การเปิดเผยใบหน้าของสตรีแพร่หลายในโลกอิสลาม
แปลเรียบเรียง อาบีดีณ โยธาสมุทร
เชค ดร. อุมัร บุตร อับดุ้รรอฮฺมาน อั้ลอุมั้ร حفظه الله
จริงๆแล้ว เดิมทีชุดฮิญาบที่ประกอบด้วยการปกปิดใบหน้าไว้ด้วยนั้นเป็นการแต่งการที่มีการใช้กันจนเป็นสภาพปกติของบรรดาสตรีมุสลิมทั่วไปในโลกอิสลามมาก่อน ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายโบราณหลายภาพของประเทศอิสลามบางประเทศ
แต่แล้วสภาพการณ์ของบรรดาสตรีก็เปลี่ยนไปสู่การโชว์ความงาม การถอดฮิญาบและการเปิดหน้า และที่หนักไปกว่านั้น คือการแต่งหน้าออกมาด้วยเครื่องตกแต่งที่มีอยู่หลายประเภทหลากชนิด
โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ แต่หลักๆแล้วมีดังนี้
๑. สภาพทางศาสนาที่จะคอยฉุดตนไม่ให้ถลำสู้เรื่องไม่ดีนั้น มีความอ่อนแอ
๒. ความเขลาในเรื่องบทบัญญัติศาสนา
๓. การหลับหูหลับตากระทำตามๆกันและการเลียนแบบมาจากพวกผู้หญิงที่ไม่ใช่มุสลิมะฮฺ
๔. การไปรับคำชี้ขาดปัญหาศาสนาจากคนที่ไม่ใช่นักวิชาการที่น่าเชื่อถือมายึดถือ
๕. การตามอารมณ์ โดยจะพบได้ว่าสตรีบางท่าน ทราบกันอยู่แล้วว่าการปกปิดใบหน้าของพวกเธอเอาไว้นั้นเป็น วาญิบ แต่พวกเธอก็ยังจะทำตามอารมณ์และไม่ยอมกระทำตามคำสั่งของอัลลอฮฺและร่อซุ้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม
ทั้งๆที่อัลลอฮฺก็ตรัสไว้แล้วว่า
“ดังนั้น ถ้าหากพวกเขาไม่ยอมตอบรับเจ้ากัน ก็จงทราบเถิดว่าที่พวกเขากำลังดำเนินตามอยู่ก็คืออารมณ์ของพวกเขาเอง
และใครกันจะหลงทางมากไปกว่าคนที่หันมาเดินตามอารมณ์ของตนและไม่เอาแนวทางจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺย่อมไม่ทรงทำให้พวกที่อธรรมได้อยู่บนทางที่ถูกต้องอย่างแน่นอน”
(อัลก่อศ็อศ/๕๐)
๖. การที่บางประเทศเข้ามาบีบให้สตรีที่ยึดมั่นในชุดฮิญาบของเธอต้องอยู่ยาก ในรูปของการวางเงื่อนไขของการเข้าศึกษาหรือเข้าทำงานไว้ว่า จะต้องเปิดหน้ามาเท่านั้น
๗. กระแสโจนตีจากสื่อที่มุ่งเข้าเล่นงานชุดฮิญาบของสตรีและการปิดหน้าของสตรี
๘. พวกหลงตะวันตกที่ออกมาเรียกร้องให้โชว์ความงามและเปิดเผยเรือนร่าง
ซึ่งบุคคลแรกๆจากกลุ่มคนพวกนี้ในประเทศอียิปต์ก็คือ นายกอเซ็ม อามีน ผู้พินาศดับสูญ ดังที่ปรากฏในหนังสือของเขาที่ชื่อ “การปลดแอกสตรี” ถัดมาก็ได้แก่ นาย ซะอฺด์ ซั้ฆลู้ลและฮุดา ชะอฺรอวียฺ ซึ่งเธอผู้นี้เป็นหญิงอียิปต์มุสลิมคนแรกที่ถอดฮิญาบออก ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองให้พ้นจากความทุกข์ระทมด้วยเถิด
๙. การพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอิสลาม ซึ่งโดยปกติแล้ว สตรีมักจะหละหลวมกันช่วงเดินทางในเรื่องการถอดชุดฮิญาบและการเปิดเผยหน้า
๑๐. การที่ประเทศอิสลามหลายประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศผู้ล่าอาณานิคม ซึ่งนับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรรดามุสลิมห่างเหินกันจากศาสนาของพวกเขา จากหลักความเชื่อของพวกเขา และจากอุปนิสัยและการวางตัวของพวกเขาที่พึงจะเป็น
๑๑. การที่ผู้ชายบางคนไม่รู้สึกหึงหวง ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ในการดูแลสตรีและบุตรสาวของตน ทั้งๆที่การมีความหึงหวงนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการมีอีหม่านและการมีสติปัญญาที่ยังปกติอยู่ -ดังที่เป็นที่ทราบกันดี-
ด้วยเหตุนี้ อั้ลฮาฟิซ อิบนุฮะญัร (เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. ๘๕๒)จึงได้พูดไว้ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า คนที่มีสติปัญญานั้น ย่อมรู้สึกไม่ดีอย่างมากที่จะให้ชายอื่นที่ไม่ใช่มะฮฺรอมมาเห็นหน้าภรรยาของตนและลูกสาวของตน”
(فتح الباري، ج١٣، ص٢٤٥).
ท่านอิบนุกอยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า
“ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การปล่อยปะให้เหล่าสตรีสามารถเข้ามาปะปนอยู่กับพวกผู้ชายได้นั้น ถือได้ว่าเป็นต้นตอแห่งเภทภัยและความเลวร้ายทั้งปวง
อีกทั้งเรื่องราวดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการลงโทษที่ถูกส่งลงมาให้มีขึ้นโดยถ้วนหน้าทั่วถึงกัน และเรื่องราวดังกล่าวนี้ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสื่อมโทรมของกิจการทั้งหลายทั้งปวงของทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคลอีกด้วย
การปะปนกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เรื่องเสื่อมเสียมีขึ้นเป็นจำนวนมาก และยังเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตครั้งใหญ่ของผู้คนในวงกว้าง และยังเป็นสาเหตุของโรคระบาดต่างๆอีกด้วยเช่นกัน
เมื่อครั้งที่เหล่าหญิงบาปได้เข้ามาปะปนรวมตัวอยู่ในทัพของท่านมูซา และเรื่องเสื่อมเสียได้แพร่สะพัดขึ้นท่ามกลางไพร่พลในทัพนั้น พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงส่งโรคร้ายให้แพร่ระบาดขึ้นกับพวกเขา จนส่งผลทำให้ในระยะเวลาเพียงหนึ่งวันมีผู้สูญเสียล้มตายทั้งสิ้น ถึงเจ็ดหมื่นคนเลยทีเดียว เรื่องเล่านี้เป็นที่เลื่องลือโดยทั่วกันในตำราตัฟซี้ร
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่มีความสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตครั้งใหญ่นั้นก็ได้แก่ การมีการประพฤติผิดทางเพศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการปล่อยปะให้เหล่าสตรีสามารถเข้ามาปะปนอยู่กับพวกผู้ชาย และปล่อยปะให้พวกนางออกมาเดินอยู่ท่ามกลางพวกผู้ชาย ในสภาพที่นางนั้นแต่งตัวอวดโฉมประกวดความงามกันได้นั่นเอง
และหากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้รับรู้ถึงเรื่องราวในประเด็นนี้ อันได้แก่ความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้นกับดุนยา(โลกปัจจุบัน)และบุคคลผู้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของตน –ก่อนที่จะส่งผลแก่เรื่องศาสนาเสียอีก- แล้วละก็ แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นย่อมต้องคัดค้านหักห้ามเรื่องราวดังกล่าวอย่างรุนแรงที่สุดไว้เป็นแน่”
จบคำพูดของท่าน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ
อั้ตตุรุกุ้ลฮุกมียะฮฺ/หน้า๒๘๑ (อ้างต่อมาจากหนังสือของเชคอับดุ้รรอซซ้าก อีกทีหนึ่ง)