ลบล้างบาปด้วยอะมัลศ่อลิหฺ
( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งว่า
وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ وَلَا تَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡإِثۡمِ وَٱلۡعُدۡوَٰنِۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ إِنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ
( ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 2 )
“อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งใช้ให้เรามีอัตตักวา คือให้เรามีความยำเกรงต่อพระองค์
และเมื่อเรามีความยำเกรงต่อพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงสั่งให้เราช่วยเหลือกันและกันในการทำความดี ส่งเสริมกันและกันให้ทำสิ่งที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา ...
และในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงให้เราตักเตือนกัน ห้ามปรามกันในเรื่องที่เป็นบาป ไม่ให้ส่งเสริมกันในเรื่องที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระองค์ หรือล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ และเราอย่าเป็นศัตรูต่อกัน ..
ดังนั้น เราจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด (โดยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างจริงจัง) เพราะแท้จริงแล้ว พระองค์เป็นผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรง”
อันเนื่องมาจากว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น แน่นอนที่เราจะต้องมีการทำบาป หรือทำความผิด เพราะบางครั้งเราก็ยอมพ่ายแพ้ให้กับอำนาจใฝ่ต่ำของตัวเรา หรือบางครั้งเราก็พลาดพลั้งให้กับการล่อลวงของชัยฏอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องประสบ .. ไม่มีใครไม่เคยทำบาป ไม่มีใครไม่เคยทำผิด เป็นเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ยืนยันไว้ว่า เราทุกคนมีการทำบาป มีการทำความผิด มีการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำบาปกันทุกคน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ละบุคคล ...ซึ่งบาปทุกบาปที่เราทำนั้น มันจะมาปิดกั้นเราไม่ให้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ จนกว่าเราจะลบล้างบาปทั้งหมดออกจากตัวของเราไปจนหมดสิ้นเสียก่อน เราจึงจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคอยลบล้างบาปของเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้บาปของเรามันเพิ่มพูน ...ซึ่งการลบล้างบาปนั้นทำได้ 2 ทางคือ ทำเสียตั้งแต่ในโลกดุนยานี้ ก่อนที่เราจะเสียชีวิต กับสอง ไปโดนชำระสะสางในวันกิยามะฮฺ ซึ่งการไปโดนชำระสะสางกันในวันกิยามะฮฺนั้น นับเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งนัก ...
เพราะเหตุนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาผู้ทรงเมตตา พระองค์ได้ทรงเมตตาต่อบ่าวของพระองค์โดยบอกถึงวิธีการลบล้างบาปในโลกดุนยานี้ไว้ให้แก่เราอย่างมากมายหลายวิธี ..ซึ่งในเรื่องนี้ อุละมาอ์ได้รวบรวมวิธีการจากทั้งอัลกุรอาน และอัลหะดีษ เกี่ยวกับอะมัลศ่อลิหฺที่เมื่อเราลงมือทำแล้ว นอกจากเราจะได้รับผลบุญต่าง ๆ ตอบแทนอย่างมากมายแล้ว อะมัลศ่อลิหฺเหล่านั้นยังสามารถที่จะมาช่วยลบล้างบาปให้แก่ตัวเราได้อีกด้วย ...
อะมัลศ่อลิหฺเหล่านั้นได้แก่อะไรบ้าง ? ซึ่งจะขอยกมา ณ ที่นี้สิบประการตามที่อุละมาอ์ได้รวบรวมไว้
♦ ประการที่หนึ่ง ให้เรามีอีมานหรือมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาว่าทรงเป็นพระเจ้าของเรา
ซึ่งสิ่งนี้มุสลิมทุกคนมีอยู่แล้ว ..แต่เท่านี้ยังไม่พอ เรายังต้องมอบเตาฮีดแด่พระองค์ด้วย ...มอบเตาฮีด คือมอบการเคารพอิบาดะฮฺ มอบการภักดีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น โดยไม่ยอมให้มีชิริกใด ๆหรือภาคีใด ๆต่อพระองค์ นั่นก็หมายความว่า เราต้องไม่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดมาเคารพอิบาดะฮฺ หรือให้สถานะเท่าเทียมกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเด็ดขาด
คำว่า “ชิริก” ไม่ได้หมายแต่เพียงการเคารพรูปปั้นรูปเจว็ดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดความเชื่อ การกระทำต่าง ๆ เช่น ไปเคารพบูชาต้นไม้ ..ไปขอดุอาอ์จากกุบูรของคนศ่อลิหฺที่เสียชีวิตไปแล้ว ให้มาช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ...ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ว่า อะไรบ้างที่เป็นเรื่องของการทำชิริก เพื่อที่เราจะได้ออกห่าง และไม่ไปทำมัน เพราะโทษของการทำชิริกนั้น มันร้ายแรงที่สุด
ดังนั้น เมื่อเราอีมานต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมทั้งมอบเตาฮีดแด่พระองค์แล้ว เรายังต้องประกอบอะมัลศ่อลิหฺต่าง ๆด้วย จึงจะสามารถลบล้างความผิดได้
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันกะบูต อายะฮฺที่ 7 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
(وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَنُكَفِّرَنَّ عَنۡهُمۡ سَيِّئاتِهِمۡ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَحۡسَنَ ٱلَّذِي كَانُواْ يَعۡمَلُونَ)
“และบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดีทั้งหลายนั้น แน่นอนเราจะลบล้างความผิดทั้งหลายของพวกเขาให้หมดไปจากพวกเขา ...และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ด้วยสิ่งที่ดียิ่ง”
นั่นก็คือ ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ทำในสิ่งที่คำสั่งห้ามของพระองค์ด้วย ...เราจะอีมานต่อพระองค์โดยไม่ประกอบอะมัลศ่อลิหฺใด ๆเลยไม่ได้ เราต้องมีอีมานพร้อมทั้งมอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และทำอะมัลอิบาดะฮฺศ่อลิหฺต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลบล้างบาปให้แก่เรา และได้รับรางวัลตอบแทนด้วยกับสวรรค์ของพระองค์
♦ ประการที่สอง ให้เราออกห่างจากการทำบาปใหญ่
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 31 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
(إِن تَجۡتَنِبُواْ كَبَآئِرَ مَا تُنۡهَوۡنَ عَنۡهُ نُكَفِّرۡ عَنكُمۡ سَيّئاتِكُمۡ وَنُدۡخِلۡكُم مُّدۡخَلٗا كَرِيمٗا)
“หากพวกเจ้าได้ออกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กน้อยของพวกเจ้าให้ออกจากพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ”
คำว่า كَبَآئِرَ บาปใหญ่ หมายถึงบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดบทลงโทษเอาไว้แล้ว ซึ่งบทลงโทษนั้นอาจจะได้รับตั้งแต่ในโลกดุนยานี้ หรืออาจจะเป็นบทลงโทษที่ถูกสัญญาว่าจะได้รับในโลกอาคิเราะฮฺ หรืออาจจะได้รับทั้งโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ หรือบทลงโทษอาจจะคือการที่ทำให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโกรธกริ้ว ทรงสาปแช่ง ซึ่งการที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโกรธกริ้ว หรือทรงสาปแช่ง ก็ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรง หนักหนาสาหัสสากรรจ์เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างของบาปใหญ่ก็เช่น การทำชิริก ซึ่งเป็นบาปใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุด ..การดื่มสุรายาเมา..เล่นการพนัน..กินดอกเบี้ย หรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของดอกเบี้ย..การทำซินา..การสังหารชีวิตผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม..การทิ้งละหมาด..ไม่จ่ายซะกาต..เนรคุณพ่อแม่..การกินทรัพย์เด็กกำพร้า..การยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์เวทมนตร์ ..เป็นต้น
♦ ประการที่สาม ให้เราเตาบะฮฺตัวอยู่เสมอ การเตาบะฮฺ ก็คือการตั้งใจกลับเนื้อกลับตัวกลับใจเพื่อไปสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างจริงจังจริงใจ
อัลหะดีษ ( حسن ) ในบันทึกของอิมามอิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอู๊ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«التَّائِبُ مِنْ الذَّنْبِ كَمَنْ لَا ذَنْبَ لَهُ»
“ผู้ที่เตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวจากความผิดบาป ประดุจดั่งผู้ที่ไม่มีความผิดอันใด”
นั่นก็หมายถึงว่า ได้รับการลบล้างบาปแล้ว....ซึ่งนอกจากจะได้รับการลบล้างบาปแล้ว ยังได้รับการเปลี่ยนบาปให้เป็นความดีงามอีกด้วย
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลฟุรกอน อายะฮฺที่ 70 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
إِلَّا مَن تَابَ وَءَامَنَ وَعَمِلَ عَمَلٗا صَٰلِحٗا فَأُوْلَٰٓئِكَ يُبَدِّلُ ٱللَّهُ سَيِّئاتِهِمۡ حَسَنَٰتٖۗ وَكَانَ ٱللَّهُ غَفُورٗا رَّحِيمٗا
“สำหรับผู้ที่เตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธา และประกอบอะมัลศ่อลิหฺ เขาเหล่านั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนบาปของพวกเขาให้เป็นความดีงาม และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
♦ ประการที่สี่ ให้เราอิสติฆฟาร กล่าวขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอๆ อันนี้เราก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบู ซัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสว่า
«يَا عِبَادِى إِنَّكُمْ تُخْطِئُونَ بِاللَّيْلِ وَالنَّهَارِ وَأَنَا أَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا فَاسْتَغْفِرُونِى أَغْفِرْ لَكُمْ»
“โอ้ปวงบ่าวของฉัน พวกเจ้ากระทำความผิดทั้งกลางคืนและกลางวัน ขณะที่ฉันเป็นผู้อภัยโทษจากความผิดทั้งหลาย ดังนั้นจงขออภัยโทษต่อฉัน แล้วฉันจะอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า”
คำกล่าวอิสติฆฟาร ก็เช่น أَسْتَغْفِرُ اللَّهَ หรือ إِلَيْهِوَأَتُوبُ أَسْتَغْفِرُ اللَّهَ หรือยาวอีกนิดก็ أَسْتَغْفِرُ اللَّهَ الَّذِي لَا إِلَهَ إِلَّا هُوَ الْحَيَّ الْقَيُّومَ وَأَتُوبُ إِلَيْهِ หรือบทอื่น ๆอีก اللَّهُمَّ أَنْتَ رَبِّي ، لَا إِلَهَ إِلاَّ أَنْتَ خَلَقْتَني وَأَنَا عَبْدُكَ ، แม่บทของการขออภัยโทษ
♦ ประการที่ห้า การอาบน้ำละหมาดอย่างดีงามตามที่มีแบบฉบับมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านหุมรอน คนทำงานของท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ฉันได้นำน้ำมาให้ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน เพื่ออาบน้ำละหมาด ..จากนั้นท่านอุษมานก็ได้อาบน้ำละหมาด แล้วกล่าวว่า ผู้คนต่างพูดถึงหะดีษต่าง ๆของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งฉันก็ไม่ทราบว่ามันมีอะไรบ้าง เว้นแต่ฉันเห็นท่านเราะซูลุลลอฮฺได้อาบน้ำละหมาดเช่นเดียวกับที่ฉันได้อาบน้ำละหมาด ซึ่งท่านเราะซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
«مَنْ تَوَضَّأَ هَكَذَا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ،
“ผู้ใดที่ได้อาบน้ำละหมาดเยี่ยงนี้ (ก็คืออาบน้ำละหมาดตามแบบฉบับของท่านเราะซูลุลลอฮฺ) เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดที่ผ่านมา ...”
♦ ประการที่หก นอกจากการอาบน้ำละหมาดแล้ว การละหมาดและการเดินไปละหมาดที่มัสญิด ก็ยังช่วยลบล้างบาปต่าง ๆให้เราได้อีกด้วย
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى مَا يَمْحُو اللَّهُ بِهِ الْخَطَايَا وَيَرْفَعُ بِهِ الدَّرَجَاتِ ؟».
“เอาไหม ถ้าฉันจะบอกพวกท่านซึ่งการงานที่อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดให้แก่พวกท่าน อีกทั้งพระองค์จะทรงยกเกียรติหลายระดับชั้นให้แก่พวกท่าน?”
قَالُوا : بَلَى يَا رَسُولَ اللَّهِ.
พวกเขา(เศาะฮาบะฮฺ) ตอบว่า “แน่นอนที่สุดครับท่านเราะสูลุลลอฮฺ”
قَالَ : « إِسْبَاغُ الْوُضُوءِ عَلَى الْمَكَارِهِ، وَكَثْرَةُ الْخُطَا إِلَى الْمَسَاجِدِ، وَانْتِظَارُ الصَّلاَةِ بَعْدَ الصَّلاَةِ، فَذَلِكُمُ الرِّبَاطُ»
ท่านนบีจึงได้กล่าวว่า “ พวกท่านจงอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ในช่วงที่ท่านไม่ชอบ (หมายถึงช่วงที่มีอากาศหนาว ถึงแม้จะหนาวจับขั้วหัวใจ แต่ก็ให้อาบน้ำละหมาดอย่างดี) และพยายามเดินไปที่มัสญิดให้มาก และให้รอละหมาดอีกเวลาหลังจากที่ได้ละหมาดเสร็จแล้วหนึ่งเวลา นั่นแหละคือการเฝ้าระวัง”
♦ ประการที่เจ็ด การทำเศาะดะเกาะฮฺ
การทำเศาะดะเกาะฮฺก็คือการบริจาค ..ซะกาตเป็นวาญิบ ..เศาะดะเกาะฮฺเป็นซุนนะฮฺ .. สำหรับเรื่องของการบริจาคจะมีความประเสริฐ มีผลบุญตอบแทนมากมาย หนึ่งในผลบุญตอบแทนนั่นก็คือ การบริจาคจะมาช่วยลบล้างบาปต่าง ๆออกจากตัวเรา เสมือนน้ำที่สามารถดับไฟได้
อัลหะดีษ ( حَدِيثٌ حَسَنٌ صَحِيحٌ ) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านมุอ๊าซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«أَلَا أَدُلُّكَ عَلَى أَبْوَابِ الْخَيْرِ؟ : الصَّوْمُ جُنَّةٌ، وَالصَّدَقَةُ تُطْفِئُ الْخَطِيئَةَ كَمَا يُطْفِئُ الْمَاءُ النَّارَ»
“เอาไหม ฉันจะบอกท่านถึงประตูแห่งความดีงาม ? การถือศีลอดเป็นเหมือนโล่(คอยป้องกันไม่ให้เราทำผิด) ...(ในส่วนของ)การบริจาคทานจะช่วยลบล้างความผิดเหมือนน้ำที่สามารถดับไฟได้”
♦ ประการที่แปด การทำหัจญ์และอุมเราะฮฺก็สามารถลบล้างบาปต่าง ๆให้เราได้
เสมือนดังเช่น เครื่องเป่าเหล็กที่คอยกะเทาะสนิมออกมา แต่ถ้าเรายังไม่มีความสามารถจะทำในข้อนี้ได้ ก็ยังมีข้ออื่น ๆ อีกหลายข้อที่เราสามารถทำได้ ก็ได้รับการอภัยโทษในบาปต่าง ๆเช่นกัน
อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในบันทึกของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«تَابِعُوا بَيْنَ الْحَجِّ وَالْعُمْرَةِ، فَإِنَّهُمَا يَنْفِيَانِ الذُّنُوبَ كَمَا يَنْفِي الْكِيرُ خَبَثَ الْحَدِيدِ»
“จงทำหัจญ์และอุมเราะฮฺเรื่อยๆ ตลอดไป เพราะทั้งสองประการจะช่วยลบล้างความผิด เสมือนกับเครื่องเป่าเหล็กที่คอยกะเทาะสนิมออกมา”
♦ ประการที่เก้า เมื่อเราถูกทดสอบ อดทนได้ สามารถดำรงตนอยู่ในบทบัญญัติศาสนาต่าง ๆได้อย่างดีงาม
เมื่อเราถูกทดสอบไม่ว่าจะหนักหรือเบา หรือถูกทดสอบให้ได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ ประสบกับความยากจน ทนทุกข์ทรมานจากโรคต่าง ๆ หรือแม้แต่โดนหนามทิ่มตำก็ตาม แล้วเราอดทนได้ในทุก ๆเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่แค่ไหน เราอดทนได้ สามารถดำรงตนอยู่ในบทบัญญัติศาสนาต่าง ๆได้อย่างดีงาม อย่างนี้ เราจะได้รับการลบล้างความผิดจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«قَارِبُوا وَسَدِّدُوا، فَفِى كُلِّ مَا يُصَابُ بِهِ الْمُسْلِمُ كَفَّارَةٌ حَتَّى النَّكْبَةِ يُنْكَبُهَا، أَوِ الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا»
“จงทำให้ดีที่สุด จงทำให้ถูกต้องที่สุด เพราะทุกสิ่งที่มาประสบกับมุสลิมเป็นการลบล้างความผิด แม้กระทั่งการที่เขาประสบความเคราะห์ร้าย หรือโดนหนามทิ่มตำก็ตาม”
♦ ประการที่สิบ การถือศีลอดในช่วงกลางวัน และการละหมาดกิยามุลลัยลิ์ในช่วงกลางคืนในเดือนเราะมะฎอน
ซึ่งจะนำมาเสนอเป็นประการสุดท้าย ณ ที่นี้ ก็คือ การถือศีลอดในช่วงกลางวัน และการละหมาดกิยามุลลัยลิ์ในช่วงกลางคืนในเดือนเราะมะฎอน โดยมีเงื่อนไขว่า เราต้องทำด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นว่า การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนี้เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเราเต็มใจที่จะทำ พร้อมทั้งมีความหวัง มีความปรารถนาอย่างเต็มเปี่ยมที่เราจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างนี้ เราก็จะได้รบการอภัยโทษในบาปต่าง ๆที่ผ่านมา
อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ ก็คืออัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ .
“ผู้ใดถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น(ว่าเป็นบทบัญญัติที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) และมีความหวัง(ว่าจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ดังกล่าวนี้ เขาจะได้รับการอภัยโทษในความผิดที่ผ่านมาของเขา”
อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»
“ผู้ใดก็ตามที่ยืนละหมาดยามค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอนมะฎอน(ก็คือละหมาดกิยามุลลัยล์)ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา”
ดังกล่าวข้างต้น ก็คือ อะมัลศ่อลิหฺสิบประการ ที่อุละมาอ์ได้นำมาเสนอไว้ เพื่อให้เราได้สำเหนียก คือคอยเอาใจใส่ในการที่เราจะลบล้างบาปต่าง ๆของเรา ...และเพื่อให้เราได้ตระหนัก คือรู้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการที่เราจะต้องลบล้างบาปออกจากตัวเรา ก่อนที่เราจะเสียชีวิต เพราะถ้าเราไม่ลบล้างบาปเสียก่อน แน่นอน เราก็ต้องได้รับการลบล้างบาปในวันกิยามะฮฺ ด้วยการถูกลงโทษต่าง ๆ ซึ่งเป็นการลงโทษอันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ยิ่งกว่าการลงโทษในดุนยา ซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่ยืนหยัดมั่นคงในบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ อีกทั้งเป็นผู้ที่ได้รับการอภัยโทษจากบาปต่าง ๆ และเสียชีวิตในสภาพที่นอบน้อมยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยสิ้นเชิง
( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )