การเริ่มต้นชีวิตและศักดิ์ศรีของตัวอ่อน
  จำนวนคนเข้าชม  14068

 

 

การเริ่มต้นชีวิตและศักดิ์ศรีของตัวอ่อน

บทวิเคราะห์ของ ดร.อับดุลเลาะห์  บาสะลามะห์

โดย อาจารย์ อรุณ  บุญชม

 

ดร.อับดุลเลาะห์  บาสะลามะห์ ได้กล่าวว่า การเริ่มต้นชีวิตของตัวอ่อน เป็นประเด็นทางวิชาการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้ติดตามจะพบว่าคำตอบมีหลากหลายขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการฟักตัว แต่ละช่วงเวลาจะมีคำตอบ ที่สอดคล้องกับวิชาการ และเทคนิคที่เข้าถึงเรื่องนี้

          คำตอบที่เพียงพอ ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสามารถให้สิทธิ์แก่ตัวอ่อนได้ตามสิทธิ์ที่ศาสนากำหนดไว้

       สิทธิ์ของตัวอ่อนตามที่ศาสนากำหนดนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามได้ให้หลักประกันไว้ หลักฐานในเรื่องนี้มีมากมายซึ่งจะขอนำมากล่าวไว้เป็นบางส่วนดังนี้ :


หนึ่ง :

(1) ในกรณีที่ชายคนหนึ่งเสียชีวิต ทิ้งภรรยาที่ตั้งครรภ์ไว้ สิทธิ์ของทารกได้รับการค้ำประกันกล่าวคือ กองมรดกจะดำเนินการไม่ได้ จนกว่าจะต้องเก็บรักษาส่วนแบ่งที่ทารกได้รับนั้นไว้เสียก่อน ถ้าหากภรรยาคลอดทารกออกมามากกว่าหนึ่งคน ทายาทที่ได้รับมรดกไปแล้ว ต้องคืนมรดกของทารกคนที่สองหรือที่มากกว่าสองนั้น

(2) ในกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งทำแท้งทารก ไม่ว่าในช่วงเวลาใด โดยที่ปรากฏสัญญาณของการมีชีวิตขึ้นแล้ว เช่น จาม ไอ หรือ นิ้วกระดิก เป็นต้น ทารกผู้นี้มีสิทธิ์ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกของตนที่เสียชีวิตไป ภายหลังเริ่มตั้งครรภ์ และต่อมาภายหลังถ้าหากทารกนั้นเสียชีวิต ทายาทก็มีสิทธิ์รับมรดกจากทารกนั้น


สอง :

          อิสลามให้หลักค้ำประกันศักดิ์ศรีของทารก และให้การคุ้มครองจากการทำแท้งโดยเจตนา โดยไม่มีสิทธิ์อันชอบธรรมตามหลักการศาสนา ถึงขนาดที่ว่า ถ้าหากผู้หญิงคนหนึ่งกระทำความผิดถูกตัดสินประหารชีวิตขณะตั้งครรภ์ ก็ให้ร่นการประหารชีวิตออกไปจนกว่าจะคลอด บางทัศนะว่า จนกว่าจะให้ทารกได้ดื่มนมจนครบกำหนด โดยมีหลักฐานว่า

ท่านศาสดา “ได้ร่นการลงโทษสตรีที่มีความผิดฐานละเมิดประเวณีออกไปก่อน จนกว่านางจะคลอดบุตร”

และเป็นหลักฐานชี้ว่า ครรภ์ที่เกิดจากการละเมิดประเวณี จะไม่เป็นเหตุทำให้อนุญาตทำแท้งได้


สาม :

           อิสลามได้กำหนดลงโทษปรับสินไหม (ฆุรเราะห์) กับผู้ที่ทำให้เกิดการแท้งขึ้น โดยมีหลักพิจารณาดังนี้ ถ้าหากทารกคลอดออกมาเสียชีวิต หรือออกมาก่อนครบสี่เดือนและมีชีวิต ค่าปรับสินไหมจะเท่ากับเศษหนึ่งส่วนสิบของผู้ใหญ่ (คืออูฐหนึ่งร้อยตัว) ถ้าหากคลอดออกมาภายหลังสี่เดือนและมีชีวิต ค่าปรับสินไหมจะเท่ากับผู้ใหญ่

 

          ตัวอย่างเหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นข้อกำหนดทางบัญญัติศาสนาในการปกป้องชีวิตตัวอ่อน และรักษาสิทธิต่างๆของพวกเขาขณะอยู่ในมดลูก แต่พบว่าในยุคนี้และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการค้นพบทางวิชาการจนเกือบจะเอื้อมมือไปทำร้ายตัวอ่อนอย่างผิดทาง

          สิ่งที่อนุมัติและสิ่งที่ต้องห้ามยังคงแกว่งไกว ระหว่างการอธิบายทางวิชาการสมัยใหม่ สำหรับการเจริญเติบโตของทารก ขั้นตอนของทารก การเคลื่อนไหว และเริ่มต้นชีวิต นักนิติศาสตร์อิสลามในยุคก่อนได้พยายามอธิบายการเริ่มต้นชีวิตของตัวอ่อน แต่ไม่ง่ายสำหรับพวกเขาที่จะใช้เครื่องมือสมัยใหม่ทางกุมารเวช เช่น กล้องขยายในมดลูก เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจทารกในมดลูก การติดตามการเจริญเติบโตของทารก เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ในปัจจุบัน สามารถถ่ายภาพความเจริญเติบโตของทารกได้ชั่วโมงต่อชั่วโมง วันต่อวัน จนสามารถกลายเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างสมบูรณ์

          ด้วยเหตุนี้ทัศนะ ของนิติศาสตร์อิสลาม(บางส่วน) จะเห็นว่าชีวิตคืบคลานเข้าสู่ทารกพร้อมการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ คือประมาณเดือนที่สี่ของการตั้งครรภ์ โดยเชื่อว่าการเคลื่อนไหวนั้นเท่ากับเป็นการเริ่มต้นชีวิต หลักฐานในเรื่องดังกล่าว คือ ฮะดิษจากท่านเราะซูล  ว่า


“คนหนึ่งจะอยู่ในครรภ์ของมารดาเป็นเวลาสี่สิบวัน ในสภาพการปฏิสนธิ แล้วกลายเป็นก้อนเลือดในเวลาเท่ากันนั้น

แล้วกลายเป็นก้อนเนื้อในเวลาเท่ากันนั้น หลังจากนั้นมลาอิกะฮ์จะถูกส่งไป และใส่วิญญาณเข้าไปในทารก”

  (ฮะดิษ ซอเฮี้ยะห์)


           นักวิชาการนิติศาสตร์บางท่าน เข้าใจจากฮะดิษดังกล่าวว่า ชีวิตเริ่มต้นในทารกภายหลังจากวิญญาณเข้าไปคือภายหลังจาก 120 วัน นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าบางสำนัก(มัซฮับ) จึงอนุญาตให้ทำแท้ง(เพราะมีเหตุจำเป็น) ก่อน 120 วัน เช่นเดียวกับศักดิ์ศรีของทารกจะถูกคุ้มครองภายหลังจากเดือนที่สี่ โดยถือเป็นมติของทุกสำนัก(มัซฮับ)

          ต้นศตวรรษที่ 20 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย และภายหลังจากการประดิษฐ์กล้องขยาย และความก้าวหน้าในวิชาการชันสูตร และวิชากุมารเวช ฯลฯ จึงมีความมั่นใจได้ว่าจะไม่ทิ้งโอกาสของความสงสัยว่าชีวิตจะเริ่มต้น (ภายในมดลูก) นับตั้งแต่วินาทีแรกของการตั้งครรภ์ ภายหลังจากการปฏิสนธิ และการสร้างตัวของไข่ต่อจากนั้น ทารกนับตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิตมีศักดิ์ศรี และไม่ยอมให้ล่วงละเมิดต่อสิ่งมีชีวิตนี้

          ข้อวิชาการนี้เป็นหลักทางศาสนาและกฎหมายได้ถูกนำมาอภิปรายในที่ประชุมสัมมนาต่างๆ ที่มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องการทำแท้ง และท่าทีของอิสลามถึงเรื่องนี้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่มีความมั่นใจต่อผลลัพธ์ที่ได้นี้ และมีความรู้สึกว่าในผลลัพธ์มีการละเลยไม่สนใจต่อความหมายของฮะดิษ และโน้มเอียงที่จะยึดถือทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าการเริ่มต้นของชีวิต หมายถึงการเริ่มศักดิ์ศรีของทารก

 

          ขณะที่เราพบว่าวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก เราจะพบว่าวิทยาศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง! เป็นที่ปรากฏ-เช่นกัน-โดยไม่สงสัยว่าชีวิตเริ่มต้นก่อนที่จะมีการปฏิสนธิ(ผสมกัน) และเกิดเป็นทารก หรือเป็นไข่ !? ชีวิตมีอยู่แล้วในเชื้อสเปิร์ม และมีอยู่แล้วในไข่ที่ออกมาจากรังไข่ของสตรี ซึ่งทั้งสองนั้นมีชีวิตในตัวเองตามหลักวิชาการ การปฏิบัติ การปฏิสนธิ และการตั้งครรภ์ เป็นการทำให้ชีวิตที่มีอยู่ก่อนนั้นดำเนินต่อเนื่องไป

           ดังเป็นที่ทราบดี-ทั้งประเพณีและหลักการศาสนา ว่าชีวิตเบื้องต้น หรือ พื้นฐานในไข่ หรือเชื้อสเปิร์ม เป็นชีวิตที่ยังไม่มีศักดิ์ศรี และศาสนาไม่ห้ามทำลายโดยอาศัยหลักฐานที่ว่า เชื้อสเปิร์มนับล้านๆตัวอาจถูกทำลายหรือถูกทิ้งไปโดยไม่มีบาป และทุกเดือนที่สตรีวัยผู้ใหญ่จะสูญเสียไข่ไปโดยไม่มีการผสม และไม่มีบาป

 

          ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงทางวิชาการดังต่อไปนี้ คืออาจเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้จากการผสมกันระหว่างไข่กับเชื้อสเปิร์ม แต่ครรภ์นี้ผิดปกติ และเรียกครรภ์นี้ว่า เป็นแบบพวง หรือรูปกระเพาะสัตว์ ครรภ์ที่จะเกิดจากการปฏิสนธินี้จะเป็นก้อนจากเส้นใย ในรูปของถุงน้ำ ลักษณะคล้ายพวงองุ่น จะไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ในทางการแพทย์ถือว่าจำเป็นต้องทำแท้ง และต้องทำให้มดลูกสะอาดทันทีที่ตรวจพบ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับมารดา

เป็นที่รู้กันในทางวิชาการว่า ไม่ใช่ว่าการผสมกันระหว่างเชื้อสเปิร์มกับไข่ทุกครั้งจะต้องเป็นการปฏิสนธิเป็นทารกที่มีชีวิต แต่อาจเกิดเป็นทารกที่พิการ หรือไม่สมประกอบ และจะยังคงอยู่ในมดลูกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนจะแท้งโดยอัตโนมัติ หรือทำให้พ้นจากมดลูกไป



          สรุปได้ความว่า การตั้งครรภ์ทุกครั้งไม่ได้หมายความว่าจะก่อให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและจำเป็นต้องดำรงรักษาไว้ ?

- ผลจากการผสมกันของเชื้อสเปิร์มกับไข่ เมื่อใดจึงจะเกิดความมีศักดิ์ศรีและสิทธิ์ต่างๆ ?

- ความมีศักดิ์ศรีของทารกจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ?

          ในความเห็นของทัศนะที่ว่า ศักดิ์ศรีของทารกและครรภ์จะเริ่มต้นตั้งแต่ทารกกลายเป็นมนุษย์และเป็นคนที่สมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์หรือทารกที่มีคุณสมบัติและรูปร่างของทารกแล้ว ถือว่าเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรี และสิทธิต่างๆ จึงไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่มีชีวิต ในมดลูกจะได้รับเกียติและการยกย่องถึงขนาดนี้ และเมื่อเราติดตามชีวิต (ของมนุษย์) ภายในมดลูกเราก็จะพบว่า มันผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย คัมภีร์อัลกุรอานได้บรรยายขั้นตอนเหล่านี้อย่างละเอียด

อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ตรัสว่า


“แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากธาตุดิน หลังจากนั้นเราได้สร้างเขาขึ้นมาจากการปฏิสนธิในที่พำนักอันมั่นคง

หลังจากนั้นเราได้สร้างจากการปฏิสนธินั้นเป็นก้อนเลือด เราได้สร้างก้อนเลือดเป็นก้อนเนื้อ

เราได้สร้างก้อนเนื้อเป็นกระดูก เราได้หุ้มห่อกระดูกด้วยเนื้อ หลังจากนั้นเราได้สร้างเขาเป็นรูปร่างอีกอย่างหนึ่ง

