มุฎอรอบะห์
  จำนวนคนเข้าชม  251

มุ ฎ อ ร อ บ ะ ห์

 

เรียบเรียง....อ.อิสหาก พงษ์มณี

 

           มุฎอรอบะห์ คือ การเป็นหุ่นส่วนกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นทุนและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นแรงงาน โดยตกลงแบ่งกำไรหากมี เป็นสัดส่วน เช่น คนละครึ่ง ยี่สิบแปดสิบ สามสิบเจ็ดสิบ อย่างนี้เป็นต้น หากขาดทุนผู้ออกเงินก็ขาดทุนเงิน ส่วนผู้ออกแรกก็ขาดทุนแรงงานและเวลาที่เสียไป นี่คือการอธิบายโดยย่อที่สุดของธุรกรรม “มุฎอรอบะห์”

 

การกำหนดกำไรในธุรกรรม “มุฎอรอบะห์”

 

     1- กำหนดสัดส่วนขณะตกลงทำสัญญากันว่าฝ่ายใดจะได้เท่าใดหรือกำหนดว่าฝ่ายหนึ่งจะได้เท่าใดก็ได้เพระที่เหลือจะเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น 50-50/20-80/40-60/30-70 เป็นต้น1

 

     2- หากระบุกำไรเป็นตัวเลขแน่นอนแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระหว่างทำข้อตกลงโดยธุรกรรมยังมิได้เกิดขึ้น ธุรกรรม “มุฏอรอบะห์” นั้นโมฆะ โดยเอก ฉันท์ของประชาชาติอิสลาม (อิจมาอ์)2 กำไรที่ถูกระบุล่วงหน้าเป็นตัวเลขแน่นอน คือดอกเบี้ยตามคำฟัตวาของมัจมะอ์ฟิกห์โลก

 

     3- หากผู้ประกอบการให้ของกำนัลแก่ผู้ออกทุน ให้ผู้ออกทุนต้องปฏิเสธของกำนัลนั้น หรือตัดออกจากรอบกำไร หากไม่มีกำไรก็ให้ตัดออกจากทุนที่ลงไป หาไม่แล้วก็มีสภาพไม่ต่างจากผู้กู้ให้ประโยชน์แก่ผู้ให้กู้ ชัยคุลอิสามอิบนุตัยมียะห์กล่าวว่า 

 

أَنْ يَهْدِيَ الْعَامِلُ فِي الْمُضَارَبَةِ إلَى الْمَالِكِ شَيْئًا أَوْ يَهْدِيَ الْفَلَّاحُ غَنَمًا أَوْ دَجَاجًا أَوْ غَيْرَ ذَلِكَ: فَهَذَا بِمَنْزِلَةِ إهْدَاءِ الْمُقْتَرِضِ مِنْ الْمُقْرِضِ يُخَيَّرُ الْمَالِكُ فِيهَا بَيْنَ الرَّدِّ وَبَيْنَ الْقَبُولِ وَالْمُكَافَأَةِ عَلَيْهَا بِالْمَثَلِ وَبَيْنَ أَنْ يَحْسِبَهَا لَهُ مِنْ نَصِيبِهِ مِنْ الرِّبْحِ إذَا تَقَاسَمَا كَمَا يَحْسِبُهُ مِنْ أَصْلِ الْقَرْضِ 3

 

     4- ผลกำไรนั้นเป็นของทั้งสองฝ่าย แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่รับส่วนแบ่งในผลกำไร ญุมฮูรอุละมาอ์(ปวงปราชญ์ส่วนใหญ่) เห็นว่าธุรกรรมนั้นไม่เรียกมุฏอรอบะห์ แต่จะแปรสภาพเป็นธุรกรรมอื่นแทน เพียงแต่มัซฮับมาลิกีเห็นว่าอนุโลมให้เรียกมุฏอรอบะห์ได้ เพียงแต่อีกฝ่ายหนึ่งสงวนสิทธิไม่รับประโยชน์และยินยอมยกประโยชน์นั้นให้อีกฝ่ายหนึ่งด้วยความพอใจ

 

     5- สัดส่วนของกำไรที่แบ่งนั้น คิดจากฐานของกำไรสุทธิ มิใช่คิดจากฐานของทุน หากคิดจากฐานของทุนเพียงลำพัง สัดส่วนนั้นคือดอกเบี้ย

 

     6- ผลกำไรเป็นของสองฝ่ายเท่านั้น ฝ่ายที่สามซึ่งมิใช่ผู้ออกทุนหรือผู้ดำเนินการไม่มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งผลกำไร หากมีการแบ่งปันให้ฝ่ายที่สามปวงปราชญ์ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ชาฟิอีและฮัมบาลีตัดสินว่าธุรกรรมนั้นโมฆะ ฮะนะฟีชี้ว่าเงื่อนไขโมฆะแต่ธุรกรรมยังคงอยู่ มาลิกีอธิบายว่าหากทั้งสองฝ่ายยินยอมด้วยความพอใจ มุฏอรอบะห์นั้นไม่โมฆะ 4

 

