ติดตามความชั่ว ด้วยความดี
  จำนวนคนเข้าชม  1581

ติดตามความชั่ว ด้วยความดี

 

อบู ชะฮ์มี่ อนัส ลีบำรุง...เรียบเรียง

 

         ขอเตือนตัวของผมเองและพี่น้องจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพราะความยำเกรงนั้นพระองค์จะทรงชี้นำทางให้แก่เขาทั้งในดุนยาและก็อาคีเราะฮฺ

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : ด้วยความโปรดปรานที่อัลลอฮฺทรงมีให้กับบ่าวผู้ศรัทธาในอุมมะอิสลามนี้ก็คือ การส่งท่านนบีมา ผู้ตักเตือน ผู้ป่าวประกาศศาสนาของอัลลอฮฺ ผู้ซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติ นำหลักธรรมคำสอนมาบอกกล่าว ปฏิบัติด้วยอามานะฮฺที่ได้รับมา ตักเตือนอุมมะฮฺของท่าน ต่อสู้เพื่ออัลลอฮฺในสิทธิที่พระองค์พึงได้รับจนกระทั่งความตายได้มาประสบพบเจอกับท่าน ท่านจะไม่ทิ้งสิ่งใดที่เป็นความดีงามไว้เว้นแต่ได้ชี้แจงบอกกล่าวแก่อุมมะฮฺของท่าน และถ้าสิ่งนั้นเป็นความชั่วร้ายความไม่ดีท่านก็จะไม่ละเลยมันเว้นแต่ว่าต้องตักเตือนและบอกกล่าวสำทับเรื่องนั้นไว้ ดังนั้นเราขอให้อัลลอฮฺตอบแทนท่านในสิ่งที่อุมมะฮฺเรานั้นได้รับมาจากท่าน

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : จากความสมบูรณ์ของอิสลาม ในสิ่งที่ท่านนบีได้บอกกล่าวตักเตือนสั่งเสียไว้ให้แก่อุมมะฮฺของท่านเอาไว้นั้น บอกกล่าวไว้ด้วยคำกล่าวที่สั้นรวบรัด วลีที่มีคุณค่า ใช้คำเพียงเล็กน้อยและเป็นถ้อยคำง่ายๆ แต่ความหมายมหาศาลครอบคลุมความยิ่งใหญ่ทั้งหมดทั้งมวลเอาไว้ ไว้ในสุนัน อัตติรมีซีย์

 

عن أبي ذرّ -رضي الله عنه- أن النبي -صلى الله عليه وسلم-

قال: "اتَّقِ اللَّهَ حَيْثُمَا كُنْتَ ، وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا ، وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ".

 

ท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์ ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด,

จงติดตามความชั่วด้วยการทำความดี และจงคบหาผู้คนด้วยมารยาทที่ดีงาม 

أخرجه الترمذي (1987)

 

          พี่น้องลองพิจารณาดูหะดีษบทนี้ครับ : เป็นหะดีษที่ยิ่งใหญ่เอามากๆ ด้วยกับคำพูดของท่านนบีของเรา เพียงไม่กี่ประโยคสั้นๆ รวบรวมไว้ซึ่งความดีงามทั้งหมด ทั้งความดีงามในเรื่องราวของดุนยาและอาคีเราะฮฺ และสำหรับใครที่นำหะดีษบทนี้ไปใช้นำไปปฏิบัติด้วยกับจุดมุ่งหมายของหะดีษแล้ว เขาจะพบกับคุณงามความดี พบกับความกว้างขวางในหนทาง และได้รับถึงความผาสุข หะดีษบทนี้ เป็นการรวมไว้ซึ่งรากฐานจริยธรรมในการปฏิบัติ สิทธิของอัลลอฮฺที่บ่าวพึงปฏิบัติต่อพระองค์, สิทธิของบ่าวแต่ละคนควรจะปฏิบัติกับตัวเอง , สิทธิของบ่าวแต่ละคนที่จะต้องปฏิบัติกับผู้ศรัทธาคนอื่นๆ

 

 

     ประการแรก ที่ท่านได้สั่งเสียไว้ : สิทธิของอัลลอฮฺที่บ่าวพึงปฏิบัติต่อพระองค์ คือรากฐานแรกบนรากฐานอื่นๆคือเสาหลักของการสร้างทุกสิ่ง เสาหลักของการนำพามาซึ่งความตักวาความยำเกรง ด้วยกับการสอดส่องตัวเองทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ในที่ผู้คนพบเห็นมีสายตาพบเห็นสอดส่องหรืออยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เพราะ อัลลอฮฺ ทรงสอดส่องพวกท่านอยู่เหนือชั้นฟ้าทั้ง 7 ไม่มีสิ่งใดจะซ่อนเร้นและรอดพ้นการสอดส่องของพระองค์ไปได้

 

          ถึงแม้นว่ามดดำจะคลานจะเดินอยู่บนหินดำ หรือมดที่เดินอยู่บนภูเขาลูกใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ที่เราแทบจะมองไม่เห็นมัน ไม่ว่าค่ำคืนนั้นจะมืดมิดขนาดไหน ไม่ว่าเลือดที่ไหลเวียนผ่านในเส้นเลือดของพวกเราก็ตามที แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งอย่าง และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงห้อมล้อมทุกสิ่งอย่างไว้ด้วยความรอบรู้ (ของพระองค์) และพระองค์ทรงนับจำนวนทุก ๆ สิ่งไว้อย่างครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง

 

"اتَّقِ اللَّهَ حَيْثُمَا كُنْتَ........จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด 

 

          สิทธิที่พระองค์พึงได้รับจากบ่าวในคำนี้ ก็คือการที่เรานั้นจะต้องเกรงกลัวในสิ่งที่เราปฏิบัติออกไปว่า สิ่งที่ทำแล้วมันทำให้พระองค์ทรงโกรธกริ้ว ทำแล้วได้รับการลงโทษเป็นการตอบแทนหรือไม่ ซึ่งก็คือเราจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามนั่นคือเกราะป้องกันชั้นดีเลิศ

 

     คำกล่าวของตาบีอีน ท่านนึงนามว่า ฏ็อลกฺ บิน ฮะบี๊บ رحمه الله ในเรื่องของความยำเกรงคือ :

 

أن تعمل بطاعة الله، على نور من الله، ترجو ثواب الله،

وأن تترك معصية الله، على نور من الله، تخاف عقاب الله.

 

"ความยำเกรง คือ การปฏิบัติด้วยการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ จากเเสงสว่างหรือทางนำที่มาจากพระองค์ เพื่อหวังผลบุญจากพระองค์ 

และละทิ้งการฝ่าฝืนพระองค์ จากเเสวงสว่าง หรือทางนำที่มาจากพระองค์ เนื่องจากการกลัวการลงโทษของพระองค์"

 

 

     ถึงแม้นว่าผู้ศรัทธาจะมีความระมัดระวัง และปรารถนาที่จะมีความยำเกรงในทุกสภาพการณ์ มันก็เป็นไปได้ว่าพวกเราอาจจะมีการทำความผิดในบางอย่างอยู่ดี ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า :

 

كُلُّ بَنِي آدَمَ خَطَّاءٌ، وخَيْرُ الْخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ

 

ลูกหลานของนบีอาดัมทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่มีความผิดบาป และคนที่ผิดที่ดีที่สุด คือ คนที่เตาบัตตัว

 أَخْرَجَهُ التِّرْمِذِيُّ،

 

 

     ประการถัดมา : คือ

 

"จงติดตามความชั่วด้วยการทำความดี"  ، وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا ،.

 

     นี่คือสิทธิของบ่าวแต่ละคนพึงปฏิบัติต่อตนเอง ลองพิจารณาดูถึงความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ในประโยคนี้ดู ความเมตตาความโปรดปรานจากพระเจ้าจากผู้สร้างที่สูงส่งเดชานุภาพ ซึ่งมีให้กับบ่าว คือความดีนั้นสามารถลบล้างความผิดออกไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

 

(أَقِمْ الصَّلاةَ طَرَفِي النَّهَارِ وَزُلَفاً مِنْ اللَّيْلِ إِنَّ الْحَسَنَاتِ يُذْهِبْنَ السَّيِّئَاتِ ذَلِكَ ذِكْرَى لِلذَّاكِرِينَ)

 

และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวัน และยามต้นจากกลางคืน

แท้จริง ความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก

( سورة هود 114)

 

          สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้คือ ชายคนหนึ่งมาหาท่านร่อซูลและได้บอกกับท่านว่า : ฉันได้ไปกระทำการไม่ดีงามกับสตรีนางหนึ่งที่ไม่ใช่ภรรยาของฉัน โดยเป็นการกอดจูบนางแต่ไม่ถึงขั้นร่วมหลับนอนกัน ที่นอกเมืองมะดีนะฮฺ แล้วก็สำนึกผิดก็เลยมาหาท่านร่อซูล แล้วได้บอกับท่านว่าท่านร่อซูล จะตัดสินเช่นไรก็บอกแก่ฉันมาได้เลย ฉันพร้อมรับคำตัดสิน

 

          ท่านร่อซูลก็ได้บอกกับชายคนนั้นว่า : อัลลอฮฺได้ทรงปกปิดบาปนี้ให้แก่ท่านแล้ว เจ้าก็อย่าได้ไปพูดกับใครมันก็น่าจะเป็นการดีหลังจากนั้นท่านร่อซูล ก็ไม่ได้พูดอะไรอีกจนชายคนนั้นได้เดินจากไป ก็รอคอยว่าท่านร่อซูล จะตัดสินเช่นไร หลังจากนั้น อัลลอฮฺก็ได้ทรงประทานอายะฮฺนี้ลงมา

 

         ท่านร่อซูลก็ได้เรียกศอฮาบะฮฺท่านนั้นมาบอกเรื่องดังกล่าว เขาก็ถามตอบว่า อายะฮฺนี้มันเฉพาะฉันเพียงคนเดียวกระนั้นหรือ ? 

          ท่านร่อซูลก็ได้ตอบกลับไปว่า อายะฮฺนี้นั้นมันครอบคลุมไปยังมนุษย์ทุกคนเลย

 

         นี่คือความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ความเมตตาที่หาไม่ได้จากที่ไหนเว้นแต่จากพระองค์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วผู้ศรัทธาอย่างเราและท่านทั้งหลายจะต้องพากเพียรในการทำความดีต่อไป เพื่อขยับเข้าใกล้ชิดพระองค์ และด้วยพระประสงค์ของพระองค์มันก็จะลบล้างความผิดออกไปจากพวกเรา แล้วความดีของเราจะทวีคูณมากขึ้นไป และการลบล้างความผิดที่ดีที่ยิ่งใหญ่ ก็คือการเตาบัต 

 

          และการเตาบัตนั้นทำลายล้างลบล้างสิ่งก่อนหน้านั้นทั้งหมด และใครที่กลับเนื้อกลับตัวเตาบัต พระองค์ก็จะทรงตอบรับการเตาบัตนั้น ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

 

قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَىٰ أَنفُسِهِمْ لَا تَقْنَطُوا مِن رَّحْمَةِ اللَّهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا ۚ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ

 

จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดปวงบ่าวของข้าเอ๋ย! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ

แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 [الزمر: 53]

وقوله: (لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ الله)،

     ความหมายคือ : อย่าได้หมดหวังต่อพระองค์ถึงแม้นว่าจะมีความผิดมากมายแค่ไหน แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยในความผิดทั้งหมดถึงแม้นมันจะใหญ่และมากมายขนาดไหนก็ตาม สำหรับผู้ที่เตาบัตและคืนสิทธิกลับคืนไปยังพระองค์

 

     ฉะนั้นแล้วสำหรับผู้ศรัทธาการให้ความสำคัญกับการทำความดี ก็ดูจะเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โตสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน เพื่อให้ความดีนั้นขจัดความชั่วร้ายและยกสถานะของบ่าวอย่างเราทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

 

     สำหรับผู้ศรัทธานั้นความดีคือการชำละล้างสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อนออกจากบ่าว เสมือนเสื้อผ้าที่สกปรกมีคราบอาหารต้องการการซักล้างเพื่อให้กลับมาสะอาดอีกครั้ง

 

     ท่านอิบนุล ก็อยยิม رحمه الله กล่าวว่า :

 

إن في الدنيا ثلاثة أنهر، من تطهر بها طهرته، وهي الحسنات الماحية، والتوبة النصوح، والمصائب المكفرة،

فمن تطهر بها في الدنيا طهرته، وإلا فإن الله يطهره يوم القيامة بنهر جهنم"

 

แท้จริงดุนยานั้นมีแม่น้ำอยู่สามสายด้วยกัน ใครที่ใช้น้ำแห่งการชำระล้างนี้ตัวเขาคนนั้นก็จะใสสะอาด 

น้ำแห่งการชำระล้าง

ประการแรก คือ การทำความดีนั้นลบล้างความผิด 

ประการที่สอง คือ การเตาบัตอย่างจริงจัง 

ประการที่สาม คือ ภัยหรือเคราะห์ร้ายที่มาประสบนั้นคือการลบล้างความผิดบาป 

      ดังนั้นใครก็ตามที่ถูกชำระล้างด้วยกับสามสิ่งนี้ เขาก็จะสะอาด แต่ถ้าไม่ได้ถูกชำระล้างด้วยกับสามสิ่งนี้แล้วนั้น แท้จริงพระองค์จะทรงชำระล้างเขานั้นด้วยกับสายน้ำแห่งญะฮันนัมในวันกิยามะฮฺ

     ขอดุอาอฮฺต่ออัลลอฮฺให้เราและท่านทั้งหลายปลอดภัยจากสิ่งดังกล่าว نسأل الله لنا ولكم العافية

 

 

     ประการสุดท้าย ที่ท่านนบีได้สั่งเสียเอาไว้ : คือผู้ศรัทธานั้นจะต้องปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยการปฏิบัติที่ดีงาม หรือเรียกง่ายๆว่า สิทธิของเพื่อนมนุษย์ที่พึงได้รับจากเรานั่นเอง ดังในประโยคสุดท้ายของหะดีษที่ว่า

 

..وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ".   และจงคบหาผู้คนด้วยมารยาทที่ดีงาม

 

        ก็คือปฏิบัติต่อผู้คนด้วยดี ด้วยมารยาท ด้วยความอ่อนโยน โดยให้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในสิ่งที่เรารักเราชอบให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา หรือให้ในสิ่งที่เรารักและเราชอบ และอยากจะได้รับจากเขา ดังนั้นเราจงพิจารณาดูว่า การปฏิบัติที่เราปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ออกไปนั้นคือสิ่งที่เราต้องการได้รับการปฏิบัติแบบนั้นกลับคืนมาหรือเปล่า

 

         ในการปฏิบัตินั้นมันมีมารยาทที่เราไม่ต้องการไหม จากการคดโกง จากการบิดพริ้ว จากการหลอกลวง จากการโกหก นั่นคือเป้าประสงค์รวมของคำว่า การมีมารยาทที่ดี เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครพึงพอใจและชอบการปฏิบัติที่หยาบคายหรือสิ่งไม่ดีที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้กับตัวเองอยู่แล้ว

 

     อุลามาอฺบางท่านจึงให้คำนิยาม ฮุสนุลคุลุกฺ เอาไว้ว่า :

     การหยุดยับยั้งหรือการทำอันตรายต่อผู้คนจากชนิดต่างๆ ของการทำอันตรายใดๆ ไม่ว่าจากคำพูดหรือการกระทำ แต่ให้พยายามปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยคำพูดที่ไพเราะ การปฏิบัติที่ดีที่เป็นที่พึงพอใจที่เขาชอบให้ผู้คนปฏิบัติต่อเขา 

 

     ดังที่ท่านร่อซูลได้กล่าวว่า :

 

لا يُؤْمِنُ أحدُكُم حتى يُحِبَّ لِأَخِيهِ ما يُحِبُّ لنفسِهِ......

 

คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะไม่ถือว่าเป็นผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขานั้นจะรักพี่น้องของเขาเสมือนเขาได้รักตัวของเขาเอง

أخرجه النسائي (5017) واللفظ له

 

     และอีกหะดีษบทหนึ่งท่านร่อซูลได้กล่าวว่า :

 

.....وليأْتِ إلى الناسِ ، الذي يُحِبُّ أنْ يُؤْتَى إليه......

 

การปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ เสมือนกับสิ่งที่เราอยากให้เขานั้นพึงปฏิบัติกับเรา

 أخرجه مسلم (1844))

 

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : มนุษย์ที่มีตำแหน่งสถานะที่ดีที่ร่อซูลได้บอกเอาไว้ก็คือ ผู้ที่มีจรรยามารยาทที่ดีงาม ดังที่ปรากฏในหะดีษของท่านร่อซูล

 

إِنَّمَا بُعِثْتُ لأُتَمِّمَ مَكَارِمَ الأَخْلاَقِ

 

แท้จริงฉันถูกส่งมาเพื่อทำให้จริยธรรมอันดีงามนั้นมีความสมบูรณ์

( رواه أحمد رقم 2/381)

 

" خَيْرُكُمْ خَيْرُكُمْ ِلأهْلِهِ وَأَنَا خَيْرُكُمْ ِلأَهْلِي"

 

ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือผู้ที่ดีที่สุดกับครอบครัวของเขา และฉันก็ดีที่สุดในหมู่พวกท่านที่ทำดีกับครอบครัวของฉัน

أخرجه الترمذي (3895) واللفظ له،

 

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการยำเกรงต่อพระองค์นั้นคือคำสั่งเสียที่พระองค์ให้ไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

 

(وَلَقَدْ وَصَّيْنَا الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ مِنْ قَبْلِكُمْ وَإِيَّاكُمْ أَنْ اتَّقُوا اللَّهَ)

 

และแท้จริงเราได้สั่งเสียไว้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนจากพวกเจ้าและพวกเจ้า ด้วยว่า จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด

[النساء: 131]

 

 

          การยำเกรง คือ คำสั่งเสียของท่านร่อซูลต่อประชาชาติของท่านด้วยเช่นกัน และการยำเกรงนั้น ยังเป็นคำสั่งเสียของชาวสลัฟฟุศศอลิห์ระหว่างพวกเขาทั้งหลายด้วยกันเอง ดังที่อะที่ท่านอุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวแก่ชายคนนึงว่า :

 

اتق الله، قال: لا خير فيكم إذا لم تقولوها، ولا خير فينا إذا لم نقبلها، وخير ما تعمر به في هذه الحياة تقوى الله -جل وعلا-،

وخير زاد يتزود به العبد ليوم المعاد هو تقوى الله -جل وعلا

 

 

จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด ไม่มีความดีใดสำหรับพวกท่านถ้ารู้แล้วไม่พูดไม่เตือนไม่บอกกล่าว 

และไม่มีความดีใดสำหรับพวกเรา หากว่าไม่รับคำตักเตือนนั้นๆ

สิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณเป็นชีวิตที่ดีก็คือความตักวาความยำเกรง 

และเสบียงที่บ่าวควรจะเก็บเกี่ยวให้มาก เพื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพก็คือ ตักวาต่ออัลลอฮฺ 

ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

(وَتَزَوَّدُوا فَإِنَّ خَيْرَ الزَّادِ التَّقْوَى)

แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง

 [البقرة: 197].

 

          สุดท้ายนี้ ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้เราและท่านทั้งหลายเป็นบุคคลที่มีความยำเกรงทั้งในที่ลับและที่เปิดเผย ทรงฮิดายะฮฺใหับกับพวกเราซึ่งการปฏิบัติคุณงามความดีเพื่อเข้าใกล้ชิดพระองค์....อามีน