มารยาทในการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย
  จำนวนคนเข้าชม  251

มารยาทในการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย

 

อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา ... เรียบเรียง

 

สรุปประเด็นต่างๆเกี่ยวกับมารยาทในการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย

 

 

ประเด็นที่ 1 มารยาทของผู้ป่วยทั้งในด้านความคิด ด้านคำพูดและด้านการกระทำ

 

มารยาททางด้านความคิด

     ให้มีความรู้สึกอดทนกับความเจ็บป่วย เพราะความเจ็บป่วยคือบททดสอบของอัลลอฮ์ และให้เราคิดในแง่ดีเพราะการเจ็บป่วยคือ บททดสอบที่มากับการลบล้างความผิดบาป

 

 มารยาททางคำพูด

     ให้กล่าวดุอาอ์ขอความช่วยเหลือและความเมตตาจากอัลลอฮ์ให้พระองค์รักษาเขาให้หายป่วย โดยหนึ่งในบทดุอาอ์ที่ผู้ป่วยสมควรกล่าวคือ 

การกล่าวว่า บิสมิลลาฮ์ 3 ครั้ง จากนั้นกล่าวว่า "อะอูซุบิ้ลลาฮิ วะกุ๊ดร่อติฮี มินชัรริมาอะญิดุ วะอุฮาซิร" 7 ครั้ง 

(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

 

 มารยาททางการกระทำ

     ให้พยายามหาทางรักษาโรคที่กำลังประสบอยู่ตามกำลังและความสามารถ จากนั้นก็มอบหมายต่ออัลลอฮ์ด้วยความนอบน้อม และมีความมุ่งหวังในความเมตตาและการรักษาให้หายป่วยจากพระองค์ เพราะอัลลอฮฺคือผู้ทรงรักษาให้หายป่วยอย่างแท้จริง ส่วนผู้อื่นหรือสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากพระองค์นั้นเป็นเพียงแค่สาเหตุเท่านั้น

 

 

ประเด็นที่ 2 ข้อตัดสินของการเยี่ยมผู้ป่วยมุสลิม

     การเยี่ยมผู้ป่วยมุสลิมโดยพื้นฐาน ถือเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ ส่วนในบางกรณีก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น การไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เจ็บป่วย เพราะเข้าข่ายๆการทำดีต่อพ่อแม่ในรูปแบบหนึ่ง

 

 

ประเด็นที่ 3 ทำไมต้องไปเยี่ยมผู้ป่วย/เป้าหมายในการเยี่ยมผู้ป่วย ?

1. เพราะเป็นหนึ่งในอิบาดะฮ์ (สนองตอบคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์/หวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮ์)

2. เพราะเป็นการทำตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด

3. เพื่อเป็นการให้กำลังใจผู้ป่วยและบอกเขาให้อดทนต่อบททดสอบของอัลลอฮ์

 

 

ประเด็นที่ 4 ผลบุญรางวัลตอบแทนจากการเยี่ยมผู้ป่วย

 ♥ ได้รับผลบุญเหมือนได้ไปเก็บผลไม้ในสวนสวรรค์(บันทึกโดยอิมามมุสลิม

 ♥ มลาอิกะฮ์  7 หมื่นท่าน จะขอดุอาอ์ให้แก่เขา(บันทึกโดยอิมามอัตติรมิซีย์)

 ♥ ได้รับเรือกสวนไร่นาในสวรรค์ (บันทึกโดยอิมามอัตติรมิซีย์)

 

 

ประเด็นที่ 5 ผู้ป่วยประเภทไหนบ้างที่ต้องไปเยี่ยม ?

