ผู้เป็นมุอฺมินจะท้อแท้สิ้นหวังได้อย่างไร ?
แปลเรียบเรียง ... อบูซุลฟา
الخطبة الأولى
เมื่อบททดสอบและเคราะห์กรรมกินเวลาอันยาวนานและขยายเวลาออกไป ความวิตกกังวลในจิตใจของบางคนจึงเพิ่มขึ้น , การโอดครวญ , การมอบหมายเรื่องราวต่ออัลลอฮฺที่อ่อนแอลง , จิตใจเริ่มกระวนกระวาย , และบางครั้งในช่วงเวลาเช่นนี้ชัยฏอนจะเข้ามาล่อลวงกระซิบกระซาบ โรคแห่งความท้อแท้สิ้นหวังจึงเริ่มคืบคลานเข้ามา และนั่นคือโรคที่ก่อเกิดความเศร้าและความวิตก
ความท้อแท้สิ้นหวัง คือสิ่งที่ปิดกั้นบรรดาบานประตูแห่งความหวังและการคิดดีต่ออัลลอฮฺ, พร้อมกันนั้นก็ยังทำให้การรอคอยทางออกจบลง , ความท้อแท้ที่หยุดการเคลื่อนไหวหยุดการงาน , ทำลายผลประโยชน์ของศาสนาและดุนยา
ความท้อแท้สิ้นหวัง คือเคราะห์กรรมอันใหญ่หลวงที่จิตใจของคนบางคนถูกทดสอบ , ขณะที่ประสบความยากลำบากและความเลวร้าย , ดังที่พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราได้บอกถึงสิ่งเหล่านั้นในดำรัสของพระองค์
( وَإِذَا أَنْعَمْنَا عَلَى الْإِنْسَانِ أَعْرَضَ وَنَأَى بِجَانِبِهِ وَإِذَا مَسَّهُ الشَّرُّ كَانَ يَئُوسًا )
"และเมื่อเราได้ให้ความโปรดปรานแก่มนุษย์ เขาเหินห่างและปลีกตัวออกไปข้างๆ
และเมื่อความชั่วประสบแก่เขา เขาก็เบื่อหน่ายหมดอาลัย"
(อัลอิสรออฺ โองการที่ ๘๓)
พี่น้องผู้มีอีหม่านศรัทธาทั้งหลาย
ความท้อแท้สิ้นหวัง คือหนทางอันมืดมน อัลลอฮฺทรงตำหนิและห้ามมิให้มีแนวทางเช่นนั้น บนคำกล่าวของนบียะอฺกู๊บ ศาสนทูตของพระองค์ ขณะที่ท่านกล่าวแก่บรรดาลูกๆ ว่า
( وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ )
"และพวกเจ้า อย่าเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
หมายถึง พวกเจ้าอย่าได้ให้ความหวังในความเมตตาและการขจัดความทุกข์ภัยของพระองค์สูญสิ้นไปจากพวกเจ้า เพราะแท้จริงพระองค์คือผู้ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ที่พวกเจ้ามีให้หมดไป
( وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ ، )
"และพวกเจ้าอย่าเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
คำดำรัสอันสูงส่ง จากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาและสัญญาอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้หัวอกเบ่งบาน มีความตั้งใจอันแน่วแน่ รวมถึงการรอคอยทางออกและความหวัง
( وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ ،)
"และพวกเจ้าอย่าเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
อัลลอฮฺยังคงอยู่เสมอ ยังคงเมตตากรุณาและยิ่งไปกว่านั้นความเมตตาของพระองค์กว้างขวางครอบคลุมทุกอย่าง ปกคลุมทุกสิ่งที่มีชีวิต ความกรุณาของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่ ความเอื้อเฟื้อของพระองค์มากมาย การประทานให้ของพระองค์ที่มีแก่ทุกสิ่ง จึงไม่มีความทุกข์ใจใดๆ แก่พวกเรา พระองค์ทรงเป็นองค์อภิบาลของเรา เป็นที่เพียงพอแก่เราและทรงเป็นที่มอบหมายที่ดีที่สุด แม้ว่าจะหมดสิ้นหนทางที่จะขจัดความทุกข์และต้านทานมันแล้วก็ตาม ไม่มีสิ่งใดกั้นขวางพระองค์ ผู้ทรงให้สาเหตุและปัจจัยต่างๆ เป็นผล, ผู้ทรงประทานให้ ผู้ทรงขจัดความทุกข์ยาก ผู้ทรงให้ปัจจัยยังชีพอย่างที่ปวงบ่าวไม่คาดคิดมาก่อน
( وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ ،)
"และพวกเจ้าอย่าเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
แต่ว่าจงรีบเร่งไปสู่พระองค์และรอคอยการช่วยเหลือจากพระองค์, ความเมตตาของพระองค์จะมีมาด้วยกับการอ้อนวอนขอ และการคิดดีต่อพระองค์, ผู้ทรงโอบอ้อมอารีผู้ทรงประทานให้อย่างมากมาย, แท้จริงนบีของพวกท่าน ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิว่าซัลลัม เมื่อมีเรื่องราวที่ทำให้ท่านเสียใจหรือวิตกกังวลท่านจะเข้าสู่การละหมาดและเข้าหาอัลลอฮฺ
และมีคำกล่าวว่า “เมื่อท่านสุญูด ก็จงอยู่ในการสุญูดให้นานๆ เพราะแท้จริงเคราะห์กรรมจะไม่คงค้างคาอยู่บนหลังของผู้ที่สุญูด”
( وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ ،)
"และพวกเจ้าอย่าเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
แม้ว่าบททดสอบจะยาวนานเพียงใด, เพราะอัลลอฮฺคือผู้ทรงตอบรับคำวิงวอนขอ, และขจัดสิ่งเลวร้าย
( أَمَّنْ يُجِيبُ الْمُضْطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ وَيَجْعَلُكُمْ خُلَفَاءَ الْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَعَ اللَّهِ قَلِيلًا مَا تَذَكَّرُونَ )
"หรือผู้ใดเล่าจะตอบรับผู้ร้องทุกข์ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระองค์ และทรงปลดเปลื้องความชั่วร้ายนั้น และทรงทำให้พวกเจ้า เป็นผู้ปกครองแผ่นดิน
จะมีพระเจ้าอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮฺอีกหรือ ส่วนน้อยเท่านั้นพวกเจ้าจะใคร่ครวญ”
( อันนัมลฺ โองการที่ ๖๒)
الخطبة الثانية
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ระวังและระวังจากการท้อแท้สิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ เพราะนั่นคือเรื่องราวอันใหญ่หลวง,และลักษณะที่น่าตำหนิ ยิ่งไปกว่านั้นมันคือลักษณะของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
( إِنَّهُ لَا يَيْأَسُ مِنْ رَوْحِ اللَّهِ إِلَّا الْقَوْمُ الْكَافِرُونَ [يوسف: 87]،)
"แท้จริงไม่มีผู้ใดเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ”
( ยูซุฟ โองการที่ ๘๗)
♦ ผู้ปฏิเสธศรัทธาคือผู้ที่ไม่รู้จักอัลลอฮฺ ปฏิเสธคุณลักษณะของพระองค์ ผู้ปฏิเสธศรัทธาเชื่อว่าอัลลอฮฺมิทรงรู้ และอัลลอฮฺมิทรงเมตตา และอัลลอฮฺไม่ทรงสามารถปัดเป่าความทุกข์ ผู้ปฏิเสธศรัทธาจะยึดติดแต่เพียงสาเหตุ และจะปฏิเสธผู้ทรงทำให้สาเหตุและปัจจัยเอื้ออำนวยเป็นผล
♥ ส่วนผู้ศรัทธา เขาจะมีความเชื่อมั่นว่าหากอัลลอฮฺทรงประสงค์พระองค์ก็จะทรงขจัดความเลวร้าย และจะทรงสาเหตุและปัจจัยเป็นผลทำให้ความเลวร้ายหมดสิ้นไป เขาจึงกระทำสาเหตุและยึดมั่นกับอัลลอฮฺในการอำนวยความง่ายดายของพระองค์
ใช่แล้ว พี่น้องทั้งหลาย ,เหตุแห่งความท้อแท้ คือความไม่รู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺ , ไม่รู้ถึงคุณลักษณะของพระองค์ , มิเช่นนั้นแล้วมุอฺมินที่รู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺจะท้อแท้สิ้นหวังได้อย่างไรกัน , ความเมตตาของพระองค์อันไพศาล, ความเมตตากรุณาของพระองค์ที่มีให้แก่ปวงบ่าว มุอฺมินที่คิดดีต่อพระเจ้าของเขาจะสิ้นหวังได้อย่างไร ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงตรัส ดังในฮาดีษ อัลกุดซี่ว่า
((أنا عند ظن عبدي بي)) "ข้าอยู่ ณ ความคิดของบ่าวที่มีต่อข้า"
บางครั้ง...สาเหตุของความสิ้นหวังคือความกลัวมากเกินไป
บางครั้ง...สาเหตุของความท้อแท้สิ้นหวังคือการ ยึดติดกับดุนยา เขาจึงเสียใจกับสิ่งที่พลาดจากเขาไป
ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
( لَا يَسْأَمُ الْإِنْسَانُ مِنْ دُعَاءِ الْخَيْرِ وَإِنْ مَسَّهُ الشَّرُّ فَيَئُوسٌ قَنُوطٌ ﴾ فصلت: 49 )
"มนุษย์จะไม่เบื่อหน่ายต่อการวิงวอนขอความดี แต่เมื่อความทุกข์ยกาประสบแก่พวกเขาเข้า เขาก็จะท้อถอยหมดอาลัย”
( ฟุศศิลัต โองการที่ ๔๙)
ความท้อแท้สิ้นหวัง บางครั้งอาจเกิดจากการที่จดจ่ออยู่กับการติดตามข่าวด้านลบ ข่าวที่ทำให้เกิดความเศร้าใจ , และการคลุกคลีอยู่แต่กับบรรดาผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวังและรับฟังเรื่องราวเหล่านั้นจากพวกเขา , เรื่องราวที่นำสู่ความท้อแท้และเสียใจ , ความกลัว และความหวาดระแวงต่อทุกๆ สิ่ง , พวกเขาเหล่านั้นมิได้อ่านคำดำรัสของพระเจ้าของพวกเขาหรอกหรือ ?
( مَا أَصَابَ مِنْ مُصِيبَةٍ فِي الْأَرْضِ وَلَا فِي أَنْفُسِكُمْ إِلَّا فِي كِتَابٍ مِنْ قَبْلِ أَنْ نَبْرَأَهَا إِنَّ ذَلِكَ عَلَى اللَّهِ يَسِيرٌ لِكَيْلَا تَأْسَوْا عَلَى مَا فَاتَكُمْ وَلَا تَفْرَحُوا بِمَا آتَاكُمْ وَاللَّهُ لَا يُحِبُّ كُلَّ مُخْتَالٍ فَخُورٍ )
"ไม่มีเคราะห์กรรมอันใดเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ และไม่มีแม้แต่ในตัวของพวกเจ้าเอง เว้นแต่ได้มีไว้ในบันทึกก่อนที่เราจะบังเกิดมันขึ้นมา แท้จริงนั่นมันเป็นการง่ายสำหรับอัลลอฮฺ
เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺมิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด"
(อัลฮะดีด โองการที่ ๒๒-๒๓)
اللهم صلِّ على محمد وعلى آل محمد، كما صليت على إبراهيم وعلى آل إبراهيم، إنك حميد مجيد