สุนนะฮฺในการอาบน้ำละหมาด
เรียบเรียง....อับดุลวาเฮด สุคนธา
สุนนะฮฺในการอาบน้ำละหมาดมี 13 ประการ คือ
1. แปรงฟันหรือถูฟันให้สะอาด (ก่อนเริ่มต้นอาบน้ำละหมาด)
ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงาน ไว้ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لَوْلاَ أَنْ أَشُقَّ عَلَى أُمَّتِي أَوْ عَلَى النَّاسِ َلأَمَرْتُهُمْ بِالسِّوَاكِ مَعَ كُلِّ صَلاَةٍ
“ แม้นว่าเราไม่เกรงว่าจะเป็นการสร้างภาระและความยากลำบากแก่ประชาชาติของเราแล้วไซร้
แน่นอนเราจักต้องสั่งให้พวกเขาแปรงฟันทุกครั้งที่ละหมาด ”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์)
และในบันทึกของอะหมัดระบุว่า لأَمَرْتُهُمْ بِالسِّوَاكِ مَعَ كُلِّ وُضُوء
“ ฉันต้องสั่งให้พวกเขาแปรงฟันทุกครั้งที่อาบน้ำละหมาด”
2. การกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ “ อัลบัสมะละฮ์”
เมื่อเริ่มขั้นตอนอาบน้ำละหมาด ท่านรอซูลลุลอฮ์ ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لاَ صَلاَةَ لِمَنْ لاَ وُضُوْءَ لَهُ وَلاَ وُضُوءَ لِمَنْ لَمْ يَذْكُرِ اسْمَ اللهِ تَعَالَى عَلَيْهِ
“ ย่อมไม่มีการละหมาดที่ถูกต้องสำหรับผู้ไม่มีน้ำละหมาด
และไม่ถือเป็นการอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์สำหรับผู้ที่ไม่กล่าวพระนามของ อัลลอฮ์ขณะอาบน้ำละหมาด”
(บันทึกโดยอะหมัด,อาบูดาวูด,อัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์ )
3. ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อมือ
ท่านเอาส์อัสษะกอฟีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า رَأَيْتُ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم يَتَوَضَّأُ فَاسْتَوْكَفَ ثَلاَثًا
“ ข้าพเจ้าเห็นท่านนาบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำละหมาด โดยท่านจะล้างมือ 3 ครั้ง ”
(บันทึกโดยอะหมัดและอันนะซาอีย์ )
4. บ้วนปากหรือกลั้วปากให้สะอาด
ท่านละกีฏบินศ็อบเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกำชับกับเขาว่า
إِذَا تَوَضَّأْتَ فَمَضْمَضْ
“ เมื่อท่านอาบน้ำละหมาดท่านจงบ้วนปาก (กลั้วปาก) ”
( บันทึกโดยอาบูดาวูด )
และในบันทึกของอะหมัด,อิบนุมาญะฮ์และอัลฮากิม จากท่านอับดุลลออฮ์อัสศ้อนาบิฮีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِذَا تَوَضَّأَ الْعَبْدُ الْمُؤْمِنُ فَتَمَضْمَضَ خَرَجَتِ الْخَطَايَا مِنْ فِيهِ،فَإِذَا اسْتَنْثَرَ خَرَجَتِ الْخَطَايَا مِنْ أَنْفِهِ
“ เมื่อบ่าวคนหนึ่งอาบน้ำละหมาด แล้วเขาได้บ้วนปาก ความผิดต่างๆจะหลุดออกจากปากของเขา
และเมื่อเขาสั่งน้ำออกจากจมูก ความผิดต่างๆก็จะหลุดออกจากจมูกของเขา ”
5. สูดเข้าจมูกแล้วสั่งออก
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า وَإِذَا تَوَضَّأَ أَحَدُكُمْ فَلِيَجْعَلْ فِي أَنْفِهِ مَاءًا ثُمَّ لِيَنْتَثِرْ
“ เมื่อคนหนึ่งคนใดอาบน้ำละหมาด เขาจงเอาน้ำใส่จมูกแล้วจึงสั่งออก ”
(บันทึกโดยมุสลิม )
ในอีกรายงานหนึ่งท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า بَالِغْ فِي الاِسْتِنْشَاقِ إِلاَّ أَنْ تَكُونَ صَائِمًا
“ ท่านจงสูดน้ำเข้าจมูกให้ลึกมากที่สุด ยกเว้นกรณีเมื่อท่านกำลังถือศีลอดอยู่ ”
(บันทึกโดยอะหมัด )
6. สางเคราให้น้ำเปียกจนทั่ว
ท่านอุษมานบินอัฟฟาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า أَنّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم كَانَ يُخَلِّلُ لِحْيَتَهُ إِذَا تَوَضَّأُ
“แท้จริงท่านนาบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สางเคราเป็นประจำเมื่ออาบน้ำละหมาด ”
( บันทึกโดยอัดติรมิซีย์)
และท่านอะนัสบินมาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า إِذَا تَوَضَّأَ أَخَذَ كَفًّا مِنْ مَاءٍ فَأَدْخَلَهُ تَحْتَ حَنَكِهِ فَخَلَّلَ بِهِ لِحْيَتَهُ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วักน้ำเต็มฝ่ามือและเทใส่ที่ใต้คางทั้งสองข้าง ใช้น้ำนั้นล้างและสางเครา ”
(บันทึกโดยอาบูดาวูด)
7. เช็ดใบหูทั้งสองข้าง
ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า وَأُذُنَيْهِ ظَاهِرِهِمَا وَبَاطِنِهِمَا
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช็ดใบหูทั้งสองข้าง ทั้งด้านนอก ( หมายถึงหลังใบหู )
และด้านใน ( หมายถึงตามซอกหู )”
(บันทึกโดยอัดติรมิซีย์ )
8. สางระหว่างนิ้วมือและนิ้วเท้าให้น้ำเปียกจนทั่ว
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า إِذَا تَوَضَّأْتَ فَخَلِّلْ أَصَابِعَ يَدَيْكَ وَرِجْلَيْكَ
“ เมื่อท่านอาบน้ำละหมาด ท่านจงสางระหว่างนิ้วมือและนิ้วท้างทั้งสองข้างของท่าน ”
(บันทึกโดยอะหมัดและอัดติรมิซีย์ )
ในอีกรายงานระบุว่า أَسْبِغْ الْوُضُوءَ وَخَلِّلْ بَيْنَ الأَصَابِعِ
“ ท่านจงอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ที่สุด และจงสางระหว่างนิ้วด้วย "
(บันทึกโดยอัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์ )
และการสางนิ้วเท้านั้นให้สางด้วยนิ้วก้อย كَانَ يُخَلِّلُ أَصَابِعَ رِجْلَيْهِ بِخِنْصَرِهِ “
"ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สางระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองข้างด้วยนิ้วก้อย ”
(บันทึกโดยอาบูดาวูดและอัดติรมิซีย )
9. การเช็ดศีรษะและใบหูทั้งสองข้างในครั้งเดียวกัน
ทั้งนี้เนื่องจากการเช็ดศีรษะและใบหูนั้นให้ทำพร้อมกัน ในคราวเดียว กัน ให้เริ่มเช็ดศีรษะจากชายกระหม่อมด้านหน้าจนถึงสุดท้ายทอยและลูบย้อนกลับมาด้านหน้า อีกครั้ง โดยไม่ต้องยกมือ แล้วจึงเช็ดใบหูทั้งสอง
ดังที่มีรายงานจากท่านรอซูลว่า
فَمَسَحَ رَأْسَهُ وَمَسَحَ مَا أَقْبَلَ مِنْهُ وَمَا أَدْبَرَ وَصُدْغَيْهِ وَأُذُنَيْهِ مَرَّةً وَاحِدَةً
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช็ดศีรษะ โดยเช็ดจากด้านหน้า และเช็ดย้อนกลับจาก ด้านหลัง
รวมถึงบริเวณขมับ และใบหูทั้งสองข้างเพียงครั้งเดียว ”
(บันทึกโดยอาบูดาวูดและอัดติรมิซีย์ )
10. ทำทุกขั้นตอนอย่างละ 3 ครั้ง
ท่านอุษมานและอิบนิอาบีเอาฟา ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า
تَوَضَّأَ ثَلاَثًا ثَلاَثًا وَمَسَحَ رَأْسَهُ مَرَّةً
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำขั้นตอนต่างอย่างละ 3 ครั้ง และเช็ดศีรษะเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ”
(บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิม,อัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์ )
11. ทำด้านขวามือก่อนด้านซ้ายมือ
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
وَإِذَا تَوَضَّأْتُمْ فَابْدَؤُوْا بِأَيْمَانِكُمْ
“ และเมื่อพวกท่านอาบน้ำละหมาด พวกท่านจงเริ่มด้านขวามือก่อน ”
(บันทึกโดยอะหมัด,อาบูดาวูดและอัดติรมิซีย์ )
และโดยปกติแล้วท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โปรดที่จะทำกิจกรรมต่างๆด้วยมือขวา
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ يُحِبُّ التَّيَامُنَ فِيْ تَنَعُّلِهِ وَتَرَجُّلِهِ وَطَهُوْرِهِ وَفِيْ شَأْنِهِ كُلِّهِ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงโปรดที่จะใช้มือขวาสวมรองเท้า หวีผม ทำความ สะอาด และในกิจกรรมอื่นๆ”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม )
12. ใช้น้ำอย่างประหยัด
ท่านอะนัสบินมาลิกรายงานว่า كَانَ رَسُوْلُ اللهِ يَغْتَسِلُ بِالصَّاعِ إِلَى خَمْسَةِ أَمْدَادٍ وَيَتَوَضَّأُ بِالْمُدِّ
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำวาญิบโดยใช้น้ำประมาณ 1 ซออฺ ถึง 5 มุด และอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำเพียง 1 มุด เท่านั้น”
(บันทึกโดยอะหมัด,อัลบุคอรีย์และมุสลิม )
ครั้งหนึ่งท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นสะอัดอาบน้ำละหมาดจึงกล่าวว่า “ อะไรกันนี่ ? ทำไมจึงฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองเช่นนี้ ? ”
สะอัดกล่าวถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ แม้กระทั่งในการ อาบน้ำละหมาดยังถือเป็นการฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองอีกกระนั้นหรือ ?
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวเตือนว่า نَعَمْ ، وَإِنْ كُنْتَ عَلَى نَهْرٍ جَارٍ “ ใช่แล้ว ต่อให้ท่านอยู่ท่ามกลางแม่น้ำที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดก็ตาม "
(บันทึกโดยอะหมัดและอิบนุมาญะฮ์ )
13. อ่านดุอาอฺหลังอาบน้ำละหมาด
♦ ดุอาอฺก่อนและหลังอาบน้ำละหมาด
ดุอาอฺก่อนอาบน้ำละหมาด بِسْمِ اللَّهِ “ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ”
ดุอาอหลังอาบน้ำละหมาด أَشْهدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَحْدَهُ لاَ شَريْكَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ،
อ่านว่า:อัชฮะดู้ อัลลาอิลาฮ่า อิลลัลลอฮู่ วะฮฺด้าฮู ลาช่ารีก้าละฮฺ วะอัชฮะดู้ อันน่า มุฮัมม่าดัน อับดุฮู ว่าร่อซูลู่ฮู อัลลอฮุมมัจอัลนี มินัตเตาวาบีน่า วัจอัลนี มินัลมุต้าเตาะฮฺฮี่รีน
ความว่า: ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ เพียงองค์เดียวเท่านั้นไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นบ่าวและเป็นศาสนทุตของพระองค์ โอ้อัลลอฮฺ โปรดทำให้ฉันอยู่ในหมู่ผู้ที่กลับตัวสู่พระองค์ และโปรดทำให้ฉันอยู่ในหมู่ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้สะอาดด้วยเถิด
(บันทึกโดย มุสลิม)
ความประเสริฐ : ประตูสวรรค์ทั้งแปดบานจะถูกเปิดออกให้เขาเข้าตามใจปรารถนา
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%