อัลลอฮ์ทรงจำเริญพระองค์เป็นผู้สร้างที่งดงามที่สุด”

(อัลมุมินูน 12-14)


การบรรยายทางวิชาการ(การชันสูตรศพ)ของทารกสามารถสรุปได้ดังนี้

          ภายหลังจากเชื้อสเปิร์มได้พบกับไข่แล้ว ผลลัพธ์จะเปลี่ยนแปลงจากสภาพการปฏิสนธิไปเป็นก้อนเลือด แล้วเป็นก้อนเนื้อ จนเริ่มเกิดกระดูกและเนื้อ เมื่อมาถึง ณ จุดนี้ เซลล์และเส้นใยต่างๆยังไม่เกิดเกาะกลุ่มเป็นรูปร่างเหมือนมนุษย์ และยังไม่มีส่วนใดเคลื่อนไหว ต่อมาเมื่ออายุของทารกเกือบครบสี่สิบวัน ก็จะเริ่มเกิดอวัยวะต่างๆ ต่อมาก็ลำไขสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของประสาทต่างๆ และใน 42 วันนับตั่งแต่ตั้งครรภ์

 

อัลกุรอานได้บรรยายการสร้างมนุษย์ไว้ว่า

“แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากน้ำเชื้อที่ผสมกัน”

(อัลอินซาน 2) คือ น้ำเชื้อที่ผสมกันระหว่างสเปิร์มและไข่

อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ตรัสว่า

“พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากน้ำเชื้อ แล้วเขาก็เป็นปรปักษ์อย่างชัดเจน”

(อันนะห์ล 4) หมายถึงมนุษย์นั้นเกิดจากน้ำเชื้อ

อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ตรัสว่า

“พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากก้อนเลือด”

(อัลอะลัก 2) หมายถึง ขั้นตอนของก้อนเลือดก่อนถึงขั้นตอนของมนุษย์

อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ตรัสว่า

“ขอสาบานว่า เราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาในรูปร่างที่สวยงามยิ่ง”

(อัฎฎีน 4)

          จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เราสามารถสรุปได้ว่า การผสมกันของเชื้อสเปิร์มกับไข่ครั้งแรกนั้นยังไม่เป็นมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตแล้ว เช่นเดียวกับขั้นตอนต่างๆ ขณะอยู่ในสภาพปฏิสนธิเป็นก้อนเลือด ก้อนเนื้อ กระดูกและเนื้อก็ยังไม่ใช่ของมนุษย์ที่อยู่ในสภาพที่มีเรือนร่างสวยงาม ขั้นต่อไปของขั้นตอนเหล่านี้ก็คือ ขั้นของการเกิดอีกรูปหนึ่ง และเกิดรูปลักษณ์ของความเป็นมนุษย์


สรุปความ 

          ศักดิ์ศรีของตัวอ่อนเป็นสิ่งที่อิสลามให้การค้ำประกันแต่ศักดิ์ศรีนี้จะเริ่มต้นเมื่อใด ? จะเริ่มต้นพร้อมกับเริ่มต้นชีวิตไหม? หรือเริ่มต้นพร้อมกับ เริ่มต้นเคลื่อนไหวอวัยวะ (การเคลื่อนไหวที่ยังไม่รู้สึก) ภายหลังตั้งครรภ์ประมาณ 40 วัน ?  หรือเริ่มต้น พร้อมกับที่แม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเดือนที่สี่ หรือห้า นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ ?

          สิ่งที่ข้าพเจ้ามีทัศนะ-อัลลอฮ์ ทรงรู้ยิ่ง- ต่อหลักการที่ว่าศักดิ์ศรีของทารกเริ่มต้นพร้อมกับเริ่มมีชีวิตไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่ทัศนะของข้าพเจ้าคือ การเคลื่อนไหวเริ่มต้นขณะที่ทารก เริ่มมีรูปร่างเป็นมนุษย์ คือภายหลังจาก 40 วัน นับตั้งแต่กำเนิดทารกอยู่ในครรภ์มารดา

อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ผู้ทรงสัจจะ ตรัสว่า

“และเขา (มุฮัมมัด) จะไม่พูดตามอารมณ์”


 (อันนัจม์ 3)

และศาสนทูตของพระองค์ก็มีสัจจะ

 

 

 

http://www.islamset.com/arabic/abioethics/engab/baslama.htm

จากหนังสือ อนุสรณ์ครบรอบ 30 ปี สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