ทัศนะที่หนึ่ง ผู้ป่วยในทุกกรณี

ทัศนะที่สอง ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรือไปมาหาสู่กันได้

 

 

ประเด็นที่ 6 ข้อตัดสินของการเยี่ยมผู้ป่วยโรคติดต่อ/โรคระบาด

     งดไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคติดต่อหรือโรคระบาด ดังหะดีษที่ท่านนบีได้กล่าวว่า “ต้องไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น” แต่สามารถส่งจดหมายหรือโทรศัพท์ หรือติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อดุอาอ์และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยได้

 

 

ประเด็นที่ 7 คำพูดที่สมควรพูดในขณะไปเยี่ยมผู้ป่วยทั่วไป

      พูดให้กำลังใจในเชิงบวก สร้างสรรค์ ให้ผู้ป่วยมองในแง่ดี ขออภัยโทษต่อความผิดบาปที่เคยกระทำไปที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น

 

 

ประเด็นที่ 8 คำพูดที่สมควรพูดในขณะไปเยี่ยมผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต

     ♥ พูดตักเตือนให้ผู้ป่วยรำลึกถึงความตายการกลับคืนสู่อัลลอฮ์ด้วยการมองในแง่ดีและมีความหวัง

     ♥ ขออภัยกันหากว่ามีสิ่งใดเคยล่วงละเมิดกัน

     ♥ บอกให้ผู้ป่วยกล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิ้ลลั้ลลอฮ์ เป็นถ้อยคำสุดท้ายด้วยความศรัทธาและมั่นใจก่อนเสียชีวิต เพราะจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้นั้นได้เข้าสวรรค์

 

 

ประเด็นที่ 9 บทดุอาอ์ที่ใช้กล่าวในการเยี่ยมผู้ป่วย

     1.ให้กล่าวดุอาอ์แก่ผู้ป่วยว่า "ชะฟากั้ลลอฮ์" ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้หญิงให้กล่าวดุอาอ์ว่า "ชะฟากิ้ลลาฮ์"

     2. "ลาบ๊ะอ์ซ่า ฏ่อฮูร อินชาอัลลอฮฺ"

     3."อัสอะลุ้ลลอฮั้ลอะซีม ร็อบบั้ลอัรชิ้ลอะซีม อันยัชฟิยัก" 7 ครั้ง (บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด และอิมามอัตติรมิซีย์) แล้วผู้ป่วยจะหายป่วยด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ หากว่าการเจ็บป่วยในครั้งนั้นไม่ใช่การเจ็บป่วยที่เป็นวาระแห่งความตายของเขา

     4."อัลลอฮุมม่า ร็อบบันนาส อัซฮิบิ้ลบ๊ะอ์ซ่า อิชฟิฮี วะอันตัชชาฟี ลาชิฟาอัน อิ้ลลาชิฟาอุก ชิฟาอันลาุฆอดิรุสะก่อมา"

 

 

ประเด็นที่ 10 ข้อตัดสินการเยี่ยมผู้ป่วยต่างศาสนิก

     นักวิชาการส่วนมากบอกว่าเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโอกาสเข้ารับอิสลามไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทั่วไปหรือผู้ป่วยหนักที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เช่น เหตุการณ์ที่ท่านนบีไปเยี่ยมเด็กหนุ่มชาวยิวจนเข้ารับอิสลาม

 

 

ตำราอ้างอิงในการสอน 

1.บุลูฆุลมะรอม ของอิมามอิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์ 

2.สุบุลุสสลาม ของอิมามอัศศ็อนอานีย์ 

3.ฟัตฮุซิ้ลญะลาลิวั้ลอิกรอม บิชัรห์ บุลูฆิลมะรอม ของเชคอัลอุษัยมีน 

4.เตาฎีหุ้ลอะห์กาม มินบุลูฆิลมะรอม ของเชคอัลบัสซาม 

5.อิตฮาฟุ้ลกิรอมบิชัรห์กิตาบิ้ลญามิอ์มินบุลูฆิลมะรอม ของเชคศอลิห์อัลเฟาซาน

6.มินหะตุ้ลอั้ลลาม ฟีชัรห์บุลูฆิลมะรอม ของเชคอับดุลลอฮ์ อัลเฟาซาน

 

     ติดตามรับความรู้วิชาการอิสลามได้เพิ่มเติมจากเพจ ห้องเรียนอัลอิสติกอมะฮ์