ละหมาดฎุฮา
เรียบเรียงโดย.... อับดุลวาเฮด สุคนธา
-♣- ความหมาย
คำว่า อัฎฎุฮา (الضُّحَى) แปลว่า แสงตะวัน / การขึ้นของแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
การละหมาดฎุฮานั้น คือละหมาดดุฮาซุนนะฮฺสองร็อกกะอฺ เป็นละหมาดสุนัตชนิดหนึ่งกำหนดเวลาละหมาดเริ่มตั้งแต่หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว จนกระทั่งควงอาทิตย์คล้อย(ก่อนเข้าเวลาละหมาดซุฮรี่) แต่ที่ดีแล้ว ไม่ควรละหมาดให้สายมากนัก
-♣- ความประเสริฐ
การละหมาดดุฮามีความประเสริฐและเป็นคุณความดีอย่างยิ่ง
ท่านนางอุมมุฮานี ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา น้าสาวของท่านนบี ได้กล่าวว่า
إِنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ دَخَلَ بَيْتَهَا يَوْمَ فَتْحِ مَكَّةَ فَاغْتَسَلَ وَصَلَّى ثَمَانِيَ رَكَعَاتٍ فَلَمْ أَرَ صَلَاةً قَطُّ أَخَفَّ مِنْهَا غَيْرَ أَنَّهُ يُتِمُّ الرُّكُوعَ وَالسُّجُودَ
“แท้จริงท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เข้าไปในบ้านของนาง ในวันพิชิตมักกะฮ์ ท่านได้ทำการอาบน้ำและละหมาด 8 รอกะอัต ซึ่งฉันไม่เคยเห็นละหมาดใดที่จะเร็วไปกว่าละหมาดนี้เลย แต่ว่าท่านได้ทำการรุกั๊วะและสุญูดอย่างสมบูรณ์"
(รายงานโดยบุคอรีย์)
จากท่านอบูฮุร๊อยเราะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
أَوْصَانِي خَلِيلِي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِثَلَاثٍ بِصِيَامِ ثَلَاثَةِ أَيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ وَرَكْعَتَيْ الضُّحَى وَأَنْ أُوتِرَ قَبْلَ أَنْ أَرْقُدَ
"มิตรสนิทของฉัน ได้กำชับฉันสามประการ คือ ถือศีลอด 3 วันของทุกเดือน สองรอกะอัตละหมาดุฮา และให้ฉันละหมาดวิตร์ก่อนที่ฉันจะนอน"
( รายงานโดยมุสลิม)
รายงานจากอบี ดัรดาอฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ เขาได้กล่าวว่า
أَوْصَانِي حَبِيبِي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِثَلَاثٍ لَنْ أَدَعَهُنَّ مَا عِشْتُ بِصِيَامِ ثَلَاثَةِ أَيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ وَصَلَاةِ الضُّحَى وَبِأَنْ لَا أَنَامَ حَتَّى أُوتِرَ
"มิตรสหายรักของฉันได้กำชับฉัน 3 ประการ ซึ่งฉันไม่เคยทิ้งมันเลยตราบที่มีชีวิตอยู่ คือ
ถือศีลอด 3 วันของทุกเดือน ละหมาดดุฮา และไม่นอนจนกว่าทำละหมาดวิติร"
(รายงานโดยมุสลิม)
-♣- ช่วงเวลา
รายงานจากท่านซัยด์ บิน อัรก๊อม ว่า
خَرَجَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى أَهْلِ قُبَاءَ وَهُمْ يُصَلُّونَ فَقَالَ صَلَاةُ الْأَوَّابِينَ إِذَا رَمِضَتْ الْفِصَالُ
"ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ออกมาจากชาวกุบาอฺ ขณะที่พวกเขากำลังละหมาดดุฮา
ท่านได้กล่าวว่า การละหมาดของผู้ที่กลับตัวสู่อัลเลาะฮ์นั้นคือ ละหมาดขณะที่(กีบเท้าของ)ลูกอูฐรู้สึกร้อน(ในทะเลทรายคือขณะที่ตะวันสูงขึ้น)"
(รายงานโดยมุสลิม)
หมายถึงช่วงเวลากลางวันที่แดดร้อนจัดทำให้ลูกอูฐรู้สึกได้ถึงความร้อนของพื้นทะเลทราย ซึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กำชับและส่งเสริมให้ละหมาดดุฮา ส่วนตัวท่านนั้นได้ยืนละหมาดในยามค่ำคืนเป็นการทดแทนเวลาในการละหมาดฎุฮา คือหลังจากตะวันขึ้นเท่าด้ามหอก(ประมาณหนึ่งเมตร) หมายความว่าหลังจากตะวันขึ้นประมาณสิบห้านาที จนกระทั่งตะวันคล้อย และเวลาที่ดีที่สุดคือเมื่อแสงอาทิตย์ร้อนจัดทำให้ทรายร้อน จนเท้าของลูกอูฐร้อนและอยู่ไม่นิ่ง ง่ายๆๆๆ คือ ประมาณ จาก (08:00 น -11.00 น) เช้าหรือก่อนหลังเวลานี้เล็กน้อย
-♣- การละหมาดดุฮาและอิชร๊อก
ละหมาดดุฮากับละหมาดอิชร๊อก นั้น นักปราชญ์ฟิกห์ มีความเห็นที่แตกต่างกัน 2 ทัศนะ
♦ ทัศนะแรก คือละหมาดดุฮานั้น ไม่ใช่ละหมาดอิชร๊อก ทัศนะนี้ เป็นทัศนะของอิมามฆอซะลีย์ , อิมามอิบนุหะญัร อัลฮัยตะมีย์
เวลาของละหมาดสุนัตอิชร๊อก ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนเวลาละหมาดดุฮาเล็กน้อย หมายถึงให้พ้นจากเวลามักโระฮ์ในขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นสูงยังไม่พ้นขอบฟ้า โดยมีหลักฐานดังนี้
ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَن صَلَّى الفَجرَ في جَماعةٍ، ثمَّ قعَدَ يَذكُرُ اللهَ تَعالى حتى تَطلُعَ الشَّمسُ، ثمَّ صَلَّى رَكعَتينِ، كانتْ كأجْرِ حَجَّةٍ وعُمرةٍ، تامَّةٍ تامَّةٍ تامَّةٍ.
“ผู้ใดที่ทำละหมาดญะมาอะฮ์ซุบฮ์ หลังจากนั้น เขาได้นั่งซิกรุลเลาะฮ์ จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นสูง แล้วเขาก็ทำการละหมาดสองร่อกะอัต
แน่นอน เขาจะได้ผลตอบแทนเหมือนกับทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์ อย่างสมบูรณ์ สมบูรณ์ สมบูรณ์"
(รายงาน โดย อัตติรมีซีย์)
♦ ทัศนะที่สอง การละหมาดสุนัตดุฮาและสุนัตอิชร๊อกนั้น เป็นละหมาดเดียวกัน ทัศนะนี้ เป็นทัศนะของอิมาม รอมลีย์ , อิมามอัซซิยาดีย์
-♣- จำนวนร็อกอะฮฺ
จำนวนรอกะอัตน้อยสุด มี 2 รอกะอัต มากสุด 8 รอกะอัต บางทัศนะระบุว่ามี 12 รอกะอัต
ตามทัศนะของท่านอิมามอันนะวาวีย์และนักปราชญ์ส่วนมาก กล่าวว่า การละหมาดุฮานั้นน้อยสุดมี 2 รอกะอัต มากสุดมี 8 รอกะอัต ดังนั้นจึงห้ามละหมาดเพิ่มเกิน 8 รอกะอัตด้วยการเหนียตละหมาดดุฮา ซึ่ง 8 รอกะอัตถือว่าดีเลิศกว่า สำหรับทัศนะของอิมามอัรรอฟิอีย์นั้น กล่าวว่า อนุญาตให้เพิ่มละหมาดดุฮาถึง 12 รอกะอัต
-♣- วิธีการละหมาด
1. ละหมาดทีละสองร่อกะอัต แล้วให้สลาม
2. เหนียตในใจว่า ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตดุฮา
3. เหมือนละหมาดสุนัตทั่วๆไป หลังจากอ่านฟาติฮะห์ ท่านจะอ่านซูเราะฮใดก็ได้ที่ท่านมีความสามารถ ถ้าละหมาดได้ดีมาก เพราะเป็นสุนัตมุอักกัตผลบุญเกือบเทียบเท่าของวาญิบหรือฟัรดู
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++