จงรักษาสัญญา
  จำนวนคนเข้าชม  493

จง รัก ษา สัญ ญา

 

ค่อเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น .. ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ..ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

     ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอิสรออ์ อายะฮฺที่ 34 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَوۡفُواْ بِٱلۡعَهۡدِۖ إِنَّ ٱلۡعَهۡدَ كَانَ مَسۡـُٔولٗا

 

“....และ(พวกเจ้า)จงให้ครบตามสัญญา ..(เพราะ)แท้จริงสัญญานั้นจะถูกสอบสวน”

 

          คำว่า ٱلۡعَهۡدَ หมายถึง สัญญา ซึ่งโดยพื้นฐาน สัญญาก็จะหมายถึงข้อตกลงกันระหว่างบุคคลสองคน หรือบุคคลสองฝ่าย หรือหลาย ๆฝ่ายก็ได้ ว่าจะร่วมกันในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืองดเว้นในการไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจจะเป็นการสัญญาที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น พ่อแม่ได้ทำข้อตกลงกับลูกว่า ถ้าทำการบ้านเสร็จแล้ว จะให้ดูการ์ตูนได้หนึ่งเรื่อง อย่างนี้ก็เป็นสัญญา ...หรือเพื่อนมาขอยืมเงินเรา 100 บาท บอกว่าวันศุกร์หน้าจะมาใช้คืน อย่างนี้ก็เป็นสัญญา .....

 

          หรือสัญญาอาจจะเป็นการทำนิติกรรมกัน...นิติกรรมก็หมายถึง การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย ในอันที่จะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสิทธิจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง .. นิติกรรมก็อย่างเช่น สัญญาซื้อขาย สัญญายืมเงิน สัญญาจ้างงาน หรือพินัยกรรมก็จัดเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งนิติกรรมนี้ก็จะเกิดเป็นภาระผูกพันระหว่างบุคคลอย่างน้อย ๆสองฝ่ายเช่นกัน

 

     ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงมีคำสั่งให้เรา بِٱلۡعَهۡدِۖ وَأَوۡفُواْ จงทำให้ครบตามสัญญา นั่นก็คือ ให้เรารักษาสัญญา 

 

         เมื่อลูกทำการบ้านเสร็จแล้ว ก็ต้องให้ลูกดูการ์ตูนได้หนึ่งเรื่องตามสัญญา ..หรือเมื่อเพื่อนนำเงิน 100 บาทมาใช้คืนเราเมื่อถึงวันศุกร์ตามที่ตกลงกัน นั่นก็คือ การที่เพื่อนรักษาสัญญา ..หรือการที่เราทำนิติกรรม เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน เราก็ต้องทำให้ถูกต้องตามที่มีข้อตกลงกันในสัญญา ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อตกลงตามที่ได้ทำสัญญากันไว้ ...

 

          นี่ก็คือคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ให้เราเป็นคนรักษาสัญญาตามที่มีการตกลงกัน หรือรักษาคำพูดที่ได้พูดออกไป

          เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า مَسۡـُٔولٗا كَانَ ٱلۡعَهۡدَ إِنَّ ..(เพราะ)แท้จริงสัญญานั้นจะถูกสอบสวน ..

 

          ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะ เรื่องของสัญญานั้นมันเป็นเรื่องระหว่างฮักกุลอาดัม เป็นเรื่องระหว่างสิทธิระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งกว่าเรื่องสิทธิระหว่างพระองค์กับตัวเราเสียอีก.. .

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรื่องของสิทธิระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเรา ก็หมายถึงเรื่องที่เราต้องปฏิบัติต่อพระองค์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันเฉพาะตัวเราที่ต้องปฏิบัติต่อพระองค์ เช่นเรื่องของการละหมาด เรื่องของการถือศีลอด เรื่องของการทำฮัจย์ หรือเรื่องอื่น ๆอีก ซึ่งหากเราไปล่วงเกินสิทธิของพระองค์ คือเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้กระทำ ..

 

          ในกรณีอย่างนี้ เมื่อไปถึงวันกิยามะฮฺ เราจะถูกชำระสอบสวนในการกระทำของเรา หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเห็นว่า เรามีเหตุผลไม่เพียงพอในการที่เราไม่ยอมปฏิบัติ หรือไม่ยอมทำ พระองค์ก็จะทรงลงโทษเรา หรือหากเรามีเหตุผลเพียงพอ พระองค์อาจจะทรงปล่อยเรา อาจจะทรงให้อภัยเรา ไม่ทรงลงโทษเราก็ได้ หากพระองค์ทรงประสงค์ ยกเว้นโทษของการทำชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่คนที่ทำชิริกอย่างเด็ดขาด หากเขาไม่ได้เตาบะฮฺตัวก่อนบนโลกดุนยา .. 

 

          ดังนั้น เมื่อเราถูกชำระสอบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถูกลงโทษเรียบร้อยแล้ว หรืออาจไม่ถูกลงโทษก็ได้ หากพระองค์ทรงประสงค์ ก็เป็นอันว่า เรื่องระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเราจบสิ้นไปแล้ว พร้อมจะเข้าสวรรค์แล้ว แต่ยังเข้าไม่ได้ เพราะสิทธิระหว่างตัวเรากับเพื่อนมนุษย์ยังไม่จบ เราจะถูกชำระสอบสวนในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดรองลงมาจากเรื่องของการทำชิริก แสดงว่า เรื่องระหว่างสิทธิกับเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ ...

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงปล่อยในเรื่องของสิทธิระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมจากพระองค์ โดยพระองค์จะทรงเอาสิทธิจากผู้ที่อธรรม คืนให้แก่ผู้ถูกอธรรมเสียก่อน เอาสิทธิจากผู้ที่ผิดสัญญาไปคืนให้แก่ผู้ที่เป็นคู่สัญญาเสียก่อน ก่อนที่จะปล่อยให้เขาเข้าสวรรค์

 

          ..นั่นก็หมายความว่า โนโลกดุนยา หากเราไม่ทำให้ครบถ้วนตามสัญญา มันก็เท่ากับเราไม่รักษาสัญญา นั่นก็เท่ากับเราไปล่วงละเมิดสิทธิของอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายได้รับความอธรรม ไม่ได้รับความยุติธรรม หากเราไม่จัดการให้เรียบร้อยเสียตั้งแต่ในดุนยานี้ ไม่ได้ไปชดใช้สิ่งต่าง ๆที่เราไปล่วงเกินเขา ไม่ได้ไปขอมะอัฟเขา ไม่ได้ไปคืนทรัพย์สินที่เราไปเอาของเขามา เมื่อเป็นอย่างนี้ ในวันกิยามะฮฺ เงินทอง ทรัพย์สินอะไรก็ช่วยไม่ได้ แต่เราจะถูกเอาความดีของเราไปมอบให้เขา ไปชดใช้คืนเขา ....แต่ถ้าหากเราไปอธรรมต่อคนอื่นไว้มาก จนความดีที่เราทำ มันไม่พอชดใช้ เราก็ต้องไปแบกรับเอาความชั่วของคนที่เราไปอธรรมต่อเขามาแบกรับแทน ...อย่างนี้ ขาดทุนป่นปี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัมลัมบอกว่า คนอย่างนี้เป็นคนล้มละลายในวันกิยามะฮฺ

 

 

         ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวถึงผู้ที่ไม่รักษาสัญญาว่า เป็นบุคคลที่มีลักษณะหนึ่งของการเป็นมุนาฟิก คือเป็นคนกลับกลอก เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก

 

         อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

- آيةُ المُنافِقِ ثلاثٌ: إذا حدَّثَ كذَبَ، وإذا وعَدَ أخلَفَ، وإذا ائْتُمِنَ خان.

