ริสกีที่ไม่อาจคำนวณนับ
เรียบเรียง...อ.จรวด นิมา
อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า
"แท้จริง อัลลอฮฺ จะทรงประทานริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่อาจคำนวณได้"
(อาละอิมรอน 3:37)
ความหมายจากโองการของอัลกรุอ่านข้างต้น ทำให้เรารู้ว่า ริสกีนั้นเกี่ยวข้องกับเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ตะอาลามากกว่าการเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดริสกีเสียอีก เพราะว่าทุกๆ สิ่งที่อยู่ในสากลจักวาลรวมถึงโลกของเราล้วนเกี่ยวข้องกับเดชานุภาพของอัลลอฮฺทั้งสิ้น
เดชานุภาพของพระองค์นี้คือ ทรงเป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปกครอง ผู้ทรงบริหาร ผู้ทรงจัดระเบียบกฎเกณฑ์ ต่างๆ ของสากลจักวาล
แต่ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ที่จะทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พระองค์ทรงวางไว้ให้ทำหน้าที่สลับกันหรือตรงข้ามกันพระองค์ก็ทรงมีความสามารถเช่นกัน เพราะแท้จริง สากลจักวาลและกฎเกณฑ์ต่างๆของ จักวาลนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากการสร้างของอัลลอฮฺ ตะอาลา และมนุษย์อย่างเราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของพระองค์ได้
ดังตัวอย่างที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประทานมั๊วอฺญิซ๊าต หรือสิ่งมหัศจรรย์ให้แก่บรรดาศาสดา อันเป็นการแสดงเดชานุภาพของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มวลมนุษย์
ขณะที่พวกปฏิเสธศรัทธา โยนนบีอิบรอฮีมเข้าสู่กองไฟที่ลุกโชติช่วง แม้กระทั่งเมื่อนกบินผ่านจะไหม้ไฟตกลงมาเพราะความร้อน แต่ไฟกลับเย็นลง ระหว่างที่นบีอิบรอฮีมอยู่ท่ามกลางกองไฟ เนื่องจากไฟไม่สามารถรักษากฎเกณฑ์ของตัวมันเองได้
ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า
"ไฟเอ๋ย จงเย็นลงและให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด"
(อัลอัมบิยาอฺ 2:69)
อีกตัวอย่างของมั๊วอฺญิซ๊าต ของนบีมูซา อลัยฮิสสลาม ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้ท่านและวงศ์วานอิสรออีล ปลอดภัยจากการไล่ล่าของฟิรเอาว์น และกองกำลังของเขา โดยที่พระองค์ทรงทำให้พื้นน้ำทะเลแยกออกจากกัน เป็นทางเดิน เพื่อให้นบีมูซากับวงศ์วานอิสรออีล เดินข้ามไปได้ เนื่องจากน้ำไม่สามารถรักษากฎเกณฑ์ของตัวมันเองได้คือเป็นของเหลวที่ไม่สามารถแยกตัวออกจากกันหรือตัดขาดออกจากกันได้
ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า
"เราจึงมีบัญชาแก่มูซาว่า จงเอาไม้เท้าฟาดลงไปที่น้ำทะเลเถอะ(ท่านก็ทำ) ทันใดนั้นทะเลได้แยกออกเป็น ช่องถึงสิบสองช่องทาง แต่ละช่องทางมีกำแพงดั่งภูเขาหินมหึมากั้นไว้
แล้วเราได้บันดาลให้ฟาโรห์กับพวกไล่ล่าไปติดๆ เราได้ให้มูซาและผู้ร่วมทางทั้งหมดปลอดภัย(โดยขึ้นฝั่งด้านแหลมซีไนน์)
จากนั้นเราจึงทำให้ฟาโรห์กับพวกที่ไล่ล่าไปถึงกลางทะเล แล้วเราให้น้ำทะเลมาบรรจบกันพวกมันจึงต้องจมน้ำตาย
แท้จริง เรื่องราวดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นบทเรียนแก่คนยุคต่อๆมา แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมเชื่อ"
(อัชชุอะรออฺ 26:63-67)
เมื่อเราอ่านอัลกรุอ่าน และพิจารณาในเรื่องราวที่อยู่ในอัลกรุอ่าน เราจะพบว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นในจักวาลนี้ นอกจากจะต้องเป็นไปตามพระประสงค์หรือ เป็นไปตามเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ตะอาลา ทั้งสิ้น
