โทษของการเปลี่ยนข้อตัดสินทางศาสนา
ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา... แปลเรียบเรียง
โทษของการเปลี่ยนข้อตัดสินทางศาสนาของสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม)ให้กลายเป็นสิ่งที่อนุมัติ(หะล้าล)
قال النبي صلى الله عليه وسلم : "ليكونن من أمتي أقوام يستحلون الحر والحرير والخمر والمعازف، ولينزلن أقوام إلى جنب عَلَم يروح عليهم بسارحة لهم، يأتيهم لحاجة فيقولون: ارجع إلينا غدًا، فيبيتهم الله تعالى، ويضع العَلَمَ ويمسخ آخرين قردة وخنازير إلى يوم القيامة". رواه البخاري.
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
"จะมีคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันที่ตัดสินว่า
การทำผิดประเวณี(ซินา) ,ผ้าไหม(สำหรับชาย) , สุรา , และดนตรีว่าเป็นเรื่องที่อนุญาต(หะลาล)
และคนกลุ่มนี้ก็จะพากันไปชุมนุมใกล้ๆเทือกเขา โดยจะมีคนเลี้ยงปศุสัตว์เดินผ่านมาพบพวกเขาเพราะมีเหตุจำเป็น
คนกลุ่มนี้ก็จะกล่าวกับคนเลี้ยงปศุสัตว์ว่า จงกลับมาหาพวกเราพรุ่งนี้ก็แล้วกัน
จากนั้นอัลลอฮฺจะทรงจัดการลงโทษคนกลุ่มนี้ในยามค่ำคืน โดยให้เทือกเขานั้นพังทลายลงมาถล่มใส่พวกเขา
ส่วนพวกที่รอดไปได้ก็จะถูกสาปให้กลายเป็นลิงและหมูไปตราบจนวันกิยามะฮฺ"
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ในตำราเศาะเหียะฮฺอัลบุคอรีย์)
อธิบายเพิ่มเติม
ท่านอิบนุหะญัรได้อธิบายหะดีษบทนี้ไว้ในตำราฟัตหุ้ลบารีย์ว่า คำว่า "อะลัม" ในหะดีษบทนี้ หมายถึง เทือกเขา หรือยอดเขา และท่านอิบนุ บัฏฏอล(ปราชญ์อีกท่านที่อธิบายหะดีษบทนี้) ได้มีความเห็นว่า คำว่า"อะลัม"ในหะดีษนี้เป็นไปได้ทั้ง เทือกเขา หรือ ตึกอาคารสูง
คำว่า "ผู้เลี้ยงปศุสัตว์" ท่านกิรมานีย์(หนึ่งในปราชญ์ผู้อธิบายหะดีษบทนี้) ได้กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเขาคือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ หรือ ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ หรือ ชายคนหนึ่ง และในสายรายงานของท่านอิสมาอีลีย์(หนึ่งในปราชญ์หะดีษที่รายงานหะดีษบทนี้) ได้ระบุด้วยคำว่า "ผู้ขอความช่วยเหลือ"
คำว่า "กลายเป็นลิงและหมู" ปราชญ์หะดีษได้มีความเห็นออกเป็นสองทัศนะหลักๆ คือ ทัศนะแรก เป็นลิงและหมูจริงๆ ทัศนะที่สอง ตีความว่ามีพฤติกรรมและมารยาทเหมือนลิงและหมู และท่านอิบนุหะญัรได้ให้น้ำหนักกับทัศนะแรก
ท่านอิบนุหะญัรได้กล่าวว่า "หะดีษบทนี้ถือเป็นคำเตือนอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ใช้เล่ห์เพทุบายเปลี่ยนสิ่งที่ต้องห้ามให้กลายเป็นสิ่งที่อนุมัติด้วยการเปลี่ยนชื่อสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม)นั้นให้เป็นชื่อของสิ่งที่อนุมัติ(หะลาล)"
หะดีษบทนี้มีผู้รู้บางท่านอ้างว่าเป็นหะดีษอ่อนหลักฐานเพราะหลายสาเหตุ เช่นหะดีษบทนี้ไม่มีที่มาที่ไปของสายรายงานที่แน่ชัดเพราะสายรายงานถูกตัดออกไป(มุอัลลัก) และอีกบางเหตุผล
แต่ท่านอิบนุหะญัรได้ไขข้อข้องใจเหล่านั้นจนหมดสิ้นโดยตอบไว้ในตำราฟัตหุ้ลบารีย์ และในตำราตัฆลีก อัตตะอฺลีก ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วสรุปได้ว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษเศาะเหียะฮฺ ถูกต้อง และสายรายงานเชื่อมต่อกันอย่างไม่ขาดตอน(มุสนัด) จึงทำให้ข้ออ้างว่าหะดีษบทนี้อ่อนหลักฐานถูกขจัดไป
วัลลอฮฺ อะอฺลัม
อ้างอิงจากตำรา ฟัตหุ้ลบารีย์ อธิบายตำราเศาะเหียะฮฺอัลบุคอรีย์ ของท่านอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ เล่มที่ 10 หน้าที่ 55-56 สำนักพิมพ์ดารุลมะริฟะฮฺ