บรรลุวัตถุประสงค์ของดูอาอ์
  จำนวนคนเข้าชม  789

บรรลุวัตถุประสงค์ของดูอาอ์

 

อบู ชะฮ์มี่ อนัส ลีบำรุง

 

          ขอเตือนตัวของผมเองและพี่น้องให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงผู้ใดที่ยำเกรงอัลลอฮฺและรักษาความยำเกรงทั้งสิ่งที่อยู่ในโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺจะทรงนำเขาไปสู่สิ่งที่ดีในศาสนาของเขา และอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งจะทรงประทานรางวัลให้แก่ผู้ที่กระทำตามพระองค์ทรงสั่งใช้อย่างไม่บกพร่อง

 

          อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เราขอสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ ขอการช่วยเหลือจากพระองค์ และเราขอกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์จากความชั่วหลายของตัวเราเองและการกระทำที่ไม่ดีของเรา เมื่อพระองค์ทรงนำทางผู้ใดไม่มีใครจะทำให้เขานั้นหลงทางได้ และผู้ที่พระองค์ทรงทำให้เขาหลงทางก็ไม่มีผู้ใดจะนำทางเขาได้

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : สิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนในชีวิตคยามเป็นอยู่ในดุนยาแห่งนี้ คือการพยายามเอาแบบอย่างจากท่านร่อซูล ﷺ มาเป็นแบบอย่าง การยึดมั่นในแนวทางและวิถีชีวิตของท่านจะนำพาสู่สิ่งดีงาม เพราะแน่แท้เราไม่น่าจะหาต้นแบบการดำเนินชีวิต ครูที่จะทำให้เราที่ปลอดภัยทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺได้จากใครที่ดีที่สุดและไร้ข้อบกพร่องอย่างเช่นชีวิตของท่าน รอซูลลุลลอฮ์ ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

 

     ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-อะห์ซาบ อายะฮฺที่ 21 ว่า:

 

لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا

 

“โดยแน่นอน ในร่อซูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว

สำหรับผู้ที่หวัง(จะพบ)อัลลอฮฺและวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมาก”

 

          ใครก็ตามที่พิจารณาใคร่ครวญแนวทางของท่านนบีมุหัมมัด ﷺ ในแต่ละวันและคืน จะพบว่าชีวิตของท่านเต็มไปด้วยการรักษาความขมักเขม้นในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ ลองดูครับว่าท่านนบีมุหัมมัด ﷺ เมื่อท่านตื่นขึ้นจากการนอน ท่านจะเริ่มต้นด้วยการมุ่งไปสู่อัลลอฮฺนั่นก็คือการรำลึกถึงอัลลอฮฺ  และก็ขอดุอา ท่านจึงเริ่มวันใหม่ด้วยความสำเร็จและความง่ายดาย บนความบารอกะฮฺของชีวิต เพราะท่านนั้นขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และแสวงหาความรู้ที่มีประโยชน์และการงานที่ดีที่จะถูกตอบรับตั้งแต่เช้าตรู่ของวันใหม่

 

          ฉะนั้นผู้ศรัทธาจะต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ท่านได้ดำรงทำเอาไว้เป็นแบบอย่างให้กับพวกเราในทุกๆวันหลังจากละหมาดศุบฮฺเพื่อให้พวกเราทำตาม นั่นก็คือการขอดุอาอฺบทที่ยิ่งใหญ่บทนึง ซึ่งมันคือแนวทางหนทางที่จะนำไปสู่บารอกัต 

 

      ดังที่ถูกบันทึกไว้ในสุนัน อิบนุ มาญะฮฺ ลำดับที่ 925 باب ما يقال بعد التسليم

 

اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ عِلْمًا نَافِعًا، وَرِزْقًا طَيِّبًا، وَعَمَلًا مُتَقَبَّلًا

 

”โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอให้พระองค์ทรงโปรดประทานความรู้ที่มีประโยชน์ ริสกีที่ดีงาม และการงานที่ถูกตอบรับด้วยเถิด“

 

 

          คำวิงวอนที่ทรงพลังและมีความจำเริญบทนี้ท่านนบีของเราได้เคยท่องหลังละหมาดศุบฮิทุกวัน เพราะในตอนเช้าเป็นจุดเริ่มต้นของวันใหม่ เป็นการเปิดงานของวันนั้นด้วยบทดุอาอฺอันทรงค่า และมุสลิมจะต้องไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องใดๆ เว้นแต่ในวันนั้นของเขา เขาจะต้องมีเป้าหมายอันสูงส่งเป้าหมายที่ว่าก็คือ การปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี นั่นคือเป้าหมายในแต่ละวันของผู้ศรัทธา

 

          แน่นอนว่าในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมานั้นควรจะมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในแต่ละวัน แต่ทว่าแบบอย่างของท่านนบี ได้แจงไว้ถึงวัตถุประทั้ง 3 ข้อและไม่สนใจถึงวัตถุประสงค์อื่นใด ท่านนบีได้กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำหรับวัน ๆ นึงเป็นแบบอย่างเอาไว้ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีและเติมเต็มให้กับหัวใจและเป็นการกำหนดแนวทางในการใช้ชีวิตให้กับบ่าว และดุอาอฺบทนี้เป็นการขอความช่วยเหลือจากเอกองค์อัลลอฮฺอย่างนอบน้อมในช่วงเช้า ช่วงเริ่มแรกของวันโดยให้ได้รับความช่วยเหลือ ความดีงาม ความสำเร็จ ฉะนั้น 3 วัตถุประสงค์ของดุอาอฮฺบทนี้นั้นคือความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

 

          ท่านนบี ﷺ เริ่มต้นการดุอาอฺโดยขอความรู้ที่เป็นประโยชน์จากเอกองค์อัลลอฮฺ ก่อนที่จะขอปัจจัยยังชีพที่ดีและการงานที่เป็นที่ยอมรับ นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าความรู้ที่เป็นประโยชน์นั้นนำหน้าและสำคัญกับสองสิ่งหลังอย่างมาก 

 

     ดังจากคำตรัสของอัลลอฮฺในซูเราะฮฺ มุหัมมัด อายะฮฺที่ 19 ที่ว่า :

 

"فَاعْلَمْ أَنَّهُ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَاسْتَغْفِرْ لِذَنْبِكَ وَلِلْمُؤْمِنِينَ وَالْمُؤْمِنَات"

 

”ฉะนั้นพึงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพสักการะอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ

และจงขออภัยโทษต่อความผิดเพื่อตัวเจ้า และเพื่อบรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง“

 

          ท่านนบี ﷺ จึงเริ่มต้นด้วยความรู้ก่อนคำพูดและการกระทำ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่งานจะถูกต้องและสอดคล้องกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺโดยปราศจากความรู้ และการเริ่มต้นด้วยความรู้ที่เป็นประโยชน์นั้นเพราะความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาที่ชัดเจน และเมื่อเกิดปัญญานั้นเขาก็จะสามารถแยกแยะระหว่างการงานที่ดีและก่รงานไม่ดีได้ และเขาสามารถแยกแยะระหว่างปัจจัยยังชีพที่ดีและปัจจัยยังชีพที่ไม่ดีได้ ผู้ที่ขาดความรู้ย่อมทำให้เกิดความสับสนแก่ตนเองและครอบครัวได้ว่าสิ่งนั้นยังประโยชน์ซึ่งจริงๆแล้วมันกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง 

 

     ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟฺ อายะฮฺที่ 103-104 ว่า :

 

قُلْ هَلْ نُنَبِّئُكُم بِالْأَخْسَرِينَ أَعْمَالًا

”จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด เราจะแจ้งแก่พวกท่านไหมถึงบรรดาผู้ที่ขาดทุนยิ่งในการงาน?”

 

الَّذِينَ ضَلَّ سَعْيُهُمْ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعًا

“คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญสิ้นไปในการมีชีวิตในโลกนี้

และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว”

 

          บุคคลหนึ่งเขาอาจหาเลี้ยงชีพหาทรัพย์สินเงินทองและคิดว่ามันดีมีประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันตรงกันข้ามและอาจเป็นอันตรายกับเขา และบุคคลหนึ่งจะไม่มีทางแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้เลยเว้นแต่การมีความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพราะคนรู้กับคนไม่รู้แน่นอนว่ามันคนละระดับชั้นกัน ไม่เท่ากันไม่สามารถเทียบเท่ากันได้ 

 

    ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร อายะฮฺ ที่ 9 :

 

هَلْ يَسْتَوِي الَّذِينَ يَعْلَمُونَ وَالَّذِينَ لَا يَعْلَمُونَ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُولُو الْأَلْبَابِ

 

“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ? แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ“

 

          ฉะนั้นคำกล่าวในดุอาอฺที่ว่า อิลมัน นาฟิอัน(ความรู้ที่ยังประโยชน์) : คือข้อบ่งชี้ว่าความรู้นั้นมีสองประเภท อิลมุนนาเฟี้ยะ(ความรู้ที่ให้ประโยชน์) กับอิลมุนที่ไม่ใช้นาเฟี้ยะ(ความรู้ที่ไม่ยังประโยชน์)

 

     ดังหะดีษบทนึง ในสุนัน อิบนุ มาญะฮฺ ลำดับที่ (3843) รายงาน โดยท่าน ญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ رَضي اللهُ عنهما ได้เล่าว่า : แท้จริงท่านร่อซูล ﷺ ได้กล่าวว่า :

 

سَلُوا اللَّهَ عِلْمًا نافِعاً، وَتَعوَّذُوا بِاللَّهِ مِنْ عِـــــلْمٍ لَا يَنْفَعُ

 

”จงขอดุดาอฺต่ออัลลอฮฺซึ่งความรู้ที่ยังประโยชน์ และจงขอความคุ้มครองต่อพระองค์ซึ่งความรู้ที่ไม่ยังประโยชน์“

 

    ท่าน หะซัน อัลบัศรีย์ رحمه الله กล่าวว่า : ความรู้นั้นมีสองประเภท ความรู้ที่มาด้วยกับลิ้น กับความรู้ที่มาด้วยกับหัวใจ 

     ความรู้ที่มาด้วยกับหัวใจนั้นคือความรู้ที่ยังประโยชน์ (เพราะมันทำให้หัวใจเกิดความสงบสุข ความอ่อนน้อมถ่อมตน การยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ส่วนความรู้ที่มาด้วยกับลิ้นนั้น (คือข้อพิสูจน์ข้อโต้แย้งที่จะมีขึ้นต่อลูกหลานอาดัม)

 

     และคำกล่าวในดุอาอฺที่ว่า : ริสก็อน ฏ็อยยิบัน (ขอปัจจัยยังชีพที่ดี) : ก็คือข้อบ่งชี้ว่า ริสกีนั้นมีสองประเภทเช่นกัน ริสกีที่ดี กับ ริสกีที่สกปรกไม่ใสสะอาด 

     แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับสิ่งใดเว้นเสียแต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี พระองค์ยังได้ทรงสั่งใช้ผู้ศรัทธาและบรรดาร่อซูลของพระองค์ เอาไว้ในซูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน อายะฮฺที่ 51 ว่า :

 

"يَا أَيُّهَا الرُّسُلُ كُلُوا مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَاعْمَلُوا صَالِحًا"

 

”โอ้บรรดาร่อซูลเอ๋ย ! พวกเจ้าจงบริโภคส่วนที่ดี(ฮะล้าล) และจงกระทำความดี“

 

     และในซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮ อายะฮฺที่ 172 ว่า :

 

"يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ"

 

”บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย“

 

      ฉะนั้นเมื่อเรามีความรู้เราจะแยกแยะประเภทของริสกีได้ว่ามันดีหรือมันสกปรกไม่สะอาด อย่าลืมว่าเหตุผลสำคัญประการใหญ่เลยของริสกีที่ดีกับไม่ดีมันคือการทำให้ดุอาอฺนั้นถูกตอบรับหรือไม่ถูกตอบรับก็ได้

 

     และคำกล่าวในดุอาอฺที่ว่า : อะมะลัน มุตะก็อบบะลัน (ขอให้การงานถูกตอบรับ) : คือข้อบ่งชี้ว่า ไม่ใช่ทุกการงานที่ขยับเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺทุกการงานจะถูกตอบรับ แต่ทว่าจะถูกตอบรับด้วยการงานที่ดีเท่านั้น 

 

ซึ่งความหมายของการงานที่ดี อะม้าลอัศศอลิหฺมีอยู่สองประการด้วยกัน คือ

1.การงานนั้นอิคลาสเพื่ออัลลอฮฺเพียงเท่านั้น

2.การงานนั้นมีแบบอย่างตรงตามแบบฉบับของท่านร่อซูล ﷺ

ครบทั้ง 2 ถึงจะเป็นการงานที่ถูกตอบรับ นั่นคือเงื่อนไขของการตอบรับการงาน 

 

     ท่านฟุฎ็อย บิน อิยาฎ ได้กล่าวว่า : ถ้าหากว่าการงานนั้นอิคลาสเพื่ออัลลอฮฺแต่ไม่ตรงตามแบบฉบับของท่านร่อซูล ﷺ มันก็จะไม่ถูกตอบรับ , หรือว่าการงานนั้นตรงตามแบบอย่างของท่านร่อซูล ﷺ แต่ไม่มีความอิคลาส มันก็จะไม่ถูกตอบรับ

 

           นี่เป็นบทดุอาอฺแห่งการวิงวอนที่ยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ศรัทธา เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ศรัทธาที่จะต้องท่องดุอาอฺบทนี้ทุกเช้าตามแบบอย่างของนบีมุหัมมัด ﷺ จากนั้นให้เขาก็ติดตามการดุอาอฺ พร้อมการกระทำเพื่อให้เกิดสาเหตุที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ และทำให้ดุอาอฺบทนี้เป็นดุอาอฺที่นำพาเรานั้นให้ได้รับซึ่งความดีงามและบารอกัตความประเสริฐจากที่สิ่งเราได้ขอไป