การอ่านอัลกุรอานของหญิงที่มีเลือดประจำเดือน
  จำนวนคนเข้าชม  1127

การอ่านอัลกุรอานของหญิงที่มีเลือดประจำเดือน

 

วันละหนึ่งความคิด....แปลเรียบเรียง

 

 

- เชค มุฮัมมัด อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

คำถาม :

 

          อะไรคือฮุก่มการอ่านอัลกุรอานของหญิงที่มีเลือดประจำเดือน  (เฮฎ) หรือเลือดหลังคลอดบุตร (นิฟาส) ไม่ว่าจะเป็นการอ่านแบบมอง (ในอัลกุรอาน) หรือ ท่องจำ ในสภาวะที่มีความจำเป็น ( ฎ่อรูเราะฮฺ ) เช่น ในฐานะของนักเรียน นักศึกษา หรือ ครูบาอาจารย์ ?

 

 

คำตอบ :

 

          ไม่มีปัญหาอะไรเลย ในกรณีที่สตรีที่มีเฮฎหรือนิฟาสจะอ่านอัลกุรอาน หากมีความจำเป็น เช่นเป็นครู หรืออยู่ในการเรียนการสอนที่ต้องอ่านทบทวนทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนการอ่านอัลกุรอานเพื่อหวังผลบุญหรือภาคผลของการอ่านนั้น ที่ประเสริฐและสมควรกว่า คือ ไม่อ่าน

          เพราะนักวิชาการจำนวนมาก มีความเห็นว่า สตรีที่มีประจำเดือนนั้น  ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับเธอในการอ่านอัลกุรอาน

 

(60 คำถามเกี่ยวกับฮุก่มเฮฎและนิฟาส / 18)

 

 

 

- เชค อับดุลอาซี้ซ บิน บ๊าศ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

     ไม่มีปัญหาอะไร ในการที่สตรีที่มีประจำเดือน หรือ มีเลือดหลังคลอดบุตร ในการที่เธอจะอ่านอัลกุรอานจากสิ่งที่เธอท่องจำ

     ไม่เป็นไรหากเธอจะอ่านอายะฮฺกุรซีย์ก่อนนอน หรือท่องจำในสิ่งที่สะดวกง่ายดายสำหรับเธอ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง

     ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม  จึงได้บอกกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ ขณะที่นางมาประเจำเดือนว่า :

 

افعلي ما يفعله الحاج غير أن لا تطوفي بالبيت 

 

"จงทำในสิ่งที่คนทำฮัจญ์ทำ งดเว้นเพียง การไม่ฏอวาฟรอบบัยตุ้ลลอฮฺเท่านั้น"

 

     ท่านไม่ได้บอกกับนางว่า " อย่าอ่าน " แต่บอกว่า "อย่าได้ฎอวาฟ"

     เพราะการฏอวาฟเหมือนการละหมาด เพราะนางไม่ได้ละหมาด (จึงไม่ต้องฏอวาฟ) และไม่ได้ระบุห้ามถึง การอ่านอัลกุรอานแต่อย่างใด

     จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า การอ่านอัลกุรอานไม่เป็นที่ต้องห้าม และหากการอ่านเป็นที่ต้องห้ามแล้วละก็ แน่นอนท่านต้องชี้แจงแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ และสตรีคนอื่นๆ ทั้งในฮัจญ์ครั้งอำลาและครั้งอื่นๆ

 

(นูรุน อะลัดดัรบฺ)