ความฝัน ความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา ?
  จำนวนคนเข้าชม  152

 

ความฝัน ความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา ?

อาบีดีณ โยธาสมุทร...เรียบเรียง

 

     อะไรคือแหล่งข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนศาสนบัญญัติต่างๆ ของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺ ?

 

คำตอบ

         แหล่งข้อมูลของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺในเรื่องที่ว่านี้ ก็คือ ข้อมูลจากพระเจ้าที่ทรงสั่งให้ฑูตของพระองค์มาแจ้งไว้เท่านั้น ซึ่งได้แก่ อั้ลกุ้รอ่านและอั้ซซุนนะฮฺนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นเจ้าของทุกสิ่งจึงมีเพียงพระองค์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการกำหนดและบัญญัติ

          ซึ่งการจะรับรู้ถึงเรื่องที่พระองค์ทรงบัญญัติให้เชื่อและให้ทำได้อย่างถูกต้องมีเพียงช่องทางเดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงรับรองไว้ คือ "ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านมาทางท่านฑูตของพระองค์ให้มาบอกกับผู้คนในยุคของท่านขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นการบอกสอนในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่ในความฝัน" นั่นเอง ซึ่งฑูตของอัลลอฮฺท่านสุดท้ายที่พระองค์ทรงส่งมาสู่ผู้คนทั้งหมดตราบจนสิ้นดุนยาก็มีเพียงท่าน "มุฮัมหมัด บุตร อับดุลลอฮฺ" ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม เท่านั้น

 

 

     แนวทางซะลัฟมีท่าทีอย่างไรกับการใช้ความรู้สึกเป็นแหล่งที่มาให้กับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นตัวตัดสินความถูกต้องและความผิดเพี้ยนของเรื่องดังกล่าว ?

 

คำตอบ

 

        จริงอยู่ที่การรู้สึกสงบใจเป็นสัญญาณหนึ่งของการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ปลอดภัยและเป็นผลตอบแทนชนิดแรกๆให้แก่การตอบสนองต่อคำสั่งใช้/สั่งห้ามของพระเจ้า แต่ตัวความรู้สึกเหล่านี้ในมุมของแนวทางซะลัฟแล้ว ไม่ใช่แหล่งที่มาและไม่ใช่ตัวตัดสินสำหรับเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาตลอดจนศาสนบัญญัติต่างๆแต่อย่างใด เนื่องจากแหล่งที่มาและตัวตัดสินสำหรับเรื่องเหล่านี้มีเพียงข้อมูลจากอั้ลกุ้รอ่านและซุนนะฮฺตามความเข้าใจของซะลัฟเท่านั้น ดังที่ชี้แจงไว้แล้ว

 

         ซึ่งท่าทีนี้ต่างจากจุดยืนของกลุ่มที่หลงผิดที่ถูกรู้จักกันในนามว่า ศูฟีย์ ที่มองว่าความรู้สึกเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลหลักสำหรับเรื่องความเชื่อและหลักปฏิบัติต่างๆของพวกเขา โดยพวกเขาจะทำการเรียกชื่อความรู้สึกดีๆต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตใจด้วยชื่อเรียกและคำนิยามเฉพาะตามแต่ที่พวกเขาจะประดิษฐ์กันขึ้นมา แล้วใช้ความรู้สึกดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่มาและตัวตัดสินหลักสำหรับความใช้ได้และใช้ไม่ได้ของความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาแทนข้อมูลจากอั้ลกุ้รอ่านและซุนนะฮฺตามความเข้าใจของซะลัฟ

 

          โดยข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรทราบไว้เกี่ยวกับกลุ่มนี้ก็คือ พวกดะอฺวะฮฺ หรือ ญะมาอะฮฺตั้บลี้คนั้น เป็นศูฟีย์กลุ่มหนึ่งที่วิวัฒนาการต่อมาจากศูฟีย์แบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้นักวิชาการซุนนะฮฺจึงขนานนามญะมาอะฮฺตั้บลี้คว่า ศูฟีย์ยุคใหม่ หรือ ศูฟีย์ร่วมสมัย ดังนั้น โดยภาพรวมแล้วคำติติงและตักเตือนใดๆที่นักวิชาการซุนนะฮฺมีต่อกลุ่ม ศูฟีย์ ก็ถือเป็นการติพวกดะอฺวะฮ์ไปด้วยในตัวเช่นกัน

 

 

     แนวทางซะลัฟมีท่าทีอย่างไรกับการใช้ความฝันเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา ?

 

คำตอบ

 

          มุสลิมรับทราบโดยทั่วกันอยู่แล้วว่า บางประเภทของความฝันเป็นช่องทางหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงแจ้งข้อมูลของพระองค์แก่บ่าว (วะฮฺย์) แต่ในขณะเดียวกันมุสลิมก็รับทราบอีกเช่นกันว่าท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้ทำหน้าที่ของท่านในการถ่ายทอดข้อมูลเรื่องศาสนาจากพระเจ้าแก่ปวงบ่าวของพระองค์ และขยายความข้อมูลเหล่านั้นแก่พวกเขาจนเป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งไว้อย่างครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

          ด้วยเหตุนี้แนวทางซะลัฟจึงปฏิเสธที่จะรับเอาข้อมูลจากใครคนใดทั้งสิ้นที่ไม่ใช่ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม มาเป็นที่มาสำหรับความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนบัญญัติต่างๆของศาสนาด้วย แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอ้างว่าตนฝันเห็นอะไรมาก็ตามแต่ เพราะแนวทางซะลัฟมั่นใจในหลักความเชื่อที่ว่าท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมจากโลกนี้ไปภายหลังจากที่ท่านได้สอนเรื่องศาสนาไว้จนเป็นที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ แง่มุมที่แนวทางซะลัฟนำเรื่องของความฝันมาใช้ประโยน์จึงเป็นแง่มุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติทางศาสนาโดยตรง แต่จะได้แก่แง่มุมที่เป็นเรื่องของการเน้นย้ำเรื่องที่ถูกว่าถูก/ผิดว่าผิด, ให้กำลังใจแก่คนดี ปรามคนชั่ว และเสริมสร้างการคิดดีต่อพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งจุดยืนนี้จะต่างไปจากจุดยืนของกลุ่มที่หลงผิดที่ถูกรู้จักกันในนามว่า ศูฟีย์ ที่จัดให้ความฝันเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาหลักของความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของพวกเขา

 

          และเช่นที่เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า พวกตั้บลี้คนั้น เป็นศูฟีย์กลุ่มหนึ่งที่วิวัฒนาการต่อมาจากศูฟีย์แบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้นักวิชาการซุนนะฮฺจึงขนานนามญะมาอะฮฺตั้บลี้คว่า ศูฟีย์ยุคใหม่ หรือ ศูฟีย์ร่วมสมัย ดังนั้น คำติติงและตักเตือนใดๆที่นักวิชาการซุนนะฮฺมีต่อกลุ่ม ศูฟีย์ ก็ถือเป็นการติพวกดะอฺวะฮ์ไปด้วยในตัวเช่นกัน

 

          ซึ่งในกรณีของการใช้ความฝันเป็นที่มาของพิธีกรรมทางศาสนานั้น เป็นเรื่องที่สามารถเห็นได้ชัดจากพวก ตั้บลี้ค โดยตัวอย่างที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ของคนกลุ่มนี้ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องราวที่เป็นต้นตอที่ทำให้ผู้ก่อตั้งกลุ่ม(มุฮัมหมัด อิ้ลย้าส อั้ลกันดะฮฺละวีย์) ออกมาประดิษฐ์พิธีกรรมทางศาสนาขึ้นมาใหม่โดยให้ชื่อว่า “การออกไปในหนทางของพระเจ้า” ซึ่งพิธีกรรมนี้แทบจะเป็นภาพลักษณ์หลักของพวกตั้บลี้คเลยก็ว่าได้ จนสามารถกล่าวได้ว่า ถ้าเป็นตั้บลี้คแล้วไม่มีการ ออกฯ หรือ ไม่มีการดึงคนไปสู่การออกฯ ก็ยากที่จะถูกนับว่าเป็นตั้บลี้ค โดยต้นตอของพิธีกรรมที่ว่านี้ก็ได้แก่ การฝัน นั่นเอง หาใช่การศึกษาข้อมูลที่มีการรายงานต่อกันไว้จนถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่แต่อย่างใด