คำสั่งเสียของท่านนบี 5 ประการ
  จำนวนคนเข้าชม  1584

คำสั่งเสียของท่านนบี 5 ประการ

 

เรียบเรียง... อ.อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

مَنْ يأخُذُ عَنِّي هؤُلاءِ الكلِماتِ فيعملُ بِهِنَّ – أَوْ يُعَلِّمُ مَنْ يعمَلُ بِهِنَّ - ؟ . فقالَ أبو هريرةَ : قلتُ : أنا يا رسولُ اللهِ . فأخَذَ بيدِي فعدَّ خمْسًا وقال : اتقِ المحارِمَ تكنْ أعْبَدَ الناسِ ، وارضَ بما قَسَمَ اللهُ لكَ تكُنْ أغْنَى الناسِ ، وأحسِنْ إلى جارِكَ تكُنْ مؤمنًا ، وأحِبَّ للناسِ ما تُحِبُّ لنفسِكَ ، تَكُنْ مسلِمًا ، وَلَا تُكْثِرِ الضَّحِكَ ، فإِنَّ كثْرَةَ الضَّحِكِ تُمِيتُ القَلْبَ

 

     รายงานจากท่าน อบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อดิยัลลอฮฺอันฮุเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ใครจะรับเอาคำเหล่านี้จากฉันไปปฏิบัติ หรือสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติ

     ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺก็กล่าวตอบรับว่าข้าเองครับ โอ้ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้จับมือข้าพเจ้าแล้วนับจำนวนห้าข้อ กล่าวว่า:

 

1. จงละเว้นจากสิ่งต้องห้าม ท่านจะได้เป็นผู้ที่มีความศรัทธามากที่สุด

2. จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺได้แบ่งปันให้ ท่านจะได้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุด

3. จงทำดีต่อเพื่อนบ้าน ท่านจะได้เป็นผู้ศรัทธา

4. จงรักต่อผู้อื่นในสิ่งที่เจ้ารักต่อตนเอง ท่านจะได้เป็นมุสลิม

5. อย่าหัวเราะมากนัก เพราะการหัวเราะมากนั้นทำให้หัวใจตายด้าน

(บันทึกโดย ติรมีซีย์ เศาะเฮี้ยะ อัลบานีย์)

 

 

อธิบายความหมายฮะดีษ :

 

      จงละเว้นจากสิ่งต้องห้าม จะได้เป็นผู้ที่มีความศรัทธามากที่สุด: หมายถึง การหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่อัลลอฮฺได้ห้ามไว้ เช่น การล่วงประเวณี การกินดอกเบี้ยการอธรรมและการโกหก และอื่นๆ การละเว้นจากสิ่งต้องห้ามนั้น จะทำให้ผู้ศรัทธาใกล้ชิดกับอัลลอฮฺมากขึ้น และเพิ่มพูนศรัทธาและความศรัทธา

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنْ تَجْتَنِبُوا كَبَائِرَ مَا تُنْهَوْنَ عَنْهُ نُكَفِّرْ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَنُدْخِلْكُمْ مُّدْخَلًا كَرِيمًا

 

     “หากพวกเจ้าปลีกตัวออกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ทั้งหลายอันเป็นที่สิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามแล้ว

     เราจะลบล้างบรรดาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ 

[บทอันนิซาอฺ โองการที่ 31]

 

 

- ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ ถูกห้ามเข้าสวรรค์

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّهُ مَن يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَمَأْوَاهُ النَّارُ وَمَا لِلظَّالِمِينَ مِنْ أَنصَارٍ

 

แท้จริง ผู้ใดให้มีชิริก(หรือทำการตั้งภาคี)แก่อัลลอฮฺ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา

(ก็คือเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาสได้เข้าไปพำนักในสวรรค์เลย)

( ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 72)

 

     รายงานจากท่าน อบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อดิยัลลอฮฺอันฮุเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

الشِّرْكُ باللَّهِ، والسِّحْرُ، وقَتْلُ النَّفْسِ الَّتي حَرَّمَ اللَّهُ إلَّا بالحَقِّ، وأَكْلُ الرِّبا، وأَكْلُ مالِ اليَتِيمِ، والتَّوَلِّي يَومَ الزَّحْفِ، وقَذْفُ المُحْصَناتِ المُؤْمِناتِ الغافِلاتِ

 

" พวกเจ้าจงออกห่างจากบาปทั้งเจ็ดที่อันตราย" 

พวกเขา(ซอฮาบะฮฺ) กล่าวว่า " บาปที่ว่านั้นคืออะไร" 

ท่านนบีกล่าวว่า "

- การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ ,

- การเล่นไสยศาสตร์,

- การฆ่าชีวิตที่อัลลอฮ์ทรงห้ามเว้นแต่การฆ่านั้นเป็นสิ่งอนุมัติ,

- การกินดอกเบี้ย,

- การกินทรัพย์สินเด็กกำพร้า,

- การหนีออกจากสนามรบ

- และการใส่ร้ายป้ายสี หญิงบริสุทธิ์ ว่าผิดประเวณี

(บันทึกโดย บูคอรีย์)

 

 

- จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺได้แบ่งปันให้ จะได้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 

 

     หมายถึง การพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺได้แบ่งปันให้ เช่น ทรัพย์สิน บุตรหลาน สุขภาพ และอื่นๆ การพอใจนั้น จะทำให้ผู้ศรัทธารู้สึกมั่งคั่ง และปลดปล่อยจิตใจจากความกังวล และความเศร้าโศก และจะไม่ทำให้จิตใจเกิดความโลภ หรืออิจฉาคนอื่น

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ، وَرُزِقَ كَفَافًا، وَقَنَّعَهُ اللَّهُ بِمَا آتَاهُ"

 

     ผู้ที่ได้รับความสำเร็จ คือ คนได้รับอิสลามอย่างแท้จริง และเขาได้รับปัจจัยยังชีพที่เพียงพอ

     และอัลลอฮฺได้ให้เขามาความพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานให้แก่เขา

 

     มีรายงานจาก ซาลามะฮฺ บิน อับดิลลาฮฺ บิน มิห์ซอน อัลหัตมีย์ มีรายงานจากบิดาของเขา เขาได้อยู่ร่วมกับท่านนบี เขาได้กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

"مَنْ أَصْبَحَ مِنْكُمْ آمِنًا فِي سِرْبِهِ، مُعَافًى فِي جَسَدِهِ، عِنْدَهُ قُوتُ يَوْمِهِ، فَكَأَنَّمَا حِيزَتْ لَهُ الدُّنْيَا".

 

     “ใครที่ตื่นเช้ามาจากพวกเจ้า มีพาหนะของเขาที่ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่ดี มีอาหารรับประทานในวันนั้น เท่ากับว่าเขาครอบครองโลกใบนี้

(บันทึกโดย อัตติรมีซีย์ และอิบนูมาญะ อัลอัลบานีย์ ถือว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง )

 

ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

(ليسَ الغِنَى عن كَثْرَةِ العَرَضِ، ولَكِنَّ الغِنَى غِنَى النَّفْسِ.)

 

ไม่ถือว่าเป็นผู้ร่ำรวยการที่มีทรัพย์สินมากมาย แต่ความร่ำรวยที่แท้จริงก็คือคำร่ำรวยทางจิตใจ(ความพอเพียง)”

(บันทึกโดย บุคคอรีย์มุสลิม)

 

 

- จงทำดีต่อเพื่อนบ้าน จะได้เป็นผู้ศรัทธา 

 

     หมายถึง การทำดีต่อเพื่อนบ้านทั้งทางคำพูดและการกระทำ เช่น การให้อาหาร การให้เกียรติ การช่วยเหลือ และอื่นๆ การทำดีต่อเพื่อนบ้านนั้น เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของศรัทธา 

     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

(وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗا وَبِذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡيَتَٰمَىٰ وَٱلۡمَسَٰكِينِ وَٱلۡجَارِ ذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡجَارِ ٱلۡجُنُبِ )

 

และจงทำดีต่อบิดามารดา เครือญาติที่ใกล้ชิด เด็กกำพร้าและผู้ขัดสน

และเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และเพื่อนที่ไม่มีสัมพันธ์ทางเครือญาติ 

(อัน-นิสาอ์ : 36)

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า

 

«مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيُحْسِنْ إِلَى جَارِهِ»

 

ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงทำดีต่อเพื่อนบ้านของเขา

(อัล-บุคอรีย์, มุสลิม)

 

     และท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าว (แก่ อบู ซัรฺ) ว่า

 

