ขอความจำเริญ และคุ้มครองจากสิ่งไม่ดี
  จำนวนคนเข้าชม  1393

ขอความจำเริญ และคุ้มครองจากสิ่งไม่ดี

 

.ดาวุด ธิยัน... แปลเรียบเรียง 

 

อธิบายดุอากุหนูตวิตร์  โดยชัยค์อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ 

 

 ขอความจำเริญ (บะรอกะห์)

 

«وبارك لنا فيما أعطيت»

 

"วะบาริกละนา ฟีมาอะอ์ฎ็อยต้า" 

 

      บะรอกะห์ คือ ความดีที่มากมายและยั่งยืน

     และบรรดานักวิชาการได้อธิบายรากศัพท์ที่แตกมาจากคำนี้ว่า มันมาจากคำว่า "อัลบิรกะฮ์" ใส่สระกัสเราะห์ที่ตัวบา  ซึ่งมีความหมายว่า "อ่างเก็บน้ำ หรือ เขื่อนกั้นน้ำ" คือสิ่งหนึ่งที่กว้างขวางและมีน้ำจำนวนมากไม่ขาดแคลน

 

     ดังนั้นคำว่าบะรอกะห์  คือ ความดีอันมากมายและยั่งยืน  

     ความหมายตรงนี้ ก็คือ โอ้อัลลอฮ์โปรดประทานความดีอันมากมายและยั่งยืนให้แก่สิ่งที่พระองค์มอบให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

«فيما أعطيت »   "ในสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้"

 

          คือ พระองค์ทรงมอบทรัพย์สินเงินทอง ลูกหลาน ความรู้ และอื่นๆอีกมากมาย จากสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้  ดังนั้นให้ท่านขอความเริญในสิ่งเหล่านั้น  เพราะถ้าพระองค์ไม่มอบความจำเริญในสิ่งที่พระองค์มอบให้แก่ท่าน ท่านจะพลาดความดีอีกมากมายมหาศาล.

 

          มีผู้คนจำนวนมากที่มีทรัพย์สินมากมายก่ายกอง แต่ถูกนับว่าพวกเขาก็คือคนยากจน เพราะพวกเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากทรัพย์สินของเขาเลย เก็บอย่างเดียวไม่ได้รับประโยชน์อไรจากมันเลย นี่คือสิ่งหนึ่งจากวิธีการถูกถอนความจำเริญออกจากทรัพย์สิน

          และมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มีลูกหลาน แต่ลูกหลานให้ได้สร้างประโยชน์อันใดให้แก่เขาเลย เพราะไม่เชื่อฟัง คนเหล่านี้ไม่ได้รับความจำเริญในลูกหลานเช่นกัน.

 

          ท่านจะพบว่าบางคนอัลลอฮ์ให้ความรู้แก่เขาอย่างมากมาย แต่เขากลับอยู่ในสถานะเหมือนคนไม่รู้ศาสนา ไม่แสดงความรู้ผ่านการประกอบศาสนกิจของเขา ผ่านจรรยามารยาทของเขา ผ่านพฤติกรรมของเขา และไม่แสดงผ่านการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ทว่าบางทีความรู้ที่มีกลับนำพาเขาไปสู่ความเย่อหยิ่งจองหองต่อพี่น้องร่วมศรัทธา ดูถูกดูแคลนพวกเขา เขาไม่รู้ว่าผู้ที่มอบความรู้ที่แท้จริงคืออัลลอฮ์  ท่านจะพบว่าผู้คนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากความรู้ของเขา ไม่ว่าจะจากการสอน คำเตือน บทประพันธ์ แต่ทว่ากักความรู้ไว้แค่ตัวเอง สิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าเขาพลาดความดีอันมากมายมหาศาล ทั้งๆที่ว่าความรู้คือสิ่งที่จำเริญที่สุดจากสิ่งที่พระองค์ประทานให้แก่บ่าวของพระองค์

 

          แท้จริงแล้วความรู้นั้นเมื่อท่านสอนมันให้แก่ผู้คน ท่านจะได้รับการตอบแทนมากมายหลายประการ :-

 

     ประการที่หนึ่ง : การเผยแผ่ความรู้ศาสนาของท่าน ก็คือ การเผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮ์ ดังนั้นท่านจึงเป็นคนหนึ่งจากผู้ทำจิฮาด(ต่อสู้)ในหนทางของอัลลอฮ์ เพราะท่านได้พิชิตหัวใจของผู้คนด้วยความรู้ ดังที่บรรดานักต่อสู้ได้พิชิตเมืองต่างๆด้วยอาวุธและความศรัทธา

 

     ประการที่สอง : จากความจำเริญของการเผยแผ่ความรู้และสอนมัน คือ การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งบทบัญญัติของอัลลอฮ์ และการปกป้องบทบัญญัติ หากมิใช่เพราะความรู้แล้วไซร้ บทบัญญัติจะไม่ถูกพิทักษ์.

 

     ประการที่สาม : จากความจำเริญของการเผยแผ่ความรู้ศาสนา คือการที่ท่านได้ทำความดีแก่ผู้คนที่ท่านได้สอนเขา เพราะท่านทำให้เขาเข้าใจศาสนาของอัลลอฮ์ ถ้าเขาเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนความเข้าใจ ท่านก็จะได้รับความดีเหมือนที่เขาได้รับ เพราะท่านคือผู้ชี้นำเขาไปสู่ความดีงาม และผู้ชี้นำ(ผู้อื่น)สู่ความดีงาม (เขาได้รับผลบุญ)เสมือนเขาได้ปฏิมันเอง.

 

     ประการที่สี่ : การเผยแผ่ความรู้ และสอนมัน คือการเพิ่มพูนความรู้(แก่ผู้เผยแผ่) ความรู้จะเพิ่มก็ต่อเมื่อเขาได้สอนมัน เพราะได้ทบทวนในสิ่งที่เคยจำ และเปิดรับสิ่งใหม่ที่ยังไม่จำ เหมือนกับที่มีคนพูดมักพูดกันวาความรู้ยิ่งให้ก็ยิ่งเพิ่ม ยิ่งเก็บก็ยิ่งลด

 

 

 

 ขอความคุ้มครองจากสิ่งไม่ดีที่ถูกลิขิตขึ้น!!

 

 

«وقنا شر ما قضيت»

 

โอ้อัลลอฮ์โปรดปกป้องเราจากสิ่งชั่วร้ายที่พระองค์ทรงกำหนดด้วยเถิด

 

     อัลลอฮ์ทรงกำหนดสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี.

     ส่วนการกำหนดที่ดีนั้นมันคือความดีที่บริสุทธิ์ทั้งในการกำหนดและสิ่งที่ถูกกำหนด

 

     ตัวอย่างการกำหนดที่ดี เช่น : กำหนดให้มนุษย์ได้รับริสกีที่กว้างขวาง ความปลอดภัย และความสงบสุข ทางนำและชัยชนะ ฯลฯ นี่คือความดีที่อยู่ในการกำหนดและสิ่งที่ถูกกำหนด.

 

     ส่วนการกำหนดด้วยกับสิ่งที่ไม่ดี คือ :  ความดีอยู่ในการกำหนด (ส่วน)ความชั่วร้ายอยู่ในสิ่งที่ถูกกำหนด.

     เช่น : ความแห้งแล้ง (ฝนไม่ตกต้องตามฤดูการ) นี่คือความไม่ดี แต่ทว่าการกำหนดของอัลลอฮ์นั้นมีความดีซ่อนอยู่ในมัน.

     เป็นไปได้อย่างไรที่ความแห้งแล้งจะมีความดีอยู่ในนั้น? 

     หากมีคนพูดขึ้นว่า : อัลลอฮ์ทรงลิขิตให้ความแห้งแล้งให้ประสบกับเรา!! ปศุสัตว์ก็ล้มตาย พืชผลก็เสียหาย แล้วอะไรคือความดี?

     เราก็จะตอบว่า : จงฟังดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา สิ :

 

{ظَهَرَ الْفَسَادُ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا كَسَبَتْ أَيْدِي النَّاسِ لِيُذِيقَهُمْ بَعْضَ الَّذِي عَمِلُواْ لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ} [الروم: 14]

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนผืนบกและผืนน้ำ อันเนื่องจากน้ำมือของมนุษย์

เพื่อที่พวกเขาจะลิ้มรสบางสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบเอาไว้ เพื่อพวกเขาจะกลับตัว

(อัรรูม 14)

 

          ดังนั้นการกำหนด(ให้เกิดความเสียหาย)ตรงจุดนี้มีเป้าหมายที่ดี นั่นคือ การกลับมาสู่พระเจ้าจากการฝ่าฝืนสู่การเชื่อฟังพระองค์ กลายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดนั้นเป็นความชั่วร้าย แต่การตัดสิน(ของพระเจ้า)นั้นเป็นความดีงาม ด้วยเหตุนี้ "ما" ในที่นี้จึงเป็น اسم موصول (ที่แปลว่า สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เหมารวมทุกการกำหนดที่มาจากอัลลอฮ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี-ผู้แปล)

 

          ความหมายของ "قِنَا شرَّ الذي قضيت" คือ ขอทรงคุ้มครองพวกเราจากความชั่วร้ายจากสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกำหนด(สร้าง)ไว้ เพราะแท้จริงแล้วอัลลอฮ์ทรงกำหนดทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี

 

          คำว่า "ما" (มา) ในประโยคนี้ไม่ใช่ مصدر (มัศดัร = รากฐาน : คือรวมทั้งการกำหนดและสิ่งถูกกำหนดรวมอยู่ในความไม่ดีที่ขอให้เรารอดพ้น-ผู้แปล) แต่เป็น اسم موصول หมายถึง "สิ่งที่" เพราะว่าการตัดสินของอัลลอฮ์นั้นไม่มีสิ่งที่ชั่วร้าย 

 

          และสิ่งนี้มีปรากฏในบทฮะดิษที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวสรรเสริญพระเจ้าไว้ว่า :

 

«والخير بيديك والشر ليس إليك» 

 

"ความดีงามอยู่ในพระหัตถ์ทั้งสองของพระองค์ และความชั่วร้ายนั้นไม่พาดพิงไปยังพระองค์" 

 

          ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรพาดพิงความชั่วร้ายกลับไปยังอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ว่าพระองค์ยินดีกับความชั่วร้าย-ผู้แปล)