ห่างให้ไกลจากการพนัน การขันต่อ
  จำนวนคนเข้าชม  1321

ห่างให้ไกลจากการพนัน การขันต่อ

 

 คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา ก็คือให้เรามีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นมะอ์ศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอะมัลศ่อลิหฺต่างๆ ซึ่งผลสุดท้ายของการที่เรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัว ของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรกของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ และเรายังได้รับชีวิตที่ดีงามในโลกดุนยานี้ และในโลกอาคิเราะฮฺเราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของพระองค์ และสิ่งพิเศษ ๆมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้นอย่างตลอดกาล

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90 ว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنْصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوْهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُوْنَ ،

 

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริง الْخَمْرُ สุรายาเมาเหล้าเบียร์ وَالْمَيْسِرُ การพนัน การขันต่อ وَالأَنْصَابُ แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ 

และ وَالأَزْلاَمُ การเสี่ยงติ้วนั้น เป็น رِجْسٌ สิ่งสกปรกโสมม น่ารังเกียจที่มาจาก عَمَلِ الشَّيْطَانِ การงานของชัยฏอน ...

ดังนั้นพวกเจ้าจง فَاجْتَنِبُوْهُ ออกห่างจากมันให้ไกล ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ تُفْلِحُوْنَ ได้รับความสำเร็จ

 

          คำว่า رِجْسٌ สิ่งสกปรกโสมม น่ารังเกียจที่มาจากการงานของชัยฎอนในอายะฮฺนี้นั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวถึงการงานของชัยฏอนสี่ประการ ที่พระองค์ทรงบอกว่า เป็นสิ่งสกปรกโสมม น่ารังกียจ ..ซึ่งโดยปกติแล้ว อะไรก็ตามที่เราเห็นว่า มันเป็นของสกปรก เป็นของที่น่ารังเกียจ เราก็มักจะไม่อยากเข้าใกล้มัน เราก็อยากที่จะอยู่ห่าง ๆมัน นั่นแสดงให้เห็นว่า การงานของชัยฏอนทั้งสี่ประการในอายะฮฺนี้ เป็นเรื่องที่เราอย่าไปเข้าใกล้มัน แต่กลับจะต้องออกห่างจากมันให้ไกล ๆ ..

 

          การงานทั้งสี่ประการดังกล่าว ประการแรก คือเรื่องของสุรายาเมาเหล้าเบียร์นั้น เราได้พูดไปแล้วในคุฏบะฮฺครั้งก่อน สำหรับครั้งนี้ เราจะพูดถึง رِجْسٌ ประการที่สอง ก็คือเรื่องของอัลมัยซิรฺ الْمَيْسِرُ หรือเรื่องของ การพนัน การขันต่อ ในภาษาอาหรับ บางทีก็เรียกการพนันว่า อัลกิมาร اَلْقِمَارُ

 

 

          เรื่องของการพนัน (Gambling) สำหรับคนที่เล่นการพนัน เขาก็จะคิดว่า มันเป็นการละเล่น แต่มันเป็นการละเล่นโดยมีเป้าหมายเพื่อการเอาเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ โดยวิธีการเสี่ยงโชค หรือโดยการทำนาย หรือการคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามบทบัญญัติอิสลามโดยวิธีการแพ้ชนะ... 

 

          มันไม่ใช่วิธีการทำงานเพื่อทำเงิน แต่เป็นการหาเงิน หาผลประโยชน์โดยอาศัยการทาย อาศัยเล่ห์เหลี่ยม อาศัยกลโกง หรือการใช้ไหวพริบไปในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือวิธีการอื่น ๆอีกด้วยวิธีการแพ้ชนะกัน โดยคนที่เล่นการพนันจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันนั้น ตัวอย่างเช่น คนเล่นทอยเหรียญกัน แล้วทายกันว่า ออกหัวหรือออกก้อย ใครชนะได้เงินสิบบาท อย่างนี้เป็นต้น

 

 

          ส่วนเรื่องของการขันต่อ (Betting) ก็คือการพนันโดยวิธีการใช้การต่อรอง โดยอาศัยการเสี่ยงโชคในสิ่งที่ไม่แน่นอน อันจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นข้อแพ้ชนะ โดยที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันนั้นโดยตรง ตัวอย่างเช่น คนสองคนดูการแข่งขันชกมวย ไม่ได้ไปชกเอง แต่เป็นคนดู เป็นคนเชียร์ แล้วเชียร์กันคนละฝ่าย โดยมีการวางเงินกัน ถ้าฝ่ายไหนชนะก็ได้เงินไป โดยคนที่ขันต่อกัน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชกมวยนั้น อย่างนี้เป็นต้น

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จากความหมายของการพนัน การขันต่อข้างต้น ..สิ่งใดบ้างที่เข้าข่ายในเรื่องของการพนัน การขันต่อ ที่ปรากฏให้เราเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ ...เล่นไพ่ เล่นไฮโล เล่นถั่ว เล่นน้ำเต้าปูปลา ชนไก่ วัวชน แข่งนก เล่นมวยตู้ เล่นพนันฟุตบอล แทงบอล แทงม้า แทงมวย บ่อนคาสิโน เล่นหวย เล่นลอตเตอรี่ หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ว่าจะถูกกฏหมายของประเทศหรือผิดกฏหมายของประเทศก็ตามถือเป็นการพนัน การขันต่อ ที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนาทั้งสิ้น 

 

          รวมถึงการโทรเพื่อร่วมรายการรับแจกรางวัล ซึ่งผู้โทรต้องเสียค่าโทร หรือค่าอื่นใดก็ตาม เพื่อหวังได้รางวัลที่เป็นมูลค่าสูงกว่า ซึ่งอาจได้รางวัลหรืออาจไม่ได้ก็ได้ ถือเป็นการเสี่ยงโชค การกระทำดังกล่าวนี้ถือว่าอยู่ในความหมายของการพนัน การขันต่อ นั่นก็หมายความว่า การแข่งขันหรือการเข้าร่วมที่ต้องจ่ายเงินแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย เพื่อเสี่ยงโชค เพื่อหวังรางวัล โดยที่เขาอาจเสียเงินนั้นไปเปล่า ๆ หรืออาจจะได้รับรางวัลที่กำหนดไว้ก็ตาม แม้จะเรียกเงินที่ได้จ่ายไปนั้นว่า ค่าสมัคร ค่าคูปองชิงโชค หรือจะใช้ชื่อดี ๆ ใด ๆ ก็ตาม การแข่งขันนั้น หรือการเข้าร่วมนั้นก็อยู่ในเรื่องของการพนัน การขันต่อทั้งสิ้น

 

 

          การพนัน การขันต่อยังรวมไปถึงการเล่นลูกเต๋าอีกด้วย และแม้ว่า การเล่นลูกเต๋านั้นจะไม่มีเรื่องของการพนัน การขันต่อมาเกี่ยวข้องก็ตาม ซึ่งตามทัศนะของอิมามทั้งสี่ ( ก็คือ อิมามอะบูหะนีฟะฮฺ อิมามมาลิก อิมามอัชชาฟิอีย์ และอิมามอะหมัด อิบนุล ฮัมบัล เราะหิมะมุลลอฮฺ ) ถือว่าการเล่นลูกเต๋านั้นหะรอม เป็นสิ่งต้องห้าม

 

          อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ ) ในบันทึกของอิมามอะบูดาวูด รายงานจากท่านอบีมูซา อัลอัชอารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَنْ لَعِبَ بِالنَّرْدِ فَقَدْ عَصَى اللَّهَ وَرَسُولَهُ

 

ผู้ใดเล่น النَّرْدِ ลูกเต๋า แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮ และเราะซูลของพระองค์

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านบุรัยดะฮฺ บิน อัลหุศ็อยบ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَنْ لَعِبَ بِالنَّرْدَشِيرِ فَكَأَنَّمَا صَبَغَ يَدَهُ فِي لَحْمِ خِنْزِيرٍ وَدَمِهِ

 

ผู้ใดเล่นลูกเต๋า ก็เหมือนกับ เขาได้จุ่มมือของเขา ลงไปเนื้อหมูและเลือดของมัน

 

     นั่นก็หมายความว่า การเล่นลูกเต๋านั้นเป็นหะรอม เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างชัดเจน

 

 

          ด้วยเหตุนี้ การละเล่นอะไรก็ตามที่ใช้เรื่องของการทอยลูกเต๋า เป็นองค์ประกอบจึงเป็นการละเล่นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน รวมถึง การเล่นเกมเศรษฐี ที่เด็ก ๆมักจะเคยเล่นกัน ก็มีการเล่นทอยลูกเต๋าเป็นองค์ประกอบ จึงขอให้ละเลิกการละเล่นนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องพึงระมัดระวังตัวเรา คอยดูแลสอดส่องลูกหลานของเราด้วย พยายามออกห่างจากการละเล่นเหล่านี้ เพื่อเป็นการปกป้องตัวเรา ปกป้องลูกหลานของเรา คนในความรับผิดชอบของเรา ไม่ให้ไปล่วงเกินขอบเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย 

 

          หรือแม้แต่เมื่อเวลาที่คนที่เขาเล่นการพนัน การขันต่อ เขาก็มักจะไม่คิดอะไรมาก คิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเล่นการพนัน การขันต่อสามารถนำไปสู่การทำชิริก หรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ด้วย เพราะการเล่นการพนัน การขันต่อมักจะเป็นเรื่องการเสี่ยงโชค เป็นการทายผลที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อต้องการให้ผลของตนเองเป็นผลที่ถูกต้อง ก็มักจะไปขอให้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นช่วยเหลือ 

 

          อย่างเช่น เราคงเคยได้ยิน ได้เห็นตามข่าว เมื่อเวลาที่คนเขาจะซื้อลอตเตอรี่ เขาก็มักจะไปติดตามจากเลขทะเบียนรถของคนดัง หรืออาจจะไปติดตามหาเลขเด็ดจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถามหาจากหมอดู หมอผี เป็นต้น... ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันก็คือ ความเชื่อในพระเจ้าจอมปลอม เชื่อว่าพวกมันสามารถที่จะให้เลขที่ถูกต้องแก่เขาได้ และนี่ก็คือ การนำตัวเองไปสู่การทำชิริก หรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันเป็นบาปใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุด

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรื่องของการพนัน การขันต่อนั้นเป็นกะบาอิร เป็นบาปใหญ่อย่างแน่นอน ไม่มีข้อสงสัยใด ๆทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมเราทุกคนจะต้องออกห่างให้ไกล ๆ จากเรื่องของการพนัน การขันต่อ จะต้องไม่ไปข้องเกี่ยว ไม่เข้าใกล้ ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันของเรา 

 

          อย่า..ให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรา ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการพนัน การขันต่อ เพราะมันจะนำเราไปสู่ไฟนรกในวันกิยามะฮฺ นอกจากการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว สำหรับในเรื่องของการทำธุรกิจ การทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ การลงทุนต่าง ๆก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้มันไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการพนัน การขันต่อเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่ได้มาจากเรื่องเหล่านี้ มันไม่ถูกต้องชอบธรรม และไม่สามารถนำไปใช้ได้ ใช้ออกซะกาตก็ไม่ได้ ให้เศาะดะเกาะฮฺก็ไม่ได้ เป็นปัจจัยยังชีพก็ไม่ได้ และพึงตระหนักเถิดว่า ถึงแม้จะถูกกฎหมายของประเทศ แต่ไม่ถูกกฏหมายของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาย่อมไม่ได้

 

          อัลหะดีษ (หะซัน) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจาก كَعْبِ بْنِ عُجْرَةَ رضي الله عنه ท่านกะอฺบฺ บิน อุจญฺเราะฮฺ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวแก่เขาว่า

 

لَا يَرْبُو لَحْمٌ نَبَتَ مِنْ سُحْتٍ إِلَّا كَانَتْ النَّارُ أَوْلَى بِهِ

وصححه الألباني في "صحيح الترمذي" .

 

ไม่มีเนื้อก้อนใดที่มันงอกเงย หรือเจริญเติบโตออกมาจากสิ่งที่ต้องห้าม นอกจากไฟนรกคือสิ่งที่เหมาะสมยิ่งสำหรับมัน

 

          นั่นก็หมายความว่า ใครก็ตามที่เขาดำเนินชีวิต กินอยู่ใช้สอยอยู่กับทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาจากสิ่งที่ต้องห้าม สิ่งที่หะรอม ในวันกิยามะฮฺ เขาก็เหมาะสมที่จะเข้าไปอยู่ในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยา สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะเกิดกับเขาก็คือ การขอดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกตอบรับอีกด้วย

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إِلَّا طَيِّبًا، تعالى إِنَّ اللهَ

 

     “แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงดี (พระองค์)ไม่ทรงรับสิ่งใดๆ (ไม่ทรงตอบรับดุอาอ์ ไม่ทรงตอบรับ อะมัล อิบาดะฮฺใด ๆ) นอกจาก(สิ่งที่มาจาก)สิ่งดี ๆ

 

          นอกจากดุอาอ์จะไม่ถูกตอบรับแล้ว อะมัลศ่อลิหฺ อิบาดะฮฺ ผลบุญความดีงามต่าง ๆที่เขาลงทุนลงแรงทำไว้ตั้งมากมายก่ายกอง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ไม่ทรงตอบรับเช่นกัน เป็นการขาดทุนอย่างย่อยยับสำหรับคนที่ทำอิบาดะฮฺมากมาย แต่กลับเล่นการพนัน การขันต่อ ..ก็ขอให้เราได้พึงระมัดระวังในเรื่องนี้ ... 

 

           ส่วนสำหรับใครที่เขาพลาดพลั้งไป หลงไปทำสิ่งที่เป็นการงานของชัยฏอน ก็ยังไม่สาย ที่เขาจะกลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษ เตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างจริงใจ พร้อมทั้งละเลิกจากการงานของชัยฏอนทั้งหมด พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่เขา และจะทรงให้เขาได้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

 

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดทรงคุ้มครองเราให้เราได้ فَاجْتَنِبُوْهُ ออกห่างจากการงานของชัยฏอนอย่างไกล ๆ และให้เราได้ تُفْلِحُوْنَ ได้รับความสำเร็จ ตามที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ด้วยเถิด

 

 

 

( คุฎบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )