เดือนต้องห้าม เดือนซุลฮิจญะฮฺ
วันละหนึ่งความคิด...แปลเรียบเรียง
-อัลฮาฟิศ อิบนิ หะญัร ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ-
สาเหตุที่ทำให้ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ มีความประเสริฐโดดเด่นก็เพราะ ถือเป็นช่วงเวลาที่ประมวลไว้ด้วยการทำอิบาดะฮฺ ที่สำคัญๆ หลายประการ
อันได้แก่ การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทานและการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งไม่มีช่วงเวลาอื่นใดอีกแล้ว ที่อิบาดะฮฺทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นที่สะดวกง่ายดาย ในการปฏิบัติเฉกเช่นช่วงเวลาดังกล่าว
- อิมาม อิบนิ หะญัร ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
إنَّ كُلَّ يومٍ من أَيَّامِ الْعَشْرِ أَفْضَلُ من غَيْرِهِ مِنْ أَيَّامِ السَّنَة،ِ سَوَاءٌ كَانَ يوم الْجُمُعَةِ، أم لا، وَيَوْمُ الْجُمُعَةِ فيه أَفْضَلُ مِنَ الْجُمُعَةِ في غَيْرِه،ِ لِاجْتِمَاعِ الْفَضْلَيْنِ فِيهِ .
แท้จริง ในแต่ละวันของ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺนั้น มีความประเสริฐกว่าบรรดาวันอื่นๆ ทั้งหมดในรอบปี ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันศุกร์หรือไม่ใช่วันศุกร์ก็ตาม
และสำหรับวันศุกร์ในช่วง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺนั้น นับว่าประเสริฐกว่าวันศุกร์อื่นๆ ทั้งหมด เนื่องเพราะวันนั้นๆ ได้ประมวลไว้ ซึ่งความประเสริฐถึงสองประการในวันเดียวกัน
-เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ-
น่าประหลาดใจที่ผู้คนต่างพากันละเลยหลงลืมสิบวันนี้ ท่านจะพบว่าผู้คนจะขะมักเขม้นขยันขันแข็งในการทำความดีในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
แต่สำหรับช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ ท่านแทบจะไม่พบใครที่ทำให้ช่วงวันเหล่านั้น ผิดแผกแตกต่างกับช่วงอื่นเลย
หากผู้คนกระทำคุณงามความดีในสิบวันนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิะซัลลัม ได้ชี้แนะบอกกล่าวเอาไว้ แน่นอนว่า เขาได้อยู่ในกุศลผลบุญ คุณงามความดีงาม อันยิ่งใหญ่มหาศาล
-ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ-
4 เดือนที่ได้รับการเจาะจงเอาไว้ จากบรรดาเดือนทั้งหมดได้แก่ เดือนซุ้ลเกี๊ยะอฺดะฮฺ , เดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ , เดือนมุฮัรรอม และเดือนร่อญับนั้น
อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ทรงกำหนดให้ เดือนเหล่านี้เป็นเดือนต้องห้าม (จากการก่ออธรรม รบราฆ่าฟัน) และได้ทำให้การห้ามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทรงกำหนดให้การทำบาปในเดือนเหล่านี้ นับเป็นความผิดที่หนักหนายิ่ง และการทำดีในเดือนเหล่านี้ นับเป็นผลบุญที่ยิ่งใหญ่ยิ่งเช่นเดียวกัน
(الدر المنثور ٤/١٧٨)
- ท่านก่อตาดะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
แท้จริงแล้ว การก่ออธรรมสร้างความเดือดร้อน ในบรรดาเดือนอันเป็นที่ต้องห้ามนั้น ถือเป็นความผิดร้ายแรงและหนักหนากว่าการก่ออธรรมในเดือนอื่นๆ ถึงแม้ว่าการสร้างความเดือดร้อนไม่ว่าในสภาพใดๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว
แต่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้กิจการของพระองค์มีความพิเศษ ตามแต่ที่พระองค์ทรงประสงค์
ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงคัดสรรบ่าวอันเป็นที่รัก จากบรรดามลาอิกะฮฺและมนุษย์ให้เป็นผู้รับบัญชาเผยแพร่สาส์นของพระองค์
♥ ทรงคัดเลือกถ้อยคำรำลึกจากบรรดาถ้อยคำต่างๆ
♥ ทรงคัดเลือกมัสญิด (ที่สุญูด) จากผืนแผ่นดินต่างๆ
♥ ทรงคัดเลือกรอมฎอนและบรรดาเดือนอันเป็นที่ต้องห้าม(เป็นเดือนที่มีความพิเศษ)จากบรรดาเดือนต่างๆ
♥ ทรงคัดเลือกวันศุกร์จากบรรดาวันต่างๆ
♥ และทรงคัดเลือกลัยละตุ้ลก็อดร์จากบรรดาค่ำคืนทั้งหลาย
ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ความยิ่งใหญ่ ให้ความสำคัญ ในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเถิด เพราะแท้จริงแล้ว การให้ความสำคัญเป็นพิเศษในกิจการงานต่างๆ นั้น ต้องเป็นไปในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้ให้มันเป็นสิ่งที่มีความยิ่งใหญ่สลักสำคัญเท่านั้น
(ตัฟซีร อิบนิ กะษีร)
-เชค ซอลิหฺ อัลอุศ็อยมีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
สิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ , คือเทศกาลแห่งการทำคุณงามความดี , คือจุดศูนย์รวมแห่งความเมตตาปรานี
ดังนั้น จงขยันขันแข็งในสิ่งที่พระเจ้าของเราทรงโปรดปราน เพื่อว่าเราจะได้รับชัยชนะ ด้วยการได้รับความเมตตาจากพระองค์
"แท้จริง ความเมตตาของอัลลอฮฺนั้น อยู่ใกล้ชิดบรรดาผู้ทำความดีทั้งหลาย"
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
"บรรดาวันต่างๆ บนหน้าดุนยาที่ประเสริฐที่สุดนั้น คือ อัยยามุลอัชริ" (10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ)
รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“ไม่มีบรรดาวันใดๆ ที่จะยิ่งใหญ่ ณ ที่อัลลอฮฺ และ เป็นที่โปรดปรานยิ่งในการทำการงาน ในบรรดาวันเหล่านั้น ยิ่งไปกว่าสิบวันนี้ (สิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ)
ท่านทั้งหลายพึง (กล่าว) ตะฮฺลี้ล (ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ) ตั๊กบี๊ร (อัลลอฮุอักบัร) และตะฮฺมี๊ด (อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ )ให้มากเถิด”
(บันทึกโดยอิมาม อะฮฺมัด 9/323)
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“ไม่มีบรรดาวันแห่งการทำการงานที่ดีใดๆ ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ นอกจาก 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ
บรรดาเศาะฮาบะฮฺ กล่าวถามว่า : แม้การญิฮาดก็มิอาจเทียบเท่าได้กระนั้นหรือ?
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า : “แม้แต่การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺก็มิอาจเทียบเท่าได้ นอกเสียจากผู้ที่ออกจากบ้านไปด้วยกับตัวและทรัพย์สินของเขา แล้วเขาไม่หลงเหลือสิ่งใดกลับมาอีกเลย”
(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามอัตติรมีซีย์)