โอ้..บิลาลเอ๋ย ทำให้ฉันสุขใจจากการละหมาดเถิด
  จำนวนคนเข้าชม  529

โอ้..บิลาลเอ๋ย ทำให้ฉันสุขใจจากการละหมาดเถิด

 

ค่อเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น .. ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา

 

          ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เราได้ชุกูร ได้ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในความโปรดปราน ในความเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อเรา และโปรดให้เราได้มาละหมาดญุมอะฮฺร่วมกันในวันนี้ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ 

 

          แท้จริงแล้ว การละหมาดถือเป็นแม่ของบรรดาอิบาดะฮฺทั้งหมด เป็นอิบาดะฮฺที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ เป็นฟัรฎูที่มุสลิมต้องทำในทุก ๆวัน ให้ครบทั้งห้าเวลา จะละเว้นไม่ได้เลย จะขาดเวลาหนึ่งเวลาใดก็ไม่ได้ ถือเป็นกิจวัตร เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ต้องละหมาดกันจนกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่า เรื่องของการละหมาดเป็นเรื่องหนักหน่วงเหลือเกิน ..

 

          แต่สำหรับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้ว ท่านนบีได้ถือเอาการละหมาดเป็นเรื่องของการพักผ่อน เรื่องของผ่อนคลาย เรื่องของการปลดปล่อยความทุกข์ และทำให้เกิดความสุขใจ 

 

     อัลหะดีษ ในเศาะหิหฺ อบีดาวูด ( صحيح أبي داود รับรองโดยชัยค์อัลอัลบานีย์) รายงานจากท่านซาลิม อิบนุ อบิลญะอ์ดฺ سالم بن أبي  จากชายคนหนึ่งของเผ่าอัสลัมได้กล่าวว่า ได้ยินท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวกับท่านบิลาล (ซึ่งเป็นมุอัซซิน เมื่ออยู่ที่มัสญิด)ว่า

 

"يا بلالُ، أَقِمِ الصَّلاةَ، أَرِحْنا بها"

 

“โอ้บิลาลเอ๋ย...ทำให้ฉันสุขใจจากการละหมาดเถิด”

 

     คำพูดของท่านนบีที่ว่า “ يا بلالُ، أَقِمِ الصَّلاةَ، أَرِحْنا بها โอ้บิลาลเอ๋ย...ทำให้ฉันสุขใจจากการละหมาดเถิด” 

          นั่นก็หมายถึงว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัมบอกให้ท่านบิลาลนั้น เริ่มอิกอมะฮฺได้แล้ว เพื่อที่ท่านนบีจะได้เริ่มนำละหมาด และได้รับความสุข ได้รับการผ่อนคลายจิตใจ ได้รับความหอมหวานจากการละหมาด ..

          นั่นก็หมายความว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัมได้ถือเอาการละหมาดเป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นยารักษาจิตใจให้เกิดความสุขสงบ .. ท่านนบีจึงได้ละวางจากความวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงต่าง ๆของโลกดุนยาด้วยการละหมาด 

 

ซึ่งท่านนบียังได้ยืนยันไว้อีกด้วย ในอัลหะดีษ (เศาะหิหฺ รับรองโดยชัยค์อัลอัลบานีย์) บันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وجُعِلَت قُرَّةُ عَيني في الصَّلاةِ

 

“...และฉันได้รับความชื่นตาชื่นใจ (ได้รับความสุขสงบของจิตใจ)ในขณะละหมาด”

 

         ดังนั้น สำหรับท่านนบีแล้ว การละหมาดจึงเป็นสิ่งที่ท่านนบีทำด้วยความรัก เพราะเมื่อท่านนบีละหมาดแล้ว ท่านนบีได้รับความสุขใจ ..คำว่า قُرَّةُ عَيني หมายถึงว่า เมื่อคนเราอยู่กับสิ่งใดแล้วมีความสุข ซึ่งท่านนบีเป็นแบบนั้น เมื่อท่านนบีได้ละหมาด ท่านนบีมีความสุข ในขณะที่ท่านนบีละหมาด .. เมื่อเวลาที่ท่านนบีมีเรื่องไม่สบายใจ มีความกลัดกลุ้ม ท่านนบีก็จะละหมาด เมื่อได้ละหมาดแล้ว ท่านนบีก็จะสบายใจ มีความสุข มีจิตใจที่สงบ

 

        ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัรเราะอ์ดฺ อายะฮฺที่ 28 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَتَطۡمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكۡرِ ٱللَّهِۗ أَلَا بِذِكۡرِ ٱللَّهِ تَطۡمَئِنُّ ٱلۡقُلُوبُ

 

“บรรดาผู้ศรัทธานั้น จิตใจของพวกเขาสงบด้วยการซิกรุลลอฮฺหรือการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

พึงทราบไว้เถิดว่า ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทำให้จิตใจสุขสงบ”

 

         ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตระหนักในอายะฮฺนี้อย่างดี และนำการซิกรุลลอฮฺมาใช้ในชีวิตประจำวันของท่าน เพื่อให้จิตใจของท่านสุขสงบ ..

     เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมซึ่งเป็นผู้ที่ดีที่สุด ผู้ที่ประเสริฐที่สุด ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของเรา ได้รับความหอมหวาน ได้รับความสุขสงบของจิตใจจากการละหมาด  ดังนั้น..เราในฐานะของอุมมะฮฺของท่านนบี จึงสมควรยิ่งที่เราจะมาหาความหอมหวาน หาความสุขสงบของจิตใจจากการละหมาดดังเช่นที่ท่านบีได้ปฏิบัติมาแล้ว

 

        ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การซิกรุลลออฮฺ หรือการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือการที่เรารำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่ตลอดเวลา ดำเนินชีวิตประจำวันในทุก ๆ อิริยาบทด้วยการนึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ รำลึกถึงเดชานุภาพของพระองค์ รำลึกถึงนิอฺมะฮฺ เราะหฺมะฮฺ ความกรุณา ความเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา เมื่อเวลาที่เราจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไรก็ตาม เราก็จะรำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการรำลึกถึงด้วยหัวใจ .. 

 

          แล้วก็ยังมีการรำลึกถึงพระองค์ด้วยคำพูด ก็อย่างเช่น การอ่านอัลกุรอาน การอ่านบทอัซการเช้าเย็น อ่านคำซิเกรต่าง ๆ ซุบฮานัลลอฺฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ ..แล้วก็ยังมีการซิกรุลลอฮฺด้วยการกระทำ ก็โดยการลงมือทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ซึ่งการละหมาดนั้น ถือเป็นการซิกรุลลอฮประเภทหนึ่งและเป็นการซิกรุลลอฮฺที่ดียิ่ง ที่ยิ่งใหญ่กว่าอิบาดะฮฺอื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นการซิกรุลลอฮฺที่นำตัวเราให้มีโอกาสรอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ และเป็นใบเบิกทางนำไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

        อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّ بَيْنَ الَّرجُلِ و بَيْنَ الشِّرْكِ وَالْكُفِر تَركَ الصَّلاَ ةِ

 

“แท้จริง สิ่งที่ปิดกั้นระหว่างมุสลิมกับการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นคือ..การละหมาด”

 

          นั่นก็หมายถึงว่า มุสลิมคนใดก็ตามที่เขาดำรงรักษาการละหมาดอย่างครบถ้วนดีงาม เขาก็ยังคงรักษาสถานะความเป็นมุสลิมของเขาเอาไว้ได้ ..ส่วนสำหรับมุสลิมคนใดก็ตามที่ทอดทิ้งการละหมาด ไม่ปฏิบัติ ไม่ทำละหมาด เขาก็จะมีสถานะเฉกเช่นบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ..

 

         ดังนั้น เมื่อเราดำรงรักษาการละหมาด เราก็จะรู้สึกว่า เรามีความสุข เพราะเรารู้ว่า การละหมาดของเรานั้น จะนำเราให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ และเป็นใบเบิกทางนำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การละหมาดทำให้จิตใจของเราสุขสงบ เพราะเราจะทำแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา การละหมาดจะยับยั้งเราจากการทำความชั่วต่าง ๆ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันกะบูต ช่วงกลางของอายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَقِمِ الصَّلَاةَ ۖ إِنَّ الصَّلَاةَ تَنْهَىٰ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ ۗ وَلَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ ۗ

 

“และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด (เพราะ)แท้จริง การละหมาดนั้น มันจะระงับยับยั้งการกระทำที่ชั่วช้าลามก”

 

          ดังนั้น ถ้าเราละหมาดด้วยหัวใจที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ ที่เราจะไปล่วงละเมิดขอบเขตบทบัญญัติศาสนา เราก็จะตระหนักในเรื่องนี้ ไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา ซึ่งมันก็จะส่งผลให้จิตใจของเรามีความสุขสงบ เพราะเมื่อเราไม่อยากทำบาป ไม่อยากทำความผิด มันก็จะป้องเราจากการถูกลงโทษในวันกิยามะฮ และเป็นใบเบิกทาง นำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราก็จะรู้สึกมีความสุข

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การละหมาดทำให้จิตใจของเราสุขสงบ เพราะเรารู้ว่า การละหมาดจะมาช่วยลบล้างความผิดให้แก่เรา เราจึงได้รับความสุขใจจากการละหมาด

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وَالْجُمْعَةُ إلى الجُمْعَةِ، وَرَمَضَانُ إلى رَمَضَانَ، مُكَفِّرَاتٌ ما الصَّلَوَاتُ الخَمْسُ، بيْنَهُنَّ إِذَا اجْتَنَبَ الكَبَائِرَ.

 

“การละหมาด 5 เวลา..การละหมาดวันศุกร์หนึ่งจนถึงอีกศุกร์หนึ่ง ..

การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนจากปีหนึ่งไปถึงอีกปีหนึ่ง เป็นการไถ่โทษในระหว่างอิบาดะฮฺเหล่านั้น 

ยกเว้น การทำบาปใหญ่ ซึ่งเป็นบาปที่ต้องเตาบะฮฺตัวเท่านั้น”

 

          แน่นอน ที่เราทุกคนย่อมต้องมีการทำความผิด อาจจะโดยตั้งใจและอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อการละหมาดเป็นอิบาดะฮฺหนึ่งที่จะมาช่วยลบล้างความผิดให้แก่เรา มาไถ่โทษให้แก่เรา เราก็จะรู้สึกปลอดภัยขึ้น เพราะเราก็จะรู้สึกว่า เราได้รับการปกป้องจากการถูกลงโทษ ทำให้จิตใจของเราสุขสงบขึ้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือบางส่วนเท่านั้นของการละหมาดที่สามารถนำเราไปสู่ความสงบสุขของจิตใจ ..แท้จริง การละหมาดเป็นสื่อกลางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับบ่าวผู้รู้คุณของพระองค์..เป็นการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเรา 

 

          อุละมาอ์กล่าวว่า ในขณะที่เรากำลังละหมาดนั้น ก็เท่ากับว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเรากำลังสนทนาอยู่กับพระองค์ ดังนั้น เราก็จะรู้สึกสุขสงบ เพราะเราเชื่อมั่นว่า การละหมาดจะนำเราให้รอดพ้นจากการกระทำที่เป็นความชั่วต่าง ๆ และนำเราไปสู่การทำความดีต่าง ๆ ..การละหมาดจึงไม่ใช่เรื่องยากลำบากสำหรับมุสลิมผู้ที่มีความนอบน้อมถ่อมตน

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَٱسۡتَعِينُواْ بِٱلصَّبۡرِ وَٱلصَّلَوٰةِۚ وَإِنَّهَا لَكَبِيرَةٌ إِلَّا عَلَى ٱلۡخَٰشِعِينَ

 

“และพวกเจ้าจงอาศัยความอดทน และการละหมาดเถิด

และแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสิ่งใหญ่โต (เป็นสิ่งที่ยากลำบากที่จะทำ)

นอกจากบรรดาผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น (ที่จะทำได้)

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่ได้รับความหอมหวานจากการละหมาด ได้รับความสุขสงบของจิตใจจากการละหมาด ขอให้การละหมาดของเรานำเราไปสู่การรอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ และนำเราไปสู่การได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างง่ายดาย

 

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )