ความประเสริฐและมารยาทในวันศุกร์
  จำนวนคนเข้าชม  3351

ความประเสริฐและมารยาทในวันศุกร์

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา ... เรียบเรียง

 

          วันศุกร์เป็นวันที่มีความสำคัญแก่มุสลิมทุกคน เพราะวันนี้เป็นวันที่มีความดีงามมากมาย เช่นเดียวกันการละหมาดวันศุกร์ เป็นฟัรดูที่จำเป็นเฉพาะผู้ชายมุสลิมทุกคนที่เป็นอิสระ ไม่ใช่ทาส ซึ่งบรรลุนิติภาวะพร้อมทั้งมีสติสัมปชัญญะรู้สึกรับผิดชอบ ซึ่งไม่มีอุปสรรคจำเป็นใดๆ มาขัดขวาง เช่น การป่วยไข้ หรือการเดินทาง การละหมาดวันศุกร์เป็นการละหมาด 2 ร่อกะอั๊ต โดยถือเอาสองคุตบะห์แทนสองร่อกะอั๊ต

 

 ความประเสริฐ

 

♥ วันศุกร์เป็นวันที่ประเสริฐที่สุด

 

     มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ عَلَيْـهِ الشَّمْسُ يَوْمُ الجُـمُعَةِ، فِيْـهِ خُلِقَ آدَمُ، وَفِيْـهِ أُدْخِلَ الجَنَّةَ، وَفِيْـهِ أُخْرِجَ مِنْـهَا، وَلا تَقُومُ السَّاعَةُ إلَّا فِي يَوْمِ الجُـمُعَةِ»

 

      วันที่ดีที่สุดในบรรดาวันที่มีอยู่คือวันศุกร์ เพราะเป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง เป็นวันที่อาดัมเข้าสวรรค์ เป็นวันที่อาดัมถูกขับออกจากสวรรค์ และวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก)จะไม่เกิดขึ้นนอกจากในวันศุกร์

 (บันทึกโดยมุสลิม)

 

 

การละหมาดวันศุกร์ลบล้างความผิด

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

الصَّلواتُ الخَمسُ والجُمعةُ إلى الجُمعةِ كفَّاراتٌ لِما بينَهنَّ ما لَمْ يَغْشَ الكبائرَ

 

      “การละหมาดห้าเวลาะและละหมาดวันศุกร์ถึงอีกศุกร์หนึ่ง(คือระหว่างสองศุกร์)เป็นการไถ่โทษ(ลบล้างความผิด) ยกเว้นบาปใหญ่(-ต้องเตาบัตตัว)” 

(อิบนุฮิบบาน สถานะถูกต้อง)

 

 

♥ ละหมาดที่ประเสริฐที่สุดในค่ำคืนของวันศุกร์

 

     จากอิบนิ อูมัรกล่าวว่า : ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إنَّ أفضلَ الصَّلواتِ عندَ اللَّهِ : صلاةُ الصُّبحِ يومَ الجمعةِ في جَماعةٍ

 

ละหมาดที่ประเสริฐที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือ ละหมาดซุบฮฺในวันศุกร์แบบญามาอะห์ 

( รายงายโดย บัยฮะกี และชัยคฺอัลบานีให้สถานะฮาดิษว่า ศอฮีห์ )

 

 

♥ วันศุกร์เป็นนายของบรรดาวันต่างๆ

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إنَّ يومَ الجمعةِ سيِّدُ الأيَّامِ ، وأعظمُها عندَ اللهِ ، وَهوَ أعظمُ عندَ اللهِ من يومِ الأضحى ويومِ الفطرِ

 

แท้จริงวันศุกร์เป็นนายของบรรดาวันต่างๆ ณ ที่อัลลอฮฺ ยิ่งใหญ่กว่าวันอีดิ้ลอัฎฮาและอีดิ้ลฟิตรฺ

(บันทึกโดยอิมามอิบนุมาญะฮฺ อิมามอะหมัด ซึ่งอุละมาอฺบางท่านบอกว่าฎออีฟ แต่อิมามอัลอิรอกียฺ บอกว่าเป็นหะดีษหะซัน)

 

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إِنَّ هَذَا يَوْمُ عِيدٍ، جَعَلَهُ اللهُ لِلْمُسْلِمِينَ، فَمَنْ جَاءَ إِلَى الْجُمُعَةِ فَلْيَغْتَسِلْ

 

แท้จริงวันศุกร์นี้เป็นวันอีด(วันฉลอง) ที่อัลลอฮฺกำหนดไว้สำหรับมุสลิม ใครที่จะมาละหมาดวันศุกร์ต้องชำระ(อาบน้ำทำความสะอาด)”

(สำนวนหนึ่งบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ รายงานโดยท่านอิบนิอับบาส)

 

 

มารยาทต่างๆในวันศุกร์

 

 

การเดินไปมัสยิดตั้งแต่เนินๆ

 

      มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺเราะ ฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«مَنْ اغْتَسَلَ يَوْمَ الجُـمُعَةِ غُسْلَ الجَنَابَةِ، ثُمَّ رَاحَ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَدَنَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّانِيَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَقَرَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّالِثَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ كَبْشاً أَقْرَنَ، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الرَّابِـعَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ دَجَاجَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الخَامِسَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَيْضَةً، فَإذَا خَرَجَ الإمَامُ حَضَرَتِ المَلائِكَةُ يَسْتَـمِعُونَ الذِّكْرَ»

 

 ผู้ใดที่อาบน้ำในเช้าวันศุกร์เหมือนกับอาบน้ำญุนุบ 

หลังจากนั้นก็ไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ ผลบุญของเขาเสมือนว่าเขาได้รับอูฐหนึ่งตัว 

และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปเสมือนว่าเขาได้รับวัวหนึ่งตัว 

และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปเสมือนว่าเขาได้รับแกะตัวผู้ที่มีเขาสวยงามหนึ่งตัว 

และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปก็เสมือนว่าเขาได้รับไก่หนึ่งตัว 

และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปก็เสมือนว่าเขาได้รับไข่หนึ่งใบ 

เมื่อใดที่อิมามออกมากล่าวคุฏบะฮฺแล้ว บรรดามะลาอิกะฮฺก็จะมานั่งฟังคำตักเตือนของอิมามด้วย 

(บันทึกในอัล-บุคอรีย์)

 

 

♥ ส่งเสริมให้อาบน้ำซุนนะฮฺในวันศุกร์

 

     1- การอาบน้ำสำหรับละหมาดญุมุอะฮฺเป็นสิ่งที่สุนัตมุอักกะดะฮฺ(ส่งเสริมอย่างยิ่งให้ทำ) และวาญิบต้องอาบน้ำสำหรับผู้ที่มีกลิ่นตัวรบกวนบรรดามะลาอิกะฮฺและคนอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

 

«الغُسْلُ يَومَ الجُـمُعَةِ وَاجِبٌ عَلَى كُلِّ مُـحْتَلِـمٍ»

 

 การอาบน้ำในวันญุมุอะฮฺนั้นเป็นสิ่งสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะทุกคน 

(บันทึกในอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

     2- หลังจากอาบน้ำแล้วมีสุนัตให้ทำความสะอาดร่างกายส่วนอื่นๆ และให้ใส่น้ำหอม และสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม แล้วออกไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วให้เข้าไปอยู่ในที่ที่ใกล้อิมาม และละหมาด ดุอาอ์และอ่านอัลกุรอานให้มากๆ

 

 

♥ ให้ละหมาดเคารพมัสยิดแม้ว่าอิมามกำลังอ่านคุฏบะฮฺก็ตาม

 

     รายงานจากอบีก่อตาดะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إِذَا جَاءَ أَحَدُكُمْ الْمَسْجِدَ فَلْيَرْكَعْ رَكْعَتَيْنِ قَبْلَ أَنْ يَجْلِسَ

 

"เมื่อคนใดจากพวกท่านได้เข้ามาที่มัสยิด ดังนั้น เขาจงละหมาดสองร่อกะอัตก่อนที่เขาจะนั่ง" 

(รายงานโดยติรมีซีย์)

 

     รายงานจากท่านญาบีร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

 

جاء رجلٌ والنبيُّ صلَّى اللهُ عليه وسلَّم يَخطُبُ الناسَ، فقال: صليتَ يا فلانُ؟ قال: لا، قال: قُمْ، فارْكَعْ

 

     “มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในขณะท่านนบีกำลังอ่านอ่านคุฏบะฮฺ แล้วท่านนบีกล่าวถามว่า ละหมาดไปแล้วหรือยัง  

     ชายหนุ่มตอบ ยังไม่ได้ละหมาดครับ 

     ท่านนบีจึงบอกว่า ท่านจงลุกขึ้นละหมาด จงรูกั่วะ

(บันทึกบุคครีและมุสลิม)

 

 

♥ แต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย และสวมเสื้อสีขาว

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

حق على كل مسلم أن يستاك يوم الجمعة ، ويلبس أفضل ثيابه ، ويتطيب

จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนต้องอาบน้ำวันศุกร์ และแต่งกายด้วยชุดที่ดีงามที่สุด ถ้ามีน้ำหอมก็ให้ใช้เล็กน้อย

(อิบนุอะบีฮาติม)

 

     ท่านนบีได้แนะนำให้ใส่ชุดสีขาว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

البَسوا الثِّيابَ البِيضَ فإنَّها أطهَرُ وأطيَبُ وكفِّنوا فيها موتاكم

จงสวมชุดสีขาว เพราะมันบริสุทธิ์และดีงาม และจงใช้มันในการห่อแก่ศพ

( บันทึกของอิมามติรมิซียฺ)

 

 

♥ การอ่านซูเราะห์กอัลกะฟิในวันศุกร์

 

          มีสุนัตให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟฺ ในคืนหรือวันศุกร์ ซึ่งผู้อ่านสูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟฺในวันศุกร์ อัลลอฮฺจะให้ความสว่างจากรัศมีเฉพาะแก่เขาในระหว่างสองญุมุอะฮฺ การอ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์ มีหลักฐานจากหะดีษที่รายงานจากท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า

 

من قرأ سورةَ ( الكهفِ ) في يومِ الجمعةِ أضاء له من النورِ ما بين الجمُعَتَين

 

     “ผู้ใดก็ตามที่อ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์ เขาจะได้รับแสงรัศมีส่องสว่างตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันศุกร์ในสัปดาห์นี้ไปจนวันศุกร์ในสัปดาห์ถัดไป

(บันทึกโดยอิมามอันนะสาอีย์ และอิมามอัลฮากิม)

 

     สำหรับเวลาของการอ่านซูเราะฮฺอัลกะหฺฟินั้น ให้อ่านในค่ำคืนของวันศุกร์ได้ คือหลัง มัฆริบของวันพฤหัส เพราะตีความว่าวันศุกร์เริ่มตั้งแต่คืนวันพฤหัส เรื่อยไปจนถึงมัฆริบของวันศุกร์

 

     ความประเสริฐของการ ท่องจำ 10 อายะฮฺแรกของซูเราะฮฺอัลกะหฺฟิ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า

 

مَن حَفِظَ عَشْرَ آياتٍ مِن أوَّلِ سُورَةِ الكَهْفِ عُصِمَ مِنَ الدَّجَّالِ.

 

 ผู้ใดท่องจำสิบอายะฮฺแรกของซูเราะฮฺอัลกะหฺฟิ จะได้รับการป้องกันรอดพ้นจากดัจญาล

(บันทึกโดยมุสลิม)

บางสายรายงานกล่าวว่า ในช่วยท้ายขของซูเราะฮฺอัลกะหฺฟิ

 

 

♥ ส่งเสริมให้อิหม่ามอ่านในละหมาดศุบหฺของวันศุกร์

 

     มีสุนัตให้อิมามอ่านในร็อกอะฮฺแรกของละหมาดศุบหฺในเช้าวันศุกร์ด้วยสูเราะฮฺ อัส-สัจญ์ดะฮฺ ตามรายงานหะดีษในบันทึกของอิม่ามมุสลิม

 

(الم. تَنزِيلُ الْكِتَابِ لا رَيْبَ فِيهِ مِن رَّبِّ الْعَالَمِينَ.)

และในร็อกอะฮฺที่สองด้วยสูเราะฮฺ อัล-อินซาน

(هَلْ أَتَى عَلَى الإِنسَانِ حِينٌ مِّنَ الدَّهْرِ لَمْ يَكُن شَيْئًا مَّذْكُورًا)

 

 

♥ ส่งเสริมให้ขอดุอาอ์ให้มากๆ

 

          ช่วงเวลาที่จะถูกตอบรับน่าจะเป็นช่วงท้ายของวันศุกร์ นั่นคือหลังจากละหมาดอัศรฺ ซึ่งมีสุนัตให้ซิกิรฺ ดุอาอ์ให้มากๆ ในช่วงดังกล่าว ฉะนั้นการดุอาอ์ในช่วงนี้จึงเป็นการดุอาอ์ที่น่าจะถูกตอบรับมากที่สุด ทั้งที่มันเป็นช่วงสั้นๆ

 

     มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงวันศุกร์ว่า

 

«فِيهِ سَاعَةٌ لا يُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِـمٌ وَهُوَ قَائِمٌ يُصَلِّي يَسْأَلُ الله تَعَالَى شَيْئاً إلَّا أَعْطَاهُ إيَّاهُ»

 

     “ในวันศุกร์มีช่วงเวลาหนึ่ง บ่าวมุสลิมคนไหนที่ยืนละหมาดแล้วขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้เขาได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยตรงกับช่วงเวลาดังกล่าวพอดี อัลลอฮฺก็จะทรงให้แก่เขาตามที่เขาได้วอนขอ 

(โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ ซึ่งสำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

 

♥ ให้ศ่อละวาตแก่ท่านนบีอย่างมากมาย

 

          ในบันทึกของอิมามอัลบัยหะกียฺ (เชคอัลบานียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษฎออีฟ) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

أكثِروا مِنَ الصَّلاةِ عَلَيَّ في يَومِ الجُمُعَةِ ولَيلَةِ الجُمُعَةِ ؛ فَمَن فَعَلَ ذلِكَ كُنتُ لَهُ شَهيدا وشافِعا يَومَ القِيامَةِ

 

     “พวกเจ้าทั้งหลายจงศ่อละวาตแก่ฉันมากมายในคืนวันศุกร์และวันศุกร์ ใครที่กระทำเช่นนั้นฉันจะเป็นสักขีพยานแก่เขาในวันกิยามะฮฺ และจะให้ชะฟาอะฮฺแก่เขาในวันกิยามะฮฺ 

(หะดีษบันทึกโดยอิมามนะซาอียฺและอบูดาวู้ด)

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 

مِنْ أَفْضَلِ أَيَّامِكُمْ يَوْمُ الْجمُعَةِ، فِيهِ خُلِقَ آدَمُ عليه السلام، وَفِيهِ قُبِضَ، وَفِيهِ النَّفْخَةُ، وَفِيهِ الصَّعْقَةُ، فَأَكْثِرُوا عَلَيَّ مِنَ الصَّلاَةِ، فَإِنَّ صَلاَتَكُمْ مَعْرُوضَةٌ عَليَّ". قَالُوا: يَا رَسُولَ اللهِ، وَكَيْفَ تُعْرَضُ صَلاَتُنَا عَلَيْكَ وَقَدْ أَرَمْتَ؟! أَيْ يَقُولُونَ: قَدْ بَلِيتَ. قَالَ: "إِنَّ اللهَ - عز وجل - قَدْ حَرَّمَ عَلَى الأَرْضِ أَنْ تَأْكُلَ أَجْسَادَ الأَنْبِيَاءِ عليهم السلام

 

     “วันที่ประเสริฐยิ่งในวันของพวกเจ้าคือวันศุกร์ ในวันศุกร์อาดัมถูกสร้างและถูกยึดวิญญาณ ในวันศุกร์จะมีการเป่าสัญญารเริ่มวันกิยามะฮฺ และในวันนั้นจะมีการเป่าให้มนุษย์ทั้งหมดเสียชีวิตไป ดังนั้นพวกเจ้าจงศ่อละวาตแก่ฉันในวันนั้น เพราะการสดุดีของพวกเจ้าต่อฉันจะถูกเสนอแก่ฉัน 

     ศ่อฮาบะฮฺได้ถามว่า เมื่อเราศ่อละวาตแล้วท่านจะได้ยินเราได้อย่างไร เมื่อร่างกายของท่านสลายไปในแผ่นดินแล้ว 

     นบีได้ตอบว่าแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ห้ามแผ่นดินกินร่างกายของบรรดานบี

 แสดงว่าร่างกายของท่านนบีจะเหมือนเดิมทุกอย่าง

 

"أَكْثِرُوا الصَّلاَةَ عَلَيَّ يَوْمَ الْجُمُعَةِ وَلَيْلَةَ الْجُمُعَةِ، فَمَنْ صَلَّى عَلَيَّ صَلاَةً صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ عَشْرًا

 

     พวกเจ้าทั้งหลายจงศ่อละวาตแก่ฉันมากมายในคืนของวันศุกร์และวันศุกร์ ผู้ใดที่ศอลาตแก่ฉันหนึ่งครั้ง อัลลอฮฺจะทรงศอลาตให้เเก่เขาด้วยการศอลาตนั้นสิบครั้ง"

(หะดีษบันทึกโดยบัยฮากีมหะดีษ อิม่ามอัลบานีย์ ศอเฮี้ยะ)

 

 

♥ ตั้งใจฟังคุตบะฮฺ

 

          ให้คนที่มาละหมาดให้มุ่งมั่นและให้ความสนใจไปยังเนื้อหาของคุตบะฮฺ ไม่พูดคุยกันระหว่างฟังคุตบะฮฺ ไม่ต้องรับสลามใดๆทั้งสิ้น มิเช่นนั้นการละหมาดวันศุกร์ของเขาจะเป็นโมฆะ แม้กระทั่งการห้ามคนที่กำลังคุยให้ตั้งใจฟังคุตบะฮฺก็ตาม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

 

إِذَا قُلْتَ لِصَاحِبِكَ يَومَ الجُمُعَةِ: أنْصِتْ، والإِمَامُ يَخْطُبُ، فقَدْ لَغَوْتَ.

 

"เมื่อท่านกล่าวแก่สหายของท่านว่า"จงเงียบ" (หมายถึง ให้ตั้งใจฟังคุตบะฮฺ)ในขณะที่คอฏีบกำลังคุตบะฮฺ

ดังนั้น การละหมาดวันศุกร์ของท่านจึงเป็นโมฆะ"

 (บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์ เเละมุสลิม)

 

 

♥ ละหมาดซุนนะฮฺหลังละหมาดวันศุกร์กี่ร็อกอะฮฺ

 

          ส่วนซุนนะฮฺหลังละหมาดวันศุกร์นั้น : ปรากฏว่าท่านนบีทำการละหมาดสองร็อกอะฮฺหลังศุกร์ในบ้านของท่าน เเละท่านได้สั่งผู้ที่ละหมาดศุกร์แล้วให้เขาละหมาดหลังละหมาดศุกร์สี่ร็อกอะฮฺ ท่านกล่าวว่า :

 

((إذا صلَّى أحدُكم الجمعةَ فليُصَلِّ بعدَها أربعًا))

"เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้ละหมาดวันศุกร์เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เขาก็จงละหมาดหลังจากมันอีกสี่ร็อกอะฮฺ"

(บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม)

 

          ดังนั้นตรงนี้มีความย้อนเเย้งกันระหว่างคำพูดของท่านรอซูลเเละการปฏิบัติของท่าน ดังนั้นคำพูดของท่าน : เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้ละหมาดวันศุกร์เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เขาก็จงละหมาดหลังจากมันอีกสี่ร็อกอะฮฺ" นี่คือคำพูดของท่านรอซูลเเละการปฏิบัติของท่านที่ปรากฏจากหะดีษของท่านอิบนุอุมัรที่ว่า :

 

(( إنه كان يصلي ركعتين بعد الجمعة في بيته ))

"ท่าน(รอซูล)ละหมาดสองร็อกอะฮฺหลังจากศุกร์ในบ้านของท่าน" 

(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์เเละมุสลิม)

 

     ท่านอิม่ามอะหมัด กล่าวว่า ใครขณะละหมาดที่มัสยิดสี่ร็อกอะฮฺ หรือละหมาดสองร็อกอะฮฺก็สามารถทำได้

 

     ท่านเชคอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺกล่าว่า หากว่าละหมาดที่มัสยิดก็ให้ทำสี่ร็อกอะฮฺหากว่าเขาละหมาดในบ้านของเขา ก็ให้ละหมาดสองร็อกอะฮฺ

 

     อีกทัศนะหนึ่ง จะรวมระหว่างคำพูดเเละการกระทำเข้าด้วยกัน ดังนั้นเราจะละหมาดหกร็อกอะฮฺ สี่ร็อกอะฮฺจากคำพูดของท่านที่มัสยิด เเละสองร็อกอะฮฺจากการปฏิบัติของท่านนบีที่บ้าน 

 

     ชัยคฺ อัล-อัลลามะฮฺ มุฮัมหมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน  วิธีการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดคือละหมาดครั้งละสองร็อกอะฮฺเเล้วให้สลาม ส่วนถ้าจะละหมาดสี่ร็อกอะฮฺทีเดียวโดยให้สลามเพียงหนึ่งครั้ง ก็ถือว่าเป็นที่เพียงพอเช่นกันวัลลอฮุอะลัม

 

 

♥ ส่งเสริมให้เดินไปยังมัสยิดและนั่งใกล้กับอิม่าม

 

     มีรายงานจากท่านเอาสฺ อิบนุ เอาสฺ อัษ-ษะเกาะฟียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

«مَنْ غَسَّلَ يَومَ الجُـمُعَةِ وَاغْتَسَلَ، ثُمّ بَكَّرَ وَابْتَـكَرَ، وَمَشَى وَلَـمْ يَرْكَبْ، وَدَنَا مِنَ الإمَامِ فَاسْتَـمَعَ وَلَـمْ يَلْغُ، كَانَ لَـهُ بِكُلِّ خَطْوَةٍ عَمَلُ سَنَةٍ أَجْرُ صِيَامِهَا وَقِيَامِهَا»

 

     “ผู้ใดตั้งใจที่จะอาบน้ำในวันศุกร์และอาบน้ำแต่เช้าหลังจากนั้นตั้งใจที่จะไปมัสญิดแต่เช้าแล้วเขาก็ไปเช้าโดยเดินเท้าไปไม่ได้ขี่พาหนะ เมื่อไปถึงเข้าประชิดใกล้อิมาม แล้วตั้งใจฟังคุฏบะฮฺไม่เผลอเลื่อนลอย เขาจะได้ในแต่ละๆก้าวที่เขาก้าวไปเท่ากับผลบุญการถือศีลอดและการละหมาดกิยามหนึ่งปี

 (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด สำนวนนี้เป็นของท่าน และอิบนุ มาญะฮฺ)

 

 

♥ ห้ามขายของวันศุกร์

 

     อัลลอฮฺทรงห้ามการขายเมื่อมีการเรียกร้องไปสู่การละหมาดญุมอะฮฺ พระองค์ทรงตรัสว่า :

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓا۟ إِذَا نُودِىَ لِلصَّلَوٰةِ مِن يَوْمِ ٱلْجُمُعَةِ فَٱسْعَوْا۟ إِلَىٰ ذِكْرِ ٱللَّهِ وَذَرُوا۟ ٱلْبَيْعَ ۚ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ

 

     “ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก(อะซาน)เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้

 (อัล-ญุมุอะฮฺ : 9)

     มัสฮับญุมฮูร(นักวิชาการส่วนใหญ่) : มีความเห็นว่าการห้ามค้าขายนั้นเกี่ยวข้องกับการอาซานครั้งที่สองหลังจากที่อิหม่ามนั่งบนมิมบัรเเล้ว

 

เป้าหมายในอายะฮฺนี้ :

وَذَرُوا۟ ٱلْبَيْعَ   และจงละทิ้งการค้าขายเสีย (นั้นหมายถึงสั่งให้ละทิ้งการกระทำ)”

 

          ตอนที่อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมา เนื่องจากการค้าขายในตอนที่อาซานนี้ดังขึ้นนั้น ทำให้ยุ่งจนไม่สนใจการละหมาด เเละมันก็จะเป็นเหตุไปไม่ทันละหมาด หรือไม่ทันบางส่วนของการละหมาดได้

 

ท่านอิบนิกุดามะฮฺ กล่าวไว้ใน"อัล-มุฆนีว่า :

 

     "เเละการอาซานในยุคของท่านรอซูลุลลอฮฺนั้น คือการอาซานหลังจากที่อิหม่ามนั่งบนมิมบัรเเล้ว ดังนั้น(ห้ามการขาย)จึงเกี่ยวข้องกับอาซานครั้งนี้เพียงอย่างเดียว เเละไม่มีความเเตกต่างระหว่างอาซานก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์คล้อย"

 

          ส่วนหลักฐานที่ยืนยันว่าการอาซานครั้งเเรกนั้นถูกเพิ่มขึ้นมาในยุคของท่านอุษมาน รอฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น คือหะดีษของท่านซาอิบ บิน ยะซีด รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า :

 

كَانَ النِّدَاءُ يَوْمَ الْجُمُعَةِ أَوَّلُهُ إِذَا جَلَسَ الْإِمَامُ عَلَى الْمِنْبَرِ عَلَى عَهْدِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَأَبِي بَكْرٍ وَعُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا فَلَمَّا

كَانَ عُثْمَانُ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ وَكَثُرَ النَّاسُ زَادَ النِّدَاءَ الثَّالِثَ عَلَى الزَّوْرَاءِ " قَالَ أَبُو عَبْد اللَّهِ الزَّوْرَاءُ مَوْضِعٌ بِالسُّوقِ بِالْمَدِينَةِ )

 

     "การอาซานวันศุกร์ครั้งเเรกนั้น คือตอนที่อิหม่ามนั่งบนมิมบัรเเล้ว(เป็นเช่นนี้)ในยุคของท่านนบีอบูบักร เเละอุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา เเละเมื่อถึงยุคของท่านอุษมาน รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ท่านจึงเพิ่มการอาซานที่สามขึ้น โดยทำการอะซานที่อัซเซารออฺ(ก่อนเข้าเวลาละหมาด)"

     อบูอับดิลลาฮฺ กล่าวว่า : อัซเซารออฺ คือสถานที่ที่เป็นตลาดในเมืองมะดีนะฮฺ"

 

     สรุป : การห้ามการค้าขายในวันศุกร์นั้น เริ่มต้นขึ้นหลังจากอะซานครั้งที่สองหลังจากอิหม่ามนั่งลงบนมิมบัรเเล้ว