ก็จะไปลบล้างความผิด ก็จะถูกบันทึกความดีที่ไหล่ขวา ยกเว้นความชั่วหรือความผิดที่เกิดจากบาปใหญ่ที่ต้องเตาบะฮฺตัวก่อน โดยเฉพาะความผิดที่เกิดจากการทำชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งต้องเตาบะฮฺตัวก่อน ความผิดจึงจะถูกลบล้าง หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ ..

 

          ดังนั้น บันทึกลักษณะนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามการงานของเรา หรือการประพฤติปฏิบัติตัวของเรา ซึ่งบันทึกนี้ก็จะถูกนำไปเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในตอนเช้าและตอนเย็นของรอบวัน.. ในวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีของรอบสัปดาห์ แล้วก็ในเดือนชะอ์บานของรอบปี (ก็น่าจะประมาณนี้ วัลลอฮุอะลัม )

          เมื่อความดีต่าง ๆ ของบรรดาคนดีถูกบันทึกอยู่ในอิลลียูนแล้ว ก็จะถูกเก็บรักษาไว้ ซึ่งใครจะเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ! อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสว่า

 

يَشۡهَدُهُ ٱلۡمُقَرَّبُونَ 21.   “อัลมุก็อรเราะบูน จะเป็นผู้ดูแลรักษา(อิลลียูน)”

 

         คำว่า “ٱلۡمُقَرَّبُونَ อัลมุก็อรเราะบูน ก็คือ บรรดาผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้พวกเขาได้ใกล้ชิดพระองค์ ได้อยู่ร่วมกับพระองค์ ได้เป็นประจักษ์พยานในการบันทึกของพระองค์ นั่นก็คือ มะลาอิกะฮฺ แล้วพระองค์ก็ทรงให้พวกเขาได้ดูแลรักษาบันทึกนั้น เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ บันทึกความดีนั้นก็ถูกนำไปพิจารณาเพื่อตอบแทนรางวัลให้อย่างดีงามและครบถ้วน

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า

 

إِنَّ ٱلۡأَبۡرَارَ لَفِي نَعِيمٍ 22.    “แท้จริง บรรดาคนดีจะอยู่ในสวนสวรรค์”

 

          คำว่า ٱلۡأَبۡرَارَ อัลอับรอร คือ บรรดาคนดี ซึ่งบรรดาอุละมาอ์ได้ให้นิยามของคำว่า บรรดาคนดี ไว้ในหลายลักษณะ ซึ่งกล่าวโดยรวม บรรดาคนดี หมายถึงบรรดาคนที่เขารักษาสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และรักษาสิทธิของฮักกุลอาดัม คนที่เขาปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเคร่งครัด และพยายามปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยพยายามทำอย่างอิคลาศ เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว...

 

          ซึ่งบรรดาคนดีนี่แหละที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้สัญญาว่า พวกเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์อันบรมสุขของพระองค์

 

عَلَى ٱلۡأَرَآئِكِ يَنظُرُونَ 23

“โดยที่พวกเขาจะมองดู(สรรพสิ่งต่างๆ)จากบนเตียงถัก(หรือบนที่นอน)”

 

تَعۡرِفُ فِي وُجُوهِهِمۡ نَضۡرَةَ ٱلنَّعِيمِ 24

“เจ้า(มุฮัมมัด)จะรู้ได้ถึงความสดชื่น ความสุขสำราญของสวนสวรรค์ที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าของพวกเขา”

 

          นั่นก็คือ เมื่อบรรดาคนดีได้เข้าสวรรค์ เมื่อเวลาที่พวกเขานั่งอยู่บนที่นอนของพวกเขา พวกเขาก็จะมองไปรอบ ๆ พวกเขาจะเห็นความสุขสำราญ เห็นความสวยงาม เห็นความเพริดแพร้วของสวนสวรรค์ ที่เราไม่สามารถจินตนาการได้ในโลกดุนยานี้ พวกเขาได้รับปัจจัยยังชีพอย่างอุดมสมบูรณ์ พวกเขารู้สึกถึงความสดชื่น ความสุขสำราญ ซึ่งเมื่อเวลาที่ท่านนบีมองเห็นพวกเขาแล้ว ก็จะรู้สึกได้ถึงความสดชื่น ความสุขสำราญที่ปรากฎอยู่บนใบหน้าของพวกเขา เพราะพวกเขามีชีวิตอย่างสุขสบาย ได้อยู่ในสวนสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

 

 

สุราบนสวนสวรรค์

 

يُسۡقَوۡنَ مِن رَّحِيقٖ مَّخۡتُومٍ 25

“พวกเขาจะได้ดื่มเครื่องดื่มอันบริสุทธิ์ (เป็นสุรา)ซึ่ง مَّخۡتُومٍ คือถูกปิดผนึกไว้”

 

خِتَٰمُهُۥ مِسۡكٞۚ وَفِي ذَٰلِكَ فَلۡيَتَنَافَسِ ٱلۡمُتَنَٰفِسُونَ 26

“สิ่งที่ใช้ปิดผนึก นั่นก็คือชะมดเชียง ..และในสภาพดังกล่าวนี้ บรรดาผู้แข่งขัน... จงแข่งขันกันเถิด(ที่จะให้ได้มาซึ่งความสุขสำราญนี้)”

 

          นั่นก็คือ เมื่อบรรดาผู้ศรัทธาที่เป็นคนดีได้รับความสุข ความสำราญอันบรมสุขต่าง ๆแล้ว เป็นความสุขที่เราไม่เคยได้รับ ไม่เคยได้เห็นบนโลกดุนยา เป็นความสุขที่เราไม่สามารถจินตนาการความสุขได้เลย ..

          พวกเขายังได้รับเครื่องดื่มที่เป็น สุราอันบริสุทธิ์ ที่มีรสอร่อย ดื่มแล้ว ไม่ทำให้ปวดศีรษะ ไม่ทำให้มึนเมา ไม่ทำให้มึนงง เป็นรางวัลตอบแทนแด่ผู้ศรัทธาที่เมื่อตอนอยู่บนโลกดุนยา พวกเขาเชื่อฟังและอดทนที่จะไม่ดื่มสุราบนโลกดุนยา ซึ่งเป็นสุราที่เมื่อดื่มแล้ว ทำให้มึนเมา มึนงง ขาดสติสัมปชัญญะ ..แต่สุราบนสวนสวรรค์นั้นมีลักษณะตรงข้าม

 

          โดยอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงยืนยันลักษณะของสุราบนสวนสวรรค์ไว้ในซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต อายะฮฺที่ 46 – 47 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

بَيۡضَآءَ لَذَّةٖ لِّلشَّٰرِبِينَ 46    “(สุรานั้น) ขาวบริสุทธิ์ มีรสอร่อยแก่บรรดาผู้ดื่ม”

 

لَا فِيهَا غَوۡلٞ وَلَا هُمۡ عَنۡهَا يُنزَفُونَ 47

“ใน(สุรา)นั้น ไม่มีสิ่งที่ทำให้ปวดมึนศีรษะ อีกทั้งพวกเขาก็จะไม่มึนเมาอันเนื่องจากสุรานั้นด้วย”

 

          สุราบนสวนสวรรค์นั้นถูกบรรจุอยู่ในภาชนะที่ถูกผนึกด้วยชะมดเชียง คำว่า خِتَٰمُهُۥ مِسۡكٞۚ คิตามุฮู มิสกุน ก็คือ ถูกผนึกด้วยชะมดเชียง ..

 

          ในเมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่าสุราที่ใช้ดื่มบนสวนสวรรค์นั้น มีรสชาติอร่อยยิ่งนัก และสิ่งที่ใช้ปิดผนึกภาชนะที่ใช้ใส่สุรานี้ยังเป็นชะมดเชียง ซึ่งเป็นสิ่งที่หอมที่สุดบนโลกดุนยานี้ มีคำอธิบายจากอุละมาอ์บางท่านว่า นั่นหมายถึงว่าหยดสุดท้ายของสุราในภาชนะนั้นก็จะต้องมีกลิ่นหอมของชะมดเชียงอย่างแน่นอน ....

 

           ดังนั้น ด้วยรสชาติอันหอมหวานของสุรานี้ ด้วยสภาพของความสุขสบาย ความสุขสำราญในสวนสวรรค์ของพระองค์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกให้เราได้แข่งขันกัน แข่งขันกันในการทำความดี ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ เพื่อที่เราจะได้รับรางวัลตอบแทนอันดีงามเช่นที่กล่าวมานี้

 

وَمِزَاجُهُۥ مِن تَسۡنِيمٍ 27     “ส่วนผสมของสุรานั้นมาจากตัสนีม”

 

ตัสนีมคืออะไร ?

 

عَيۡنٗا يَشۡرَبُ بِهَا ٱلۡمُقَرَّبُونَ 28

“(ตัสนีม)คือตาน้ำแห่งหนึ่งซึ่งบรรดาผู้ใกล้ชิดอัลลอฮฺเท่านั้นจะได้ดื่มมัน”

 

         คำว่า ตัสนีม تَسۡنِيمٍ เป็นชื่อของตาน้ำที่อยู่บนสวนสวรรค์ใต้อะรัช หรือใต้บัลลังก์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          นั่นก็คือ สุราซึ่งเป็นเครื่องดื่มของชาวสวรรค์ จะมีส่วนผสมจากตาน้ำที่ชื่อตัสนีม เป็นสุราที่ อัลมุกัรเราะบูน บรรดาผู้ที่ใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งก็หมายรวมถึงชาวสวรรค์ด้วยที่ได้ดื่มมัน

 

          ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราพึงเร่งขวนขวาย แข่งขันกันในการทำความดี ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตามที่ปรากฏในอายะฮฺที่ 26 เพื่อที่เราจะได้รับรางวัลตอบแทนตามที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้

 

(นะศีหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )

 Click.... อรรถาธิบาย เรื่องราวของซูเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีน 4