การเริ่มต้น / การสิ้นสุด ของชีวิต
การเริ่มต้นของชีวิต :
สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
- ชีวิตมีอยู่แล้วในสเปิร์มของชายและไข่ของหญิง แต่เป็นชีวิตที่ยังไม่มีศักดิ์ศรี และไม่ห้ามทำลาย
สำหรับประเด็นของการเริ่มต้นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและห้ามทำลายนั้น นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกัน 3 ทัศนะ ดังต่อไปนี้
ทัศนะที่หนึ่ง : ชีวิตเริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิในครรภ์ ซึ่งภาษาอหรับเรียกว่า นุตฟะห์ เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและห้ามทำลาย
ทัศนะที่สอง : ชีวิตเริ่มต้นเมื่อทารกถูกใส่วิญญาณเข้าไปในร่าง คือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 120 วัน เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและห้ามทลาย
ทัศนะที่สาม : ชีวิตเริ่มต้นเมื่อทารกเริ่มเคลื่อนไหวขณะอยู่ในครรภ์ คือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 40 วัน
การสิ้นสุดของชีวิต :สรุปประเด็นจากเอกสารทางวิชาการที่สืบค้นได้ดังนี้
- ความตายคือการสิ้นสุดของชีวิต และความตายทางบัญญัติศาสนาจะไม่เกิดขึ้นจริง จนกว่าวิญญาณจะออกจากร่างไปแล้ว และสิ่งที่จะเกิดตามมาคืออวัยวะต่างๆในร่างกายจะหยุดทำงาน และสิ่งที่แสดงออกว่ามีชีวิตได้ยุติลงแล้ว ส่วนจะใช้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าตายจริงนั้น นักวิชาการมีความเห็นตรงกัน และแตกต่างกันในบางกรณีดังนี้
กรณีที่มีความเห็นตรงกัน
ใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของความตายที่ผู้คนรู้จักกัน หรืออาศัยการตรวจภายนอกของแพทย์ ซึ่งจะช่วยได้ในกรณีที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ที่จะใช้แยกคนเป็นออกจากคนตายได้
กรณีที่มีความเห็นแตกต่างกันการนำเอาอาการที่เรียกว่าก้านสมองตาย มาพิจารณาว่าเป็นความตายตามหลักการศาสนา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทัศนะดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง : แพทย์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า คนที่ก้านสมองตายทั้งหมดแล้วนั้นถือว่าเป็นคนตาย แต่ควรที่จะหาความมั่นใจจากอาการสมองตาย ด้วยการติดตามขั้นตอนต่างๆ ของการตรวจวินิจฉัยว่าสมองตายคือหนึ่ง : ผู้ป่วยหมดความรู้สึกอย่างสมบูรณ์ โดยไม่อาจหายจากอาการหมดรู้สึกนี้ได้ พร้อมทั้งต้องระบุถ้าหากพบว่ามีอาการป่วย หรือก้านสมองได้รับบาดเจ็บ หรือสองทั้งหมดได้รับบาดเจ็บ ไม่อาจรักษาได้หรือบรรเทาได้
สอง : สาเหตุของสมองตาย เกิดจากอุบัติเหตุ หรือเลือดตกในสมอง หรือ สมองบวม หรืออักเสบ เป็นต้น
สาม : ไม่สามารถหายใจได้เอง และต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ
สี่ : สาเหตุการหมดความรู้สึก ไม่ได้เกิดจากการดื่มสิ่งมึนเมา หรือยาเสพติด หรือดื่มยาพิษ หรือจากอาการไตวาย หรือตับวาย หรือเกิดจากการทำงานของต่อมต่างๆรวนเร
ห้า : ไม่มีอาการตอบสนองจากก้านสมอง ซึ่งรวมถึง การวัดเคลื่อนสมองที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า ไม่มีเคลื่อนใดๆ และมั่นใจว่าไม่มีการหมุนเวียนโลหิตที่สมอง ด้วยการถ่ายภาพเอกซ์เรย์เส้นเลือดสมอง
นักวิชาการที่มีความเห็นว่าสมองตายเป็นการสิ้นสุดของชีวิต
ดร.ฮัมดีย์ ซัยยิบ ได้กล่าวว่า หลักการที่ให้ถือว่าสมองตาย เป็นการสิ้นสุดของชีวิตอย่างแท้จริงนั้นมีการบังคับใช้แล้วใน 70 ประเทศ โดยมีประเทศอิสลามรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวว่าคนที่สมองตายไม่สามารถกลับมามีชีวิตได้อีก และมีข้อแตกต่างกันมาก ระหว่างการมีชีวิตของมนุษย์โดยครบถ้วน กับการมีชีวิตอยู่ของเซลล์บางตัว และไม่ได้หมายความว่า การที่หัวใจยังเต้นอยู่เพราะเครื่องช่วยหายใจเทียม ในผู้ป่วยที่สมองตายนั้น พวกเขายังมีชีวิตอยู่
ดร.อะห์หมัด อัลฆุบารีย์ หัวหน้าแผนกโรคภายในของการแพทย์ อัลอัซฮัร เห็นด้วยว่า อาการสมองตายเนความตายที่แท้จริง ซึ่งอนุญาตให้นำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นได้ภายหลังจากสมองคนตายแล้ว และเขากล่าวว่าทางด้านวิชาการ และกรอบของการศึกษาวิจัย ขาพเจ้าเห็นว่าความตายที่แท้จริง คืออาการตายที่ก้านสมอง และวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ อย่าให้ข้าพเจ้าผิดพลาดทางด้านบัญญัติศาสนา
เชค ยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ มีทัศนะว่าคนป่วยที่สมองตายนั้น ถือว่าเป็นคนตายแล้วตามบัญญัติศาสนา โดยกล่าวว่ามีสามอาการที่แน่นอนด้วยกัน สำหรับผู้ป่วยบางคนที่อยู่ในอาการทั้งสามนี้ ยังไม่เข้าใกล้ความตายอย่างที่สุด (คำว่าสามอาการที่เชค ยูซุฟ กล่าวไว้นั้นไม่พบคำอธิบายในรายละเอียด : ผู้ทบทวน) แต่สมองของเขาได้ตายแล้วจริงๆ และอวัยวะของเขาเกี่ยวกับสมองก็ใช้การไม่ได้แล้วโดยสิ้นเชิง อย่างไม่สามารถกลับมาใช้การได้อีก โดยการลงความเห็นของแพทย์ที่เชื่อถือได้และมีความชำนาญ ทั้งที่มีอาการถึงขนาดนี้แล้ว ครอบครัวของผู้ป่วยก็ยังยืนกรานให้เขาใช้เครื่องช่วยชีวิต ซึ่งมีทั้งการให้อาหาร ลมหายใจ และระบบการหมุนเวียนโลหิตก็ยังทำงานอยู่ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ในสภาพนี้หลายเดือน หลายปี โดยพวกเขายอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยความสบายใจว่า พวกเขาได้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ไม่ได้เพิกเฉยหรือดูดาย ทั้งๆที่ผู้นั้นไม่ได้ถูกนับว่าเป็นผู้ป่วยอีกแล้ว แต่ในความเป็นจริงเขาได้อยู่ในโลกของคนตายแล้ว นับตั้งแต่สมองของเขาตายอย่างแน่นอนแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้การรักษาด้วยเครื่องช่วยชีวิต จึงเป็นเรื่องไร้สาระ และทำลายทรัพย์ ทำให้เสียเวลาโดยไม่มีประโยชน์ และขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลาม
ดร. อัลกอรฏอวีย์ ได้กล่าวยืนยันว่า ถ้าหากญาติของผู้ป่วยเข้าใจศาสนาอย่างแท้จริง และเอาใจใส่อย่างดี พวกเขาจะมั่นใจว่าสิ่งที่ดีและน่ายกย่องสำหรับคนตาย ที่พวกเขายังนับว่าเป็นผู้ป่วยก็คือ ถ้าหากถอดเครื่องช่วยหายใจเทียมออกจากเขา ปั๊มที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายก็จะหยุด และเขาก็จะเป็นคนตายจริงๆ ญาติของคนตายก็จะสามารถประหยัดเวลา ประหยัดเงิน และประหยัดเตียงคนไข้ให้แก่คนไข้รายอื่นที่ต้องการเครื่องช่วยชีวิต ซึ่งตาปกติมีอยู่จำกัด ซึ่งผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่จริงจะได้ใช้ประโยชน์ เพราะการที่เขาใช้เครื่องช่วยชีวิตอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการทำลายทรัพย์และการใช้จ่ายทรัพย์โดยไม่มีประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม เช่นเดียวกับการทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ด้วยการกีดกันผู้อื่นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยชีวิต โดยไม่เป็นธรรม กฎเกณฑ์ที่เด็ดขาดข้อหนึ่งตามที่ฮะดิษได้กล่าวไว้ก็คือ ไม่มีการก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น และไม่มีภัยอันตรายแก่ตนเอง
ทัศนะที่สอง : แพทย์อีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่า ก้านสมองตายไม่ใช่เป็นหลักฐานการตายของผู้ป่วยที่ขาดความรู้สึกทางสมอง เพราะแพทย์กลุ่มนี้เห็นว่าคนที่สมองตายนั้น ตามความเป็นจริงเขาคือผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ป่วยเป็นโรคหมดความรู้สึกอย่างลึก หรือได้รับอุบัติเหตุ และพวกเขายังไม่ใช่เป็นคนตายหลักฐานในเรื่องนี้คือ การที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของพวกเขายังไม่ได้หยุดการทำงาน เพราะหัวใจ ตับ และไตทั้งสองยังทำงานอยู่ อวัยวะส่วนที่ย่อยอาหารยังทำหน้าที่บดย่อยและดูดซึม และต่อมต่างๆของร่างกายที่ทำหน้าที่คายกาก รวมถึงต่อมเสมหะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมอง การผลิตฮอร์โมนการเจริญเติบโตทางร่างกาย ของผู้ป่วยเหล่านี้ดำเนินไปตามปกติ เช่นเดียวกับทารกในครรภ์ของมารดา ก็จะยงคงเจริญเติบโตอยู่ในร่างของสตรีที่ป่วย ด้วยอาการสมองหมดความรู้สึก จนถึงกำหนดคลอด ร่างกายของผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงเก็บรักษาความร้อนไว้ได้ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้ป่วย บางครั้งอุณหภูมิความร้อนของร่างกายอาจสูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคอื่น เมื่อมีแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสเข้าไปเป็นต้น ดังกล่าวนี้ยังรวมถึงความสำเร็จ ในการผ่าตัดย้ายอวัยวะบางอย่างเช่น ตับ หัวใจ ปอด ไต และตับอ่อน เป็นต้น ซึ่งการปลูกถ่ายจะเกิดเป็นความจริงไม่ได้ยกเว้นจะต้องเอาอวัยวะจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่อวัยวะต่างๆทั้งหมดในร่างกายยังทำงานอยู่
ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อชิ้นส่วนของคนป่วยเหล่านี้ยังมีสภาพที่ดีอยู่ พร้อมที่จะนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นได้ ก็จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าอวัยวะของผู้ที่ถูกผ่าตัดเอาอวัยวะออกไปนั้นเป็นคนตาย แต่เขายังเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ ถึงแม้อาการไม่รู้สึกตัวของพวกเขาจะยาวนานก็ตาม ดังนั้นจึงสมควรต้องให้การบำบัดรักษาพวกเขา ให้หายจากอาการดังกล่าว แทนการจัดการให้สิ้นสุดไป โดยอ้างว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้
นักวิชาการที่มีความเห็นว่าสมองตายไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดของชีวิต
ดร.มูฮำหมัด ซัยยิด ตอนตอวีย์ ผู้นำมหาวิทยาลัย อัลอัซฮัร ได้ออกคำฟัตวา โดยกล่าวว่าการตายที่เกิดจากสมองตาย ยังไม่ถือว่าเป็นการตายอย่างสมบูรณ์
ดร. นัสร์ ฟะรีด วาซิ้ล อดีตมุฟตี ของอียิปต์ มีความเห็นตรงกันกับคำฟัตวาก่อน โดยยืนยันว่า ยังไม่ยินยอมให้ตัดสินว่าเป็นคนตายตามบัญญัติของศาสนา โดยเพียงแต่แพทย์ยืนยันว่า ผู้นั้นสมองตาย หรือหมดหวังที่จะรักษาให้หายได้
ดร.ซอฟวัต ลุตฟี นายกสมาคมจริยธรรมทางการแพทย์ของอียิปต์ เห็นว่าผู้ป่วยสมองตายยังคงเป็นผู้ป่วยไม่ใช่คนตาย ดังนั้นการที่ก้านสมองตายเป็นการหมดความรู้สึกที่ลึก เมื่อมีอาการหยุดหายใจรวมอยู่ด้วย ก็หมายความว่า เกิดความเสียหายที่ศูนย์กลางของระบบหายใจที่สมอง ผู้ป่วยคนนี้ถ้าหากเราใช้วิธีวัดคลื่นสมอง เราจะพบวาสมองของเขายังคงทำงานอยู่ตามปกติ แต่มีฮอร์โมนของต่อมต่างๆ ที่สมองยังคงหลั่งออกมาเป็นปกติและเขายืนยันว่า คนที่สมองตายอาจกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง และกล่าวว่าจะต้องไม่ออกคำสั่งประหารชีวิตเขา
โดย อาจารย์ อรุณ บุญชม
จากหนังสือ อนุสรณ์ครบรอบ 30 ปี สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