อรรถาธิบาย เรื่องราวของซูเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีน 1
ความหายนะ จงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง
อ.อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ ..
แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมดด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....
ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ
เราจะพูดถึงเรื่องราวของซูเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีน .. ..เป็นการพูดเรื่องราวตามที่บรรดาอุละมาอ์อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ได้อธิบายไว้ ตามความเข้าใจของบรรดาสะละฟุศศ่อลิหฺ บรรดาคนดี ๆมีคุณธรรมในยุคสามร้อยปีแรกเข้าใจกัน ..อินชาอัลลอฮฺ
“อัลมุฏ็อฟฟิฟีน المطففين ” เป็นชื่อซูเราะฮฺที่ 83 ของอัลกุรอาน เป็นซูเราะฮฺที่นักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวว่า เป็นซูเราะฮฺสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาที่มหานครมักกะฮฺ นั่นก็หมายความว่าเป็น ซูเราะฮฺมักกียะฮฺ คือเป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะอพยพไปยังมหานครมะดีนะฮฺ เป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาหลังจากซูเราะฮฺอัลอันกะบูต มีทั้งหมด 36 อายะฮฺ
คำว่า ”อัลมุฏ็อฟฟิฟีน” ก็คือ ผู้ที่ทำให้พร่อง ทำให้มันไม่เต็ม ทำให้มันน้อยลง ทำให้มันขาดหายไป เป็นการทำให้พร่องในจำนวนที่มันเล็ก ๆน้อย ๆ ไม่ได้มากมายอะไร แต่ ณ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ...
อัลมุฏ็อฟฟิฟีน มาจากคำว่า อัตเฏาะฟีฟ الطفيف ที่แปลว่า เล็ก ๆน้อย ๆ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเริ่มซุเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีนนี้ ในอายะฮฺที่ 1 – 6 ด้วยกับการกล่าวถึงลักษณะของอัลมุฏ็อฟฟิฟีน และผลร้ายหรือผลตอบแทนที่บรรดาอัลมุฏ็อฟฟิฟีนจะได้รับ ตลอดจนสาเหตุที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ทำให้พร่อง
بِسۡمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
1 “ความหายนะ จงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง ”
คำว่า “ وَيۡلٞ วายลุน ” นักวิชาการมุสลิมอธิบายว่า มีสองความหมาย ความหมาย
หนึ่ง หมายถึง ความหายนะ หรือความพินาศ หรือความวิบัติ ...
สอง หมายถึง ขุมนรกขุมหนึ่ง
นั่นก็หมายความว่า ความหายนะนี้ หรือความพินาศนี้ หรือความวิบัตินี้ คือการไปสู่ขุมนรกหนึ่งในวันกิยามะฮฺ ...ซึ่งผลร้ายแรงนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาทรงบอกว่า لِّلۡمُطَفِّفِينَ จะได้แก่บรรดาผู้ทำให้พร่อง ...
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงขยายความในอายะฮฺที่ 2 กับ 3 ว่า บรรดาผู้ทำให้พร่องนี้ หมายถึงใครบ้าง ?
2 “ (บรรดาผู้ทำให้พร่อง นั่นก็คือ) บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาเอาจากผู้อื่น พวกเขาก็เอาเต็ม”
3 “แต่เมื่อพวกเขาเอาให้คนอื่น..พวกเขาก็ทำให้พร่อง”
ดังนั้น บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาเอาจากผู้อื่น พวกเขาก็เอาเต็ม นั่นก็คือ เมื่อเวลาที่พวกเขาซื้อสินค้า หรือขอยืม หรืออะไรก็ตามแต่ พวกเขาก็ต้องการที่จะได้สินค้าเต็มตามจำนวนเป๊ะ ๆ จะขาดแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ แต่เกินได้ ไม่เป็นไร
“แต่เมื่อพวกเขาเอาให้คนอื่น..พวกเขาก็ทำให้พร่อง” นั่นก็คือ เวลาที่พวกเขาจะขายมันไป หรือคืนมันไป พวกเขาก็พยายามให้มันขาด หาเล่ห์เพทุบายเพื่อทำให้มันไม่เต็มจำนวน เป็นการหาช่องทางการโกงเล็ก ๆน้อย ๆ เป็นการยักยอกเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยที่อีกฝ่ายไม่ทราบ หรือไม่รู้ไม่เห็นในกลโกงนั้น ..จุดประสงค์ที่พวกเขาทำอย่างนี้ ก็เพื่อที่พวกเขาต้องการจะได้มาก ๆ อยากได้กำไรมาก ๆ ซึ่งวิธีการอย่างนี้มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ในสองอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวถึงชาวกุเรชมักกะฮฺในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่พวกเขาได้ทำการค้าขายด้วยการทำการทุจริต ทำการคดโกงในเรื่องของการตวงการชั่ง ..อันเนื่องจากว่า ในสมัยก่อนนั้น เขาจะใช้เรื่องของการตวงการชั่งเป็นเครื่องมือในการซื้อขาย...อัลกุรอานจึงพูดถึงเรื่องของการตวงการชั่งเป็นหลัก
เมื่อเวลาที่พวกเขาซื้อสินค้าจากชาวสวนชาวไร่ พวกเขาก็ต้องได้อย่างเต็มจำนวน จะขาดไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่เมื่อเวลาที่พวกเขาเอาไปขายให้ผู้อื่น พวกเขาก็ตั้งใจที่จะตวงหรือชั่งให้ไม่ครบ หาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะหาช่องทางโกง ทำให้สินค้าดูเหมือนตวงครบ ชั่งครบเต็มตามจำนวน แต่ความจริง มันไม่ครบ ซึ่งพฤติกรรมอย่างนี้มันแพร่หลายอยู่ในสังคมในขณะนั้น
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงทรงลงอายะฮฺมาเพื่อตักเตือนพวกเขา ให้พวกเขาละเลิกพฤติกรรมเหล่านี้เสีย เพราะถ้าพวกเขาไม่ละไม่เลิก พวกเขาก็ต้องได้รับความหายนะ ได้รับความพินาศ ได้รับความวิบัติอย่างแน่นอน
สำหรับเรื่องของการชั่งการตวงที่ยังปรากฏให้เราเห็นอยู่ในสังคมขณะนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง สำหรับคนที่ใช้ตาชั่งที่เป็นเข็มที่เป็นสปริง เราจะพบว่า มันมีโอกาสที่เข็มสปริงอาจจะแข็งหรือหย่อนได้ บางคนก็ใช้ช่องทางนี้ในการโกงตาชั่ง ปรับเข็มให้อ่อนให้แข็งได้ แต่บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจ ก็ต้องคอยระวัง ต้องทำให้เข็มสปริงอยู่ในสมดุลย์ที่ถูกต้อง....
ในยุคสมัยก่อน ๆ การชั่งเขาจะไม่นิยมใช้ตาชั่งที่เป็นเข็มสปริง แต่เขาจะใช้ตาชั่งที่มีแขนสองแขน แขนข้างหนึ่งสำหรับวางของ ส่วนอีกข้าง จะเอาไว้วางตุ้มน้ำหนักที่มีน้ำหนักให้เท่ากับของที่วาง คือให้แขนของตาชั่งอยู่ในระนาบเดียวกัน เช่นต้องการชั่งของ 1 กิโลกรัม ก็เอาตุ้มที่มีน้ำหนักเท่ากับ 1 กิโลกรัมวางลงบนแขนของตาชั่งข้างหนึ่ง แล้วก็วางของหรือสินค้าบนแขนของตาชั่งอีกข้างหนึ่ง วางจนเข็มทั้งสองด้านมันตรงกัน หรืออยู่ในระนาบเดียวกัน นั่นคือน้ำหนักที่ถูกต้อง
และสิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สำหรับมาตราตวง ก็ต้องตวงเหมือนกัน .. มาตราชั่งก็ต้องชั่งเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อข้าวสารมาหนึ่งถัง เวลาขาย เราก็ต้องตวงขายเป็นถัง ..แต่ถ้าเราซื้อมาเป็นกิโล เราก็ต้องชั่งขายเป็นกิโล ..ไม่ใช่ ซื้อมาเป็นถัง แต่เวลาขาย ขายเป็นกิโล อย่างนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ..ถ้าซื้อมาเป็นถัง แล้วจะชั่งขายเป็นกิโล ก็ต้องแปลงราคาถัง ให้เป็นราคากิโลเสียก่อน เพื่อให้อยู่ในมาตราเดียวกัน
ดังกล่าวข้างต้น นั่นก็หมายความว่า บรรดาผู้ที่ทำให้พร่องก็คือ ผู้ที่เจตนา ผู้ที่ตั้งใจจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ผู้ที่คดโกงผู้อื่น ผู้ที่คอร์รัปชั่น ทุจริต ผู้ที่ทำให้สิทธิของผู้อื่นต้องพร่องไป หรือสูญเสียไป ดังนั้น เรื่องของการทำให้พร่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการซื้อการขายเท่านั้น แต่อุละมาอ์กล่าวว่า รวมถึงทุกเรื่องที่ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น ทุกเรื่องที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ทุกเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น
จากการอธิบายของอุละมาอ์ ในเรื่องของสิทธิระหว่างสามีกับภรรยา ซึ่งท่านชัยค์มุฮัมมัด อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์ร่วมสมัยในยุคของเรา ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
สามีบางคนต้องการให้ภรรยาปฏิบัติในสิทธิของสามีอย่างครบถ้วน ในขณะเดียวกันสามีก็กลับไม่ได้มอบสิทธิที่ภรรยาพึงจะได้รับอย่างครบถ้วน อาจจะไม่จ่ายนะฟะเกาะฮฺให้กับเธอ หรืออาจจะไม่ได้ปฏิบัติกับภรรยาอย่างดีในเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกัน หรือรวมทั้งเรื่องอื่น ๆ อีก
ซึ่งท่านชัยค์อุษัยมีนบอกว่า สิ่งเหล่านี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของบรรดาผู้ที่ทำให้พร่อง เป็นอัลมุฏ็อฟฟิฟีน คือเป็นผู้ที่ต้องการให้ตนเองได้รับสิทธิอย่างครบถ้วน แต่ในขณะเดียวกันก็กลับรอนสิทธิของผู้อื่น เพราะทำอย่างขาดตกบกพร่อง... จึงเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องระมัดระวังตัวเรา ในการอยู่ร่วมกัน ทั้งในสังคมครอบครัว สังคมในชุมชน สังคมประเทศชาติ ...
เมื่อเราต้องการให้สิทธิของเราอยู่อย่างครบถ้วน เราก็ต้องมอบสิทธิให้ผู้อื่นอย่างครบถ้วนเช่นกัน ... สิทธิระหว่างสามีภรรยา สิทธิของพ่อแม่ที่มีต่อลูก สิทธิของลูกที่มีต่อพ่อแม่ สิทธิระหว่างเพื่อนบ้าน สิทธิระหว่างผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีต่อประชาชน จะต้องไม่คดโกงต่อประชาชน ไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชั่น สิทฺธิของพ่อค้าแม่ค้าที่มีต่อลูกค้า สิทธิของลูกค้าที่มีต่อพ่อค้าแม่ค้า ..
ทุกเรื่องราวทุกสิทธิต้องเป็นไปอย่างซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าผู้อื่นนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ห้ามรอนสิทธิของพวกเขาทั้งสิ้น เพราะหากใครมีพฤติกรรมเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า พวกเขานั้นไม่กลัวอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกเขาไม่กลัวต่อวันกิยามะฮฺ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า
4 “ พวกเขาเหล่านั้นไม่คิดหรือว่า พวกเขาจะต้องถูกให้ฟื้นคืนชีพ”
5 “ สำหรับวันอันยิ่งใหญ่ ”
6 “ วันที่มนุษย์จะยืนต่อหน้าพระเจ้าแห่งสากลโลก “
นั่นก็หมายความว่า บรรดาผู้ที่ทำให้พร่องนั้น พวกเขาลืมคิดไปหรือว่า พวกเขาจะต้องถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในวันกิยามะฮฺ อันเป็นวันที่พวกเขาจะต้องยืนอยู่เพื่อถูกสอบสวนในพฤติกรรม การกระทำต่าง ๆของพวกเขาที่พวกเขาได้กระทำไว้บนโลกดุนยา และถูกพิพากษาถูกตัดสินว่า พวกเขาจะได้ไปสวรรค์หรือนรก ..
เมื่อพวกเขาลืมคิดเช่นนี้ หรือไม่เชื่อในเรื่องของการฟื้นคืนชีพ พวกเขาก็เลยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น คดโกงผู้อื่น ทุจริตต่อผู้อื่น พวกเขาจึงกล้าที่จะทำให้สิทธิของผู้อื่นต้องขาดตกบกพร่องไป
เพราะถ้าพวกเขาคิดถึงวันกิยามะฮฺ คิดถึงการพิพากษาตัดสินในวันกิยามะฮฺ กลัวการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกเขาก็จะไม่กล้าทำเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวเตือน ..ก็ขอให้เราได้ระมัดระวังตัวเราในเรื่องเหล่านี้ด้วย ตระหนักให้มาก ๆในเรื่องเหล่านี้ อย่าทำให้ตัวเราต้องเป็นผู้บกพร่องในสิทธิของผู้อื่น เพราะจะต้องได้รับความพินาศ ได้รับความหายนะ ได้รับการลงโทษในขุมนรกในวันกิยามะฮฺอย่างแน่นอน
ดังนั้น การดำเนินชีวิตของเราบนโลกดุนยานี้จึงมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการศรัทธาในวันกิยามะฮฺ หรือวันฟื้นคืนชีพ .. เมื่อเราศรัทธาต่อวันกิยามะฮฺ เชื่อมั่นว่าวันฟื้นคืนชีพจะเกิดขึ้นจริง เราก็จะระมัดระวังตัวเรา ไม่ให้ตัวเรามีลักษณะของอัลมุฏ็อฟฟิฟีน หรือผู้ที่ทำให้พร่อง เพราะการกระทำดังกล่าวนั้นจะถูกบันทึกไว้ และจะต้องได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน
Click .... อรรถาธิบาย เรื่องราวของซูเราะฮฺอัลมุฏ็อฟฟิฟีน 2