“อัลอะกีดะฮอัลอิสลามมียะฮฺ”ต้องยึดมั่นในหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง
อับดุลสลาม เพชรทองคำ
แท้จริง บรรดาการสรรเสริญทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น เราขอสรรเสริญพระองค์ เราขอมอบอิบาดะฮฺทั้งหมดแด่พระองค์ เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในทุก ๆการงาน เราขออภัยโทษต่อพระองค์ในทุก ๆความผิด ผู้ทรงสิทธิ์แห่งอำนาจทั้งปวง พระองค์ทรงประทานอำนาจให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงถอดถอนอำนาจออกจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์
เราขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายต่าง ๆของตัวเรา และความไม่ดีไม่งามจากการงานต่าง ๆของเรา และผู้ใดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงนำทางเขา ก็ไม่มีใครที่จะมาทำให้เขาหลงผิดได้ ส่วนสำหรับผู้ใดที่พระองค์ทรงปล่อยให้เขาหลงผิด ก็ไม่มีใครที่จะมานำทางให้แก่เขาได้เช่นเดียวกัน ..ดังนั้น จงขอดุอาอ์อยู่เสมอ ขอพระองค์โปรดนำทางที่ถูกต้อง เที่ยงตรงให้แก่เราด้วยเถิด
ทุก ๆ วัน เรายังคงปฏิญาณตน....
أَشْهَدُ أَنّ لَّا إِلَٰهَ إِلَّإ الله وأَشْهَدُ ان محمداً رسول الله
“เราขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าใด ๆทั้งสิ้นที่เราเคารพอิบาดะฮฺ นอกจากอัลลอฮฺ องค์เดียวเท่านั้น
และเรายังคงปฏิญาณตนว่า มุฮัมมัด เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ”
ดังนั้น ด้วยกับการปฏิญาณในส่วนแรก ทำให้เราต้องไม่ทำชิริก หรือไม่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นก็คือ การมอบเตาฮีด หรือมอบการเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และในขณะเดียวกัน คำปฏิญาณในส่วนที่สอง จะทำให้เราปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในทุก ๆเรื่องราวของชีวิต ซึ่งนั่นจะทำให้เราไม่ทำบิดอะฮฺใด ๆทั้งสิ้นต่อท่านนบี และนี่ก็คือ เป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเราในทุก ๆวัน ..
เราต้องทำให้ทุก ๆวันของเรา ไม่มีการทำชิริก และทำให้ทุก ๆวันของเราไม่ทำบิดอะฮฺ เพราะถ้าหากเราหลงไปทำเข้า นั่นก็หมายความว่า เรายังไม่บรรลุถึงเป้าหมายของการกล่าวปฏิญาณตนดังกล่าวที่เรากล่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ดังนั้น ในการดำเนินชีวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน จึงต้องมีหลักเพื่อมาควบคุมตัวเรา ให้เราดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการปฏิญาณตนดังกล่าว เป็นหลักที่เราเรียกว่า หลักอะกีดะฮฺอัลอิสลามมียะฮฺ ก็คือหลักการเชื่อมั่นแบบอัลอิสลาม ซึ่งหลักอะกีดะฮฺหรือหลักการเชื่อมั่นนี้ เราไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เราได้หลักอะกีดะฮฺนี้มาจาก กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม
กิตาบุลลอฮฺ ก็คือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันได้แก่อัลกุรอาน ซึ่งอัลกุรอานนี้คือดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตอะลา ...ตามหลักอะกีดะฮฺอัลอิสลามียะฮฺที่ถูกต้อง
อัลกุรอานคือดำรัสหรือคำพูดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ใช่มัคลู๊กหรือสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งนี้เพราะ มีบุคคลบางคนบางกลุ่มกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่าอัลกุรอานคือมัคลู๊กหรือสิ่งถูกสร้างของพระองค์.. ซึ่งนี่คือหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิด เพราะแท้จริงแล้ว อัลกุรอานคือดำรัสหรือคำพูดของอัลลอฺฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยอัลกุรอานจะเป็นหลักฐานสูงสุดของอัลอิสลาม และถือเป็นธรรมนูญ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรา
ส่วนสำหรับซุนนะฮฺของท่านนบี ก็คือแบบอย่างหรือแบบฉบับที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของท่านนบี การปฏิบัติตัวต่าง ๆของท่านนบี รวมไปถึงคำพูดหรือการปฏิบัติของบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี ที่ถึงแม้ท่านนบีจะไม่ได้พูด หรือไม่ได้ปฏิบัติไว้ แต่ถ้าบรรดาเศาะฮาบะฮฺพูดหรือปฏิบัติ และท่านนบียอมรับในสิ่งนั้น ก็ถือเป็นซุนนะฮฺของท่านนบีด้วยเช่นกัน ..
ซึ่งซุนนะฮฺของท่านนบีนี้ ก็จะปรากฏหลักฐานอยู่ในอัลหะดีษเศาะหิหฺ หรืออัลหะดีษระดับหะซัน หรืออัลหะดีษที่มีหลักฐานของความถูกต้องและเชื่อถือได้ ...
ซึ่งอัลหะดีษเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่เข้ามาอธิบายอัลกุรอานว่าอัลกุรอานแต่ละซูเราะฮฺ แต่ละอายะฮฺมีความหมายอย่างไร หรือมีรายละเอียดอย่างไร ดังนั้น การที่เราจะนำเอาอัลกุรอานแต่ละซูเราะฮฺ แต่ละอายะฮฺมาใช้ หรือจะนำเอาอัลหะดีษแต่ละบท แต่ละเรื่องมาใช้นั้น เราจะต้องยึดเอาคำอธิบายที่ท่านนบีได้ทำการอธิบายแก่บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านมาใช้ ซึ่งคำอธิบายเหล่านั้นของท่านนบีได้ถูกถ่ายทอดความเข้าใจมาสู่ยุคของเราด้วยคำสอน ด้วยตำรับตำราของบรรดาอุละมาอ์ ที่มีหลักฐานที่ถูกต้องสืบทอดติดต่อกันมาโดยไม่มีการขาดตอนเลย..
แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่บางเรื่อง เราไม่พบการอธิบายโดยท่านนบีในอัลหะดีษที่ถูกต้อง ซึ่งเราก็สามารถนำเอาความเข้าใจของบรรดาเศาะฮาบะฮฺมาเป็นหลักฐานในการทำความเข้าใจอัลกุรอานหรืออัลหะดีษได้ ... แต่ถ้าไม่พบการอธิบายอีกก็ให้ถือเอาคำอธิบายของบรรดาสะละฟุศศอและฮฺ หรือบรรดาบรรพชนผู้ศรัทธาในยุค 300 ปีแรกของอัลอิสลามเป็นบรรทัดฐานได้ โดยพิจารณาว่าท่านเหล่านั้นเข้าใจอัลกุรอานอย่างไร หรือเข้าใจอัลหะดีษแต่ละบทอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้เราเรียกว่า อิจญ์มาอ์ ..ดังนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะเข้าใจอัลกุรอานเอาเอง หรือตีความเอาเองได้ เพราะการเข้าใจอัลกุรอานเอาเอง หรือตีความหมายเอาเอง มันจะทำให้เราหลุดออกจากการมีหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง และนำไปสู่การมีหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิดได้
ดังนั้น แหล่งที่มาของอัลอะกีดะฮฺอัลอิสลามียะฮฺที่ถูกต้องจะได้แก่....
