คุณสมบัติของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
  จำนวนคนเข้าชม  534

คุณสมบัติของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

ยูซุฟ อบูบักรฺ  แปลเรียบเรียง

 

วิเคราะห์จากการฮิจเราะฮ์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

 

          ประวัติศาสตร์อิสลาม ไม่ใช่นิยายปรัมปรา หรือนิทานสอนใจ นำมาเล่าเพื่อเป็นการปลุกร้าวให้เด็ก ๆ ฟังก่อนนอน ทว่ามันคือบทเรียนที่ควรค่าแก่การนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และเพื่อที่จะได้รู้จักอดีตของตนเอง มาปรับปรุงปัจจุบัน แล้วนำสู่การวางแผนและเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่วนคนที่ไม่รู้จักอดีตของตน ก็เป็นเรื่องยากที่จะดำรงตนในปัจจุบัน และยิ่งมืดมนต่อการก้าวเดินในอนาคต

 

 

           การอพยพ หรือฮิจเราะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม การที่ท่านนบีอพยพจากนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ เป็นปฐมบทของการเผยแผ่อิสลามไปสู่ความเป็นสากล อิสลามสามารถขยายอาณาเขตขจรไกล บรรพชนมุสลิมนำสาส์นแห่งสัจธรรมไปประกาศก้องทั่วทุกมุมโลก และส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ปรากฏว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้น (อะลีย์ , อับดุลลอฮ , อามิร , และอัสมาอ์) เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการอพยพของท่านนบี จึงเป็นที่มาของบทสนทนาร่วมสมัย ตราบจนถึงยุคปัจจุบัน 

 

           ผู้เขียนใช้ปรากฏการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ นำมาวิเคราะห์คุณสมบัติของท่านนบีมุหัมมัดที่แสดงถึงการผู้นำแห่งการเปลี่ยนโลก เพื่อเป็นบทเรียนแก่พวกเราในยุคปัจจุบัน เราควรได้รับคุณูปการอะไรจากการอพยพของท่านนบีมุหัมมัดบ้าง ?

 

 

1. การเชื่อมั่นต่อการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ 

 

          แน่นอนว่าการอพยพเป็นคำบัญชาที่มาจากอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะให้การช่วยเหลืออย่างแน่นอน และคุณสมบัตินี้จะต้องเป็นหลักความเชื่อพื้นฐานของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง จะต้องมุ่งมั่นสร้างปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ อย่างครบถ้วน แล้วอัลลอฮฺจะให้การช่วยเหลืออย่างแน่นอน อัลลอฮฺตรัสว่า 

 

บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย หากพวกเจ้าสนับสนุนศาสนาของอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงสนับสนุนพวกเจ้า

และพระองค์จะทรงตรึงเท้าของพวกเจ้าให้ยืนหยัดมั่นคง 

(มุหัมมัด : 7)

 

 

2. การวางแผน (Plan) 

 

          ในการอพยพของท่านนบีมุหัมมัด มีการวางแผนไว้อย่างละเอียดครอบคลุม อาทิ ท่านได้ปรึกษากับอบูบักรให้ร่วมเดินทางและคอยเป็นคนจัดหาพาหนะ ติดต่ออับดุลลอฮฺ บิน อุรัยคิฏ (ยิว) เป็นคนนำทาง จัดวางพิกัดและเส้นทางในการอพยพ จุดพักระหว่างการเดินทาง และวางแผนการเดินทางอย่างแยบยล

 

 

3. การเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน (Put the right man on the right job) 

 

          ประเด็นนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ท่านได้เลือกอบูบักรฺ อัศศิดดีก เป็นคนที่เชื่อมั่นต่อท่านนบีมุหัมมัดโดยไม่มีข้อแม้ มีความสุขุมเยือกเย็น ยอมตายแทนนบีได้ เป็นสหายร่วมชะตากรรมในการอพยพ , 

      เลือกอะลีย์ บิน อบูฎอลิบ เป็นเด็กหนุ่มที่มีความกล้าหาญและชาญฉลาดให้นอนบนเตียงแทนท่าน ซึ่งตำแหน่งนี้ต้องเดิมพันด้วยชีวิต , 

      เลือกอับดุลอฮฺ บิน อบูบักรฺ ติดตามข่าวสารจากชาวกุรัยชฺ , อามิร บิน ฟุฮัยเราะฮฺ คอยปกป้องโดยทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงแกะบริเวณใกล้ ๆ กับถ้ำพร้อมทั้งคอยส่งนมแกะให้กับทั้งสอง และรวมถึงอัสมาอ์ บุตรสาวของอบูบักรฺ 

          และท่านนบีมุหัมมัดให้การเชื่อมั่นต่อพลังของคนหนุ่มสาว ดูจากประวัติศาสตร์หลายช่วงตอน เช่น 

      ท่านเลือกอุสามะฮฺ บิน ซัยดฺ ให้เป็นผู้นำทัพขณะที่อายุของเขาเพียง 16 หรือ 17 ปีเท่านั้น

 

 

4. การจำลองสถานการณ์ หรือการประเมินสถานการณ์ (Simulation) 

 

          จากเหตุการณ์ที่ท่านนบีมุหัมมัด ไม่ได้ออกเดินทางมุ่งตรงไปยังนครมะดีนะฮฺในทันที แต่เป็นกุศโลบายท่านเดินย้อนกลับหลังออกไปก่อน หากออกเดินทางมุ่งตรง แน่นอนผู้ที่กำลังไล่ล่าจะพบได้ง่าย และการที่ท่านพำนักอยู่ในถ้ำษูร เป็นระยะเวลา 3 วัน เป็นการประเมินสถานการณ์ และติดตามความเคลื่อนไหวของชาวกุรัยชฺเป็นระยะ ๆ

 

 

5. ความว่องไว (Agility) 

 

          การเคลื่อนไหว และการออกตัวให้รวดเร็วที่สุด จากเหตุการณ์ที่ท่านนบีมุหัมมัดออกจากบ้าน ขณะที่แกนนำกุรัยชฺกำลังยืนจ้องหมายปองจะปลิดชีวิต จริงอยู่ด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ แต่เป็นที่รู้ท่านนบี ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม อพยพด้วยกับวัย 53 ปี แต่ท่านไม่แสดงออกถึงว่ากำลังย่างเข้าสู่วัยชราแต่อย่างใด จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่าท่านเป็นคนแอ็คทีพมาก ๆ ผู้นำยุคใหม่จะต้องว่องไว กระฉับกระเฉง เพราะบางเหตุการณ์ไม่มีเวลาให้รอการตัดสินใจอยู่นาน

 

 

6. การเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า (Collaboration) 

 

          การที่ท่านได้ว่าจ้างอับดุลลอฮฺ บิน อุรัยคิฎ ซึ่งเป็นชาวยิว เป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านเส้นทางและมีความซื่อสัตย์ ว่าจ้างให้เขามาเป็นผู้นำทาง ท่านได้ใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส และท่านสามารถเปลี่ยนศัตรูให้มาเป็นมิตรร่วมทางได้

 

 

          ส่วนความอดทนผู้เขียนไม่นำมาเป็นคุณสมบัติในบทวิเคราะห์นี้ อันเนื่องจากตลอดการดำเนินชีวิตของท่านนบีมุหัมมัดเต็มไปด้วยการอดทนในทุกมิติหลายฉากตอน ดังนั้นคุณสมบัติประการนี้ ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของนักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทุกคน มาตรแม้นเขาจะไม่ยืนอยู่ในฐานะผู้นำองค์กรก็ตาม

 

          อัลลอฮ์ ทรงให้ท่านนบีมุหัมมัด เดินทางอิสรออ์และเมี๊ยะรอจญ์ จากนครมักกะฮฺไปสู่บัยตุลมักดิสจนขึ้นสู่ฟากฟ้าในชั่วค่ำคืน หากเป็นความประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์ก็สามารถให้ท่านนบีเดินทางภายในพริบตาได้ โดยไม่ต้องใช้เวลาหลายวัน ทั้งที่นครมะดีนะฮฺอยู่ใกล้นครมักกะฮฺมากกว่าบัยตุลมักดิสซะอีก มันย่อมมีเหตุผลซ่อนเร้นอะไรอีกมากมาย ที่อัลลอฮ์ต้องการให้พวกเราร่วมค้นหาในเส้นทางฮิจเราะฮฺที่ไม่ใช่เส้นทางปกติ เอาไว้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่พวกเรา 

 

          นี่คือคุณสมบัติเพียงบางส่วนที่ผู้เขียนวิเคราะห์ จากการอพยพของท่านนบีมุหัมมัด ซึ่งเหมาะสมแก่ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะนำพารัฐนาวาไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะในโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายแห่งยุคสมัย.

 

 

                 -วัลลอฮุ ตะอาลา อะลัม-