     7- กำไรจะแบ่งได้ต่อเมื่อทุนอยู่ครบ ในมัซฮับมาลิกและฮะนะฟี ห้ามแบ่งกำไรจนกว่าจะปิดบัญชีเมื่อสิ้นสุดการมุฏอรอบะห์ ส่วนชาฟิอีย์และอะห์หมัดให้แบ่งได้หากทุนอยู่ครบและเห็นกำไร แม้จะการมุฏอรอบะห์ดำเนินอยู่ แต่หากปิดบัญชีแล้วปรากฏว่าขาดทุน กำไรที่รับไปต้องคืนมาเป็นทุน 5

 

 

เนื้อหาธุรกรรม มุฏอระบะห์

 

     1- ทำการค้าเท่านั้นสำหรับมัซอับชาฟิอีย์ ธุรกรรมใดๆ ก็ได้ที่ไม่ผิดหลักการศาสนาและสร้างผลกำไรได้ ปวงปราชญ์ส่วนใหญ่

 

     2- ไม่กระทำเกินขอบเขตของการค้า การลงทุน และแสวงกำไร ตามวิสัยสามัญของการค้า การลงทุน และการแสวงกำไร

 

     3- ไม่ก่อหนี้โดยพละการ

 

 

ปัญหาเงินทุนในธุรกรรมมุฏอระบะห์

 

     • ไม่ประกันเงินทุนในธุรกรรมมุฏอรอบะห์ เพราะแตกต่างจากการเป็นหนี้สิน ซึ่งต้องรับผิดชอบทุกรณี

 

     • การประกาศว่าภายในสามปีหรือห้าปี สามารถเรียกเงินทุนคืนได้ครบจำนวน จึงเป็นความผิดหรือหลอกผู้ลงทุน และหากประกันเงินทุนเมื่อใด เมื่อนั้นไม่เรียกว่า มุฏอรอบะห์ แต่จะแปรสภาพเป็นการกู้หนี้ยืมสิน

 

 

ปัญหารูปแบบของมุฏอรอบะห์

 

     1- มุฏอรอบะห์แบบไม่ซับซ้อน เช่น ผู้ลงทุนมีเพียงคนเดียว และการลงทุนอยู่ในรูปแบบเดียว เมื่อมีกำไรก็แบ่งกันตามสัดส่วนที่ได้ตกลงไว้ รูปแบบนี้มักไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติมักไม่นิยมนำมาใช้

 

     2- มุฏอรอบะห์ที่ซับซ้อน เช่น มีผู้ลงทุนหลายคนแต่ละคนมีระยะเวลาของการลงทุนแตกต่างกัน อีกทั้งการลงทุนมีหลายโครงการ แต่ละโครงการมีระยะเวลาเริ่มต้นและยุติที่แตกต่างกัน รวมถึงบางโครงการอาจขาดทุน เท่าทุน หรือมีกำไร และกำไรในแต่ละโครงการอาจไม่เท่ากัน

 

     ใครก็แล้วแต่ที่ใช้คำว่า “มุฎอรอบะห์” กรุณตอบคำถามด้านล่างนี้ให้กระจ่าง จะเป็นบุคคล องค์กร สถาบัน หรือสถาบันการเงิน

 

ปัญหากรณีมีผู้ลงทุนหลายคน

• ระยะเวลาเท่ากัน แต่ทุนต่างกัน

• ระยะเวลาต่างกัน แต่ทุนเท่ากัน

• ระยะเวลาต่างกัน ทุนก็ต่างกัน

 

 

ปัญหาโครงการต่างกัน (โครงการการลงทุน)

• ระยะเวลาเริ่มโครงการและปิดโครงการ

• กรอบทุนของแต่ละโครงการ

• ผลประกอบการ ขาดทุน เท่าทุน กำไร กำไรมากกำไรน้อย

 

 

ปัญหาเรื่องเงินลงทุนที่รับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

     • เงินที่นำไปลงทุนแล้ว ในแต่ละภาคส่วนของการลงทุน เป็นของนักลงทุนคนใดบ้าง และของใครอยู่ในส่วนการลงทุนไหน

     • เงินที่ยังมิได้นำไปลงทุน โดยเก็บสะสมไว้ ณ ที่ทำการ หรือฝากธนาคารไว้ เป็นของนักลงทุนคนไหนบ้าง และมีจำนวนเท่าใด เมื่อครบรอบการคิดบัญชี เงินทุนเหล่านี้ ถูกประเมินกำไรด้วยหรือไม่

     • เงินที่นำไปซื้ออสังหาริมาทรัพย์ เช่น อาคาร ที่ดิน และเครื่องใช้ ที่ยังไม่เกิดกำไรใดๆ เป็นเงินของนักลงทุนคนไหน นักลงทุนเหล่านั้นได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนของใครเมื่อครบรอบบัญชี

     • การจ่ายซะกาตแทนผู้ลงทุน โดยมิได้รับมอบหมาย ซะกาตเป็นอิบาดะห์ของแต่ละคน จะทำการแทนได้ต่อเมื่อมอบหมาย ซะกาตต้องครบจำนวนและเวลาที่กำหนด

 

 

(المدونة الكبرى (ج4 ص49) ) ↩︎

بدائع الصنائع (ج6 ص86) المبسوط (ج12 ص19) المجموع (ج14 ص366) المغني (ج5 ص148) ↩︎

(مجموع الفتاوى 30/106) ↩︎

بدائع الصنائع (ج6 ص81) المغني (ج5 ص146) المدونة الكبرى (ج4 ص49) ↩︎

المغني (ج5 ص169) المبسوط (ج22 ص105) مغني المحتاج (ج2 ص318) ↩︎