1. อัลกุรอาน ที่มีคำอธิบายที่มาจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี ซึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺรับคำอธิบายมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
2. อัลหะดีษที่มีหลักฐาน มีสายรายงานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้สืบทอดติดต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบันโดยไม่มีการขาดตอนเลย
3. แนวทางของบรรดาสะละฟุศศอลิห์ ซึ่งก็คือแนวทางของบรรดาบรรพชนเฉพาะคนศ่อลิหฺผู้ศรัทธารุ่นก่อน ๆที่อยู่ในยุค 300 ปีแรกแห่งอัลอิสลาม ซึ่งแบ่งได้เป็นสามยุค ก็คือ
3.1 ยุคเศาะฮาบะฮฺ คือผู้ที่ได้พบกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยเป็นผู้ศรัทธา คือเป็นมุสลิมผู้นอบน้อม และเสียชีวิตในสภาพของมุสลิมผู้นอบน้อม
3.2 ยุคตาบิอีน ก็คือ ยุคที่คนที่เป็นมุสลิมที่ได้พบกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี แต่ไม่ได้พบกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
3.3 ยุคตาบิอิตตาบิอีน ก็คือ ยุคที่คนที่เป็นมุสลิมได้พบกับตาบิอีน แต่ไม่ได้พบกับเศาะฮาบะฮฺ และไม่ได้พบกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
4. อัลอิจญ์มาอ์ ซึ่งก็คือ มติเอกฉันท์ของบรรดาสะละฟุศศอลิหฺ ตลอดจนบรรดาอุละมาอ์หรือปวงปราชญ์ที่มีหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องจนถึงยุคปัจจุบัน โดยใช้อัลกุรอานและอัลหะดีษที่มีหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เป็นสาเหตุของมติเอกฉันท์ดังกล่าว
นั่นก็คือ แหล่งที่มาของหลักอะกีดะฮฺหรือหลักเชื่อมั่นที่ถูกต้องของอัลอิสลาม โดยมีหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้มากำกับในทุก ๆเรื่องราว
ดังนั้น การรู้จักและเรียนรู้เรื่องของหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่สุด ในขณะเดียวกัน การรู้จักกลุ่มที่มีหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิด หรือผิดเพี้ยนไป หรือกลุ่มที่มีหลักอะกีดะฮฺที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไปสู่กลุ่มที่มีหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิดนั้น จะได้ไม่ไปร่วมหรือไปสนับสนุนพวกเขา ไปกดไลน์ กดแชร์ต่อการกระทำของพวกเขา เพราะแท้จริงแล้ว การมีหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิดนั้น มันจะนำเราไปสู่การปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือนำไปสู่การทำชิริกต่อพระองค์ หรือนำไปสู่การทำบิดอะฮฺต่าง ๆ ซึ่งบิดอะฮฺบางเรื่องนำไปสู่การทำชิริก และบางเรื่องนำไปสู่การปฏิเสธต่อแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ขอยกตัวอย่าง หลักอะกีดะฮฺในเรื่องของการอยู่เบื้องบนของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องซึ่งมีหลักฐานมากมายทั้งจากอัลกุรอานและอัลหะดีษที่ระบุว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอยู่เบื้องบน อยู่บนชั้นฟ้า ประทับอยู่บนอะรัชหรือบัลลังก์ของพระองค์ ตัวอย่างหลักฐาน เช่น ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุลข์ อายะฮฺที่ 16 – 17 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
ءَأَمِنتُم مَّن فِي ٱلسَّمَآءِ أَن يَخۡسِفَ بِكُمُ ٱلۡأَرۡضَ فَإِذَا هِيَ تَمُورُ 16
“พวกเจ้าจะปลอดภัย(จากการลงโทษ)ของผู้ทรงประทับอยู่ ณ เบื้องบนของชั้นฟ้าอย่างนั้นหรือ ซึ่งพระองค์จะให้แผ่นดินสูบพวกเจ้า และทันใดนั้นมันก็จะสั่นสะเทือน”
أَمۡ أَمِنتُم مَّن فِي ٱلسَّمَآءِ أَن يُرۡسِلَ عَلَيۡكُمۡ حَاصِبٗاۖ فَسَتَعۡلَمُونَ كَيۡفَ نَذِيرِ 17
“หรือว่าพวกเจ้าจะปลอดภัยจากการที่พระผู้ทรงประทับอยู่ ณ เบื้องบนของชั้นฟ้าฟ้า จะทรงส่งลมพัดก้อนกรวดให้กระหน่ำมายังพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าจะได้รู้ว่าการตักเตือนของข้าเป็นเช่นใด”
นี่ก็คือหลักฐานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยืนยันพระองค์เองว่า พระองค์ทรงอยู่เบื้องบน อยู่บนชั้นฟ้า แต่กลับปรากฏว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มกลับปฏิเสธในเรื่องนี้ เช่นบอกว่า เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรอบรู้ ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นแสดงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอยู่ทุกหนทุกแห่ง หรือมีคำกล่าวอ้างมากมายที่พวกเขายกมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการอยู่เบื้องบนของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันเป็นการใช้สติปัญญาของพวกเขาคิดเอง เออเอง โดยไม่ได้ใช้หลักฐานที่ถูกต้องใด ๆทั้งสิ้นในการเชื่อของพวกเขา ซึ่งนี่ก็คือเรื่องที่อันตรายต่อหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง เป็นความเชื่อที่พวกเขาอุปโลกก์กันขึ้นมาเอง ถือเป็นอุตริกรรมหรือเป็นบิดอะฮฺในเรื่องความเชื่อ
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวถึงเรื่องราวของบิดอะฮฺว่าอย่างไร เรามาดูอัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในสุนันของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«وَشَرُّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ، وَكُلُّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ»
"สิ่งชั่วช้าที่สุดคือ สิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนา
และทุกๆสิ่งที่อุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนานั้น ถือเป็นบิดอะฮฺทั้งสิ้น
และทุกๆบิดอะฮฺถือเป็นความหลงผิด และแน่นอนทุกๆความหลงผิดย่อมนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก”
อัลหะดีษเศาะหิหฺบทนี้ได้แจ้งให้เราทราบว่า การทำบิดอะฮฺเป็นสิ่งชั่วช้าที่นำไปสู่การหลงผิด และการหลงผิดนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องชัดเจนว่า การทำบิดอะฮฺย่อมนำไปสู่การถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีบทบัญญัติศาสนาสั่งใช้ให้ทำ ท่านนบีก็ไม่เคยทำ และบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีก็ไม่เคยทำ ตลอดจนบรรดาสะลัฟคนดีๆในยุค 300 ปีแรกของอัลอิสลามก็ไม่เคยทำกันมาก่อน ไม่มีหลักฐานใด ๆสั่งใช้ให้ทำ และที่สำคัญที่สุด หลักฐานว่าเมื่อทำบิดอะฮฺแล้ว จะได้ผลบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เท่านั้นเท่านี้ก็ไม่มี ไม่มีหลักฐานตัวบทใด ๆทั้งสิ้นมายืนยัน ...
การทำเมาลิดนบี ก็ไม่มีหลักฐานว่า ในยุค 300 แรกของอัลอิสลามมีการทำเมาลิดนบี ทำแล้วได้รับผลบุญอะไร เราก็ยังไม่เคยเห็นหลักฐาน แต่มีหลักฐานว่า การทำบิดอะฮฺนำไปสู่การหลงผิด ซึ่งนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกดังที่อัลหะดีษข้างต้นได้กล่าวไว้
เดือนเราะญับ เป็นหนึ่งในสี่เดือนที่ถือเป็นเดือนต้องห้าม ...เดือนเราะญับแล้วเดือนชะอ์บาน แล้วเราก็จะเข้าสู่เดือนเราะมะฏอนในอีกไม่ช้า อินชาอัลลอฮฺ
สำหรับในเดือนเราะญับนี้ ก็จะมีอุตริกรรมหรือบิดอะฮฺบางอย่างที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา อย่างเช่น บิดอะฮฺในการเจาะจงถือศีลอดตลอดเดือนเราะญับ เพื่อเลียนแบบการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน การปฏิบัติในกรณีแบบนี้ ไม่มีแบบอย่างมาก่อน ไม่มีหลักฐานใด ๆทั้งสิ้น.. แต่ในกรณีถือเป็นสุนัตเป็นบางวัน เช่น ถือวันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี อย่างนี้มีหลักฐานสามารถทำได้ หรือถือศีลอดในวันที่ 13 – 14 – 15 ของเดือนอาหรับ อย่างนี้ก็สามารถทำได้ในทุก ๆเดือน
บิดอะฮฺในเรื่องการเจาะจงการละหมาดที่เรียกว่า ละหมาดเราะฆออิบ โดยทำกันในค่ำคืนของศุกร์แรกของเดือนเราะญับในช่วงเวลามัฆริบถึงอิชาอ์ จำนวน 12 เราะกะอะฮฺ และนำหน้าด้วยการถือศีลอดในวันพฤหัสบดีแรกของเดือนเราะญับ ซึ่งการละหมาดนี้ ไม่พบหลักฐานใด ๆทั้งสิ้นว่าเคยมีการปฏิบัติกันในยุคท่านนบีและในยุค 300ปีแรกของอัลอิสลาม แต่กลับพบหลักฐานว่ามีการทำครั้งแรกที่บัยตุลมักดิส ในปีฮิจญฺเราะฮ 480 ...ดังนั้น การละหมาดเราะฆออิบนี้จึงเกิดขึ้นหลังยุคสมัย 300 ปีแรกแห่งอัลอิสลาม ซึ่งนั่นแสดงว่า การละหมาดเราะฆออิบเป็นบิดอะฮฺอย่างชัดเจน
บิดอะฮฺในการเจาะจงในการไปซิยาเราะฮฺ หรือการเยี่ยมมัสญิดและกุบูรของท่านนบีในเดือนเราะญับนี้ ..คือถ้าจะไปก็ไปได้ แต่ไม่ใช่ไปเจาะจงว่า ต้องไปเดือนนั้นเดือนนี้เท่านั้น
บิดอะฮฺในการจัดงานเฉลิมฉลองในคืนวันที่ 27 ของเดือนเราะญับ อันเป็นค่ำคืนที่กลุ่มคนบางกลุ่มกล่าวอ้างว่า มันเป็นค่ำคืนอัลอิสรอ์ อัลมิอ์รอจญ์ ก็คือคืนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้มิอ์รอจญ์ขึ้นไปสู่ชั้นฟ้า เพื่อรับบัญญัติการละหมาดด้วยตัวของท่านนบีเอง ซึ่งค่ำคืนดังกล่าว ไม่มีหลักฐานชัดเจนใด ๆที่บ่งบอกไว้ว่าเป็นค่ำคืนไหน และไม่พบหลักฐานใด ๆทั้งสิ้นที่บอกว่า ได้มีการเฉลิมฉลองในเรื่องนี้แต่อย่างใด ...อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่กลุ่มคนที่สนับสนุนในเรื่องของการเฉลิมฉลองในค่ำคืนที่ท่านนบีขึ้นไปบนชั้นฟ้านั้น กลับเป็นกลุ่มคนที่ปฏิเสธการอยู่เบื้องบน หรือการประทับอยู่เหนือชั้นฟ้าของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..จึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันอย่างยิ่ง นี่แสดงให้เห็นว่า หลักอะกีดะฮฺที่หลงผิดนั้น ย่อมมีความย้อนแย้ง ขัดแย้งในการกระทำของตัวเองเช่นนี้แหละ
ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องแสวงหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนาที่มีหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ เพราะเมื่อเราศึกษา เราได้เรียนรู้ มันจะทำให้เรามีความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้องจะทำให้เรามีหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องดีงาม และปฏิบัติอิบาดะฮฺในรูปแบบที่ถูกต้องเช่นกัน อันนำเราไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการปฏิญาณตนในการเป็นมุสลิมของเรา
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักอะกีดะฮฺอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตนอย่างดีงามเพื่อจะได้ดำรงตนอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง และห่างไกลจากหลักอะกีดะฮฺที่หลงผิด
ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเห็นความจริงเป็นความจริง และปฏิบัติตามความจริงนั้น และโปรดให้เราเห็นความหลงผิดเป็นความหลงผิด และขอให้เราได้ออกห่างจากความหลงผิดเหล่านั้นด้วยเถิด
( นะศิหะหฺ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )