ความประเสริฐของการอาบน้ำละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  301

ความประเสริฐของการอาบน้ำละหมาด

 

แปลเรียบเรียง...อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

- ความหมาย

 

     อัลวุฎูอฺ น้ำละหมาดคืออะไร ? อัลวฎูอฺ ( اَلْوُضُوْءُ ) หรือการอาบน้ำละหมาด คือ การใช้น้ำทำความสะอาดใบหน้า มือ แขน ศีรษะและเท้าตามขั้นตอนที่ศาสนาบัญญัติในลักษณะที่เจาะจงเอาไว้ 

 

     ส่วนคำว่า อัลวะฎูอฺ ( اَلْوَضُوْءُ ) นั้นแปลว่า น้ำสำหรับใช้อาบน้ำละหมาด

 

     ท่านอาบูมาลิกกะอฺ บินอาศิมอัลอัช อะรีย์ ร่อฎิยัลลอ ฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

الطُّهُورُ شَطْرُ الإِيْمَانِ

“การทำความสะอาด เป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธา ”

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

     ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

لاَ تُقْبَلُ صَلاَةٌ بِغَيْرِ طُهُوْرٍ

“การละหมาดโดยไม่มีการทำความสะอาด –ตามศาสนบัญญัติ– จะไม่ถูกตอบรับ”

(บันทึกโดยอัดติรมิซีย)

 

 

- คุณค่าของน้ำละหมาด

 

การรักษาน้ำละหมาดมีความประเสริฐหลายประการ และส่วนหนึ่งจากความประเสริฐเหล่านั้นคือ

 

1.การอาบน้ำละหมาดนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการละหมาด

 

    การละหมาดนั้นจะใช้ได้ถูกต้องและสมบูรณ์ เรียกว่า( เซาะฮ์ )นั้น ต้องมีน้ำละหมาด

     ท่านอาบู ฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

لاَ يَقْبَلُ اللَّهُ صَلاَةَ أَحَدِكُمْ إِذَا أَحْدَثَ حَتَّى يَتَوَضَّأَ

 

“อัลลอฮ์ จะทรงไม่ตอบรับการละหมาดของผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่พวกท่านในขณะที่มีหะดัษ(ไม่สะอาด) จนกว่า เขาจะอาบน้ำละหมาดเสียก่อน ” 

(บันทึกโดยอะหมัด,อัลบุคอรีย์และอาบูดาวูด)

 

2. อัลลอฮฺทรงรักผู้ที่ชำระล้างทำความสะอาด

 

พระองค์ได้ตรัสว่า:

 

(لَمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ أَحَقُّ أَنْ تَقُومَ فِيهِ، فِيهِ رِجَالٌ يُحِبُّونَ أَنْ يَتَطَهَّرُوا وَاللهُ يُحِبُّ الْمُطَّهِّرِينَ )

 

     “แน่นอน มัสญิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้าจะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น เพราะในมัสญิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ” 

[อัต-เตาบะฮฺ : 108]

     "ผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์" หมายถึงผู้ที่รักษาการอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ และรักษาจากการเปรอะเปื้อนของสิ่งสกปรกโสโครก 

[ตัฟสีรฺ อิบนุกะษีรฺ]

 

3. การอาบน้ำละหมาดเป็นลักษณะของผู้ศรัทธา

 

     ท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

 

«وَلاَ يُحَافِظُ عَلَى الْوُضُوءِ إِلاَّ مُؤْمِنٌ»

 

“และไม่มีผู้ใดรักษาน้ำละหมาดนอกจากผู้ศรัทธา” 

[บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ และอะหฺมัด]

     อัล-มุนาวีย์ กล่าว่า : "คือการดูแลรักษาน้ำละหมาดให้คงอยู่ตลอดเวลา" และความหมายของผู้ศรัทธา ณ ที่นี้คือ "ผู้ศรัทธาที่มีความศรัทธาอย่างสมบูรณ์

 

4. บรรดามุสลิมจะมีลักษณะพิเศษ(รัศมี)ในวันกิยามะฮฺ

 

     ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

 

«إِنَّ أُمَّتِي يُدْعَوْنَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ غُرًّا مُحَجَّلِينَ مِنْ آثَارِ الْوُضُوءِ»

 

“แท้จริง ประชาติของฉันจะถูกเรียกเชิญในวันกิยามะฮฺในสภาพที่มีรัศมีเปล่งประกาย จากร่องรอยของการอาบน้ำละหมาด”

 [อัล-บุคอรีย์, มุสลิม]

 

5. การอาบน้ำละหมาดจะช่วยลบล้างความผิด

 

     จากอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวหลังจากสาธิตวิธีการอาบน้ำละหมาดของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัมให้ดูแล้ว ท่านก็ได้กล่าวว่า:

 

إنِّي رأيتُ رسولَ الله صلَّى اللهُ عليه وسلَّم توضَّأَ مِثلَ وُضوئي هذا، ثمَّ قال: مَن توضَّأ هكذا، غُفِر له ما تقدَّم مِن ذَنبِه

 

     “แท้จริงฉันได้เห็นท่านนบีอาบน้ำละหมาดเหมือนกับที่ฉันอาบน้ำละหมาดแบบนี้เลย

     ต่อมาท่านกล่าวว่า ใครก็ตามที่อาบน้ำละหมาดแบบนี้(เหมือนกับฉัน)ความผิดของเขาที่ผ่านมาจะลบล้าง” 

(มุสลิม)

     และจากอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า:

 

«مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الوُضُوءَ خَرَجَتْ خَطَايَاهُ مِنْ جَسَدِهِ حَتَّى تَـخْرُجَ مِنْ تَـحْتِ أَظْفَارِهِ»

 

     “ผู้ใดก็ตามที่อาบน้ำละหมาด ด้วยลักษณะที่ดีที่สุด(อาบแบบสมบูรณ์) บาปของเขาจะหลุดออกจากตัวเขา จนแม้กระทั่งบาปที่อยู่ใต้เล็บของเขา” 

(มุสลิม)

 

6. การอาบน้ำละหมาดจะช่วยยกระดับขั้นและสถานะ

 

     ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าว่า:

 

«أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى مَا يَمْحُو اللهُ بِهِ الْخَطَايَا وَيَرْفَعُ بِهِ الدَّرَجَاتِ. قَالُوا بَلَى يَا رَسُولَ اللهِ. قَالَ : إِسْبَاغُ الْوُضُوءِ عَلَى الْمَكَارِهِ »

 

“เอาไหม ถ้าฉันจะบอกพวกท่านซึ่งการงานที่อัลลอฮฺจะลบล้างความผิดและจะยกฐานะให้ 

บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่า แน่นอนที่สุด โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ 

ท่านจึงตอบว่า : การอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ในช่วงที่ท่านไม่ชอบ (หมายถึงช่วงอากาศหนาวเย็น)” 

[มุสลิม]

 

7. การอาบน้ำละหมาดเป็นสาเหตุของการตอบรับดุอาอ์

 

     ท่านมุอาซ อิบนุ ญะบัล ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

 

«مَا مِنْ مُسْلِمٍ يَبِيتُ عَلَى ذِكْرٍ طَاهِرًا، فَيَتَعَارُّ مِنْ اللَّيْلِ فَيَسْأَلُ اللهَ خَيْرًا مِنْ الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ إِلَّا أَعْطَاهُ إِيَّاهُ»

 

     “ไม่มีมุสลิมคนใดที่นอนในสภาพที่รำลึกถึงอัลลอฮฺและสะอาด(อาบน้ำละหมาด) เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนและเขาก็ได้ขอจากอัลลอฮฺซึ่งความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากพระองค์จะทรงให้ตามที่เขาได้ขอ” 

[อบู ดาวูด]

 

8. สุนะฮฺหลังอาบน้ำละหมาด คือ การละหมาดสองร็อกอัต

 

     ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ อามิรฺ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

 

«مَا مِنْ مُسْلِمٍ يَتَوَضَّأُ فَيُحْسِنُ وُضُوءَهُ ثُمَّ يَقُومُ فَيُصَلِّى رَكْعَتَيْنِ مُقْبِلٌ عَلَيْهِمَا بِقَلْبِهِ وَوَجْهِهِ إِلاَّ وَجَبَتْ لَهُ الْجَنَّةُ»

 

     “ไม่มีมุสลิมคนใดที่อาบน้ำละหมาดซึ่งเขาก็ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีและประณีต 

     หลังจากนั้นเขาได้ละหมาดสองร็อกอัตด้วยการมุ่งทั้งจิตและกาย นอกจากสวนสวรรค์จะเป็นที่แน่นอนแล้วสำหรับเขา” 

[มุสลิม]

     และจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามบิลาลว่า:

 

«يَا بِلَالُ حَدِّثْنِي بِأَرْجَى عَمَلٍ عَمِلْتَهُ فِي الْإِسْلَامِ، فَإِنِّي سَمِعْتُ دَفَّ نَعْلَيْكَ بَيْنَ يَدَيَّ فِي الْجَنَّةِ، قَالَ : مَا عَمِلْتُ عَمَلًا أَرْجَى عِنْدِي، أَنِّي لَمْ أَتَطَهَّرْ طُهُورًا فِي سَاعَةِ لَيْلٍ أَوْ نَهَارٍ؛ إِلَّا صَلَّيْتُ بِذَلِكَ الطُّهُورِ مَا كُتِبَ لِي أَنْ أُصَلِّيَ»

 

     “โอ้บิลาลเอ๋ย ท่านจงบอกฉันถึงการงานที่ท่านหวังมากที่สุดกับมันที่ท่านได้ปฏิบัติมา แท้จริงฉันได้ยินเสียงร้องเท้าสองข้างของท่านเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้าฉันในสวนสวรรค์ 

     บิลาลตอบว่า ฉันไม่ได้ปฏิบัติการงานใดเลยที่ฉันหวังมากที่สุดนอกจากว่า ฉันจะเคยไม่อาบน้ำละหมาดในช่วงเวลาไหนก็ตามทั้งกลางคืนและกลางวัน เว้นแต่ฉันจะต้องละหมาดด้วยน้ำละหมาดนั้นเท่าที่ถูกกำหนดให้ฉันสามารถละหมาดได้”

 [อัล-บุคอรีย์ มุสลิม]

 

9. การอาบน้ำละหมาดช่วยแก้ปมที่ชัยฏอนจะผูกไว้ก่อนนอนในตอนกลางคืน

 

     จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เล่าว่ ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

" يَعْقِدُ الشَّيْطَانُ عَلَى قَافِيَةِ رَأْسِ أَحَدِكُمْ - إِذَا هُوَ نَامَ - ثَلَاثَ عُقَدٍ، يَضْرِبُ كُلَّ عُقْدَةٍ عَلَيْكَ لَيْلٌ طَوِيلٌ فَارْقُدْ، فَإِنِ اسْتَيْقَظَ فَذَكَرَ اللَّهَ انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، فَإِنْ تَوَضَّأَ انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، فَإِنْ صَلَّى انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، فَأَصْبَحَ نَشِيطًا طَيِّبَ النَّفْسِ، وَإِلَّا أَصْبَحَ خَبِيثَ النَّفْسِ كَسْلَانَ ".

 

           “ ชัยฏอนจะผูกปมที่ท้ายทอยของพวกท่านแต่ละคนตอนที่เขาเข้านอนไว้สามปม ตีตราในแต่ละปมด้วยคำว่า จงนอนเถิด ค่ำคืนยังอีกยาวนาน จงนอนไปเถิด 

แล้วถ้าหากเขาตื่นขึ้นมาและรำลึกถึงอัลลอฮฺ ปมอันหนึ่งก็จะคลายออก 

แล้วหากเขาทำน้ำละหมาดปมอีกอันหนึ่งก็จะคลายออก 

แล้วหากเขาได้ละหมาดปมของเขาทั้งหมดก็จะคลายออกไป เช้ามากระปี้กระเป่าอารมณ์ดี 

หาไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเช้ามารู้สึกเกียจคร้านอารมณ์เสีย”

[ บันทึกโดยอัลบุคอรีย์]