เข้าสวรรค์ด้วยความดีที่ทำได้
  จำนวนคนเข้าชม  2034

 

เข้าสวรรค์ด้วยความดีที่ทำได้

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งว่า

 

وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ وَلَا تَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡإِثۡمِ وَٱلۡعُدۡوَٰنِۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ إِنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ

 

( ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 2 )

 

     “อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งใช้ให้เรามีอัตตักวา คือ ให้เรามีความยำเกรงต่อพระองค์ 

     และเมื่อเรามีความยำเกรงต่อพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงสั่งให้เราช่วยเหลือกันและกันในการทำความดี ส่งเสริมกันและกันให้ทำสิ่งที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา 

     และในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงให้เราตักเตือนกัน ห้ามปรามกันในเรื่องที่เป็นบาป ไม่ให้ส่งเสริมกันในเรื่องที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระองค์ หรือล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ และเราอย่าเป็นศัตรูต่อกัน 

     ดังนั้น เราจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด ( โดยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างจริงจัง ) เพราะ

     แท้จริงแล้ว พระองค์เป็นผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรง

 

          เมื่อครั้งก่อน เราพูดถึงวิธีการลบล้างบาปด้วยอะมัลศ่อลิห ...เราลบล้างบาปเพื่อที่จะได้เตรียมตัวเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ...แต่เมื่อเราลบล้างบาปหมดสิ้นแล้ว ..มันยังไม่พอที่จะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา..เราก็ต้องมีอะมัลศ่อลิหฺต่าง ๆ ที่เราก็ต้องลงทุนลงแรงทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงเมตตาเรา 

 

          เพื่อให้อะมัลศ่อลิหฺ ที่เราลงทุนลงแรงทำเหล่านั้น นำเราไปสู่ความเมตตาของพระองค์ และความเมตตาของพระองค์นี่แหละที่จะนำเราไปเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะถ้าเราได้รับการลบล้างบาปหมดสิ้นแล้ว แต่เราไม่มีผลงาน เราไม่ได้ลงทุนลงแรงทำอะมัลศ่อลิหฺอะไรไว้เลย แล้วอย่างนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงเมตตาเราได้อย่างไร ?

 

          เพราะแท้จริงแล้ว เราทุกคนจะเข้าสวรรค์ของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ ก็เนื่องจากความเมตตาของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น

 

          ดังนั้น การลงมือ ลงทุนลงแรงทำอะมัลศ่อลิหฺต่าง ๆจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเราเช่นกัน ซึ่งอุละมาอ์ก็ได้แนะนำอะมัลศ่อลิหฺที่เราทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันเอาไว้ เพื่อให้เราได้นำไปปฏิบัติ ..ซึ่งใครที่เขาปฏิบัติมาก เขาทำได้มาก เขาก็จะได้รับขั้นในสวรรค์ที่สูงขึ้น...อะมัลศ่อลิหฺนั่นก็ได้แก่

 

 

ประการที่หนึ่ง การทำดีต่อคุณพ่อคุณแม่

 

          อันเนื่องจากว่าเราทุกคนเป็นลูก ดังนั้น ลูกทุกคนพึงทราบเถิดว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ความสำคัญกับพ่อแม่เป็นอันดับที่สองรองจากการอิบาดะฮฺต่อพระองค์ ..ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงสั่งใช้ลูกให้ทำความดีต่อพ่อแม่ ดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ ห้ามเนรคุณต่อพ่อแม่ เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ เหล่านี้คือหนทางหนึ่งที่จะนำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

رَغِمَ أنْفُهُ، ثُمَّ رَغِمَ أنْفُهُ، ثُمَّ رَغِمَ أنْفُهُ قيلَ: مَنْ؟ يا رَسولَ اللهِ، قالَ: مَن أدْرَكَ والِدَيْهِ عِنْدَ الكِبَرِ، أحَدَهُما، أوْ كِلَيْهِما، ثُمَّ لَمْ يَدْخُلِ الجَنَّةَ.

 

     ความวิบัติจงประสบแก่เขา... ความวิบัติจงประสบแก่เขา... ความวิบัติจงประสบแก่เขา ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ของเขาในขณะที่ท่านหนึ่งท่านใดหรือทั้งสองท่านเข้าสู่วัยชรา โดยที่เขาผู้นั้นไม่ได้เข้าสวรรค์

 

          ลูกไม่ได้เข้าสวรรค์เพราะเขาไม่ได้ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ของเขา ไม่ได้ดูแลพ่อแม่ของเขา ไม่ได้ทำความดีกับพ่อแม่ของเขา หรือการที่เขาไม่ได้ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ สั่งห้าม เพราะไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยถูกปลูกฝังในเรื่องของศาสนา คนเป็นพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรที่ลูกจะไม่ได้เข้าสวรรค์ ... ?

 

          ดังนั้นจะเห็นว่าการอบรมสั่งสอน การปลูกฝังในเรื่องของศาสนาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่จะต้องมอบให้กับลูก เมื่อลูกได้เรียนรู้ในเรื่องของศาสนา ได้ถูกปลูกฝังในเรื่องของศาสนาก็จะเข้าใจและทำดีต่อพ่อแม่ แล้วก็ทำดีต่อตัวเองโดยการปฏิบัติตัวเป็นมุสลิมที่ดี อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้เข้าสวรรค์ ...

 

          ในเรื่องของการศึกษานั้น ศาสนาสั่งใช้ให้ศึกษาควบคู่กันไปทั้งทางด้านวิชาสามัญและด้านศาสนา จะหนักไปด้านใดด้านหนึ่งมันก็ไม่ดี การศึกษาแบบบูรณาการสามัญควบคู่อิสลามจึงได้เกิดขึ้น เพื่อรองรับกับการปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ในเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกหลานมุสลิมของเราได้เรียนรู้ควบคู่กันไปในแต่ละวัน ได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาในแต่ละวัน ชีวิตของลูกหลานมุสลิมจะต้องถูกหล่อหลอมด้วยบทบัญญัติศาสนาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ยังเล็ก ๆเลย เพราะเด็ก ๆก็เหมือนผ้าขาวที่พ่อแม่จะย้อมให้ลูกเป็นสีอะไรก็ได้ จะย้อมให้เขาเป็นมุสลิมที่ดีก็ได้ ย้อมให้เขาเป็นยิว ให้เป็นคริสเตียน ให้เป็นมะยูซีย์ก็แล้วแต่พ่อแม่ที่จะส่งเสริมลูกให้ไปในทางใด ...

 

          และยิ่งในสังคมรอบ ๆตัวเราทุกวันนี้มีสิ่งเย้ายวน มีสิ่งล่อหลอกให้หลงไปในทางที่ไม่ดีมากมาย ถ้าเราไม่ให้ศาสนาแก่ลูกหลานของเรา แล้วพวกเขาจะเอาอะไร หรือจะใช้อะไรมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้หลง ไปทำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นความชั่ว สิ่งที่ขัดกับบทบัญญัติศาสนา ... 

 

          ขนาดเราเลี้ยงลูกในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมุสลิม ส่งเข้าโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนมุสลิมตลอด ก็ยังต้องคอยดูแลกวดขันเพื่อไม่ให้เขาหลงไปกับการใช้ชีวิตที่ขัดกับบทบัญญัติของอิสลาม เพราะสังคมรอบ ๆ ตัวเรามันเปิดโอกาสให้เราหลงคล้อยตามไปได้ง่าย ๆ และ เราอย่าได้หลงลำพองใจว่าลูกของฉัน ฉันเลี้ยงมาอย่างดี ถึงไม่ได้เรียนศาสนาก็ดีได้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ถือว่าขาดทุน เพราะการเป็นคนดี การทำความดีของมุสลิมต้องเป็นความดีในแบบฉบับของอิสลาม ต้องเป็นความดีที่มีแบบอย่างมาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺท่านนบี 

 

          การปฏิบัติของมนุษย์เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ได้เป็นมุสลิม จะเป็นใครก็แล้วแต่ การปฏิบัติตัวของเขา การดำเนินชีวิตของเขาในโลกดุนยานี้จะส่งผลต่อเขาในโลกอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน เขาจะได้รับนรกหรือสวรรรค์ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัว ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตในขณะนี้ทั้งสิ้น ..

 

          ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่จึงส่งผลต่อตัวของลูก และการปฏิบัติตัวของลูกก็ส่งผลต่อพ่อแม่ ถ้าเรามีลูกศ่อลิหฺที่ดำเนินชีวิตอยู่ในขอบเขตศาสนา เขาก็จะเป็นตัวช่วยหนึ่งให้พ่อแม่ได้รับความสุขสบายในโลกอาคิเราะฮฺ นอกจากตัวของเขาเองได้เข้าสวรรค์แล้ว เขายังพาพ่อแม่ของเขาเข้าสวรรค์อีกด้วย

 

          ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของบทบัญญัติศาสนาจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เหมือนหลักสูตรสามัญที่ปีนี้เรียนเรื่องนี้ ปีหน้าเรียนอีกเรื่องหนึ่งแล้วก็จบกันไป แต่อิสลามไม่ใช่ อิสลามต้องศึกษาตลอดเวลา แล้วก็นำความรู้ที่ศึกษานั้นมาปฏิบัติให้เกิดผล เป็นรางวัลการตอบแทนทั้งในโลกดุนยานี้ และในโลกอาคิเราะฮ ต้องเร่งขวนขวายหาวิธีที่จะทำให้เราได้เข้าสวรรค์ ขอให้เราตระหนักตรงนี้ให้มาก ๆ เราจะได้ไม่มาเสียใจในภายหลัง เพราะเราย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว

 

 

ประการที่สอง การรักษาลิ้นกับปาก และอวัยวะเพศของเขา

 

     ใครก็ตามที่สามารถรักษาทั้งสองประการนี้ได้ เขาจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

     อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านสะฮ์ลฺ อิบนุ สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

مَنْ يَضْمَنْ لِي مَا بَيْنَ لَحْيَيْهِ وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ، أَضْمَنْ لَهُ الْجَنَّةَ

 

     ใครที่รับประกันกับฉัน(ว่าจะระวัง)สิ่งที่อยู่ระหว่างเคราของเขา( ก็คือลิ้นกับปาก) และสิ่งที่อยู่ระหว่างขาทั้งสองของเขา( ก็คืออวัยวะเพศ) ฉันก็จะประกันสวนสวรรค์สำหรับเขา

 

      การรักษาลิ้น ก็คือรักษาลิ้นของเขาจากการพูดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ไร้สาระ ไม่พูดจาโกหกพกลม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแยงตะแคงรั่ว ไม่พูดจายุยงปลุกปั่น ไม่พูดนินทากล่าวร้ายใครต่อใคร ออกห่างจากคำพูดที่ไม่ดีทุกชนิด ..นี่คือการรักษาลิ้น

 

      ส่วนการรักษาปากของเขา ก็คือ รักษาปากจากการไม่รับประทานสิ่งที่อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามทุกชนิด

 

      สำหรับการรักษาอวัยเพศ ก็คือ การรักษาร่างกายของเขาให้ห่างไกลจากการทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม และรักษาอวัยวะเพศของเขาให้ห่างไกลจากการละเมิด การผิดประเวณีหรือการทำซินา

 

          ดังนั้น ใครก็ตามที่รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ ท่านนบีก็รับประกันสวนสวรรค์ให้เขา ก็หมายความว่า เขาจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั่นเอง

 

 

ประการที่สาม การแสวงหาความรู้ด้านศาสนา

 

     ก็คือการแสวงหาความรู้จากอัลกุรอาน และอัลหะดีษ เป็นหนทางหนึ่งที่จะนำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

     อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ ) ในบันทึกของอิมามอะบูดาวูด จากรายงานของท่านอะบู อัดดัรดาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

«مَنْ سَلَكَ طَرِيقًا يَطْلُبُ فِيهِ عِلْمًا سَلَكَ اللَّهُ بِهِ طَرِيقًا مِنْ طُرُقِ الْجَنَّةِ، وَإِنَّ الْمَلَائِكَةَ لَتَضَعُ أَجْنِحَتَهَا رِضًا لِطَالِبِ الْعِلْمِ وَإِنَّ الْعَالِمَ لَيَسْتَغْفِرُ لَهُ مَنْ فِي السَّمَوَاتِ وَمَنْ فِي الْأَرْضِ وَالْحِيتَانُ فِي جَوْفِ الْمَاءِ وَإِنَّ فَضْلَ الْعَالِمِ عَلَى الْعَابِدِ كَفَضْلِ الْقَمَرِ لَيْلَةَ الْبَدْرِ عَلَى سَائِرِ الْكَوَاكِبِ وَإِنَّ الْعُلَمَاءَ وَرَثَةُ الْأَنْبِيَاءِ وَإِنَّ الْأَنْبِيَاءَ لَمْ يُوَرِّثُوا دِينَارًا وَلَا دِرْهَمًا وَرَّثُوا الْعِلْمَ فَمَنْ أَخَذَهُ أَخَذَ بِحَظٍّ وَافِرٍ»

 

     ผู้ใดที่แสวงหาหนทางเพื่อให้ได้รับความรู้ ..อัลลอฮฺจะทรงนำเขาไปสู่หนทางของสวรรค์ (นั่นก็คือ พระองค์จะประทานความสะดวกง่ายดายให้แก่เขาในการได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ )...

     มะลาอิกะฮฺจะกางปีกเพื่อแสดงความความยินดีต่อผู้แสวงหาวิชาความรู้ ......

      สำหรับผู้รู้นั้นจะมีผู้ขออภัยโทษให้แก่เขาทั้งสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน แม้กระทั่งบรรดาฝูงปลาในท้องทะเล (ก็จะขออภัยโทษให้แก่เขาด้วย).... 

     แท้จริงความประเสริฐของผู้มีความรู้เหนือผู้ทำอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว (นั่นก็หมายถึง คนที่มีความรู้แล้วทำอิบาดะฮฺ มีความประเสริฐมากกว่าคนที่ทำอิบาดะฮฺโดยไม่มีความรู้) เปรียบเสมือนดวงจันทร์เต็มดวงที่เหนือกว่าบรรดาหมู่ดวงดาว.... 

     แท้จริงบรรดาผู้ที่มีความรู้คือทายาทของบรรดานบี (ไม่ใช่นบีท่านเดียว แต่คือทายาทของบรรดานบี) ซึ่งบรรดานบีไม่ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเงินดีนารฺหรือดิรฮัม (ไม่ได้ทิ้งมรดกเป็นทรัพย์สมบัติใด ๆ) แต่ทว่ามรดกที่บรรดานบีได้ทิ้งไว้ก็คือวิชาความรู้ ...

     ดังนั้น ผู้ใดที่ได้ครอบครองมัน(ก็คือได้ครอบครองความรู้) ถือว่าเขาผู้นั้นได้ครอบครองส่วนที่ดีเลิศมากมายแล้ว

 

          นั่นก็คือ ความประเสริฐของคนที่มีความรู้ คนที่แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา ซึ่งจุดหมายปลายทางของคนที่แสวงหาความรู้ก็คือ ได้รับการอภัยโทษในความผิด และได้รับความสะดวกง่ายดายในการเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา .. 