«إِذَا طَبَخْتَ مَرَقَةً فَأَكْثِرْ مَاءَهَا وَتَعَاهَدْ جِيْرَانَك»

 

โอ้ อบู ซัรฺ เอ๋ย เมื่อท่านต้มน้ำแกงท่านจงเติมน้ำให้มาก และจงแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านของท่านด้วย 

(มุสลิม)

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

(وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)

 

และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน

(ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

 

     การให้ความช่วยเหลือนั้นถือเป็นมาตรฐานในการชี้วัดถึงผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาสร้างประโยชน์ ช่วยเหลือแก่ผู้อื่นมากเพียงใด

 

     ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านได้กล่าวว่า

 

(أَحَبُّ النَّاسِ إلَى اللهِ أَنْفَعُهُمْ لِلنَّاسِ)

 

มนุษย์ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺมากที่สุดคือมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์มากที่สุด 

(รายงานโดยอัฏฎ็อบรอนีย์)

 

     รายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

(وَاللهُ فِي عَوْنِ الْعَبْدِ مَا كَانَ الْعَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيهِ)

 

อัลลอฮฺพร้อมที่จะช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวคนนั้นยังคงอยู่ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา

(รายงานโดยมุสลิม)

 

 

- จงรักต่อผู้อื่นในสิ่งที่เจ้ารักต่อตนเอง จะได้เป็นมุสลิม 

 

     หมายถึง การรักต่อผู้อื่นในสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับที่ตนเองรักต่อตนเอง และเกลียดชังสิ่งชั่วร้ายต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ตนเองเกลียดชังต่อตนเอง คุณลักษณะนี้เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของมุสลิมที่แท้จริง

 

     ดังที่มีรายงานจากท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

 

لا يُؤْمِنُ أَحدُكُمْ حتَّى يُحِبَّ لأَخِيهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ

 

     บุคคลหนึ่งบุคคลใดของพวกท่านจะยังไม่มีศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะมีความปรารถนาให้พี่น้อง ของเขาได้รับในสิ่งที่ตัวของเขาเองปรารถนาที่จะได้รับ 

(บันทึกโดย บุคครีและ มุสลิม)

 

 

- อย่าหัวเราะมากนัก เพราะการหัวเราะมากนั้นทำให้หัวใจตายด้าน

 

      หมายถึง การหัวเราะมากนั้น จะทำให้ผู้ศรัทธาลุ่มหลงจนละเลยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และทำให้หัวใจด้านชาส่วนหนึ่งออกห่างจากการหัวเราะคือการละทิ้งเรื่องไร้สาระ

 

      รายงานมาจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งท่านเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

مِنْ حُسْنِ إِسْلَامِ الْمَرْءِ، تَرْكُهُ مَا لَا يَعْنِيهِ.

 

ส่วนหนึ่งของความดีงามสำหรับอิสลามของคนๆหนึ่งนั้น คือการที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์สำหรับตัวเขา

(บันทึก อิมามอิบนุมาญะฮฺ อิมามมาลิก อิมามอะหฺมัด)

 

 

ผลลัพธ์สู่การปฏิบัติ :

 

     - ผู้ที่มีความศรัทธามากที่สุด เพราะมาจากการละเว้นจากสิ่งต้องห้ามนั้น เป็นการปฏิบัติตามหลักศาสนา

 

     - ผู้ที่มีความมั่งคั่ง เพราะเมื่อรู้จักพอเพียง ไม่โลภในสิ่งที่ผู้อื่นมีรู้จักพอเพียงกับสิ่งที่อัลลอฮ์ ประทานให้ ไม่ควรโหยหาสิ่งที่สูญเสียไป

 

     - จะต้องเป็นคนมีความปรารถนาดีต่อมุสลิมและผู้ศรัทธา เช่นเดียวกับที่ปรารถนาดีต่อตนเองและครอบครัว

 

     - ผู้ที่มีศรัทธาที่สมบูรณ์ คือ การปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านด้วยความดีงามช่วยเหลือเกื้อกูล

 

     - ผู้มีศาสนาอิสลามที่สมบูรณ์ คือ การหลีกเลี่ยงการหัวเราะมากเกินไป เพราะอาจนำไปสู่ความประมาท และลืมนึกถึงความตาย

 

 

     บทสรุป: คำสอนเหล่านี้ เป็นแนวทางสู่ความสุขและความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม