มุสลิมสายกลาง
  จำนวนคนเข้าชม  590

มุสลิมสายกลาง 

 

ผศ.ดร.อับดุลเลาะฮ์  หนุ่มสุข

 

          มีพี่น้องมุสลิมหลายท่านที่ชอบถามผมว่ามุสลิมสายกลาง คือมุสลิมแบบไหน อย่างไร ? เนื่องจากเห็นว่าผมเป็นผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะฮ์ฯ สำนักจุฬาราชมนตรี ผมจึงขออนุญาติตอบโดยสรุปสั้นๆให้เข้าใจง่ายๆ (แต่บางเรื่องอาจไม่ง่ายสำหรับบางคนเนื่องจากมีรายละเอียดเชิงวิชาการที่ไม่ประสงค์จะอธิบายในที่นี้) ดังนี้ : 

 

     ประเด็นที่หนึ่ง คำว่ามุสลิมสายกลางไม่ใช่เป็นคำใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นคำนี้ยังไม่ใช่เป็นคำของมนุษย์แต่เป็นคำที่แปลมาจากคำดำรัสที่ปรากฎในคัมภีร์อัลกุรอาน (2:143) ความว่า : 

 

และดังเช่นนั้นแหละ เราได้ให้พวกเจ้า(มุสลิม)เป็นประชาชาติสายกลาง (อุมมะตันวะสะฏอน)”

 

     ซึ่งหมายถึงมีความยุติธรรม ความดีเลิศ ความสมดุล ความเรียบง่ายและการมีวิทยปัญญา(ดูหนังสือตัฟซีรที่อธิบายอายะห์นี้) 

 

 

     ประเด็นที่สอง มุสลิมสายกลางในบริบทของสังคมปัจจุบัน ในความเข้าใจหรือในทัศนะของผม(ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีผู้เห็นด้วยกับผมทั้งหมด)คือผู้ที่มีแนวคิดและแนวปฏิบัติ สรุปได้ 5 ประการดังนี้ : 

 

     1 - ปฏิเสธความรุนแรง และการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาและการตอบโต้โดยมีเหตุผลและหลักฐานต่อไปนี้ 

 

     .    อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติและเรียกร้องมนุษยชาติสู่สันติ ความรุนแรงจึงเป็นแนวคิดและพฤติกรรมที่สวนทางกับอิสลาม 

 

     .    ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม    ได้รับภารกิจที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ คือการนำเมตตาธรรมสู่ชาวโลก อัลลอฮฺตรัสไว้ความว่า

 เราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเป็นเมตตาธรรมแก่โลกทั้งผอง 

(ดูอัลกุรอาน21:107) 

     ดังนี้ความรุนแรงจึงขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์กับเจตนารมณ์ดังกล่าว 

 

     .    ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆได้ ดังนั้นอัลลอฮฺจึงใช้ให้มุสลิมใช้วิทยปัญญา และข้อตักเตือนที่ดี(ดูอัลกุรอาน 16 : 125) ใช้การสานเสวนา(ดูอัลกุรอาน (16 : 125, 29 : 46)และใช้วิธีการที่สุภาพและนุ่มนวลกว่า

(ดูอัลกุรอาน 41: 34) 

 

 

     2 - ปฏิเสธการคลั่งไคล้ (อะศอบียะห์) ในตัวบุคคล สถาบัน องค์กร หรือการคลั่งไคล้ในอุดมการณ์ในชาติพันธ์ ภาษา และสีผิว เนื่องจากการคลั่งไคล้เป็นการทำลายความยุติธรรม(อัดล์)ที่เป็นหลักสำคัญของทางสายกลาง(วะสะฏียะฮ์) ความยุติธรรมซึ่งมุสลิมจะต้องหยิบยื่นให้กับทุกคนแม้ว่าเขาจะเป็นศัตรูก็ตาม 

(ดูอัลกุรอาน 5 : )

 และเนื่องจากการคลั่งไคล้เป็นกลิ่นเน่าเหม็นของยุคญาฮิลียะห์ก่อนอิสลามที่ท่านนบีให้สลัดทิ้งและออกห่าง 

(ฮะดีษบันทึกโดยมุสลิมหมายเลข2584) 

 ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

ผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนสู่การคลั่งไคล้ ผู้ที่ต่อสู้(ทำสงคราม)บนความคลั่งไคล้ และผู้ที่เสียชีวิตบนความคลั่งไคล้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่พวกของเรา 

(อบูดาวูด หมายเลข5121) 

 

 

     3 - มีความเข้าใจในเรื่องตัวบทกับบริบท กล่าวคือธรรมชาติของสังคมและสถานการณ์ของสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ 

 

     ในด้านสถานการณ์ เราอาจยกตัวอย่างของสังคมที่อยู่ในภาวะสงครามกับสังคมที่อยู่ในภาวะสงบสุข สังคมที่อยู่ในภาวะของโรคระบาดกับสังคมที่เป็นปกติ ในด้านชีวิตความเป็นอยู่เราอาจยกตัวอย่างสังคมที่อยู่ในภาวะที่อดอยากยากแค้นกับสังคมที่อุดมสมบูรณ์ หรือสังคมที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ มีรัฐบาลมุสลิมปกครองประเทศกับสังคมที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อยเป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างของบริบทสังคมที่มีความต่างกัน 

 

     การนำเอาตัวบทและข้อกำหนดทางศาสนามาใช้ในบริบทเหล่านี้จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดและภูมิหลังว่า ตัวบทใดใช้ในบริบทใดเช่น ตัวบทที่ใช้ในบริบทของสงคราม ตัวบทที่ใช้ในบริบทของการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือการเดินทางหรือการอยู่ในภาวะไม่ปกติ ภาวะจำเป็น และภาวะวิกฤติ เป็นต้น 

 

     การตีความตัวบทตามอักษรโดยขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเจตณารมณ์ของตัวบทที่มีความผูกพันธ์กับบริบทหนึ่งบริบทใดเป็นการเฉพาะย่อมนำมาซึ่งปัญหาทั้งสิ้น และการใช้ตัวบทหรือข้อกำหนดทางศาสนา(จากการวินิจฉัยอิจติฮาด)ที่ไม่คำนึงถึงบริบททางสังคมก็มักจะสร้างปัญหาเช่นเดียวกัน 

 

 

     4 -  มีความใจกว้าง มองโลกและคนรอบข้างในแง่ดี ยอมรับในความต่าง เคารพและให้เกียรติในความต่าง อดทนต่อความต่างและปฏิสัมพันธ์กับความต่างอย่างสร้างสรรค์ แสวงหาจุดที่ร่วมกันเพื่อการพัฒนาและสร้างสันติภาพ ในขณะเดียวกันกับการที่ต้องรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมอย่างมั่นคงและเสมอต้นเสมอปลาย การรักษาอัตลักษณ์ดังกล่าวในด้านหนึ่งคือการเผยแผ่อิสลามหรือการดะวะห์อิสลาม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของมุสลิมทุกคน 

(ดูอัลกุรอาน3 : 110) 

 

 

     5 - การปฏิบัติตามผู้นำในกิจการต่างๆที่มีผลกระทบต่อสังคมมุสลิมและสังคมไทยโดยรวม อาทิเช่น การปฏิบัติตามมาตการต่างๆของท่านจุฬาราชมนตรีในสถานการณ์โควิด 19 หรือการปฏิบัติตามประกาศของจุฬาราชมนตรีที่เกี่ยวกับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อเอกภาพของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยโดยรวม 

 

     แม้คำประกาศจะมีประเด็นโต้แย้งทางศาสนาแต่เป็นการสมควรที่จะให้ผู้นำที่เป็นผู้มีอำนาจทั้งทางกฎหมายและศาสนาเป็นผู้ตัดสิน และเมื่อได้ตัดสินก็จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม เป็นไปตามหลักทฤษฎีของนักวิชาการฟิกฮฺที่กำหนดไว้ว่า : 

 

การตัดสินชี้ขาดของฮากิม(ผู้นำ)ถือเป็นการยุติการขัดแย้ง

 

 والله أعلم