 

“เครื่องหมายของคนมุนาฟิก (คนกลับกลอก คนหน้าไหว้หลังหลอก) นั้นมีสามประการ ได้แก่

เมื่อเขาพูดจา เขาก็พูดโกหก , เมื่อเขาสัญญา เขาก็ผิดสัญญา , และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาก็ทุจริตต่อความไว้วางใจนั้น"

 

          ซึ่งถ้าหากผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าวครบทั้งหมด และทำมันอยู่เสมอ ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันก็อาจมีผลให้ผู้นั้นกลายเป็นมุนาฟิกใหญ่ได้ ซึ่งผลตอบแทนของการเป็นมุนาฟิกใหญ่ก็คือ ตกนรกชั้นต่ำสุด

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 145 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّ الْمُنَافِقِينَ فِي الدَّرْكِ الْأَسْفَلِ مِنَ النَّارِ وَلَن تَجِدَ لَهُمْ نَصِيرًا

 

“แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นอยู่ในชั้นต่ำสุดของนรก และเจ้าจะไม่พบผู้ช่วยเหลือใด ๆ สำหรับพวกเขาเป็นอันขาด”

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ดังนั้น เรื่องของการรักษาสัญญา เรื่องของการรักษาคำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้เราพิจารณาตัวเราเถิดว่า เราเป็นคนที่รักษาสัญญาตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงมีคำสั่งมายังเราแล้วใช่ไหม ...พระองค์ทรงบอกว่า การรักษาสัญญานั้นมันเป็นคุณธรรมความดีอันยิ่งใหญ่

 

          ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ ส่วนกลางของอายะฮฺที่ 177 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَٱلۡمُوفُونَ بِعَهۡدِهِمۡ إِذَا عَٰهَدُواْۖ

 

“และ(คุณธรรมความดีนั้น) คือบรรดาผู้ที่รักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อพวกเขาได้สัญญาไว้..”

 

          เมื่อเราเป็นผู้ที่รักษาสัญญา เราก็คือผู้ที่มีความสัจจริง เป็นผู้ที่มีคุณธรรมความดี ซึ่งการเป็นผู้ที่มีคุณธรรมความดีจะนำทางเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..ในทางตรงข้าม การเป็นผู้ไม่รักษาสัญญา ก็จะนำเราไปสู่การเป็นผู้โกหกมดเท็จ และการโกหกมดเท็จนำไปสู่ความชั่ว ซึ่งความชั่วจะนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอู๊ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 إنَّ الصِّدْقَ يَهْدِي إلى البِرِّ، وإنَّ البِرَّ يَهْدِي إلى الجَنَّةِ، وإنَّ الرَّجُلَ لَيَصْدُقُ حتَّى يَكونَ صِدِّيقًا. وإنَّ الكَذِبَ يَهْدِي إلى الفُجُورِ، وإنَّ الفُجُورَ يَهْدِي إلى النَّارِ، وإنَّ الرَّجُلَ لَيَكْذِبُ حتَّى يُكْتَبَ عِنْدَ اللَّهِ كَذَّابًا

 

     “แท้จริงแล้ว ความสัจจริงจะนำไปสู่ความดี และความดีจะนำไปสู่สวรรค์ ผู้ที่รักษาความสัจจริงจะได้รับการบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่า เป็นผู้ที่มีความสัจจริง

     และแท้จริงแล้ว การโกหกมดเท็จนำไปสู่ความชั่ว และความชั่วนำไปสู่ไฟนรก ผู้ที่โกหกมดเท็จอยู่เสมอ ๆ เขาจะถูกบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่า เป็นจอมโกหก”

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราห่างไกลจากการเป็นผู้ที่ไม่รักษาสัญญา โปรดให้เราห่างไกลจากการถูกลงโทษในไฟนรก ..และโปรดคุ้มครองเราให้เป็นผู้ที่รักษาสัญญาอย่างครบถ้วน และได้นำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และได้พำนักในสวรรค์นั้นอย่างตลอดกาล

 

 

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )