ศาสตร์แห่งอัลกุรอ่าน
  จำนวนคนเข้าชม  1027

ศาสตร์แห่งอัลกุรอ่าน

 

.อิสหาก พงษ์มณี

 

อัลกุรอ่านมีแง่มุมให้ศึกษาหลายด้านโดยสรุปพอแยกย่อยได้ดังนี้คือ

 

1. ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนและอ่าน

2. ที่เกี่ยวข้องกับความหมายและการทำความเข้าใจ

 

 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านพอแยกย่อยได้ดังนี้คือ

1. เสียงของพยัญชนะและสระ

2. ตัจวี๊ด (อ่านให้สวยงาม)

3. ท่วงทำนองเสนาะ

 

 

ที่เกี่ยวข้องกับความหมายและความเข้าใจ ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดที่ยึดโยงหลายด้าน เช่น

1. หลักภาษา(ลักษณะการประกอบประโยค)

2. ความหมายของคำแต่ละคำ

3. โวหาร

4. เหตุแห่งการประทานแต่ละบท

5. มักกียะห์-มะดะนียะห์

6. ฯลฯ

 

ทั้งหมดเหล่านี้ประมวลเป็นวิชา "อุลูมุ้ลกุรอ่าน" แปลว่าศาสตร์แห่งอัลกุรอ่าน

 

          ในส่วนของ "หุก่ม" บางเรื่องก็จำเป็นบางเรื่องก็แค่ส่งเสริมให้กระทำแต่ไม่ถึงกับจำเป็นแต่อย่างใด บางเรื่องก็ต้องห้าม ตัวอย่างเช่นเรื่องการออกเสียงพยัญชนะให้ถูกต้องรวมถึงการออกเสียงสระให้ถูกต้อง สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะหากออกเสียงไม่ถูกต้องก็จะมีผลต่อความหมายที่อาจผิดเพี้ยนไป

 

          ส่วนการอ่านให้กลมกลืนเพื่อให้เกิดความลืนไหลในการอ่านที่เรารู้จักกันในนาม "อัตตัจวีด" นั้น นักวิชาการหลายท่านบอกว่าหุก่มของมันก็แค่ "มุสตะฮับ-สมควร"เท่านั้น กล่าวคือไม่ถึงกับเป็นเรื่องจำเป็นแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น 

 

          (مَنْ يَعْمَلْ) หากอ่านว่า "มัยยะอฺมั้ล" ก็นับว่าดี แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า "มันยะอฺมั้ล" ก็ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด

 

          ส่วนเรื่องท่วงทำนองหากเป็นไปโดยธรรมชาติโดยไม่มีการสร้างกฏเก็ณฑ์ให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งลักษณะโน๊ตดนตรี  ท่วงทำนองที่เป็นไปตามธรรมชาตินี้ มีตัวบทหลักฐานและแนวปฏิบัติจากสะลัฟรองรับ 

 

          ส่วนการอ่านกุรอ่านลักษณะบังคับด้วยบันใดเสียงดนตรี นักวิชาการทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายท่านถือว่าต้องห้าม ในอดีตก็มีชัยคุ้ลอิสลามอิบนุตัยมียะห์และอิบนุกอยยิม ส่วนในปัจจุบันก็มีชัยค์บินบาซและอิบนุอุษัยมีน เป็นต้น

 

          "ตัจวีด" เป็นเรื่องดีคือหากอ่านให้ถูกตามหลักตัจวีดได้ แต่หาใช่เป็นเรื่องจำเป็นแต่อย่างใด แต่การศึกษาความหมายของอัลกุรอ่านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นคือเป็นเรื่อง "วาญิบ"

 

          ดังนั้นคิดให้ดีๆ หากจะมกมุ่นแต่เพียงสิ่งที่มีหุก่ม "มุสตะฮับ" แล้วละเลยสิ่งที่มีหุก่ม "วาญิบ" สภาพดังกล่าวก็คงไม่ต่างอะไรกับคนที่ขยันละหมาดสุนัดแต่ทิ้งละหมาดฟันฎู หรือขยันถือศีลอดสุนัดและละทิ้งการถือศีลอดฟัรฏูในเดือนรอมฎอน หากใครเป็นเช่นว่านี้ ก็ให้รู้ไว้เถอะว่านั่นท่านกำลังถูก "ชัยฏอน" หลอกเข้าให้แล้ว

 

          สิ่งทำคัญที่สุดคือการเข้าใจอัลกุรอ่าน เพราะในอัลกุอ่านคือข้อบัญญัติต่างๆ ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างถูกทางและไปอาคิเราะห์ได้อย่างถูกทิศ ไม่หลงผิดทั้งโลกนี้โลกหน้า 

 

     หากมีเวลาศึกษาการอ่านที่ไพเราะ ก็จงมีเวลาศึกษาเพื่อให้เข้าใจอัลกุรอ่านให้เป็นหลายๆ เท่าเพราะนั่นคือสิ่งจำเป็นยิ่งยวดต่อชีวิตท่าน