 

          และขอให้เราได้ตระหนักว่า อิสลามกำชับให้เราทุกคนแสวงหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางโลก หรือความรู้ทางด้านศาสนา แต่อิสลามให้ความสำคัญกับความรู้ทางด้านศาสนาเป็นอันดับแรก เพราะความรู้ทางด้านศาสนานั้น จะนำเขาไปสู่ความปลอดภัยจากการถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ และจะนำเขาไปสู่ความสำเร็จทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ

 

 

ประการที่สี่ การกล่าวตามที่มุอัซซินกล่าว ก็คือเมื่อเวลาที่มีคนอะซาน

 

          ทุกการกล่าวคำอะซานแล้วมีคนกล่าวตามการอะซานนั้น ก็คือ การตอบรับการอะซานด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เขาผู้นั้นจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

     อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่าน الراوي : عمر بن الخطاب ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إذا قالَ المُؤَذِّنُ: اللَّهُ أكْبَرُ اللَّهُ أكْبَرُ،

เมื่อมุอัซซิน(หรือคนอะซาน )กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร...

 

فقالَ أحَدُكُمْ: اللَّهُ أكْبَرُ اللَّهُ أكْبَرُ،

คนหนึ่ง หรือเราก็กล่าวตามว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร

 

ثُمَّ قالَ: أشْهَدُ أنْ لا إلَهَ إلَّا اللَّهُ،

ครั้น(คนอะซาน)กล่าวว่า อัชฮะดุ อัลลา อิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ

 

قالَ: أشْهَدُ أنْ لا إلَهَ إلَّا اللَّهُ،

คนหนึ่ง หรือเราก็กล่าวว่า อัชฮะดุ อัลลา อิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ

 

ثُمَّ قالَ: أشْهَدُ أنَّ مُحَمَّدًا رَسولُ اللهِ

ครั้น(คนอะซาน)กล่าวว่า อัชฮะดุ อันนะมุฮัมมะดัร เราะซูลุลลอฮฺ

 

قالَ: أشْهَدُ أنَّ مُحَمَّدًا رَسولُ اللهِ،

คนหนึ่ง หรือเราก็กล่าวว่า อัชฮะดุ อันนะมุฮัมมะดัร เราะซูลุลลอฮฺ

 

กล่าวเหมือนกันไปเรื่อย ๆ..

ثُمَّ قالَ: حَيَّ علَى الصَّلاةِ،

จนกระทั่งคนอะซานกล่าวว่า ฮัยยะ อะลัศเศาะลาฮฺ

 

قالَ: لا حَوْلَ ولا قُوَّةَ إلَّا باللَّهِ،

แล้วอีกคนหนึ่ง หรือเรากล่าวว่า ..ลาเฮาละวะลากู วะตะอิลลาบิลลาฮฺ

 

ثُمَّ قالَ: حَيَّ علَى الفَلاحِ،

ครั้นคนอะซานกล่าวว่า ฮัยยะ อะลัลฟะลาฮฺ

 

قالَ: لا حَوْلَ ولا قُوَّةَ إلَّا باللَّهِ،

แล้วอีกคนหนึ่ง หรือเรากล่าวว่า ..ลาเฮาละวะลากู วะตะอิลลาบิลลาฮฺ

 

ثُمَّ قالَ: اللَّهُ أكْبَرُ اللَّهُ أكْبَرُ،

ครั้นคนอะซานกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร

 

قالَ: اللَّهُ أكْبَرُ اللَّهُ أكْبَرُ،

แล้วอีกคนหนึ่ง หรือเรากล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร

 

ثُمَّ قالَ: لا إلَهَ إلَّا اللَّهُ،

แล้วคนอะซานกล่าวจบว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ

 

قالَ: لا إلَهَ إلَّا اللَّهُ مِن قَلْبِهِ دَخَلَ الجَنَّةَ.

แล้วอีกคนหนึ่ง หรือเรากล่าวว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ...

 

     โดยเรากล่าวทั้งหมดด้วยความอิคลาศ ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น ..นั่นแหละเราจะได้เข้าสวรรค์ของพระองค์

 

     อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เราอยู่ใกล้มัสญิด เราได้ยินเสียงอะซานทุกวัน ทุกเวลา ..นี่ก็คือ ความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่เรา ดังนั้น อย่าปล่อยให้สวรรค์ห่างไกลไปจากเราด้วยวิธีการนี้ ขอให้เราพยายามตอบรับอะซานอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

 

ประการที่ห้า การละหมาดสุนัต 2 ร็อกอะฮฺหลังอาบน้ำละหมาด 

 

    เมื่อเวลาที่เราอาบน้ำละหมาดอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างยิ่งที่เราจะละหมาดสุนัต 2 ร็อกอะฮฺ

     อัลหะดีษบันทึกโดย อิมามมุสลิม รายงานจากท่านอุกบะฮฺ บินอามิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 «مَا مِنْ مُسْلِـمٍ يَتَوَضَّأُ فَيُـحْسِنُ وُضُوءَهُ، ثُمَّ يَـقُومُ فَيُصَلِّي رَكْعَتَينِ مُقْبِلٌ عَلَيْـهِـمَا بِقَلْبِـهِ

وَوَجْهِهِ، إلَّا وَجَبَتْ لَـهُ الجَنَّةُ». 

 

     ไม่มีมุสลิมคนใดที่ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุด แล้วเขาผู้นั้นได้ลุกขึ้นมาละหมาดสองร็อกอะฮฺอย่างมีสมาธิที่สุด เช่นนี้แล้วเขาจะถูกตอบแทนด้วยสวนสวรรค์

 

     ..ก็คือ ได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั่นเอง

 

 

ประการที่หก การอ่านอายะฮฺกุรซีย์หลังละหมาดฟัรดู

 

     อายะฮฺกุรซีย์เป็นอายะฮฺที่ 255 ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ ซึ่งเชคอับดุรเราะหฺมาน บินสะอฺดีย์ ได้อรรถาธิบายว่า  

     “อายะฮฺนี้เป็นอายะฮฺที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด เนื่องจากว่าเป็นอายะฮฺที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงสิ่งสำคัญหลายประการ รวมถึงคุณลักษณะที่สมบูรณ์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยมีหะดีษหลาย ๆ บทที่ส่งเสริมให้อ่านและให้กล่าวเป็นดุอาอ์ประจำวัน ไม่ว่าในยามเช้า ยามเย็น ขณะเข้านอน และอ่านทุกครั้งหลังละหมาดฟัรฎูห้าเวลา

 

     จากอัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) บันทึกโดยอิมามอันนะซาอีย์และอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ الراوي : أبو أمامة الباهلي รายงานว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 

مَن قرأَ آيةَ الكرسيِّ دبُرَ كلِّ صلاةٍ مَكْتوبةٍ ، لم يمنَعهُ مِن دخولِ الجنَّةِ ، إلَّا الموتُ

 

     ผู้ใดก็ตามที่อ่านอายะฮฺกุรซีย์ทุกครั้งหลังละหมาดฟัรฎูห้าเวลา จะไม่มีอุปสรรคใด ๆสำหรับเขาที่จะได้เข้าสวรรค์(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) เว้นแต่ความตาย

 

          เพราะเมื่อเวลาที่เราอ่านอายะฮฺกุรซีย์ก็เท่ากับเรากำลังกล่าวมอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรากำลังสรรเสริญพระองค์ ..เราจะพบว่า ใช้เวลาอ่านไม่ได้มากมายอะไรแต่สามารถที่จะมีสิทธิได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

 

 

ประการที่เจ็ด การช่วยเหลืออุปการะ เลี้ยงดูเด็กกำพร้า

 

          เด็กกำพร้าในทัศนะของอิสลาม ก็คือเด็กที่พ่อของเขาเสียชีวิต และเป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งอิสลามได้ยกระดับบรรดาผู้ที่ช่วยเหลืออุปการะ เลี้ยงดูเด็กกำพร้าให้เป็นชาวสวรรค์ อีกทั้งเขายังได้อยู่เคียงคู่กับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในสวนสวรรค์อีกด้วย

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของ อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านซะฮฺลฺ อิบนิซะอฺด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

أَنَا وَكَافِلُ اليَتِيمِ فِي الجَنَّةِ هَكَذَا {وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ وَالوُسْطَى وَفَرَّجَ بَيْنَـهُـمَا شَيْئاً.

 

ฉันและผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กกำพร้าจะได้อยู่ในสวรรค์เช่นนี้ 

     แล้วท่านนบีก็ได้ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางของท่าน และได้กางออกระหว่างสองนิ้วเล็กน้อย (หมายถึงจะได้อยู่กันอย่างใกล้ชิด)

 

 

ประการที่แปด การรักษาละหมาดฟัรดูให้ครบทั้ง 5 เวลาและปฏิบัติให้อยู่ในเวลาของมัน

 

     เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะอยู่แล้วที่จะต้องปฏิบัติละหมาดฟัรฎูให้ครบทั้งห้าเวลา ซึ่งเราก็ต้องพยายามให้การละหมาดของเรานั้นอยู่ในเวลาของการละหมาด และพยายามละหมาดให้อยู่ในตอนต้น ๆของเวลา

 

     อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอบูดาวูด อิมามอันนะซาอีย์ อิมามอิบนุมาญะฮฺ รายงานจากท่านอุบาดะฮ์ อิบนุ ซอมิต ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

خمسُ صلواتٍ افترضَهُنَّ اللَّهُ علَى عبادِهِ فمن جاءَ بِهِنَّ لم ينتقِصْ منهنَّ شيئًا استخفافًا بحقِّهنَّ فإنَّ اللَّهَ جاعلٌ لَه يومَ القيامةِ عَهْدًا أن يُدْخِلَهُ الجنَّةَ

 

     ละหมาดห้าเวลาที่อัลลอฮฺทรงกำหนดเป็นภาคบังคับแก่ปวงบ่าวของพระองค์นั้น

     ผู้ใดปฏิบัติได้ครบถ้วนโดยไม่ละเลยและไม่ทำให้ขาดตกบกพร่อง..

     แท้จริง อัลลอฮฺคือผู้ทรงให้คำมั่นสัญญาแก่เขาว่าจะได้เข้าสวรรค์

 

 

ประการที่เก้า ให้ความสำคัญกับการละหมาดศุบฮฺและอัศรฺ ก็คือ ละหมาดเป็นประจำไม่ขาด

 

          เพราะเนื่องจากเวลาศุบฮฺเป็นเวลาที่คนไม่อยากจะลุกออกจากที่นอนของเขา และเวลาเย็นก็เป็นเวลาที่เขามักจะยุ่งเหยิงอยู่กับภารกิจ ผู้คนก็มักจะพลาดการละหมาดในช่วงเวลานี้มากที่สุด

 

     อัลหะดีษ บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูมูซา อัลอัชอารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

«مَنْ صَلَّى البَرْدَيْنِ دَخَلَ الجَنَّةَ».

 

     บุคคลใดที่ละหมาดในเวลาที่เยือกเย็นทั้งสอง (คือการละหมาดในเวลาศุบฮฺและอัศรฺโดยให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ยอมพลาด)

     เขาผู้นั้นจะได้เข้าสวรรค์(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะลา)

 

 

ประการที่สิบ การกล่าวให้สลาม

 

          อิสลามเป็นศาสนาที่มุ่งกำชับให้ทำความดีและห้ามปรามกันเรื่องความชั่ว ...ส่งเสริมในเรื่องของอัคลาก หรือการมีจรรยามารยาทที่ดีงาม ดังนั้นแม้แต่แค่การพบปะกันแล้วกล่าวสลามแก่กันก็เป็นการเปิดประตูสวรรค์ให้แก่เราแล้ว

 

     อัลหะดีษ บันทึกโดยอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وَالَّذي نَفْسي بِيَدِهِ لاَ تَدْخُلُونَ الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا، وَلاَتُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا، أَوَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى شَىْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوهُ تَحَابَبْتُمْ؛ أَفْشُوا السَّلاَمَ بَيْنَكُمْ .

 

ขอสาบานกับผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านจะยังไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา ..

และพวกท่านจะไม่ศรัทธาจนกว่าพวกท่านจะรักใคร่ปรองดองกัน ...

พวกท่านจะเอาไหม ฉันจะบอกวิธีหนึ่งที่เมื่อพวกท่านปฏิบัติแล้ว พวกท่านก็จะรักใคร่ซึ่งกันและกัน

นั่นคือจงกล่าวให้สลามกันในบรรดาพวกท่าน

 

 

ประการที่สิบเอ็ด การกล่าวซิกรุลลอฮฺหลังการอาบน้ำละหมาด

 

     เมื่อเวลาที่เราอาบน้ำละหมาดอย่างดี อย่างประณีตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ..หลังจากนั้นเราก็กล่าวดุอาอ์หลังอาบน้ำละหมาด การกระทำดังกล่าวนี้แหละจะทำให้เราได้เข้าสวรรรค์

 

     อัลหะดีษ บันทึกโดยอิมามมุสลิม อิมามอะหมัด และอิมามอะบูดาวูด รายงานจากท่านอุกบะฮฺ บินอามิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

مَا مِنْكُمْ مِنْ أَحَدٍ يَتَوَضَّأُ فَيُبْلِغُ أَوْ فَيُسْبِغُ الْوَضُوءَ ثُمَّ يَقُولُ : (أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُ اللهِ وَرَسُولُهُ) إِلاَّ فُتِحَتْ لَهُ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ الثَّمَانِيَةُ يَدْخُلُ مِنْ أَيِّهَا شَاءَ

 

     “ผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านอาบน้ำละหมาด โดยที่เขาทำมันอย่างประณีตบรรจง จนกระทั่งแล้วเสร็จ หลังจากนั้นเขากล่าวว่า

” أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُ اللهِ وَرَسُولُهُ 

     ฉันขอปฏิญาณว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรได้รับการเคารพอิบาดะฮฺนอกจากอัลลอฮฺ .. และแท้จริง มุฮัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์ 

     นอกเสียจากว่า ประตูสวรรค์ทั้งแปดบานนั้น จะถูกเปิดให้แก่เขา และเขาจะเลือกเข้าจากประตูใดก็ได้ตามใจชอบ

 

     ข้อนี้ก็ทำได้ง่ายๆ คำปฏิญาณเราก็ท่องกันได้อยู่แล้ว เป็นคำอ่านสั้นๆ อ่านเพิ่มอีกวันละอย่างน้อย 5 ครั้งก็ได้รับรางวัลตอบแทนอย่างมากมาย สามารถเลือกเข้าสวรรค์ทางประตูบานใดก็ได้ที่เราต้องการ

 

 

          แท้จริงแล้ว ชีวิตของเราทุกคนที่จะอยู่บนโลกดุนยานี้ก็สั้นลงทุกวัน เวลาที่เราจะต้องกลับไปพบอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไร ตอนไหน ..อาจจะเดี๋ยวนี้ อาจจะพรุ่งนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงทราบ 

 

          ดังนั้น ตอนนี้เพื่อไม่ให้เป็นการประมาท ก็สมควรเป็นเวลาที่เราต้องเร่งขวนขวายสะสมอะมัลศ่อลิหฺ เร่งทำการงานที่ดี ๆทั้งหลาย เพื่อที่จะให้อะมัลศ่อลิหฺ การงานที่ดี ๆเหล่านั้นมาช่วยเราให้ได้เข้าสวรรค์ ...

 

          ซึ่งอะมัลศ่อลิหฺที่นำมาเสนอดังกล่าวข้างต้นเพื่อเป็นการเตือนตัวผมเองและท่านทั้งหลาย เป็นอะมัลศ่อลิหฺที่ทำได้ง่าย ๆไม่ได้ยากเย็นอะไร บางคนก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว เราก็พยายามทำให้สม่ำเสมอเพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ และเป็นผู้ที่ได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อามีน

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )