สินค้าขยะ !?
  จำนวนคนเข้าชม  454

สิ น ค้ า ข ย ะ !?

 

อุมมุราชิฎ...เรียบเรียง

 

          ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่มีความศิวิไลศ์ มีสินค้าที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย สามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ในการช่วยเหลือจัดวาง ลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา เพื่อให้การดำเนินชีวิตง่ายมากขึ้น มีสินค้าที่สามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้คน ป้องกันความผิดพลาดในการทำงาน และในการใช้ชีวิตประจำวัน มีผู้คิดค้นนวัตรกรรมใหม่ๆ มากมายเพื่อพัฒนาและต่อยอด ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์

     ในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะฮฺที่ 172 ว่า 

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  จงบริโภคจากสิ่งดี ๆ  ที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณอัลลอฮ์

หากเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าเป็นผู้เคารพสักการะ”  

 

          แต่มีสินค้าอีกประเภทหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนรูปปั้น รูปเคารพบูชา มีเพื่อสะสม เพื่อโอ้อวด ผู้คนแห่แหนตามกัน เพียงแค่คนดัง ดารานักร้อง เอามาโชว์เพียงไม่กี่วินาที กลับกลายเป็นสินค้าที่มีคนต้องการมากมาย ทั้งๆที่ไม่ได้มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต หรือคุณสมบัติพิเศษในการที่จะอำนวยความสะดวก หรือสามารถช่วยเหลือปกป้องผู้คนได้

 

          ผู้คนต่างต่อคิว เข้าแถว แย่งชิง เสียเงินซื้อ "สินค้าขยะ" เพื่อที่จะมีไว้ในครอบครอง และบางรูปลักษณ์ก็เป็นรุ่นที่มีจำนวนจำกัด (Limited Edition) เป็นความไร้สาระอย่างมาก และถือเป็นความโง่เขลา งมงายของผู้คน เพราะเมื่อซื้อมาแล้ว ราคาก็หล่นลงทันที แม้จะมีการปั่นกระแส แต่ในความเป็นจริงไม่มีผู้ผลิตที่ไหนรับซื้อคืน เพราะมันคือขยะสำหรับพวกเขาแล้ว

 

﴿ وَإِذَا سَمِعُوا اللَّغْوَ أَعْرَضُوا عَنْهُ وَقَالُوا لَنَا أَعْمَالُنَا وَلَكُمْ أَعْمَالُكُمْ سَلَامٌ عَلَيْكُمْ لَا نَبْتَغِي الْجَاهِلِينَ ﴾ [القصص: 55]

     “และเมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องไร้สาระ พวกเขาก็ผินหลังออกห้างไปจากมัน และกล่าวว่า

     “การงานของเราก็จะได้แก่เรา และการงานของพวกท่านก็จะได้แก่พวกท่าน ศานติแด่พวกท่าน เราจะไม่ขอร่วมกับพวกงมงาย

  

          ความไร้สาระของผู้คนมีมากขึ้น ตามกระแสแห่งฟิตนะฮ์ และการปลุกปั่นของชัยฏอน รวมถึงการปลุกเร้าของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา เพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างหลงผิด การยึดติดกับสิ่งไร้สาระ ยึดเหนี่ยวกับแฟชั่น การตามแบบไม่ลืมหูลืมตาจากอินฟู ดารา นักร้อง และคนมีชื่อเสียง และชื่อเสียทั้งหลาย การขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ขาดความศรัทธาในศาสนา การหาที่พึ่งทางใจไม่เจอ จึงหันไปหาเครื่องยึดเหนี่ยวที่เป็นวัตถุ และโหยหาความสุขจากการที่มีผู้คนพูดถึง ห้อมล้อม การได้เป็นเจ้าของสินค้าขยะ ที่แย่งชิงมาได้อย่างสิ้นคิด จึงทำให้พวกเขามีความรู้สึกภูมิใจช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

: مِنْ حُسْنِ إِسْلَامِ الْمَرْءِ، تَرْكُهُ مَا لَا يَعْنِيهِ.

 

ส่วนหนึ่งของความดีงามสำหรับอิสลามของคนๆหนึ่งนั้น คือการที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์สำหรับตัวเขา

 

          ปัจจุบันเราจะเห็นสินค้าขยะมากขึ้น สินค้าที่ขายเพื่อให้คนนำไปสะสม สินค้าฟุ่มเฟือย ตุ๊กตา ของโชว์ บางชิ้นผลิตเพื่อให้คนแย่งชิง ซึ่งเมื่อหมดรุ่น พวกพ่อค้าก็ผลิตรุ่นใหม่ๆออกมา เพื่อให้คนซื้อแย่งชิงอีก ราคาสินค้าที่ออกมาก่อนก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีการปั่นกระแส แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สิ้นค้าขยะ ที่ไร้สาระ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์อันใด ทั้งต่อตัวผู้ครอบครอง และต่อสังคม แถมอนาคตยังจะเป็นมลภาวะต่อโลก ที่จะต้องหาทางกำจัดขยะเหล่านี้ต่อไป

 

   อัลลอฮ์ ตรัสไว้ว่า

ثُمَّ لَتُسْأَلُنَّ يَوْمَئِذٍ عَنِ النَّعِيمِ

แล้วในวันนั้นพวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่ได้รับในโลกดุนยา

(อัตตะกาซุร 8)

 

          ทรัพย์สินที่หามาอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่กลับใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย จะถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจากผู้ให้อย่างแน่นอน สินค้าที่ไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อส่วนรวมเสมือนการซื้อ"ขยะ"มาสะสมในบ้าน เมื่อตัวตายขยะเหล่านั้นก็ถูกทิ้งขว้างกลายเป็นภาระให้สิ่งแวดล้อม เงินและทรัพย์ที่ได้มาในหนทางที่ฮาลาล สมควรที่จะใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า และขอบคุณต่อพระเจ้าของท่าน ที่มอบริสกีเพื่อการดำรงชีพ มิใช่เพื่อการฟุ่มเฟือ ฟุ้งเฟ้อ โอ้อวด และอย่าใช้จ่ายเพียงเพื่อดำรงอยู่ในดุนยา แต่ท่านจงใช้จ่ายเพื่อเตรียมเสบียงไปในหลุมฝังศพ และโลกอาคิเราะฮ์ หากท่านเป็นผู้ศรัทธา

 

     ในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะฮฺที่ 172 ว่า 


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ وَاشْكُرُواْ لِلَّهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ

 

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  จงบริโภคจากสิ่งดี ๆ  ที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า

และจงขอบคุณอัลลอฮ์ หากเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าเป็นผู้เคารพสักการะ”  

 

          การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มากมาย จึงถือเป็นบททดสอบที่หนักหนาสาหัสของผู้ที่ครอบครอง และส่วนมากของผู้ที่ผ่านมาแต่ละยุคสมัย มักสอบตกจากข้อสอบนี้ คนส่วนมากพลาดพลั้ง หลงระเริง นึกว่าได้ความรักจากอัลลอฮ์มากมาย น้อยคนนักที่จะคิดถึงความน่ากลัวของทรัพย์สินที่มากมี และน้อยคนนักที่จะผ่านบททดสอบนี้ไปได้ นอกจากคนที่อัลลอฮ์ทรงรักอย่างแท้จริง นี่สิคือความรักจากพระองค์ ไม่ใช่การมีทรัพย์สินที่มาก แต่คือการปกป้องคุ้มครองจากทรัพย์สินที่มากมาย มิให้หลงระเริงไปกับชัยฎอน เพราะพวกมันหลอกลวงมนุษย์ให้พลาดพลังมานักต่อนักแล้ว

 

     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 “ดังนั้น อัลลอฮฺทรงเป็นผู้คุ้มกันที่ดียิ่ง” 

 (ยูสุฟ: 64)

          "สินค้าขยะ" จึงเป็นสินค้าที่บ่งบอกถึงความโง่เขลา และการถูกหลอกอย่างง่ายดาย บ่งบอกถึงสติปัญญาของผู้ซื้อที่ "มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย" สินค้าขยะ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม คนที่ครอบครองอาจจะอ้างว่าเพื่อความพึงพอใจ เปล่าเลย.... พวกเขาสะสมเพียงเพื่อโอ้อวด เพื่อสร้างความหยิ่งผยองในจิตใจ ถึงแม้จะราคาถูกหรือแพงสำหรับคนซื้อ แต่มันเป็นเพียงเศษขยะ ที่รอวันทิ้ง และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อหมดยุคหมดสมัย หมดการชื่นชม ก็กลายเป็นเพียงเศษขยะที่ล้นโลก ไร้ค่าอย่างน่าปวดใจ

 

           สุดท้าย ผู้ที่ต้องรับชะตากรรมในการหาวิธีกำจัดขยะพวกนี้ก็คือ ลูกหลาน เยาวชนรุ่นต่อมา ที่ต้องเติบโตมากับยุคของการสะสมขยะ ดังเช่นยุคนี้ก็บ่นว่าคนรุ่นก่อนสะสมขยะ คนรุ่นอนาคตก็บ่นว่าคนรุ่นนี้สะสมขยะ ทุกอย่างจะวนเวียน โทษกันไปมา ถ้าเรายังใช้ชีวิตอยู่กับการสะสมขยะ อยู่กับความโง่เขลา ให้พวกอุปโลกษ์หลอกลวงต่อไป ชัยฏอนมันทำงานอย่างหนัก ไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการล่อลวงมนุษย์ให้ไปเป็นพวกของมัน แม้เพียงเศษเสี้ยววินาที 

 

"อย่าสะสมขยะในดุนยา เพื่อรอวันสูญสลาย แต่จงสะสมความดี เพื่อเป็นเสบียงในหลุมฝังศพ และไปสู่โลกอาคิเราะฮ์อย่างสวยงาม"

 

          มีช่วงหนึ่งของการสอบสวนมัยยิดที่ดีในหลุมฝังศพ ความว่า

        มะลาอิกะฮฺจะบอกว่า รู้จักมัยยิตนี้ ว่าทำแต่ความดี อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้อะไรก็ขวนขวาย รีบเร่งทำ พระองค์ทรงสั่งห้ามอะไรก็ละห่าง ละเว้น ไม่ทำ ไม่ฝ่าฝืน ดังนั้น ขออัลลอฮฺประทานความดีงาม ประทานรางวัลแก่ท่านเถิด

 

(สำนวนส่วนนี้อยู่ในบันทึกของอิมามอะหฺมัด)