บิดอะฮฺที่คิดเองว่าดี...แต่ไม่ดี
  จำนวนคนเข้าชม  1057

บิดอะฮฺที่คิดเองว่าดี...แต่ไม่ดี

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

          เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ .. แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมดด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....

 

         ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ

 

 

          ครั้งนี้ เราจะพูดถึงอัลอะกีดะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ หรือหลักการเชื่อมั่นของอัลอิสลามในส่วนเรื่องของบิดอะฮฺ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง..ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆที่เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้ว .. ก็ให้เราได้พินิจพิจารณาใคร่ครวญว่า สิ่งที่เราฟังนั้นเป็นเรื่องราวที่มีหลักฐานที่ถูกต้องตรงตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺที่ถูกต้องของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม...เมื่อเราประจักษ์ต่อหลักฐานแล้ว ..ขอให้เราพึงนำไปสู่หลักการเชื่อมั่นที่ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตประจำวันให้เต็มกำลังความสามารถของเรา เพราะทุกสิ่งที่เรายึดมั่นและปฏิบัติในโลกดุนยานี้ จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่เราจะได้รับในโลกอาคิเราะฮฺ

 

          เมื่อเราพูดถึงคำว่า บิดอะฮฺ หรือเรื่องราวของบิดอะฮฺนั้น ขอให้เราทราบไว้ด้วยว่า เราไม่ได้กำหนดเรื่องบิดอะฮฺขึ้นมาเอง หรือเป็นคนเริ่มคำว่าบิดอะฮฺขึ้นมาเอง ...แต่มันเป็นคำพูด เป็นสิ่งที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมโดยตรง ...ขอให้เราพิจารณาอัลหะดีษต่อไปนี้ ซึ่งเป็นอัลหะดีษในระดับเศาะหิหฺ ที่มีหลักฐานและความถูกต้องตลอดจนความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูงสุด

 

     อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในสุนันของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«وَشَرُّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ، وَكُلُّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ»

 

"สิ่งชั่วช้าที่สุดคือ สิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่ องราวของบทบัญญัติ)ศาสนา

และทุกๆสิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนานั้น ถือเป็น بِدْعَةٍ บิดอะฮฺทั้งสิ้น

และทุกๆบิดอะฮฺถือเป็นความหลงผิด ...และแน่นอน ทุกๆความหลงผิดย่อมนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก

 

         จากอัลหะดีษดังกล่าวข้างต้น ขอให้เราพิจารณาคำพูดของท่านนบี ท่านนบีกล่าวความว่า สิ่งที่ชั่วช้าที่สุด สิ่งที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา นั่นก็คือ สิ่งที่ท่านนบีไม่เคยทำมันมาก่อนเลย แล้วมีคนมาคิดทำขึ้น อันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนา ทั้งในเรื่องราวของอะกีดะฮฺหรือหลักการเชื่อมั่น รวมถึงเรื่องราวของอิบาดะฮ เรื่องของการทำอะมัลศ่อลิหฺต่าง ๆ ..

 

          ซึ่งท่านนบีเรียกทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกอุปโลกน์ หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนานั้นว่า บิดอะฮฺ بِدْعَةٍ...ท่านนบีเรียกเองว่า บิดอะฮฺ ...แล้วท่านนบีก็บอกต่อไปว่า ทุก ๆบิดอะฮฺ คือความหลงผิด ..และบอกต่อไปอีกว่า ทุก ๆความหลงผิดนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก

 

 

     สรุปจากคำพูดของท่านนบีก็คือ การทำบิดอะฮฺในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนานำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ นั่นเอง

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ให้คำอธิบายถึงเรื่องของบิดอะฮฺที่จะนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกนั้น ต้องเป็นบิดอะฮฺในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา ..ดังนั้น เรื่องราวอะไรก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติศาสนา แต่เป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตประจำวันทั่ว ๆไป ก็จะไม่เข้าข่ายในเรื่องนี้ ...ขอให้เรามาพิจารณาอัลหะดีษบทนี้

 

     อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในสุนันของท่านอิมามอิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาเล่าว่า เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ยินสียงดังมาจากสวนอินทผาลัมแห่งหนึ่ง 

     ท่านนบีได้ถามว่านี่เสียงอะไรหรือ ?”

     ชาวสวนอินทผาลัมตอบว่าเรากำลังผสมเกสรอินทผาลัมครับ

     ท่านนบีจึงได้กล่าวว่าถ้าหากพวกท่านไม่ผสมเกสรอินทผาลัมอย่างนี้ มันจะดีกว่าหรือไม่

     ชาวสวนได้ยินท่านนบีบอกอย่างนั้น ก็เลยไม่ได้ผสมเกสรอย่างที่เคยทำ ...ผลปรากฎว่าในปีนั้น สวนอินทผาลัมไม่ติดผลมากมายอย่างที่เคย ชาวสวนจึงนำเรื่องดังกล่าวไปบอกท่านนบี ...ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวว่า

 

إنْ كَانَ شَيْئاً مِنْ أمْرِ دُنْيَاكُمْ فَشَأْنُكُمْ بِهِ وَإنْ كَانَ شَيْئاً مِنْ أُمُوْرِدِيْنِكُمْ فَإلَيَّ

 

หากเรื่องใดเป็นเรื่องงานดุนยาของพวกท่าน พวกท่านมีความรู้ มีความชำนาญ มันก็เป็นหน้าที่ของพวกท่านในเรื่องนั้นๆ

แต่หากเรื่องใดเป็นงานศาสนา (เป็นเรื่องของบทบัญญัติศาสนา )ของพวกท่าน พวกท่านจงกลับมาเอาจากฉัน

 

          นั่นก็หมายความว่า เรื่องราวของการดำเนินชีวิตของโลกดุนยาที่ไม่ใช่เรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา หากเรามีความรู้ ความสามารถในเรื่องใด ก็ให้เราทำไปตามที่เราเห็นสมควร จะคิดจะทำสิ่งไรก็ให้ทำไปตามที่เรามีความรู้....แต่ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องของบทบัญญัติศาสนา เราต้องเอามาจากท่านนบีเท่านั้น ก็คือให้ทำตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น จะมาคิดเอง เออเอง ทำเองไม่ได้

 

          ด้วยเหตุนี้ อุละอาอ์จึงได้จัดเรื่องของการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราออกเป็นสองส่วน คือส่วนของมุอามะลาต กับส่วนของบทบัญญัติศาสนา นั่นก็หมายความว่า ในแต่ละวัน ๆของเรา การใช้ชีวิตของเราจะแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนเรื่องของมุอามะลาต กับส่วนเรื่องของบทบัญญัติศาสนา

 

          เรื่องของมุอามาลาต เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของบทบัญญัติศาสนา ไม่เกี่ยวกับเรื่องของอะกีดะฮฺ หรือเรื่องของอิบาดะฮฺใดๆ ...แต่เป็นเรื่องราวทางโลก เรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องราวทางสังคม เรื่องราวของการพบปะผู้คน ..ซึ่งสำหรับในส่วนของมุอามะลาตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่อนุญาตให้เราทำได้ เว้นแต่ว่าจะมีบทบัญญัติศาสนามาห้าม

 

          ยกตัวอย่างเช่น เช้าขึ้นมา เราต้องเดินทางไปเรียนหนังสือ หรือเดินทางไปทำงาน เราก็ต้องพึ่งพาพาหนะสำหรับเดินทาง ถ้าเป็นสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็มักใช้อูฐเป็นพาหนะสำหรับเดินทาง แต่ครั้นโลกมีวิวัฒนาการ มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีการประดิษฐ์ยานพาหนะต่าง ๆ มีรถจักรยาน มีจักรยานยนต์ มีรถยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า จรวด เครื่องบิน ซึ่งเราสามารถที่จะสร้าง หรือหาซื้อพาหนะเหล่านี้ขึ้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสะดวกรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ศาสนาอนุญาตให้ทำได้ ..

          เราสามารถที่จะไปหาซื้อรถยนต์ยี่ห้อนี้มาขับ หาซื้อมอเตอร์ไซด์มาขับ ตามกำลังความสามารถของเรา อย่างนี้ทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับบิดอะฮฺแต่อย่างใด ..ไม่ใช่ว่า จะต้องขี่อูฐไปทำงานจึงจะเป็นการรักษาซุนนะฮฺท่านนบี ซึ่งมันคนละประเด็นกัน ..แต่ถ้าในกระบวนการของการซื้อขายรถที่เรามีความต้องการที่จะซื้อ มีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างนี้ เราก็ไม่สามารถซื้อรถคันนั้นได้ เพราะบทบัญญัติศาสนาห้ามเรื่องของดอกเบี้ยเอาไว้ ..

 

          หรืออย่างเรื่องของการเก็บเงินโดยไปฝากไว้ที่ธนาคาร เพื่อให้เราเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช้จ่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว หรือเก็บเพื่อความปลอดภัยจากการโดนขโมย อย่างนี้สามารถนำเงินไปฝากได้ ถือเป็นเรื่องของมุอามะลาต ..แต่พอการดำเนินงานของธนาคารมีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างนี้ เราก็ไม่สามารถติดต่อทำธุรกรรมด้วยได้ อย่างนี้เป็นต้น

 

 

          นั่นก็คือ การใช้ชีวิตประจำวันในส่วนเรื่องของมุอามะลาตที่เราสามารถทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คิดเครื่องมือใหม่ ๆได้ คิดเครื่องใช้ไม้สอยใหม่ ๆได้ ทำได้เว้นแต่จะมีบทบัญญัติศาสนามาสั่งห้ามไว้ ..หรืออย่างเช่น เราอยากจะทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้ม เราก็สามารถเลือกทานอาหารเป็นข้าวต้มได้ แต่จะใส่เนื้อสัตว์อะไร เราก็ต้องดู ถ้าเป็นหมู เราก็ทานไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นเนื้อวัว หรือเนื้อไก่ ก็ต้องดูอีกว่า เนื้อเหล่านั้น เชือดด้วยวิธีที่ถูกต้องไหม หะลาลไหม..อย่างนี้เป็นต้น ก็จะประมาณนี้ เรื่องของมุอามะลาต

 

          สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันในอีกส่วนหนึ่ง คือส่วนของบทบัญญัติศาสนา ซึ่งเรื่องนี่แหละเป็นส่วนสำคัญ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างห้ามทำหมด ..ห้ามทำทั้งหมด.. เว้นแต่จะมีตัวบทหลักฐานอย่างชัดเจนบอกว่าให้ทำ จึงจะทำได้ ...ซึ่งมันตรงกันข้ามกับในเรื่องของมุอามะลาต...

 

 

          เรื่องของมุอามะลาตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอนุญาตให้ทำได้ เว้นแต่จะมีตัวบทบัญญัติศาสนามาสั่งห้ามไว้ ..แต่สำหรับในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างถูกห้ามทำหมด เว้นแต่จะมีตัวบทหลักฐานอนุญาตให้ทำ จึงจะทำได้ ซึ่งเราจะเห็นว่า มันก็จะมีความแตกต่างกัน เราก็ต้องแยกประเด็นกันให้ดี

 

 

          ยกตัวอย่างเช่น เช้ามาเราต้องเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮาะนะฮูวะตะอาลา ..บางคนเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยไปทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ โดยคิดเองทำเอง ..ซึ่งอย่างนี้ทำไม่ได้ และนี่แหละคือการทำบิดอะฮฺ เพราะมีตัวบทหลักฐานยืนยันว่า การเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาคือการทำละหมาด เราก็ต้องเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยการละหมาด ...

 

          ทีนี้ ในเรื่องของการละหมาด มันก็จะมีตัวบทหลักฐานชัดเจนบอกไว้ว่ามีฟัรฎูที่ต้องทำประจำวัน ๆละ 5 เวลา อะไรบ้าง เวลาละกี่ร็อกกะอัต อย่างนี้เราก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ตามที่หลักฐานบอกไว้อย่างเคร่งครัด จะมาบอกว่า อยากได้ผลบุญเยอะ ๆก็เลยทำละหมาดศุบฮฺ 4 ร็อกกะอัต อย่างนี้แหละ ถือเป็นเรื่องบิดอะฮฺ เป็นอุตริกรรม ทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาใหม่ในศาสนา อย่างนี้ทำไม่ได้ ถือเป็นเรื่องของความหลงผิด และความหลงผิดนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก ..

