กล่าวอะไรในสุญูดซะฮ์วีย์ ?
อ.ดาวุด ธิยัน แปลเรียบเรียง
ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการระบุคำกล่าวที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการ (สุญูดซะฮฺวีย์) ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ข้อตัดสินของสุญูดทั้งสอง(ซะฮ์วีย์) จึงมีคำกล่าวและวิธีการเช่นเดียวกับการ สุญูดในละหมาด(ทั่วไป)
(ในการสุญูดซะฮ์วีย์) สามารถกล่าวว่า "سبحان ربي الأعلى" (ซุบฮานะ รอบบิยัลอะอ์ลา) และ الدعاء (ดุอาอ์) เช่นเดียวกับการ สุญูดในละหมาด จากคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า
"ช่วงเวลาที่มนุษย์อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากที่สุดคือตอนที่เขากำลังสุญูด ดังนั้นจงขอดุอาให้มากเถิด"
(บันทึกโดยมุสลิม)
คำกล่าวระหว่าง(ที่นั่ง)สองสุญูดซะฮ์วีย์นั้นก็กล่าวเช่นเดียวกับระหว่างสองสุญูดในละหมาด(ทั่วไป) เช่น "رب اغفر لي" (รอบบิ้ฆฟิรลี)
อิหม่ามอิมามนะวะวีย์ กล่าวว่า : การสุญูดซะฮ์วีย์นั้นประกอบด้วย 2 สุญูด มีการนั่งระหว่างสองสุญูดนั้นด้วย และมีซุนนะห์ให้นั่งอิฟติรอชและตะวัรรุกหลังจากสุญูดทั้งสองจนไปถึงการให้สลาม
วิธีการของสุญูดซะฮ์วีย์นั้นเช่นเดียวกับการสุญูดในละหมาด ทั้งในเรื่องของท่าทางและคำกล่าว วัลลอฮุอะอ์ลัม (จบคำพูด)
ท่านยังกล่าวอีกว่า : สิ่งที่กล่าวในสุญูดซะฮ์วีย์ก็เหมือนกับสิ่งที่กล่าวในสุญูดของการละหมาด ตามหลักการกิยาส(อนุมาน)
ท่านกล่าวอีกว่าว่า : รูปแบบวิธีการของสุญูดซะฮ์วีย์นั้นเหมือนกับสุญูดของการละหมาดทั้งในด้านของสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หรือสิ่งที่เป็นซุนนะห์ต่างๆ เช่น การวางหน้าผากแตะพื้นและต้องมีความสงบนิ่ง ... และให้นำคำกล่าวในการสุญูดละหมาด(ทั่วไป)มากล่าวในสุญูดซะฮ์วีย์
และท่านอัซรออีย์ กล่าวว่า : ให้เงียบไม่ต้องกล่าวอะไรในสุญูดซะฮ์วีย์ แต่ที่ชัดเจนคือให้กล่าวเหมือนถ้อยคำรำลึก(ซุบฮานะร็อบบิยัลอะอ์ลา)ในสุญูดทั้งสองของการละหมาด
คณะกรรมการถาวรฯลฯ ได้กล่าวว่า : ผู้สุญูดซะฮ์วีย์และสุญูดติลาวะห์(สุญูดเมื่อเจออายะห์ให้สุญูด) ควรกล่าวสิ่งเดียวกับที่กล่าวในสุญูดของการละหมาด: "ซุบฮานะ รอบบิยัลอะอ์ลา " (سبحان ربي الأعلى)
และวาญิบคือการกล่าวครั้งแรก ขั้นต่ำสุดของความสมบูรณ์คือสามครั้ง และแนะนำให้ขอดุอาบทสั้นๆที่มีบัญญัติให้ขอและที่มีความสำคัญ (จบคำฟัตวา)
นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า แนะนำให้กล่าวว่า "ซุบฮานะ มัน ลา ยะนามุ วะลา ยัซฮู" (سبحان من لا ينام ولا يسهو) ในสุญูดซะฮ์วีย์
อิหม่าม อิบนุ ฮะจัร กล่าวว่า : ไม่พบหลักฐานสนับสนุน
Cr : QA
หมายเหตุ :
1. นั่งแบบ “อิฟติรอช” ให้แบเท้าซ้าย แล้วให้ก้นทับเท้าซ้าย โดยให้เท้าขวาชันขึ้น และให้นิ้วเท้ายื่นไปทางกิบละฮ์……นั่งแบบ “อิฟติรอช”นั่งในกรณีระหว่างสองสุญูด
(หะดิษเศาะเฮียะฮ์...บันทึกโดยมุสลิมหะดิษลขที่ 768)
2. นั่งแบบ "ตะวัรรุก”โดยให้ก้นแนบกับพื้น เท้าซ้ายยื่นไปที่ขาอ่อนกับหน้าแข้งขวา ส่วนเท้าขวายกชันขึ้น นิ้วเท้ายื่นไปทางกิบละฮ์ หรือนั่งตะวัรรุก โดยทำก้นแนบกับพื้น เท้าซ้ายยื่นไประหว่างขาอ่อน กับหน้าแข้งขวา ส่วนเท้าขวาแบราบกับพื้น
(หะดิษเศาะเฮียะฮ์..บันทึกโดยมุสลิม หะดิษที่ 909)
- นั่งแบบตะวัรรุกนี้นั่งในกรณีในขณะนั่งตะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย