STOP CANCEL
  จำนวนคนเข้าชม  6633


STOP CANCEL

หยุดมะเร็ง

         องค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าเมื่อปี 2007 มีคนเสียชีวิตจาโรคมะเร็งทั่วโลกกว่า 7.9 ล้านคนและยังพบว่า 70% ของจำนวนผู้ที่เป็นโรคมะเร็งมาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย และยังคาดว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005-2015 ทั่วโลกจะมีกว่า 84 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง !

          ในประเทศไทย “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ได้ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างจากผู้ที่เข้ารับการรักษาในปี 2007 พบว่าผู้ชายเป็นมะเร็งปอดและหลอดลมมากที่สุด (17.1%) รองลงมาคือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี (14.8%) และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (14.2%) ช่วงอายุที่ตรวจพบมะเร็งมากที่สุดอยู่ระหว่าง ( 50-54 ปี) ส่วนผู้หญิงพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด (40%) รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก (18.6%) และมะเร็งทวารหนัก (6.2%) ช่วงอายุที่ตรวจพบมะเร็งมากที่สุดอยู่ระหว่าง(45-49 ปี) จากข้อมูลข้างต้นช่วยย้ำเตือนว่ามะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ก็อย่าเพิ่งตระหนักจนเกินเหตุ เพราะมะเร็งรักษาและป้องกันได้ ถ้ารู้และแก้ให้ทัน


มะเร็งเกิดได้อย่างไร ?


          มะเร็งเกิดจากความผิดปกติที่สารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและมากกว่าปกติ เกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีรูปร่างหน้าตาและหน้าที่ผิดไปจากเดิม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม(Genetic) ประมาณ (5-10%) ส่วนสาเหตุอื่นๆมาจากสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง สารพิษหรือสารปนเปื้อน การขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งการได้รับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือพยาธิบางชนิด ฯลฯ


ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง


          แต่ละคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากน้อยต่างกัน มะเร็งที่พบมากในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า 100 ชนิด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น สภาพความเป็นอยู่ อาหารการกิน การดำรงชีวิต และอาชีพการทำงานของแต่ละบุคคล

  • พยาธิใบไม้ตับจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีและตับ
  • คนที่กินอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพงมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • คนที่กินอาหารสำเร็จรูปเป็นประจำ อาหารที่มีส่วนของสารไนเตรตอย่างไส้กรอก แหนม กุนเชียง และกินส่วนไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างเป็นประจำเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และถุงน้ำดี
  • คนดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ถ้าทั้งดื่มและสูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากและลำคอเพิ่มด้วย
  • คนที่ทำงานกลางแจ้งหรือเล่นกีฬาในเวลาแดดจัดเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง


ลดความเสี่ยงด้วยตนเอง

          องค์การอนามัยโลกระบุว่าสามารถป้องกันตนเองในการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 40% หากเรามุ่งมั่นที่จะรักษาสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม สามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลงได้บ้าง

มะเร็งปอด

          มะเร็งปอดเป็นอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตชายไทยมากที่สุด เมื่อปี 2007 องค์การอนามัยโลกมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุดถึง 1.4 ล้านคนต่อปี

  • กลุ่มเสี่ยง : ผู้สูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่มือสอง คนที่หายใจเอาสารเคมีบางชนิดเข้าไปเป็นประจำ เช่น แร่ใยหินที่มีมากในอุตสาหกรรมรถยนต์และฉนวนกันความร้อน หรือคนที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณปอด หรือเคยเป็นวัณโรคปอด หรือถุงลมโปร่งพอง
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบและเหนื่อยง่าย  ปวดหน้าอกขณะหายใจและอาจปวดร้าวไปถึงไหล่ ปอดบวมและอักเสบเป็นประจำ
  • วิธีลดความเสี่ยง : เลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร หลีกเลี่ยงสถานที่มีควันบุหรี่ ฝุ่นละอองหรือสารเคมีมากๆ และตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ


มะเร็งลำไส้และทวารหนัก

          เกิดจากท้องผูกเป็นประจำ ทำให้ลำไส้ระคายเคืองจากอุจจาระตกค้าง มีอาการต่อเนื่องหลายสิบปี จนเกิดเป็นติ่งเนื้องอกเล็กๆ ทำให้เซลล์เยื่อบุลำไส้แบ่งตัวผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

  • กลุ่มเสี่ยง : คนที่ท้องผูกเป็นประจำ มีญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก คนที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และคนกินผักและผลไม้น้อยแต่ชอบกินเนื้อสัตว์สีแดง โดยเฉพาะเนื้อที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : มะเร็งลำไส้และทวารหนักระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่มักจะรู้ตัวเมื่อถึงระยะลุกลามแล้ว โดยมีอาการที่พบได้มากคือลำไส้แปรปวน ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดปนมากับอุจจาระเพราะมะเร็งกินลึกไปถึงเส้นเลือด หรือสังเกตจากอุจจาระที่มีลำเล็กลง เพราะมีเนื้อมะเร็งในเยื่อบุลำไส้งอกโตจนเบียดลำไส้ ทำให้รูแคบลง หรืออาจมีลำไส้อุดตัน
  • วิธีลดความเสี่ยง : กินผักและผลไม้มากขึ้น ลดปริมาณกินเนื้อสัตว์สีแดงลง ดื่มน้ำมากๆ ไม่กลั้นอุจจาระ ขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน หรือวันละ 1-2 ครั้ง ออกกำลังกายท่าที่บริหารการทำงานของลำไส้และตรวจสุขภาพประจำปี  โดนเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป


มะเร็งปากมดลูก

          สาเหตุหนึ่งของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV เชื้อนี้จะมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เมื่อติดแล้ว 80% จะหายไปเอง เหลือแค่ 10% ที่ยังคงอยู่ และเมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก มีการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด อาจใช้เวลานานหลายปีขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันของแต่ละคน

  • กลุ่มเสี่ยง : คนที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บ่อย เช่น หูดหงอนไก่ เริมบริเวณอวัยวะเพศ การเปลี่ยนหรือมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย การไม่ได้รับการตรวจมะเร็ง
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : มีเลือดออกกระปิดกระปอย ตกขาวมากผิดปกติหรือมีเลือดหรือเศษชิ้นเนื้อออกมา ปวดท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • วิธีลดความเสี่ยง : ควรมีการตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลุกปีละครั้งเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจภายในทุก 1-5 ปี และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน


มะเร็งตับและท่อน้ำดี

          เป็นมะเร็งที่คนไทยคุ้นหูกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นมะเร็งที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประสบและบุคคลที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตไม่น้อย นอกจากนี้ยังเป็นมะเร็งอันดับต้นๆ ของโลกที่ค่าคนทั่วโลก 653,000 คนต่อปี

  • กลุ่มเสี่ยง : ผู้มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี คนดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีภาวะตับแข็ง มีพยาธิใบไม้ตับจากการกินอาหารดิบๆสุกๆ กินอาหารหมักดอง อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา (aflatoxin)และคนสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกอิ่มเร็ว อ่อนเพลีย ผิวเหลือง ตาเหลือง ปวดใต้ชายโครงขวาร้าวไปถึงหลังและไหล่ ท้องบวมเพราะมีน้ำในท้อง
  • วิธีลดความเสี่ยง : ไม่สูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารก่อมะเร็งได้แก่ ถั่วลิสง พริกป่น ฯลฯ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และควรตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบหรือไม่ หากไม่มีควรฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบ


มะเร็งเต้านม

  • กลุ่มเสี่ยง : หญิงอายุ 35 ปี ขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ คนที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอก หรือเคยเจาะชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดเต้านมแล้วผลเป็น Atypical ductal hyperplasia รวมทั้งคนที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : มีก้อนหรือรู้สึกว่าเต้านมบริเวณใดบริเวณหนึ่งหนากว่าปกติ และมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติที่ผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น มีสีแดง ผิวย่น ผิวบุ๋มลงไปเฉพาะจุด หรือเป็นทั่วๆคล้ายผิวส้ม มีอาการปวดบวมแดงร้อน มีความผิดปกติของหัวนม เช่น หัวนมบุ๋มที่เกิดขึ้นใหม่ (ไม่ใช่เป็นตั้งแต่สาวๆ) และมีสิ่งผิดปกติไหลออกจากหัวนม เช่น เลือด น้ำปนเลือด น้ำใส น้ำสีเหลือง เป็นต้น
  • วิธีลดความเสี่ยง : หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจคลำเต้านมเพื่อตรวจหาก้อนหรือความผิดปกติด้วยตนเองทุกเดือน ส่วนหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรทำแมมโมแกรมทุกปี


มะเร็งต่อมลูกหมาก

           ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อลูกหมากที่แน่ชัดได้ แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับอายุ พันธุกรรม ชื้อชาติและระดับของฮอร์โมนเพศชาย และมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมักมีการเจริญช้าใช้เวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการ

  • กลุ่มเสี่ยง : ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง และเมื่อเจาะหาค่าสารมะเร็งในเลือดที่เรียกว่า PSA (Prostate Specific Antigen) มีค่าสูงกว่า 0-4 ng/ml ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูง
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : ปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่พุ่งหรือแสบขัด มีเลือดปนมากับปัสสาวะและมีอาการปวดร่วมด้วย
  • วิธีลดความเสี่ยง : ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์ตรวจต่อมลูกหมากประจำปี


มะเร็งช่องปาก

         เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณเหงือก ลิ้น โคนลิ้น เพดานบน กระพุ้งแก้ม และริมฝีปาก

  • กลุ่มเสี่ยง : คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากมากถึง 6 เท่า รวมถึงคนที่สูดดมควันบุหรี่ด้วย คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ คนทีมีสิ่งระคายเคืองในช่องปากเสมอ เช่น ฟันปลอมหลวม แตกหัก หรือสึกกร่อน เมื่อเกิดแผลในปากบ่อยๆ คนเคี้ยวหมาก เป็นต้น
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น เช่นพบก้อนแข็งภายในช่องปากหรือใต้โคนลิ้น มีฝ้าขาวขึ้นตามกระพุ้งแก้ม เนื้อช่องปากหนาขึ้น หรือมีผิวหยาบ พูดและกลืนอาหารลำบาก เป็นแผลในช่องปากหายยาก และอาจคลำพบก้อนในลำคอ
  • วิธีลดความเสี่ยง : ไม่สูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ หากสังเกตพบความผิดปกติใดๆต้องรีบปรึกษาแพทย์ด้าน หู คอ จมูก หรือทันแพทย์ทันที อย่านิ่งนอนใจ และหมั่นไปตรวจฟันประจำปีละ 2 ครั้ง


มะเร็งรังไข่

          เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มักจะมีการกระจายในเยื่อบุภายในช่องท้อง หรือกระจายไปตามระบบน้ำเหลือง และกระแสเลือดได้

  • กลุ่มเสี่ยง : พันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น แม่ หรือพี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็ง ผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรยาก ผู้ที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ คนที่ประจำเดือนขาดหายหรือมามากผิดปกติ
  • วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น : คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ก็มักจะยังไมมีอาการชัดเจน นอกจากปัสสาวะบ่อย ท้องผูก แน่นท้องหลังอาหาร และรู้สึกถ่วงในท้องน้อย ปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • วิธีลดความเสี่ยง : การตรวจอัลตราซาวน์แบบตรวจสอดภายในช่องเชิงกราน หรือการทำ CT Scan ในรายที่ไม่มีอาการแสดงที่แน่ชัด

          ปัจจุบันมีแนวทางการรักษามะเร็งให้เลือกมากมาย ทั้งที่เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ตลอดจนรักษามะเร็งในระยะต่างๆอย่างได้ผล ช่วยตัดขาดจากมะเร็งได้บางชนิด หรือสามารถยืดชีวิตให้อยู่กับมะเร็งได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

-สถาบันมะเร็งแห่งชาติ,Cancer Registry 2007.Most Common Cancer Males and Females. หน้า 13 และหน้า 15

-องค์การอนามัยโลก World Cancer Day—Fact sheet no.297 July 2008.

-www.cancer.net

อ้างอิง