สุดโต่ง (อัตตะนัตตั๊วอ์)
อ.อิสหาก พงษ์มณี
ความสุดโต่ง สุดขั้ว หรือที่คนยุคใหม่มักเรียกว่า เอกซ์ตรีม คือลักษณะการกระทำที่เกินปกติ รักก็รักสุดขั้ว หลงก็หลงสุดขั้ว เลวก็เลวสุดขั้ว ร้ายก็ร้ายสุดขั้ว หรือเคร่งก็เคร่งสุดขั้ว อย่างนี้เป็นต้น
ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงความสุดโต่งไว้ดังนี้
عَنْ عَبْدِ الله بن مسعود -رضي الله عنه- قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللهِ -صلى الله عليه وسلم-: "هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُونَ قَالَهَا ثَلاثًا
أخرجه مسلم (2670)
มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านร่อซูลูลุ้ลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“พวกสุดโต่งวิบัติ(แน่นอน) ท่านกล่าวย้ำถึงสามครั้ง”
(โดยอิหม่ามมุสลิม)
ท่านอิหม่านะวาวี ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ อธิบายไว้ดังนี้ว่า
قال النووي رحمه الله: في شرح الحديث: "أي المتعمقون الغالون المجاوزون الحدود في أقوالهم وأفعالهم. . . وفيه كراهة التقعّر في الكلام بالتشدد وتكلف الفصاحة واستعمال وحشي اللغة ودقائق الإعراب في مخاطبة العوام ونحوهم
رياض الصالحين ص 590
“คือบรรดาผู้ที่ลงลึกจนเกินเลยขอบเขต (ที่เหมาะสม) ไม่ว่าจะในด้านคำพูดหรือการกระทำ
ดังนั้นนัยยะฮะดีษดังกล่าวยังสื่อไปถึงว่า ไม่สมควรใช้คำพูดที่ดุดันเกินไป ใช้โวหารจนเกินควร หรือใช้ภาษาที่ยากและลึกล้ำจนเกินไปในการสนทนากับชาวบ้าน”
การปฏิบัติตนในทางศาสนาบางทีก็เกิดความสุดโต่งได้เช่นกัน เช่น ละเว้นสิ่งที่มุบาห์ (คือสิ่งที่พูดหรือทำแล้วไมมีบุญและไม่เป็นบาป) โดยถือเอาเป็นความเคร่งครัด ความเคร่งครัดคือเว้นสิ่งที่มักรั๊วห์และฮะรอม ไม่ใช่เว้นสิ่งมุบาห์ การเว้นสิ่งที่มุบาห์ไม่เกี่ยวอะไรกับความเคร่งครัด และถ้ายึดถือว่าการละเว้นสิ่งที่มุบาห์เป็นเรื่องความเคร่งครัด เมื่อนั้นมันก็เข้าข่ายคำว่า “อัตตะนัตตั๊วอฺ” ที่แปลว่าสุดโต่งนั่นเอง
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ กล่าวว่า
قال شيخ الإسلام تقي الدين: "والزهد إنما يُراد لأنه زهد فيما يضر أو زهد فيما لا ينفع، فأما الزهد في النافع فجهلٌ وضلال
مجموع الفتاوي 10/ 511
“อันว่าเคร่งครัด หมายถึง เว้นจากสิ่งก่อเกิดอันตรายหรือไร้ประโยชน์ ส่วนการเคร่งครัดจากสิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์ นั่นคือความเขลาและหลงผิด”
ท่านค๊อฏฏอบี ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ยังขยายความให้กว้างไปอีกว่า
قال الخطابي: "المتنطع، المتعمق في الشيء المتكلف البحث عنه على مذهب أهل الكلام الداخلين فيما لا يعنيهم الخائضين فيما لا تبلغه عقولهم
معالم السنن 7/ 13
“พวกสุดโต่งคือพวกที่ลงลึก (จนเกินเลยขอบเขตบังคับ) ตามแนวทางของพวกอะห์ลุ้ลกะลาม (นักวิพากษ์พระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ์) คือลงลึก (วิพากวิจารณ์) ในสิ่งที่ปัญญาตนก็ไปไม่ถึง”
สรุป
๑. ความสุดโต่งไม่ว่าจะในเรื่องใด มีตัวบทหลักฐานห้ามไว้ชัดเจน
๒. คำว่าสุดโต่งครอบคลุมถึงคำพูดและกระทำที่เกินเลยขอบเขตตามปกติวิสัยที่ควรจะเป็น
๓. พูดให้ยาก เขียนให้ยาว หรืออธิบายให้ยุ่งเข้าไว้ (ให้ตัวเองดูเก่งดูดี) หรือหยาบคาย สถุนถ่อย ปากจัด ทั้งหมดเหล่าอยู่ในความหมายของคำว่า “ตะนัตตั๊วอฺ” ตามคำอธิบายของอิหม่ามนะวาวี เช่นกัน