มารยาทในการขอดุอาให้ผู้ที่ "จาม"
  จำนวนคนเข้าชม  55

มารยาทในการขอดุอาให้ผู้ที่ "จาม"

 

อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา ... เรียบเรียง

 

มารยาทของผู้จามทั้งในด้านความคิด คำพูดและการกระทำ

 

มารยาททางด้านความคิด

ให้มีความรู้สึกขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้เราจาม เพราะการจามเป็นการขับเชื้อโรคออกจากร่างกาย

 

 มารยาททางคำพูด

ให้กล่าวขอบคุณอัลลอฮ์ด้วยการกล่าวดุอาอ์ว่า "อัลฮัมดุลิลลาฮ์"

 

มารยาททางการกระทำ

ให้จามให้ค่อยที่สุด และให้ปกปิดการจามนั้นด้วยการเอามือปิดหรือผ้าปิดให้ได้มากที่สุด

 

 

ทำไมต้องขอดุอาอ์เมื่อมีการจามเกิดขึ้น?

1. เพราะเป็นหนึ่งในอิบาดะฮ์อย่างหนึ่งทางคำพูด

2. เพราะเป็นการทำตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด

3. เพราะการจามเป็นการกระทำที่อัลลอฮ์ทรงรัก ซึ่งตรงข้ามกับการหาวที่อัลลอฮ์ทรงเกลียดเพราะมันมาจากชัยฏอน

4. เป็นการฝึกให้ผู้จามมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮ์ และมีจิตใจอ่อนโยน

5. เพราะเป็นการเพิ่มความรักสามัคคีในหมู่พี่น้องมุสลิม

 

 

วิธีการกล่าวดุอาอ์ในเรื่องการจามทั้งตัวผู้จามและผู้ได้ยิน

 

การขอดุอาให้ผู้ที่จาม 

          โดยพื้นฐานคือเมื่อผู้จามได้กล่าวว่า อัลฮัมดุลิลลาฮ์ แล้วมุสลิมคนหนึ่งได้ยินเขากล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮ์ ก็จำเป็น(ฟัรฎุกิฟายะฮ์)จะต้องกล่าวดุอาให้แก่ผู้ที่จามว่า "ยัรหะมุกั้ลลอฮ์" และมีแบบอย่างจากท่านนบีว่า ให้ผู้จามกล่าวดุอาตอบกลับไปว่า "ยะฮ์ดีกุมุ้ลลอฮ์ วะยุศลิหุบาละกุม"

 

โดยสามารถสรุปเป็นรูปแบบของบทสนทนาได้ดังนี้

 

     ผู้จามได้กล่าวว่า : "อัลฮัมดุลิลลาฮ์"(มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์)

     ผู้ที่ได้ยินผู้จามกล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮ์ให้กล่าวแก่ผู้ที่จามว่า : "ยัรหะมุกั้ลลอฮ์" (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านด้วยเถิด)

     ให้ผู้จามกล่าวดุอาตอบกลับไปว่า : "ยะฮ์ดีกุมุ้ลลอฮ์ วะยุศลิหุบาละกุม"(ขออัลลอฮฺทรงชี้นำท่านและให้ท่านมีสุขภาพที่ดี)

     การกล่าวดุอาอ์ให้ผู้ที่จามมากกว่า 3 ครั้ง

     ให้กล่าวดุอาแก่ผู้ที่จามครั้งที่ 4 ว่า "อาฟากั้ลลอฮ์" (ขออัลลอฮฺทรงช่วยให้ท่านปลอดภัย) เพราะผู้ที่จามมากกว่า 3 ครั้ง ท่านนบีบอกว่าเขาป่วยเป็นหวัด

 

 

วาระต่างๆที่ห้ามกล่าวดุอาอ์ให้มุสลิมที่จาม เช่น

 

1. ขณะทำละหมาด ทุกประเภท ทุกชนิด

2. ขณะฟังคุฏบะฮ์วันศุกร์

 

 

 ประเด็นปลีกย่อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกล่าวดุอาอ์ให้แก่ผู้จาม

 

     1. เด็กเล็กที่ยังไร้เดียงสา หรือยังไม่บรรลุศาสนภาวะเมื่อเขาจามให้เรากล่าวดุอาอ์แก่เด็กคนนั้นว่า "บาร่อกั้ลลอฮุฟีก"(ขออัลลอฮ์ทรงประทานความจำเริญให้แก่ท่านด้วยเถิด) หรือ "บูริก้า ฟีก"(ขอให้ท่านได้รับความจำเริญ)

 

    2. เด็กที่รู้เดียงสาแต่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะเมื่อเขาจามแล้วไม่รู้ว่าต้องกล่าวอัลฮัมดุลิลละห์ ให้เราสอนเขาให้กล่าวว่าอัลฮัมดุลิลลาฮ์ และดุอาอ์ในการตอบกลับด้วยเช่นกัน

 

     3. ผู้ที่จามแล้วไม่กล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮ์เนื่องจากไม่มีความรู้ ผู้ที่อยู่ใกล้กับเขาสมควรสอนให้ผู้จามกล่าวว่า อัลฮัมดุลิลละห์ เพื่อที่เขาจะได้ผลบุญใน 2 เรื่อง

 

     4. เมื่อมีผู้จามมากกว่าหนึ่งคนในเวลาใกล้กัน สามารถกล่าวดุอาอ์ให้คนเหล่าพร้อมกันได้

• ถ้าจามพร้อมกัน สองคน ให้กล่าวคำว่า ยัรหะมุกุมั้ลลอฮ์

• ถ้าจามพร้อมกันสามคนขึ้นไป  ให้กล่าวคำว่า ยัรหะมุกุมุ้ลลอฮ์

• ถ้าจามในเวลาใกล้กัน ให้เรียงลำดับการกล่าวดุอาอ์ให้ผู้ที่จามก่อน/หลัง

 

     5. การกล่าวดุอาอ์แก่ผู้จามในที่นี้หมายถึง ระหว่างมุสลิมเพศเดียวกัน หรือต่างเพศแต่ไม่ก่อให้เกิดฟิตนะฮ์ในเชิงชู้สาว

 

 

ตำราอ้างอิงในการสอน 

 

1.บุลูฆุลมะรอม ของอิมามอิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์ 

2.สุบุลุสสลาม ของอิมามอัศศ็อนอานีย์ 

3.ฟัตฮุซิ้ลญะลาลิวั้ลอิกรอม บิชัรห์ บุลูฆิลมะรอม ของเชคอัลอุษัยมีน 

4.เตาฎีหุ้ลอะห์กาม มินบุลูฆิลมะรอม ของเชคอัลบัสซาม 

5.อิตฮาฟุ้ลกิรอมบิชัรห์กิตาบิ้ลญามิอ์มินบุลูฆิลมะรอม ของเชคศอลิห์อัลเฟาซาน

6.มินหะตุ้ลอั้ลลาม ฟีชัรห์บุลูฆิลมะรอม ของเชคอับดุลลอฮ์ อัลเฟาซาน

 

** ติดตามอ่านบทความวิชาการอิสลามเพิ่มเติมได้ที่เพจ ห้องเรียนอัลอิสติกอมะฮ์