 

 

ซึ่งบรรดาอุละมาอ์ได้แบ่งบิดอะฮฺในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนาออกเป็นสองประเภท

 

          ประเภทแรก เป็นบิดอะฮฺในด้านความเชื่อ 

 

          เป็นบิดอะฮฺในเรื่องของอะกีดะฮฺ หรือหลักการเชื่อมั่นที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องของอัลอิสลาม อันนี้ได้แก่กลุ่มหลงผิดต่างๆที่เราก็สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มชีอะฮฺ กลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ กลุ่มก็อดยานีย์ กลุ่มอะชาอิเราะฮฺ กลุ่มญะฮฺมียะฮฺ กลุ่มมุอ์ตะซิละฮฺ กลุ่มอิควาน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีหลักอะกีดะฮฺบางเรื่องผิดเพี้ยนไปจากหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องของอัลอิสลาม ซึ่งที่ถูกต้องคือต้องถูกทุกเรื่อง จะถูกบ้างผิดบ้าง อย่างนี้ไม่ได้ ...แต่จะต้องถูกทุกเรื่อง ต้องมีหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องในทุก ๆเรื่อง

 

 

          ส่วนบิดอะฮฺในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนาประเภทที่สอง ได้แก่บิดอะฮฺ ในด้านการปฏิบัติอิบาดะฮฺต่างๆ 

 

          ได้แก่การทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ และท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ไม่เคยทำมาก่อน .....บิดอะฮฺแบบนี้มีหลายแบบหลายชนิด แพร่หลายอยู่ในสังคมมุสลิมขณะนี้ก็มีมากมาย เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย การทำอิซิกุบูร การจัดงานเมาลิดนบีหรือการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านนบี ทั้งๆที่ท่านนบีไม่เคยสั่งสอน ท่านนบีไม่เคยจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ตัวเองเลย เราไม่เคยได้ยินเลยว่าท่านนบีจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ตัวเอง และเราก็ไม่เคยเห็นหลักฐานในเรื่องนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น และอีกทั้งบรรดาบรรพชนคนดีๆคนศ่อลิหฺในยุค 300 ปีแรกของอิสลามก็ไม่เคยทำมันมาก่อนเลย

 

          ..มีบางคนบอกว่า งานเมาลิดนบีที่จัดกันเป็นเรื่องของมุอามะลาต เขามองว่ามันเหมือนงานโรงเรียน หรืองานมัสญิดที่เขาจัด ๆกัน ซึ่งเราก็คงเคยเห็นหรือเคยไปกัน คือถ้าจะมองว่างานเมาลิดนบีเป็นเรื่องของมุอามะลาต ก็ให้เปลี่ยนชื่องานเลย ..จากงานเมาลิดนบีแห่งประเทศไทยเป็นชื่ออื่น เช่น งานพบปะมุสลิมแห่งประเทศไทย..อย่างนี้ ทำได้ ..แต่ที่มันทำไม่ได้เพราะพอไปตั้งชื่อว่า งานเมาลิดนบี มันก็คือมีความตั้งใจ มีเนียตว่า จะให้เป็นงานครบรอบ งานเฉลิมฉลอง เพราะความหมายของเมาลิดนบีคือ งานเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบี ซึ่งท่านนบีไม่เคยทำ พอเราไปใช้ชื่อนี้ ก็เท่ากับเราไปสนับสนุนให้มีการเฉลิมฉลองวันเกิดท่านนบี ส่งเสริมให้มีการจัดงานครบรอบต่าง ๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิด...และที่พูดอย่างนี้ ยังไม่ได้พูดไปถึงรายละเอียดในเรื่องของพิธีกรรมบางเรื่องในงานที่จัดกัน ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราต้องระวังเหมือนกัน เพราะมีบางเรื่องก็ไม่ถูกเหมือนกัน

 

          และอีกอย่างที่คนที่ชอบทำบิดอะฮฺชอบยกมากล่าวอ้างก็คือ ประโยคที่ว่า ไหนล่ะหลักฐานการห้าม ไม่เห็นมีบอก ..ไหนล่ะ หลักฐานห้ามทำเมาลิดนบี ..ไหนล่ะ หลักฐานห้ามทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ .. ซึ่งเรื่องนี้ได้บอกไปแล้วเมื่อสักครู่ว่า เรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนานั้น หลักของเขาก็คือ ห้ามทำทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่จะมีหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ บอกว่า ให้ทำจึงจะทำได้ ..ดังนั้น หลักฐานที่คนทำบิดอะฮฺจะต้องถามหาก็คือ หลักฐานว่าอนุญาตให้ทำได้ ไม่ใช่มาถามหาหลักฐานว่าห้ามทำเพราะมันห้ามอยู่แล้ว ..นี่คือหลักคิดที่บทบัญญัติศาสนาได้วางไว้

          หรือ อย่างบางคนบางกลุ่มก็ไปเพิ่มหรือไปลดจำนวนเราะกะอัตในเวลาละหมาดเอาเอง นี่ก็คือบิดอะฮฺในเรื่องของการทำอิบาดะฮฺ

          หรืออย่างบางกลุ่มก็ทำอิบาดะฮฺที่ไม่ตรงตามหลักที่ได้ถูกบัญญัติไว้ เช่น เรื่องของการกล่าวซิกรุลลอฮฺ และขอดุอาอ์ในวาระต่าง ๆเป็นแบบกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะโดยกล่าวพร้อมเพรียงกันและเป็นท่วงทำนอง ...

          ซึ่งเรื่องของการกล่าวซิกรุลลอฮฺ และการขอดุอาอ์เป็นเรื่องที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม ส่งเสริมให้ทำ แต่ให้ต่างคนต่างทำ ไม่ต้องมาตั้งวงแล้วก็อ่านพร้อม ๆกันแต่อย่างใด

 

 

          นั่นก็คือ ตัวอย่างบางตัวอย่างในเรื่องของบิดอะฮฺในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนาซึ่งนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺเพียงไม่กี่ตัวอย่าง ซึ่งความจริงยังมีอีกมากมาย ...ซึ่งสภาพของบิดอะฮฺนั้น บางเรื่องนำเราไปสู่การเป็นกุฟุร หรือการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เช่น การเฏาะวาฟรอบกุบูร การเชือดสัตว์ที่กุบูร บนบานศาลกล่าว ขอดุอาอ์หรือขอความช่วยเหลือจากกุบูร หรือคนตายที่ถูกฝังอยู่ในกุบูร ตัวอย่างเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นในสังคมมุสลิมของเรา

          และสภาพของบิดอะฮฺบางเรื่องนั้น นำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นเรื่องของชิริก ซึ่งก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น และการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงบนกุบูร และขอดุอาอ์จากสถานที่ดังกล่าว เป็นต้น

 

          ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาความรู้ ในรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นจากเรื่องราวของการทำบิดอะฮฺ เพราะความร้ายแรงอย่างหนึ่งของทำบิดอะฮฺ ก็คือ คนที่ทำบิดอะฮฺ เขาไม่ได้คิดว่า เขาทำบาป แต่เขาคิดว่า เขาทำอิบาดะฮฺ เขากำลังแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือกำลังแสดงความรักต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม..ด้วยเหตุนี้ อุละมาอ์จึงได้กล่าวว่า การทำบิดอะฮฺมีความร้ายแรงยิ่งกว่าการทำบาปหรือการทำมะอ์ศิยะฮฺต่าง ๆ เสียอีก 

          เพราะการทำบาป การทำมะอ์ศิยะฮฺต่างๆ ผู้ทำมักจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องผิด เขาก็มีโอกาสที่จะรู้สึกตัวว่าทำผิด หากเขารู้สึกตัว เขาก็จะขออภัยโทษ ทำการเตาบะฮฺตัวได้ ..แต่คนที่ทำบิดอะฮฺนั้น เขาจะคิดว่า เขากำลังทำอิบาดะฮฺอยู่ เขาจึงไม่ได้คิดเรื่องของการขออภัยโทษ หรือการขอเตาบะฮฺตัวแต่อย่างใด และประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงอภัยโทษในความผิดต่าง ๆให้แก่ผู้ที่ทำบิดอะฮฺ จนกว่าเขาจะเลิกทำบิดอะฮเสียก่อน

 

          อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ )ในบันทึกของอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

انَّ ألله حَجَبَ التَّوبَةَ عَن كُلِّ صَاحِبِ

بِدْعَةٍ حَتَّى يَدَعَ بِدْ عَتَهُ

 

แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการเตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวของผู้ที่ทำบิดอะฮฺทุกคน จนกว่าเขาจะละทิ้งการทำบิดอะฮฺของเขาเสียก่อน

 

          ดังนั้นการทำบิดอะฮฺจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะการขออภัยโทษ การขอเตาบะฮฺตัวจากความผิดต่าง ๆจะไม่ได้รับการถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หากเขายังทำบิดอะฮฺ หรือให้การส่งเสริมในเรื่องของการทำบิดอะฮฺ เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามออกห่าง ไม่เข้าไปใกล้ชิด แต่กลับจะต้องคอยกล่าวเตือนกันและกันในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา เพื่อให้บทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้องได้ดำรงต่อไปถึงลูกหลานเหลนโหลน ตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ และนำตัวเราเองได้ดำรงมั่นอยู่ในบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้อง ได้ปฏิบัติตนตามแบบอย่างที่ถูกต้องของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำบิดอะฮฺก็คือ การทำบิดอะฮฺเป็นการงานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงตอบรับ

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม ( ซึ่งแน่นอนเป็นหะดีษเศาะหิหฺ ) รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَن أَحْدَثَ في أَمْرِنَا هذا ما ليسَ فِيهِ، فَهو رَدٌّ

 

     “บุคคลใดก็ตามที่กระทำสิ่งใหม่ๆขึ้นในกิจการงานแห่งศาสนาของเรา ซึ่งไม่เคยมีในแบบอย่างของเรา( คือท่านนบีไม่เคยทำ )

     ดังนั้น(การกระทำสิ่งใหม่ๆขึ้นนั้น) มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ )”

 

          ดังนั้น การทำบิดอะฮฺจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่เหมือนจะดี แต่ไม่ดี เพราะเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงตอบรับ ไม่ทรงมีรางวัลให้ ไม่ทรงมีผลตอบแทนให้ แม้จะทำมาอย่างดี ด้วยเนียตอย่างดี ทำเพื่อมามอบให้พระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงตอบรับ ...

          จึงเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาไต่ตรองให้ดี ต้องจัดการกับตัวเราว่าจะใช้ชีวิตบนโลกดุนยานี้อย่างไร. เพราะผลของมันจะไปปรากฎในโลกอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน

 

          ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงของเดือนชะอ์บาน เดือนก่อนเดือนเราะมะฎอน ..เดือนชะอ์บานนี้มีสุนัตให้ถือศีลอดในช่วงครึ่งเดือนแรกให้มากๆ ส่วนช่วงครึ่งเดือนหลังถือให้ถือน้อยลง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเพลียเมื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน.... ส่วนใครที่ถือศีลอดวันจันทร์ วันพฤหัสบดีเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สามารถทำได้ต่อไป และขอให้ทราบว่าในค่ำวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน ที่เรียกกันว่า วันนิศฟูชะอฺบานนั้น ไม่มีการทำอะไร ๆเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีการถือศีลอดเจาะจงเฉพาะในวันนี้ แต่ใครที่จะถือศีลอด วันที่ 13-14-15 ของเดือนอาหรับ ที่เรียกว่า อัยยามุลบีฏ ก็สามารถถือศีลอดได้ ...นี่คือสิ่งที่มีหลักฐานบอกไว้ให้เราสามารถทำได้ สิ่งใดที่ไม่หลักฐานบอกให้ทำก็อย่าไปทำเลย เพราะไม่ได้รับผลบุญ แต่กลับจะต้องรับได้รับบาปอีกมากมายหลายอย่าง ..

 

          นอกจากนี้ ในเดือนชะอ์บานก็ยังส่งเสริมให้เราให้อ่านอัลกุรอานให้มาก ๆ แล้วก็ละหมาดกิยามุลัยล์ ขออภัยโทษ เตาบะฮฺตัวให้มาก ๆ การบริจาคก็สามารถทำได้ เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายของเรา จิตใจของเราในการเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน อันเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี และขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ด้วยเถิด

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดให้เราเห็นความจริงเป็นความจริง และปฏิบัติตามความจริงนั้น และโปรดให้เราเห็นความหลงผิดเป็นความหลงผิด และขอให้เราได้ออกห่างจากความหลงผิดเหล่านั้นดัวยเถิด .....

 

          และพึงตระหนักไว้เถิดว่าการรอดพ้นจากความหลงผิดและการทำบิดอะฮฺทั้งหลายก็คือ การที่เรายึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่มีหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ อย่างจริงจังนั่นเอง

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )