สภาพของสินค้า(ที่จะทำการซื้อขาย)
  จำนวนคนเข้าชม  252

สภาพของสินค้า

(ที่จะทำการซื้อขาย)

เรียบเรียง....อ.อิสหาก พงษ์มณี

 

1-สิ่งของที่เฉพาะเจาะจง     (อัลมุอัยยัน)

 

2-สิ่งของที่ไม่เฉพาะเจาะจง (อัลเมาศูฟ)

 

3-มีอยู่ในปัจจุบัน

   1)มีอยู่ในครอบครองเรา

   2)มีอยู่ในท้องตลาดแต่มิได้อยู่ในครอบครองของเรา

 

4-ไม่มีอยู่ในปัจจุบันแต่จะมีขึ้นในอนาคตค่อนข้างแน่นอน

   1)จำกัดแหล่งผลิต

   2)ไม่จำกัดแหล่งผลิต

 

          หากแยกแยะสภาพสินค้าไม่ได้ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใดศาสนาไม่อนุญาตให้ซื้อขายสินค้าบางสภาพแต่อนุญาตให้ขายได้ในบางสถาพ

 

          ศาสนาห้ามซื้อขายสินค้าที่แม้จะมีอยู่ในปัจจุบัน(คือมีอยู่ในท้องตลาด)แต่มิได้อยู่ในครอบครองของเรา แต่ศาสนากลับอนุญาตให้ซื้อขายสินค้าที่มิได้มีอยู่ในครอบครองของเราในปัจจุบันแต่จะมีขึ้นในอนาคตค่อนข้างแน่นอนและเราสามารถหามาไว้ในครอบครองของเราได้

 

          ประเด็นนี้ทำให้หลายคนที่ไม่พยายามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้จะเกิดความสับสนวุ่นวายจนหาบทสรุปไม่ได้

 

          สรุปคือสิ่งของใดๆ ที่เป็นของเฉพาะเจาะจงและเรามิได้เป็นเจ้าของครอบครองไว้ ห้ามนำไปขายเด็ดขาด (บัยอุมาลาตัมลิก)

 

          สิ่งใดก็ตามที่มิได้อยู่ในครอบครองของเราในปัจจุบันและมิใช่เป็นสิ่งเฉพาะเจาะจง ปัจจุบันจะมีอยู่หรือไม่ ไม่สำคัญแต่ในอนาคตต้องมีแนวโน้มค่อนข้างแน่นอนว่าจะมีขึ้นสิ่งนี้ศาสนาอนุญาตนำมาขายล่วงหน้าได้ (บัยอุสลัม) หรือเรียกตามสภาพของสินค้าว่า (บัยอุลเมาศูฟฟิซซิมะห์) แปลว่าขายสิ่งที่ถูกระบุคุณสมบัติไว้ในภาระความรับผิดชอบ

 

 

          การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้โดยละเอียดถ่องแท้นั้นต้องใช้เวลา ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมาช่วยอธิบายดังนี้

 

1) "บัยอุสลัม" หรือ "บัยอุ้ลเมาศูฟฟิซิมมะห์" (ขายสิ่งที่ถูกระบุคุณสมบัติไว้ในภาระความรับผิดชอบ) ดังนี้

 

          นาย ก. เป็นเกษตรกรมีที่น่าหลายไร่ ปีหนึ่งๆ ผลิตข้าวหอมมะลิได้หลายตัน นาย ม. เป็นพ่อค้าข้าวคือซื้อมาและขายไปตลอดเวลา นาย ก. ขาดสภาพคล่องจึงมาเสนอขายข้าวหอมมะลินอกฤดูให้นาย ม. สิบตัน ผลประโยชน์ที่พ่อค้าจะได้คือได้ราคาที่ย่อมเยากว่าการซื้อในฤดูกาลและฝ่ายผู้ขายก็จะได้เงินสดมาแก้ปัญหาสภาพคล่องของตน

 

          ตรงนี้ศาสนาผ่อนปรนให้ซื้อขายกันได้เรียกว่า"บัยอุสลัม" หรือการซื้อขายล่วงหน้า แต่ศาสนาก็กำหนดเงื่อนไขต่างไว้หลายข้อ เช่น ต้องระบุประเภท ชนิด ปริมาณ รวมถึงวันเวลาส่งมอบให้ชัดเจนและต้องไม่ไปจำกัดว่าต้องจากนานั้นไร่นี้หรือกระสอบนั้นกระสอบนี้ และที่สำคัญคือผู้ซื้อต้องจ่ายราคาทั้งหมดให้แก่ขายผู้ทันทีที่สิ้นสุดการทำข้อตกลงจะประวิงเวลาไปจ่ายภายหลังไม่ได้ หรือจะจ่ายบางส่วนแล้วที่เหลือค่อยทยอยจ่ายก็มิได้

 

          สรุปคือ ให้ระบุได้แค่คุณสมบัติที่จำเป็นของสินค้านั้นๆ แต่ต้องไม่จำกัดแหล่งผลิตหรือระบุเจาะจงว่าเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งชิ้นใดเป็นการเฉพาะ นี่แหละที่เรียกว่าขายสิ่งที่ถูกระบุคุณสมบัติไว้ในภาระความรับผิดชอบ คำว่าภาระความรับผิดชอบก็หมายถึงเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้ขายที่จะต้องนำสินค้ามาส่งมอบให้ผู้ซื้อให้ได้ในวันเวลาที่กำหนด

          การซื้อขายลักษณะนี้มีเงื่อนไขอีกหลายข้อซึ่งต้องใช้เวลาศึกษา ณ ที่นี้แค่ขอยกตัวอย่างมาเพื่อช่วยการอธิบายเท่านั้น

          กติกาหรือเงื่อนไขทั้งหมดนักวิชาการมิได้กำหนดขึ้นเองพละการ แต่เงื่อนไขทั้งหมดล้วนสังเคราะห์จากหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

2) "บัยอุ้ลมุอัยยันหรืออัลอัยนุ" คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เฉพาะเจาะจง 

 

          เช่น รถคันนั้น บ้านหลังนี้ นาฬิกาเรื่อนนั้น อย่างนี้เป็นต้น สิ่งนี้หากเรามิได้เป็นเจ้าของและครอบครองไว้เป็นปัจจุบันศาสนาห้ามมิขาย ตัวอย่าง

          นาย ก. ต้องการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใช้แล้วคันหนึ่งยี่ห้อฮอนค้ารุ่นวับวับ(มีหรือเปล่าไม่ทราบ)ปี 2021 จึงไปหานาย ม.พ่อค้ามอเตอร์ไซค์เก่าแต่เผอิญว่ารุ่นนี้นาย ม.ไม่มีอยู่ในสต็อกแต่ก็ตกลงซื้อขายสินค้าดังกล่าวแก่นาย ก. เรียบร้อยเพราะนาน ม. รู้ว่าจะหาสินค้าตัวนั้นได้จากไหนและเมื่อใด พร้อมนัดหมายให้นาย ก. มารับสินค้าในวันเวลามี่กำหนด 

 

          การซื้อขายลักษณะนี้ศาสนาห้ามไว้เพราะเป็นการซื้อขายสิ่งที่ผู้ขายยังมิได้เป็นเจ้าของและครอบครองสินค้านั้น หากดูผิวเผินก็จะเข้าใจผิดว่าก็เหมือนกับการซื้อประเภทแรกที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ซึ่งก็คือ"บัยอุสลัม" จริงๆ แล้วมันต่างกันในสาระสำคัญหลายประการ นี่คือตัวอย่างและคำอธิบายเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น