ศาสนาอิสลามสอนอะไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  158

ศาสนาอิสลามสอนอะไร ?

 

คุณหญิง สมร ภูมิณรงค์....เรียบเรียง

 

          อิสลามเป็นนามของศาสนาหนึ่ง ซึ่งนับถืออัลเลาะห์เป็นพระเจ้า และมีนบีมุฮำมัดเป็นผู้เผยแพร่หลักการศาสนา เป็นศาสดาองค์สุดท้าย การเผยแพร่เป็นไปตามโองการของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งประทานลงมาตามเหตุการณ์ของโลกและโองการต่างๆ นั้นได้รวบรวมเขียนไว้เป็นคัมภีร์ในโอกาสต่อมา ซึ่งเราเรียกว่าพระคัมภีร์อัลกุรอาน

 

         ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งจิตใจ ศาสนาแห่งความรู้สึกนึกคิด ศาสนาแห่งการปฏิบัติ ศาสนาอิสลามไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องหมายแทนหรือรูปสักการะ แต่เราปฏิบัติศาสนกิจด้วยการระลึกถึงพระเจ้า ด้วยจิตใจจริงๆ 

         ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเราเรียกว่า มุสลิม หรือ อิสลามิกชน มุสลิมจะต้องปฏิบัติศาสนกิจเท่าๆ กันทั้งชายและหญิง ด้วยหลัก ๕ ประการ  คือ

 

๑. การกล่าวปฏิญาณตน 

 

     หมายถึง ผู้ที่จะยอมรับนับถือศาสนาอิสลามนั้นต้องปฏิญาณตน และเชื่อถือโดยเด็ดขาดว่ามีพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลก สรรพสิ่งในโลก คือ อัลเลาะห์องค์เดียว คำปฏิญาณนั้นมีความหมายว่า 

     “ข้าพเจ้า ขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่เคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ นอกจากอัลเลาะห์องค์เดียว และขอปฏิญาณว่านบีมุฮำมัดเป็นทูตของพระองค์อัลเลาะห์”

     จะเห็นได้ว่าหลักข้อแรกของการปฏิบัตินั้นอยู่ที่จิตใจ เพราะการกล่าวจะเป็นผลได้ ต้องด้วยมีจิตใจมุ่งตรงตามความหมายดังกล่าว  และเป็นการกล่าวที่วาจาและใจต้องตรงกัน 

     เพียงกล่าว ๒ ประโยคนี้พร้อมกับจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นอย่างแท้จริง ก็นับว่าเราได้ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยสมบูรณ์ 

     และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้วก็จะต้องกล่าวสองประโยคนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาละหมาด ๕ เวลา เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงพระเจ้าและศาสนทูต และขอบคุณอยู่เสมอที่เราได้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แม้ใครจะได้ยินคำกล่าวหรือไม่ก็ตาม และหากกล่าวบ่อยๆ ก็จะเป็นผลบุญ กุศล

 

 

๒. การนมัสการ(ละหมาด) ๕ เวลา 

 

     การทำละหมาดนี้ไม่ต้องใช้เวลามากนัก เพียง ๑๐ นาที ก็จะเป็นการเพียงพอ การทำละหมาด คือ การสำรวมจิตใจระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า นับว่าเป็นการฝึกจิต และเพิ่มพูนความสามารถในการตั้งสมาธิด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ เป็นการผ่อนความนึกคิดที่ฟุ้งซ่าน และผ่อนความตึงเครียดในการประกอบการงานได้เป็นอย่างดี

      การละหมาด ๕ เวลานั้น คือ เช้า บ่าย เย็น ค่ำ และกลางคืน การละหมาดในเวลาบ่ายหรือเย็น ก็ไม่ทำให้เสียเวลาการประกอบการงาน เพราะตรงกับเวลาพักผ่อนของเราพอดี คือประมาณเที่ยงครึ่ง สี่โมงครึ่ง ห้าโมงครึ่ง ถ้าผู้ใดปลีกเวลาทำได้ก็เป็นการดีเสียกว่าจะพักผ่อนเฉยๆ เพราะจะช่วยเพิ่มพูนกำลังทางจิตใจ สงบอารมณ์ หลังจากนั้นก็จะเกิดความสดชื่น เริ่มต้นกิจการใหม่ด้วยดี เกิดผลดีทางการงาน 

     การประกอบพิธีละหมาดทำได้ทุกที่ แม้มิใช่มัสยิด แต่ขอให้มีความสะอาดเท่านั้น ฉะนั้นถ้าสถานที่ทำงานจะได้จัดห้องเล็กๆ ไว้ ก็จะทำกันได้โดยสะดวก เพราะทำทีละกี่คนก็ได้ ทำเป็นหมู่ก็ได้ โดยผินหน้าไปทางกะอ์บะอ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของมุสลิม 

     ผู้ที่จะประกอบบัญญัติข้อนี้ ต้องเป็นผู้มีความสะอาดในเครื่องแต่งกายร่างกายต่อจากนั้นก็ต้องทำความสะอาดทางใจ คือการสำรวม

     มนุษย์เราโดยปกติวิสัย ถ้าได้ทำการตบแต่งร่างกายอยู่เสมอ ก็จะแลดูสะอาดสะอ้าน ฉันใดก็ดี การที่มุสลิมต้องมีภารกิจในการที่ต้องกระทำละหมาด วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ๕ เวลา ก็ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราได้ชำระร่างกายของเรา ๕ ครั้ง 

     เพราะก่อนจะทำการละหมาด เราต้องชำระมลทินในตัวของเราก่อน อาทิ ล้างฝ่ามือ ล้างหน้า ล้างมือถึงข้อศอก เช็ดศีรษะ และล้างเท้าถึงตาตุ่ม ความสะอาดก็จะมีขึ้นแก่ตัวเรา ใบหน้าของเราก็จะนวลผ่องอยู่ตลอดเวลา ถูกต้องตามสุขอนามัย

     หลักข้อนี้จึงก่อให้เกิดพลังทางจิต เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากอคติ และเยือกเย็น

 

 

๓. การบริจาคทรัพย์ตามศาสนบัญญัติ 

 

     คือการจัดให้มีระบบการสังคมสงเคราะห์ประการหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีการกินอยู่ดี ด้วยการบริจาคเงินทอง สิ่งเพาะปลูกสินค้า ผลไม้ (อินผลัม องุ่น) ปศุสัตว์ ที่มีอยู่ในครอบครอง เมื่อครบ ๑ ปี ด้วยอัตราที่คิดไว้ตามหลักการทางศาสนา คือร้อยละ ๒.๕ ต่อปี แก่บุคคล ๘ ประเภท คือ

๓.๑ คนอนาถา เด็กกำพร้า

๓.๒ คนขัดสน

๓.๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับ

๓.๔ ผู้เลื่อมใสเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในระยะแรกๆ

๓.๕ ไถ่ทาส

๓.๖ ผู้เป็นหนี้มาเพื่อการกุศล

๓.๗ คนเดินทางที่ขาดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

๓.๘ นักรบ

     การปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ก็คือหลักการสังคมสงเคราะห์ปัจจุบัน คือให้ผู้มีฐานะดีได้มีโอกาสในการอุปถัมภ์ค้ำชูผู้มีฐานะต่ำกว่า หรือใช้ทรัพย์ที่จำเป็นที่ตนจะต้องบริจาคไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม 

     ผู้ใดประกอบตามศาสนบัญญัติข้อนี้ก็จะเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ผู้ที่บริจาคตามหลักการที่ศาสนาบัญญัติไว้ และเลือกบริจาคกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าวนั้นตามที่เห็นสมควร 

     ผู้ใดที่เป็นผู้ที่จะต้องบริจาคก็รู้อยู่กับตนเอง เพราะทุกคนรู้ว่าตนเองนั้นมีทรัพย์สินเท่าใด ควรจะบริจาคเท่าใด และถ้าหากจะไม่บริจาคก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะเป็นบทบัญญัติทางศาสนา ไม่มีการลงโทษในโลกนี้ แต่เมื่อเขาเดินทางไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าในโลกหน้า เขาก็จะต้องถูกชำระบาปในการปกปิดของเขา 

     และในการบริจาคศาสนาก็ไม่ให้ทำแบบโอ้อวด ในความมั่งมีด้วย การบริจาคข้อนี้ผิดกับการบริจาคทาน เพราะการบริจาคทานไม่มีข้อกำหนด แล้วแต่ศรัทธาและทำได้ทุกโอกาส

 

 

๔. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน 

 

     คือ การละเว้นจากการกิน การดื่ม นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก ในเดือนที่ ๙ ของศักราชอิสลามเป็นเวลาหนึ่งเดือน การถือศีลอดก็มิใช่อดอาหาร อดน้ำเท่านั้น ยังต้องถึงพร้อมด้วยการอดกลั้นต่อกิเลสและความอ่อนแอทั้งหลายอีกด้วย 

     การถือศีลอดที่ทำกันมาก็เนื่องจากความเชื่อมั่น และศรัทธาในเอกองค์อัลเลาะห์ ซึ่งก่อให้เกิดพลังในดวงจิตที่จะต่อสู้กิเลสทั้งหลายและสามารถประกอบกิจการงานได้อย่างปกติสุขเช่นในเดือนอื่น 

     ในระหว่างการถือศีลอดจะต้องเว้นจากการพูดหยาบคาย ชั่วช้าลามกและอื่นๆ พยายามทำความดีมากเป็นพิเศษเหนือเดือนอื่น แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ถือศีลอดและยากจน หมั่นประกอบศาสนกิจ บัญญัติข้อนี้เป็นบัญญัติที่มุสลิมทั้งชายและหญิงจะต้องถือปฏิบัติ เว้นแต่ผู้เดินทางไกล ผู้ป่วยที่แพทย์ห้าม หญิงมีครรภ์ หญิงแม่นม หญิงที่มีประจำเดือน ผู้ชราภาพ แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องชดใช้ในเวลาอื่นตามความสามารถของผู้ที่ขาดการถือศีลอดไว้

     โดยธรรมข้อนี้หากผู้ใดปฏิบัติก็จักเป็นผู้รักสงบ มีขันติธรรม มีความเมตตากรุณา มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในความยากลำบากทั้งหลาย รักระเบียบวินัย ปฏิบัติตามแบบแผนของกฎหมายบ้านเมือง มั่นคงในศีลธรรม ซึ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่จะช่วยกันพัฒนาจิตใจมนุษย์ให้สูงส่ง

     การถือศีลอดบางทีก็ดูเหมือนว่าเป็นวิธีการทางศาสนาที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ที่จริงแล้วความยากลำบากนี้หาเป็นการบั่นทอนชีวิตหรือสิ่งประกอบอย่างไรไม่ หากเป็นการลดความสุข ความฟุ้งซ่านอันเกิดขึ้นเพราะจิตใจของเรา เอาแต่ใฝ่หาความฟุ่มเฟือยอย่างไม่รู้จักหยุดรู้จักหย่อน 

     ในด้านสุขภาพก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องบั่นทอน เพราะในระยะหนึ่งเดือนนั้นเรารับประทานเป็นเวลา หยุดเป็นเวลา เป็นการพักผ่อนไปในตัว ไม่ทำให้เกิดท้องเสียหรือมีโรคอื่นแทรกประการใด และสามารถลดความสมบูรณ์เกินไปลงได้ด้วย

     การถือศีลอดต้องปฏิบัติทุกคน ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับคนรวย คนจน ผู้หญิง ผู้ชาย พระศาสดา หรือกษัตริย์ ก็ต้องถือปฏิบัติทุกคน

 

 

๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ 

 

     บัญญัติข้อนี้สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ ความสามารถในที่นี้หมายถึงมีทรัพย์พอที่จะเดินทางไปและกลับ มีพอจะเลี้ยงครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง มีความปลอดภัยในการเดินทาง มีสติสัมปชัญญะ มีร่างกายแข็งแรง 

     พิธีฮัจญ์จะต้องประกอบ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียว จะจำลองสถานที่นี้มาไว้ที่ใดเพื่อประกอบศาสนกิจข้อนี้ไม่ได้ 

     การประกอบพิธีฮัจญ์มีหลักการใหญ่ คือ การเวียนรอบบัยตุลเลาะห์ อันเป็นมัสยิดหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับมนุษยชาติ เป็นทิศทางที่พี่น้องมุสลิมใช้ผินหน้าไปเมื่อทำการละหมาด 

     เป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจของประชากรมุสลิมทั่วทุกมุมโลก โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างในศักดิ์ตระกูล ความมั่งคั่งในสารสมบัติ ความยากจน ผิวพรรณ และชาติชั้นอย่างใด แต่คำนึงในศักดิ์ศรีแห่งมนุษยชาติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ด้วยพลังและค่าใช้จ่ายของตนเองตามใจสมัคร ด้วยเครื่องแต่งกายอย่างเดียวกันทั้งหมดไปรวมในสถานที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ด้วยจิตสมาธิมุ่งตรงต่อเอกภาพของอัลเลาะห์เจ้า เปรียบเสมือนองค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน และเพื่อทำความรู้จักกับนานาชาติ

     ผู้ปฏิบัติศาสนกิจในข้อนี้ จะได้หลักสามัคคีธรรมเป็นประการแรก เพราะการอยู่รวมกันของบุคคลหลายประเภทนี้ จะอยู่รวมกันได้ก็เพราะการสร้างความเข้าใจดีต่อกัน สร้างความเห็นอกเห็นใจต่อกัน อันนำมาซึ่งความเป็นเอกภาพของมวลมุสลิม 

     นอกจากนี้ยังเป็นการให้ทุกคนได้สำนึกว่าความเท่าเทียมกัน เพราะในขณะประกอบศาสนกิจนั้น เราต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่งกายเหมือนกัน ไม่มีการเหลื่อมล้ำต่ำสูง ผู้ที่เคยอยู่ในเคหาสน์ใหญ่โตก็ต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ที่อยู่ในบ้านเล็กๆ ผู้ที่เคยใช้เครื่องแต่งกายที่โอ่อ่า ก็ลดมาใช้เครื่องแต่งกายเหมือนกับผู้ที่เคยใช้ผ้านุ่งผืนห่มผืน กินอยู่หลับนอนในทะเลทราย ไม่มีฟูกรองรับเป็นระยะเวลาของการสำนึกตัว รู้จักความยากลำบาก และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น มีความอดทนในสภาพการต่างๆ รู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักการเดินทาง เป็นต้น

     บัญญัติข้อนี้เป็นบัญญัติที่บังคับสำหรับผู้มีฐานะ ความสามารถที่จะเดินทางไปได้เท่านั้น ให้มุสลิมพึงมีโอกาสได้ปฏิบัติในชั่วชีวิตหนึ่งเพียงครั้งหนึ่งเท่านั้นสำหรับส่วนตัว ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวนั้น ก็ไม่เป็นการบังคับที่จะถือปฏิบัติ เพียงแต่ให้มีใจยึดมั่นในหลักธรรมก็เพียงพอแล้ว

 

 

          บทบัญญัติ ๕ ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ มุสลิมถือปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด ก็เพราะความเกรงกลัว รักและนับถือในพระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดเกรงกลัวเขาก็จะกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และงดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม เพราะพระผู้เป็นเจ้านั้นที่จะบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นมา ให้เราตาย ให้เราเกิด ให้เราเป็นสุข ให้เราทุกข์ ให้เรารวย ให้เราจน ให้มีความลำบาก ให้มีความสบาย และเราทุกคนก็คือผู้รับ โดยเหตุนี้เราต้องเกรงกลัวด้วยการปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม 

 

          อีกประการหนึ่งมุสลิมมีความเชื่อถือว่าทุกชีวิตจะต้องตาย และจะต้องไปอยู่ในแดนสุขคติ (สวรรค์) หรือแดนทุคติ (นรก) ด้วยการกระทำของตนเป็นเครื่องชี้ทางไป หากทำสิ่งที่ดี ประพฤติดีก็จะไปอยู่ในแดนที่มีความสุข(สวนสวรรค์) หากเราประพฤติชั่ว เราก็จะได้ไปอยู่ในแดนที่มีแต่การทรมาน(นรก)

 

          จากความเกรงกลัวและความศรัทธาว่า ทุกชีวิตจะต้องได้รับผลตอบแทนในการกระทำความดีนี้ ทำให้มุสลิมทำความดีในทุกๆ เวลา  ทำให้มุสลิมทำแต่ความดีทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แม้ว่ามนุษย์จะมองไม่เห็น แต่จะเชื่อมั่นว่าจะมีเทวทูต(มลาอิกะฮ์)เป็นผู้คอยจดความดีและความชั่วของเราไว้ เพื่อชำระบาปบุญของเราในภพหน้า

 

          นบีมุฮำมัด มุสลิมถือว่าเป็นศาสดาองค์สุดท้ายในศาสนาอิสลาม แต่เป็นผู้ที่ได้รับโองการพิเศษจากพระองค์อัลเลาะห์เจ้าเพื่อนำไปสั่งสอนมนุษย์ พระองค์ได้ประทานหลักศาสนบัญญัติลงมาอย่างครบถ้วนแก่ศาสดานี้ ฉะนั้นท่านนบีมุฮำมัดจึงเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านก็ต้องมีอะไรพิเศษในตัว นับตั้งแต่อุปนิสัย บุคลิกลักษณะและอื่นๆ ซึ่งบุคคลรุ่นหลังจะได้ถือเป็นตัวอย่างและเจริญรอยตาม 

 

         พระวจนะของท่านตอนหนึ่งสอนให้มนุษย์เป็นผู้มีมารยาทดี อันเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนควรจะได้ปลูกฝัง พระวจนะของท่านตอนนั้นมีความว่า

“ศรัทธาชนที่มีความศรัทธาอันสมบูรณ์นั้น คือผู้ที่มีมารยาทดียิ่งในหมู่เขา”

 

          อุปนิสัยของท่านนบี มีอะไรบ้างที่ควรจดจำ และขอยกมาเป็นบางข้อเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และอบรมสั่งสอนกุลบุตรธิดาของท่านคือ

๑. มีความละอายแก่ตนเอง ที่จะละเมิดข้อห้ามของพระเจ้า

๒. ให้ความสงเคราะห์แก่ผู้ที่มาขอ หรือคนยากจน

๓. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ขัดสน

๔. เมื่อพบปะเพื่อนฝูงให้การทักทายก่อน

๕. ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี

๖. ไม่ถือตัว ไม่ยกตนข่มท่าน

 

          แนวทางปฏิบัติ ๖ ประการที่กล่าวมา ล้วนแต่เป็นอาภรณ์อันหาที่เปรียบมิได้ แม้ผู้ใดจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณและเครื่องประดับที่สูงด้วยค่า แต่ถ้าหากขาดอาภรณ์ ๖ ประการ ก็หาเป็นบุคคลที่ควรแก่ การยกย่องไม่

 

          ศาสนาอิสลาม สอนให้คนยึดมั่นในศาสนาและละเว้นจากการทำลายตนเอง การฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่าย การทำตนให้เป็นที่อัปยศอดสู และการเอาของผู้อื่นมาเป็นของตนนั่นคือสอนคนให้ห่างเหจากกิเลสและอบายมุขต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องบั่นทอนอนาคต นอกจากสอนให้ละเว้นแล้วยังได้วางบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำดังกล่าวในวันปรภพ(วันกิยามะฮ์)อีกด้วย

 

          คุณธรรมที่ควรปลูกฝังในตัวเอง ศาสนาอิสลามก็สอนให้รู้จักการขอบคุณผู้ที่มีพระคุณ ให้มีความอดทนในการทำความดี อดทนในการละเว้นความชั่ว ปลูกความรัก ความบริสุทธิ์ใจ ให้พอเพียงในสิ่งที่ตนมีอยู่ และให้ทำตนเป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น 

          และตรงกันข้ามก็ให้หลีกห่างจากการพูดเท็จ การผิดสัญญา การสงสัยคนอื่นในทางชั่ว การคิดว่าตนเองวิเศษกว่าคนอื่น การโอ้อวด การบันดาลโทสะ การตระหนี่ถี่เหนียว การอิจฉาริษยา การกล่าวร้ายป้ายสี การยุแหย่ การนินทา และการทุจริต การสาบานเท็จ

 

          คุณธรรมจะเพิ่มพูนและอธรรมจะค่อยๆ หายไป ถ้าเราได้ถือปฏิบัติในบทบัญญัติอย่างจริงจัง เพราะคนเราถ้ามีการสำรวมจิตใจได้ ก็จะก่อให้เกิดคุณธรรมทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่าหลักศาสนบัญญัติข้อใหญ่ๆ ๕ ประการนั้น เป็นที่มาแห่งคุณธรรมทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดแห่งการสังคมสงเคราะห์ เป็นบ่อเกิดแห่งการอยู่ร่วมกันด้วยความสุขทั้งสิ้น 

 

          นอกจากจะได้รับบุญกุศลตามที่พระองค์อัลเลาะห์เจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว อัลกุรอาน เป็นนามคัมภีร์สูงสุดของศาสนาอิสลามเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำตรัสของพระผู้เป็นเจ้า ที่ได้ประทานแก่ท่านนบีมุฮำมัดทีละเล็กละน้อย ตามเหตุการณ์ในสมัยนั้นนจนครบถ้วน ในระยะเวลา ๒๒ ปี กับ ๓ เดือน รวมทั้งสิ้น ๖,๖๖๖ วรรค(อายะฮ์) มี ๑๑๔ บท(ซูเราะฮ์) แบ่งเป็น ๓๐ ส่วน(ญุซ) 

 

          ข้อความและสำนวนโวหารของพระคัมภีร์ อัลกุรอานเป็นภาษาที่สูงสุด ซึ่งกวีอาหรับชั้นสูงไม่สามารถที่จะประพันธ์เทียบเคียงได้ 

          ข้อความในพระคัมภีร์ อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบัญญัติเกี่ยวกับคุณของการกระทำดี การกระทำชั่ว การบังคับและอนุญาตให้ปฏิบัติ การห้ามมิให้ปฏิบัติ การเปรียบเทียบ พงศาวดาร การอนุญาต และห้ามในเรื่องการอุปโภคบริโภค การวิงวอน และมีบางวรรคที่ไม่เหมาะสมก็ยกเลิก เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในสมัยนั้น พร้อมกันนั้นก็มีบางวรรคที่นำมาแทนวรรคที่ยกเลิก พระคัมภีร์อัลกุรอานจึงเป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่มีการแก้ไขหรือสังคายนาโดยมนุษย์ และไม่มีข้อความที่ขัดแย้งกัน

 

          ความสำคัญของพระคัมภีร์อัลกุรอานก็คือ เป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไป ประกอบด้วยภาคปฏิบัติ ความแพ่ง ครอบครัว มรดก และความอาญา นอกจากนั้นก็ยังมีวิทยาการต่างๆ อีกมากมาย ข้อความในพระคัมภีร์นี้รวบรวมไว้ด้วยข้อความของคัมภีร์ต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าเคยประทานแก่ศาสดาองค์ก่อนๆ และยิ่งกว่านั้น สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในพิภพทั้งอดีตและอนาคต ปรากฏอยู่ในใจความของพระคัมภีร์อัลกุรอานทั้งสิ้น

 

          การที่ท่านนบีมุฮำมัดได้รับพระคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นเวลาที่ยาวนานถึงเกือบยี่สิบสามปี ตามเหตุการณ์ของโลกในสมัยนั้น ระยะเวลานานถึงยี่สิบสามปี ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้ที่มีความคิดรอบคอบ มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ข้อห้ามที่ลงมาแต่ละครั้งก็เป็นการห้ามปรามทีละอย่าง ให้ทำทีละอย่าง 

          เมื่อประทานแก่ท่านนบีมุฮำมัดในขณะที่พำนักอยู่ในนครมักกะห์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า ประวัติศาสตร์ ความสงบสุข 

          แต่เมื่อประทานลงมาขณะที่ท่านนบีมุฮำมัดพำนักอยู่ในนครมะดีนะห์ ลงบัญญัติทางศาสนา บาปบุญคุณโทษ 

          ประชาชนจึงสามารถปรับตัวเองให้ทันเหตุการณ์เปรียบเสมือหนึ่งว่าเราสอนหนังสือเด็ก ถ้าเราสอนเหตุที่มาก่อน เด็กจะมีความเข้าใจ และต่อมาถ้าสอนว่า คุณและโทษมีอย่างไร เด็กก็จะรู้จักเข้าใกล้ และออกห่างสิ่งเหล่านั้นเอง โดยเด็กไม่กลัวอย่างไม่มีเหตุผล จึงนับได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาอย่างสุขุมที่สุด ความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นอย่างสนิทที่สุด

 

          พระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมา ท่านนบีมุฮำหมัดไม่ได้เขียนขึ้นเอง หรือเป็นคำสั่งสอนที่ท่านนบีมุฮำมัดคิดขึ้นมาเอง เพราะท่านนบีไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ท่านนบีมุฮำมัดรับพระโองการด้วยการท่องจำ แต่พระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่ประกอบด้วยภาษาสูง ความละเอียดแห่งถ้อยคำ สำนวนและอรรถรสนั้นไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์จะสามารถประพันธ์ขึ้นมาเองได้ 

          และยิ่งได้ศึกษาพระโองการต่างๆ ที่ปรากฏอยู่โดยละเอียดและโดยที่ผู้ศึกษามีจิตใจเป็นธรรม นอบน้อมต่อสัจธรรมและความเป็นจริงแล้ว ก็จะยิ่งศรัทธาและเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นอีกว่า อัลกุรอานเป็นโองการมาจากพระเจ้า ได้ประทานแด่ท่านนบีมุฮำมัดผู้มีคุณลักษณะสมบูรณ์แล้วที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นศาสดาของพระองค์ 

          และท่านนบีมุฮำมัดก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญโดยเผยแพร่หลักการที่แท้จริงออกไป จึงถือว่าพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นที่มาแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธา และเป็นหลักการและบัญญัติทั้งมวล ซึ่งเราเรียกว่า ธรรมนูญของศาสนา

 

          ในอัลกุรอานซึ่งเป็นคำสอนของศาสนานั้นมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มุสลิมจะต้องเรียนรู้และมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจในภาคทฤษฎีที่วางไว้ และพร้อมกันนั้นก็ต้องเริ่มปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดเมื่อมีอายุบรรลุตาม ศาสนภาวะ หากมิได้เริ่มปฏิบัติก็คงมีพันธะติดตัว และต้องรับโทษตามที่ได้กำหนดไว้ในโลกหน้า

 

          การกำหนดโทษในโลกหน้านี้บางคนเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่เคยมีใครรับทราบมาก่อน หรือขอทิ้งเอาไว้เป็นเรื่องข้างหน้า ไม่ต้องนำมาขบคิด แต่ตรงกันข้ามมุสลิมที่ได้รับการศึกษาในด้านศาสนาเป็นอย่างดี ก็จะไม่คิดเช่นนี้เลย แต่มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น และพยายามถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะการศรัทธาต่อหลักศาสนานั่นเอง

 

          ศาสนาอิสลามให้ทางสว่างแก่มนุษย์โดยทั่วไป ผู้ใดปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาอย่างจริงจัง จึงเป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

          ผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่ทำตัวขัดกับความเจริญของโลก และจะต้องพยายามศึกษาทั้ง ๒ ทาง เพื่อให้มีความสุขในโลกนี้ด้วยวิชาการและให้มีความสุขในโลกหน้าด้วยการศาสนา ความเจริญและการวิวัฒนาการของโลกนั้นจะต้องถือเสมือนข้อคิดที่นำมาเปรียบเทียบกับหลักการทางศาสนา แต่อย่างไรก็ดีมิใช่ต้องนำมาเปลี่ยนหลักการ เพราะศาสนาอิสลามนั้นทันกับโลกทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่มนุษย์จะนำมาใช้ถูกหรือไม่เท่านั้น

 

          ในเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ ศาสนาอิสลามสอนไว้เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ตลอดจนประเทศชาติ ให้มีความรัก การเสียสละความสุขเพื่อผู้มีพระคุณ รวมทั้งประเทศชาติ 

 

ดังท่านนบีมุฮำมัดได้มีพระวจนะไว้ว่า

“ความรักในพี่น้องเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”

          เพราะฉะนั้นมุสลิมจะอยู่ในประเทศใด จะเป็นประเทศมุสลิมหรือไม่ก็ตาม หากเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการศาสนาแล้ว ก็ย่อมจะมีความรักในประเทศนั้นๆ ยอมเสียสละเพื่อประเทศชาติ เพราะเราจะอยู่อย่างเป็นสุข ประกอบศาสนกิจได้เป็นอย่างดี ก็อยู่ที่ความสงบสุขภายในประเทศด้วย

 

 

 

คำนำ

 

          สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงมีพระราชปรารภว่าควรจะมีหนังสือแนะแนวคำสั่งสอนในศาสนาอิสลาม สำหรับพระราชทานแก่ประชาชนในจังหวัดภาคใต้ผู้นับถือศาสนาอิสลามและสำหรับผู้ประสงค์จะทราบทั่วไป จึงพระราชทานพระราชดำริและโปรดเกล้า ฯ

          คุณหญิง สมร ภูมิณรงค์ เลขานุการจุฬาราชมนตรี เรียบเรียง เรื่อง “ศาสนาอิสลามสอนอะไร” 

          ตรวจทานโดย นายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้น

 

วังสระปทุม

๒๐ มกราคม ๒๕๑๔