และขณะที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า
"แท้จริง อัลลอฮฺ จะทรงประทานริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่อาจคำนวณได้"
(อาลาอิมรอน 3:37)
นั่นย่อมเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺอย่างแท้จริงว่า ริสกีย่อมเกี่ยวข้องกับเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ตะอาลา มากกว่าเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดริสกีเสียอีก และย่อมเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ตะอาลา ถ้าทรงประสงค์จะประทานริสกีให้กับใคร โดยที่เขาไม่ต้องทำเหตุปัจจัยอะไรเลยก็ได้
แต่ก็มีผู้ปฏิเสธศรัทธา และผู้ที่ไม่เข้าใจในหลักการอิสลามอย่างถ่องแท้ มักจะกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มุสลิมต้องล้าหลัง ก็เพราะโองการจากอัลกรุอ่านที่ว่า
"แท้จริง อัลลอฮฺ จะทรงประทานริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่อาจคำนวณได้"
ที่เหมือนกับการส่งเสริมให้มุสลิมเกียจคร้านไม่ยอมทำงาน โดยรอพระประสงค์จากริสกีของพระองค์ การกล่าวอ้างเช่นนี้ เป็นการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของอิสลาม เพราะท่านร่อซูล ศ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนและส่งเสริมให้มุสลิมประกอบสัมมาอาชีพจากคำสอนของท่านว่า
"หากคนหนึ่งในหมู่พวกท่านผูกฟืนไว้บนหลังของเขาแล้วเอาไปขาย ย่อมดีกว่าเดินขอมนุษย์ ซึ่งเขาจะให้หรือไม่ให้ก็ได้"
ท่านอุมัร อิบนุ ค๊อฎฎ็อบ คอลีฟะฮฺท่านที่สองของอาณาจักรอิสลาม ได้คอยสอนพี่น้องมุสลิมของท่านว่า
"ท่านทั้งหลาย อย่าได้นั่งรอริสกี แล้วขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ว่า ข้าแด่อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานริสกีให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ท่านทั้งหลายอย่าทำเช่นนั้น แท้จริงอัลลอฮฺ ไม่เคยให้ฝนตกลงมาเป็นเงินเป็นทอง"
แต่ทว่าในความเป็นจริงของโองการนี้ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประสงค์ที่จะให้มนุษย์สบายใจได้ว่า เมื่อคนหนึ่งหมดโอกาสที่จะแสวงหาริสกีหรือเขาต้องประสบกับเหตุการณ์ร้ายที่ไม่สามารถที่จะแสวงหาริสกี หรือมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเขา จนทำให้ต้องสูญสิ้นจากสิ่งต่างๆที่เคยเป็นเจ้าของ อัลลอฮฺ มีพระประสงค์ที่จะให้บ่าวของพระองค์ มีความเชื่อมั่นว่า พระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นผู้ประทานริสกีให้แก่พวกเขาโดยไม่สามารถคำนวณนับได้ แม้ว่าพวกเขาจะหมดหนทางแสวงหาริสกีก็ตาม
แน่นอน อัลลอฮฺ ตะอาลา ไม่ทรงประสงค์ให้มนุษย์ต้องหมดหวังสิ้นหวังจากความเมตตาของพระองค์ โดยที่เราจะไม่กล่าวว่า พวกเราหมดหวังแล้ว สิ้นหวังแล้ว หากแต่พระองค์ทรงต้องการให้เรารำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่จะทรงวางแผนการประทานริสกีให้แก่มนุษย์โดยเฉพาะ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกำหนดให้ผู้ที่มีความสามรถแสวงหาริสกีจนร่ำรวย มีหน้าที่ต้องจ่ายซะกาต และบริจาคทานแก่ผู้สิ้นโอกาส สิ้นหนทางที่จะแสวงหาริสกี
เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะเห็นความเมตตากรุณาจากพระองค์ ที่ทรงกำหนดให้ผู้มีความสามารถทำงานแสวงหาริสกี ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ที่หมดโอกาสทำงานแสวงหาริสกี หรือแก่ผู้ที่มีหนทางทำงานแสวงหาริสกี แต่ไม่พอใช้แก่ตัวเองและครอบครัว
หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย หรืออุทกภัย เราจะเห็นว่ามีผู้ให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งอาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค จากภายในและภายนอกประเทศ โดยไม่สามารถคำนวณนับได้
ข้อแตกต่างระหว่าง ผู้ศรัทธากับผู้ปฏิเสธศรัทธาเมื่อได้รับภัยพิบัตินั้น
♦ ผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา บางคนจะหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย หรือเกิดอาการคุ้มคลั่ง เพราะผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่ศรัทธาว่า อัลลอฮฺ คือ พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
♦ ส่วนผู้ศรัทธานั้น ศรัทธาว่าอัลลอฮฺ คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง เขาจึงยกมือขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระองค์
อัลลอฮฺ คือ ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงเห็น ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงอยู่เหนือเหตุปัจจัย และผู้ทรงตอบรับคำวิงวอน และการวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา จะทำให้หัวใจที่คับแค้น ได้ผ่อนเบาและผ่อนคลายลงได้บ้าง
ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า
"ผู้ใดหรือ จะตอบรับผู้ร้องทุกข์ เมื่อเขาวิงวอนต่อพระองค์ และทรงปลดเปลื้องความชั่วร้าย และทรงทำให้เจ้า เป็นผู้ปกครองแผ่นดิน"
(อัลนัมล 27:62)
แน่นอน อัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นผู้ทรงประทานริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่สามารถคิดคำนวณได้ หากเราพิจารณาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในโลกนี้จะพบว่า บางประเทศมีทรัพยากรมากมาย เช่น แร่ธาตุต่างๆ แก็ส และน้ำมันดิบ แต่ไม่มีโอกาสจะทำการสำรวจขุดเจาะ นำออกมาใช้เพื่อเป็นริสกีแก่คนในชาติได้
และบางประเทศครอบครองผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาการเกษตรให้เจริญก้าวหน้า เพื่อเป็นริสกีแก่คนในประเทศได้ เพราะริสกีไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของอัลลอฮฺโดยตรง
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวถึทรัพยากรธรรมชาติของพระองค์ไว้ในอัลกรุอ่านเมื่อหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว
"ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ในระหว่างทั้งสอง และสิ่งที่อยู่ใต้ดิน"
(ฎอฮา 20:6)
เมื่อพิจารณาจากโองการอัลกรุอ่านนี้ จะพบว่าขณะที่โองการนี้ถูกประทานลงมานั้น ไม่มีผู้ใดรู้ และยืนยันว่า จะมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีค่าจำนวนมากมายมหาศาลอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน จนกระทั่งวิทยาการสมัยใหม่ได้เจริญก้าวหน้า ทำให้สามารถรู้ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อัลลอฮฺ ประทานไว้ใต้แผ่นดิน และเราไม่สามารถนับคำนวณริสกีจากแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ ของอัลลอฮฺได้
และอัลลอฮฺ ยังทรงกำหนดขอบเขตที่อยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ และนี้คือการยืนยันความหมายของโองการอัลกรุอ่านที่ว่า
"แท้จริง อัลลอฮฺจะทรงประทาน ริสกีแก่ผู้ที่พระองค์ประสงค์โดยไม่อาจคำนวณได้เลย"