วิธีเพิ่มความดีให้เป็นผลบุญที่ทบเท่าทวีคูณ
อุมมุ อั๊ฟว์ แปลและเรียบเรียง
โดย.... เชค อุวัยฎฺ อัลอะฏ่อวีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ
ประการแรก
การละหมาดในมัสญิดอัลหะรอมหนึ่งเวลา จะได้รับผลบุญเท่ากับละหมาด 100,000 เวลา โดยปกติแล้วคนเราต้องใช้เวลากี่วันกี่คืนจึงจะละหมาดได้ถึง 100,000 เวลา คำตอบ คือ 55 ปีด้วยกันจึงจะละหมาดได้ครบถ้วน และหากว่าเราได้ละหมาดทั้ง 5 เวลา ในมัสญิดอัลหะรอม ก็จะเท่ากับว่า เราได้ละหมาดถึง 277 ปี ถ้า 10 วัน ก็เท่ากับ 2,770 ปี นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า
“ผลบุญที่ทบเท่าทวีคูณ” เหมือนกันกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ ที่ค่ำคืนเดียวจะได้ผลบุญเท่ากับทำอิบาดะฮฺ 80ปี !
ท่านร่อซู้ลศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
خصلتانِ ، أو خَلَّتانِ ، لا يُحافِظُ عليهما عبدٌ مسلِمٌ إلَّا دخل الجنَّةَ ، وهما يسيرٌ ، ومن يعملْ بهما قليلٌ : يُسَبِّحُ اللهَ في دبُرِ
كلِّ صلاةٍ عشرًا ، و يحمَدُهُ عشرًا ، و يُكَبِّرُهُ عشرًا ، وذلِكَ خمسونَ ومائَةٌ باللسانِ ، وألفٌ وخمسُمِائَةٍ في الميزانِ
و يكبرُ أربعًا وثلاثينَ إذا أخذَ مضْجِعَهُ ، ويحمدُ ثلاثًا وثلاثينَ ، ويسبحُ ثلاثًا وثلاثينَ ، فذلِكَ مائَةٌ باللسانِ ، وألفٌ في الميزانِ
“ลักษณะ 2 ประการ ที่เมื่อบ่าวมุสลิมรักษามันไว้ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า เขาจะได้เข้าสวรรค์ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้เป็นเรื่องง่ายดาย แต่น้อยคนนักที่จะทำสองสิ่งนี้
นั่นคือ การกล่าว “ซุบฮานั้ลลอฮฺ” หลังละหมาดทุกเวลา 10 ครั้ง กล่าว “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ” 10 ครั้ง และกล่าว ً”อัลลอฮุอักบัร” 10 ครั้ง
ดังกล่าวนี้แหละ คือ 150 ครั้ง โดยวาจา และคือ 1,500 คุณความดี บนตราชู
และเมื่อเข้านอนกล่าว”อัลลอฮุอักบัร” 34 ครั้ง กล่าว “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ” 33 ครั้ง และกล่าว “ซุบฮานั้ลลอฮฺ” 33 ครั้ง
ดังกล่าวนี้แหละ คือ 100 ครั้ง โดยวาจา และคือ 1,000 คุณความดี บนตราชู ”
(สุนัน อบีดาวู้ด)
ขอสาบานต่ออัลลอฮฺทั้งหมดนี้ทำได้ภายในไม่กี่นาที นี่คือรูปแบบการ ตั๊สบี๊ฮฺ (หลังละหมาด) ที่น้อยที่สุด ซึ่งนับเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ในการประทานผลบุญให้อย่างมากมาย และในทางตรงกันข้ามยังนับเป็นการลบล้างความผิดต่างๆ ในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ประการที่สอง
การหาเวลาที่คุ้มค่า ช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดในรอบวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ช่วงสุดท้ายของเวลากลางคืน เพราะเป็นเวลาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะเสด็จลงมาสู่ฟากฟ้าดุนยา และช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์ คือ วันศุกร์ และเวลาที่ประเสริฐสุดของวันศุกร์ คือช่วงท้ายสุดของวันก่อนละหมาดมักริบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ
และหากเป็นในช่วงรอบเดือนทั้งหลาย เดือนที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาเดือนต่างๆ คือ เดือนรอมฎอน และช่วงเวลาในรอมฎอนที่ประเสริฐสุด คือ ช่วงสิบคืนสุดท้าย และที่ประเสริฐสุดในช่วงสิบคืนสุดท้าย คือ ช่วงท้ายของสิบคืนสุดท้าย เป็นต้น
สำหรับในรอบปีเราจะเเบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ประเสริฐสุด คือ สี่เดือนสุดท้าย นับตั้งแต่เดือนรอมฎอนเรื่อยไป คือ รอมฎอน เชาว้าล ซุ้ลกิอฺดะฮฺ และซุ้ลฮิจญะฮฺ ซึ่งในสี่เดือนนั้น ประมวลไว้ด้วย การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน คืนลัยละตุ้ลก็อดร์ วันอีด วันอะรอฟะฮฺ การประกอบพิธีฮัจญ์ ฯลฯ
เหล่านี้คือความโปรดปรานจากอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงโปรดให้การลบล้างบาปทั้งมวลรวมตัวกันอยู่ในช่วงปลายปีเพราะอิบลีสจะทำให้เราใช้เวลาหมดไปกับสิ่งอื่นๆมากมายในช่วงต้นปีเรื่อยมาแต่อัลลอฮฺทรงเมตตาให้มีการปลดเปลื้องความผิดบาปทั้งหลายในช่วงวันอะรอฟะฮฺสำหรับผู้ที่ได้ไปทำฮัจญ์และสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปก็ลบล้างด้วยการถือศีลอดอันมีภาคผลเท่ากับการลบล้างความผิดถึงสองปีด้วยกัน
ประการที่สาม
พึงระวังผลลัพท์ในทางตรงกันข้าม หมายถึง การมีบาปเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้ในขณะที่เราอยู่ในหลุมฝังศพไปแล้ว
อิมาม อัลฮาซัน อัลบัศรีย์ กล่าวว่า :” หายนะแล้ว หายนะแล้ว หายนะแล้ว สำหรับคนที่เสียชีวิตลง แต่ความผิดของเขายังคงอยู่ต่อไปเป็นร้อยปี หรือสองร้อยปี”
และดังที่มีปรากฎในฮะดีสที่ว่า
ومن سن في الإسلام سنة سيئة كان عليه وزرها ووزر من عمل بها من بعده
من غير أن ينقص من أوزارهم شيء .
“ผู้ใดก็ตามที่ทำแบบอย่างที่ไม่ดี เขาจะแบกภาระความผิดของเขา และความผิดของผู้ที่ปฏิบัติตามภายหลังจากเขา โดยไม่ถูกลดหย่อนไปจากความผิดของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย “
และสิ่งนี้คือสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์เราอย่างที่สุดนั่นเอง ในทางกลับกัน ก็มีคุณงามความดีที่จะส่งต่อหาเราอย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่เราอยู่ในกุโบ้ร ดังฮะดีสที่ว่า
إذا مات ابنُ آدمَ انقطع عملُه إلا من ثلاثٍ : صدقةٍ جاريةٍ ، وعلمٍ ينتفعُ به ، وولدٍ صالحٍ يدعو له
" เมื่อลูกหลานอาดัมเสียชีวิตลง การงานของเขาก็จะสิ้นสุดลงด้วย นอกจาก 3 ประการเท่านั้น
คือ ศ่อดาเกาะฮฺ ญารียะฮฺ (กุศลทานที่ไหลริน) ความรู้ที่ยังประโยชน์ และลูกที่ดีที่ขอดุอาอฺให้แก่เขา"
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
และฮะดีสที่ว่า
"من دلّ على خير فله مثل أجر فاعله"
“ ผู้ใดที่ชี้แนะสู่ความดี สำหรับเขาแล้วจะได้รับผลบุญ เฉกเช่นผู้ที่ปฏิบัติตามในสิ่งนั้น”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
และฮะดีสที่ว่า
مَن سَنَّ سُنَّةً حَسنةً فعمِلَ بِها ، كانَ لَهُ أجرُها وَمِثْلُ أجرِ مَن عملَ بِها
"ผู้ใดที่ได้ฟื้นฟูแบบฉบับอันดีงามขึ้นมา เขาจะได้รับผลบุญของสิ่งนั้น และผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งนั้น”
(บันทึกโดยอิมาม อิบนิ มาญะฮฺ)
ดังนั้นจงเป็นกุญแจที่ไขไปสู่คุณงามความดีด้วยคำพูดและความคิดของเราและอย่าได้เป็นกุญแจนำทางไปสู่ความชั่วช้าและสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายเลย